โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สุขภาพ

'หมอฟัน' แนะ 5 วิธีลดอาการเสียวฟัน ชี้น้ำอัดลม-รสเปรี้ยว สาเหตุหลัก

MATICHON ONLINE

อัพเดต 18 มี.ค. 2561 เวลา 09.05 น. • เผยแพร่ 18 มี.ค. 2561 เวลา 08.24 น.
75233279 - beautiful woman smile.
75233279 - beautiful woman smile.

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า อาการเสียว ฟันเป็นปัญหาทันตกรรมที่เกิดจากภาวะเหงือกร่นและเคลือบฟันสึกกร่อน มักพบในคนอายุ 20-50 ปี ซึ่งพฤติกรรมที่เป็นปัจจัยเสริมทำให้เกิดอาการเสียวฟัน เช่น ดื่มน้ำอัดลม กินอาหารรสเปรี้ยว กินอาหารแข็งและเหนียว แปรงฟันไม่ถูกวิธี แปรงฟันแรงเกินไปอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ทำให้เคลือบฟันสึกและบางลงจนถึงชั้นเนื้อฟันที่อยู่ใกล้กับโพรงประสาทฟันมีเส้นประสาทเป็นจำนวนมาก ของเหลวในท่อเนื้อฟันจะไปกระตุ้นปลายประสาทฟันก็จะทำให้เกิดอาการเสียวฟัน

“อาการเสียวฟันยังอาจเกิดจากฟันแตก หรือฟันร้าว ซึ่งในบางครั้งมีขนาดเล็กมากสังเกตไม่เห็นหรือมีการสะสมของคราบจุลินทรีย์และแบคทีเรียทำให้เป็นโรคเหงือกอักเสบหรือฟันผุลึกถึงชั้นเนื้อฟัน อาจมีอาการเสียวฟันร่วมกับการปวดฟัน ซึ่งอาการเหล่านี้หากปล่อยไว้โดยไม่รักษา อาจเกิดการลุกลามทำให้สูญเสียฟันได้” ทพญ.ปิยะดา กล่าว

สำหรับการป้องกันและลดอาการเสียวฟัน ทพญ.ปิยะดา กล่าวว่า มี 5 วิธี ได้แก่ 1.ใช้ยาสีฟันพิเศษที่มีสารโปแทสเซียมไนเตรต หรือสตรอนเทียม อะซิเตตผสม จะช่วยป้องกันไม่ให้เส้นประสาทถูกกระตุ้นบรรเทาอาการเสียวฟันได้ 2.ใช้แปรงสีฟันขนอ่อนนุ่มและแปรงฟันให้ถูกวิธี ควรขอคำแนะนำจากทันตแพทย์เกี่ยวกับวิธีแปรงฟันให้ถูกวิธี 3.อย่าเคี้ยวของแข็ง เพราะการกัดของแข็งอาจทำให้ฟันแตกหรือหักเป็นรอยร้าวขนาดเล็กได้ 4.งดดื่มน้ำผลไม้รสเปรี้ยวและน้ำอัดลม เช่น น้ำมะนาวมีฤทธิ์เป็นกรด หากบริโภคบ่อยและติดต่อกันนานเกินไป อาจทำให้เกิดการละลายตัวของเคลือบฟัน 5.แปรงฟันอย่างถูกวิธีอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดฟันหลังแปรงฟันทุกครั้ง เพื่อลดคราบจุลินทรีย์บริเวณซอกฟันที่จะทำให้เกิดโรคเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์ และถ้าทำ 5 วิธีข้างต้นแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น ให้รีบปรึกษาทันตแพทย์ เพื่อรับการรักษาให้ถูกต้องตามต้นเหตุ เช่น การใช้ฟลูออไรด์ที่มีความเข้มข้นสูง การอุดฟัน การครอบฟัน และการรักษาโรคเหงือก เป็นต้น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0