โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

สุรชาติ บำรุงสุข : เปลี่ยนผ่านการเมือง 2561 เลือกก็แพ้ ไม่เลือกก็พัง!

มติชนสุดสัปดาห์

เผยแพร่ 18 ม.ค. 2561 เวลา 01.23 น.
สุรชาติ ประยุทธ์ เลือกตั้ง2

“แม้ว่าอำนาจทางการเมืองจะส่งผ่านจากมือของทหารไปสู่มือของพลเรือนด้วยการเลือกตั้ง แต่การเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นเช่นนี้ก็มีราคาที่ต้องจ่ายเสมอ”

Brian Loveman

The Politics of Antipolitics (1997)

สําหรับนักศึกษาในสาขา “เปลี่ยนผ่านวิทยา” (transitology) ที่เฝ้ามองปรากฏการณ์การเมืองไทยในกรอบความคิดเรื่องของการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองแล้ว ความน่าสนใจคงไม่แตกต่างจากกรณีการเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นมาแล้วในภูมิภาคอื่นๆ ในอดีต

โดยเฉพาะประเด็นสำคัญในกรณีนี้ก็คือ ในช่วงปลายของรัฐบาลอำนาจนิยมที่จะต้องตัดสินใจเปิดระบบการเมืองให้เกิดการส่งผ่านอำนาจนั้น เป็นช่วงเวลาที่สำคัญและมีนัยอย่างสำคัญต่ออนาคตทางการเมืองของแต่ละประเทศอย่างมาก

หรือกล่าวในทางทฤษฎีของวิชาเปลี่ยนผ่านวิทยาก็คือ แบบแผนของการเปลี่ยนผ่านในการส่งต่ออำนาจทางการเมืองสู่รัฐบาลพลเรือนจะมีส่วนโดยตรงต่อการกำหนดทิศทางทางการเมืองของประเทศในอนาคต

และทั้งยังจะมีนัยต่อการกำหนดความสัมพันธ์ของสถาบันและโครงสร้างอำนาจของระบบการเมืองที่จะเกิดขึ้นในยุคหลังเปลี่ยนผ่าน ได้เกิดขึ้นแล้ว ตลอดรวมถึงความสัมพันธ์พลเรือน-ทหารที่เกิดขึ้นอีกด้วย

ฉะนั้น บทความนี้จะทดลองนำเสนอมุมมองการเมืองไทยในปี 2561 โดยอาศัยกรอบแนวคิดของเปลี่ยนผ่านวิทยาเป็นทิศทางของการพิจารณา

ช่วงปลายระบอบอำนาจนิยม

คงต้องยอมรับว่าการดำรงอยู่ของระบอบอำนาจนิยมในการเมืองไทยหลังจากรัฐประหารพฤษภาคม 2557 นั้น มีระยะเวลายาวนานมากกว่าที่นักสังเกตการณ์เฝ้ามอง

เพราะหากย้อนกลับไปดูการยึดอำนาจในยุคที่ผ่านๆ มา กองทัพไม่สามารถอยู่ในการเมืองไทยได้นาน เช่น คณะรัฐประหารในปี 2534 ก็พังทลายลงในเหตุการณ์พฤษภา 2535 หรือคณะรัฐประหาร 2549 ก็ตัดสินใจเปิดการเลือกตั้งในปลายปี 2550

ปรากฏการณ์จากประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของรัฐประหารไทยดูจะบอกแก่เราว่า การถือครองอำนาจของคณะทหารจะอยู่ในการเมืองแบบไม่นานนัก

ในรอบปี 2534 นั้น อายุของระบบอำนาจนิยมจากเดือนกุมภาพันธ์ 2534 และจบลงในวิกฤตพฤษภาคม 2535

และในรอบปี 2549 ก็มีอายุจากกันยายน 2549 จนถึงการเลือกตั้งในเดือนธันวาคม 2550

ซึ่งจากรัฐประหารทั้ง 2 ครั้งเห็นได้ชัดว่า การจัดตั้งระบบอำนาจนิยมเป็นดังการจัด “รัฐบาลชั่วคราว” ที่เข้ามาเพื่อการจัดการทางการเมือง และผู้นำทหารเองก็ตระหนักว่า พวกเขาไม่สามารถอยู่ในการเมืองได้นานเกินไป เพราะระยะของการ “ดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์” ของระบบทหารนั้นมีเวลาจำกัดในตัวเองเสมอ

และขณะเดียวกันผู้นำทหารเหล่านี้ก็ตระหนักดีว่า การที่กองทัพจะอยู่ในการเมืองแบบยาวนานเช่นในอดีต ก็อาจจะต้องเผชิญกับทั้งแรงกดดันระหว่างประเทศและแรงต่อต้านภายใน

และอาจกลายเป็น “ความเสี่ยง” ทางการเมือง ทั้งต่อรัฐบาลทหารและต่อสถาบันทหาร ตลอดรวมถึงความเสี่ยงที่จะเกิดแก่ผู้นำทหารที่อยู่ในอำนาจในระดับของตัวบุคคลอีกด้วย

การพังทหารของระบบทหารไม่ว่าจะเห็นจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หรือพฤษภาคม 2535 ล้วนเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้

แต่โดยความเป็นจริงแล้ว ผู้นำทหารมักจะมีความเชื่อว่า “ปืน” ยังเป็นปัจจัยของการควบคุมทางการเมืองที่มีประสิทธิภาพ

หรือโดยนัยก็คือ ผู้นำทหารในระบบอำนาจนิยมนั้น เชื่อมั่นเสมอว่าพวกเขาควบคุมการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเขาสามารถใช้อำนาจในกระบวนการออกแบบโครงสร้างการเมืองในอนาคตด้วยการออกมาตรการต่างๆ ในรัฐธรรมนูญ จนกลายเป็นข้อจำกัดแก่การดำเนินการของพรรคการเมือง

และชุดความคิดที่หยาบที่สุดก็คือ ผู้นำทหารเชื่อว่าเมื่ออำนาจทางกฎหมายถูกสร้างและออกแบบให้เป็นคุณแก่ฝ่ายรัฐบาลทหาร การเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นจะเป็นกระบวนการทางการเมืองที่อยู่ภายใต้การควบคุมของทหาร

หรือเราอาจจะเรียกสภาพเช่นนี้ว่าเป็น “การเปลี่ยนผ่านแบบควบคุม” (controlled transition) ที่กระบวนการเมืองในระยะเปลี่ยนผ่านจะอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายทหาร โดยมีความคาดหวังประการสำคัญว่า ผลลัพธ์ของการเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นจะยังทำให้อำนาจทางการเมืองอยู่ในมือของผู้นำทหาร และทหารจะยังเป็นผู้ควบคุมทางการเมืองต่อไป

แต่ตัวแบบร่วมสมัยจากการเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นในไทยในปี 2550 หรือการเลือกตั้งภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทหารในพม่าในปี 2559 กลับแสดงให้เห็นว่าการควบคุมของทหารในทั้งสองกรณีไม่ใช่ปัจจัยที่จะทำให้ฝ่ายกองทัพชนะการเลือกตั้งได้แต่อย่างใด

สภาพเช่นนี้ทำให้กลุ่มการเมืองปีกอนุรักษนิยมที่เชื่อมั่นในการรัฐประหารอธิบายการเมืองไทยหลังจากปี 2551 ด้วยวาทกรรมว่า “เสียของ” เพราะการเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นกลับไม่สามารถนำมาซึ่งผลลัพธ์ในทางการเมืองตามความปรารถนาของพวกเขาได้

แต่กลับเห็นการฟื้นตัวของฝ่ายการเมืองที่ถูกโค่นล้มจากการรัฐประหาร 2549 กลับขึ้นสู่อำนาจในการเป็นรัฐบาลอีกครั้ง

สภาพเช่นนี้กลายเป็น “ความพ่ายแพ้” ของปีกอนุรักษนิยมและกลุ่มทหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือในพม่าก็เห็นชัยชนะของพรรคฝ่ายค้านที่นำโดย ออง ซาน ซูจี… อำนาจปืนคุมการเมืองไม่ได้เสมอไป

ต้องไม่เสียของ!

รัฐประหาร 2557 เป็นผลผลิตของวาทกรรมที่จะต้อง “ไม่เสียของ”

เพราะสำหรับผู้นำทหารและผู้นำการเมืองปีกขวาจัดแล้ว พวกเขาตัดสินใจล้มการเมืองอีกครั้งหลังรัฐประหาร 2549 ด้วยความมั่นใจว่า การยึดอำนาจครั้งที่ 2 ในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปีในการเมืองไทยจะเป็นหนทางสำคัญของการสถาปนาระบบอำนาจนิยมให้เกิดความเข้มแข็ง

และทั้งยังจะเป็นโอกาสของการกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอีกด้วย

ฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่รัฐบาลทหารจะพยายามทุกอย่างในการออกแบบการจัดความสัมพันธ์และอำนาจทางการเมืองโดยผ่านกติกาของรัฐธรรมนูญ

อันเป็นความหวังอย่างสำคัญว่า ภายใต้กติกาของรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น ผู้นำทหารจะสามารถดำรงตนเองให้อยู่ในการเมืองไทยได้อย่างยาวนาน…นานตราบเท่าที่พวกเขาต้องการบนฐานคติความเชื่อที่ถูกประกอบสร้างว่า กองทัพคือ “ผู้จัดการการเมือง” ให้แก่สังคมไทย

ความฝันของผู้นำทหารและผู้นำปีกขวาไทยที่เชื่อเสมอว่า การเมืองไทยจะต้องไม่อยู่ภายใต้ระบบเลือกตั้ง

และพวกเขาก็พร้อมที่จะกระทำทุกวิธีที่จะทำให้การเลือกตั้งและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหมดสภาพไป

ไม่ว่าจะเป็นการยุบพรรคหรือการใช้กระบวนการทางกฎหมาย “เล่นงาน” ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ จนกลายเป็นที่มาของวาทกรรม “กฎหมายสองมาตรฐาน”

และยังส่งผลให้กระบวนการ “ตุลาการภิวัตน์” กลายเป็นเพียงการขยายบทบาททางการเมืองของสถาบันตุลาการ อันส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของสถาบันดังกล่าวอย่างมาก

ดังนั้น เพื่อป้องกันการ “เสียของ” หรือว่าที่จริงแล้วก็คือการป้องกันไม่ให้รัฐบาลทหารเป็นฝ่ายพ่ายแพ้หากการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นจริงในอนาคตก็คือ การสร้างกลไกทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ เพื่อเป็นดัง “สิ่งกีดขวาง” ที่จะถูกจัดวางบนถนนสายการเมือง

โดยเชื่อมั่นว่า “สิ่งกีดขวางทางการเมือง” จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลที่เป็น “ทายาท” ของระบบการปกครองเดิมของฝ่ายทหาร

ความพ่ายแพ้ต่อการเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นในปี 2550 กลายเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับพวกเขา…

เข็มมุ่งสำคัญสำหรับนักรัฐประหารและกลุ่มปีกขวาจึงมีประการเดียวคือ จะต้องอยู่ในการเมืองไทยต่อไป แม้ระยะเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้น ก็จะต้องทำให้การเปลี่ยนผ่านนี้หมดแรงขับเคลื่อนและไม่มีนัยต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอนาคต

กลไกสืบทอดอำนาจ

การจัดวางหลักประกันต่อการคงอยู่ของระบบทหารและจะต้อง “ไม่เสียของ” จึงเกิดขึ้นจากปัจจัยสำคัญที่ถูกออกแบบโดยรัฐบาลทหาร และกลไกทางกฎหมายของกลุ่มรัฐประหาร ได้แก่

1) แม้จะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว แต่ก็ยังมีการคงอำนาจของธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหารไว้ จนเกิดสภาวะที่นักกฎหมายรัฐธรรมนูญตั้งข้อสังเกตว่าเป็นภาวะ “รัฐธรรมนูญซ้อนรัฐธรรมนูญ” อันส่งผลให้การเปลี่ยนผ่านในอนาคตมีความยุ่งยากในตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

2) รัฐธรรมนูญที่ถูกร่างขึ้นให้หลักประกันแก่รัฐบาลทหารด้วยการออกแบบให้มีวุฒิสมาชิก 250 เสียงที่มาจากการแต่งตั้งของรัฐบาลทหาร อันส่งผลให้ “พรรคทหาร” เกิดขึ้นโดยทันที แม้จะยังไม่มีการเลือกตั้งขึ้นก็ตามที วุฒิสมาชิกนี้จะเป็นหลักประกันโดยตรงในการลดทอนอำนาจของพรรคการเมืองในรัฐสภา

3) สาระของรัฐธรรมนูญนี้ไม่ต้องการให้เกิดการเมืองภาคพลเรือนที่เข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้เกิด “นายกฯ คนกลาง” หรือการที่พรรคที่ชนะการเลือกตั้งอาจจะจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ เพราะการใช้หลักการใหม่ที่พรรคที่ชนะเลือกตั้งจะไม่ได้ ส.ส.สัดส่วน เช่นในแบบปกติ อันทำให้คาดได้ว่า รัฐธรรมนูญนี้คงประสงค์ให้เกิด “รัฐบาลผสม” และเกิดภาวะ “การเมืองอ่อนแอ” ที่การเมืองหลังการเปลี่ยนผ่านอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้นำทหารต่อไป เพราะการเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะมีความ “อ่อนแอ” ของพรรคการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญ และจะเปิดโอกาสให้เกิดการแทรกแซงของฝ่ายทหารได้

4) ยุทธศาสตร์ 20 ปีของรัฐบาลทหารถูกจัดทำขึ้นเพื่อหวังว่า แม้กองทัพจะพ่ายแพ้ต่อการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคตก็ไม่อาจทำนโยบายได้ หากถูกตีกรอบให้ต้องเดินไปในทิศทางที่รัฐบาลทหารได้กำหนดไว้ หรือโดยหลักการก็คือ รัฐบาลหลังการเปลี่ยนผ่านไม่สามารถจัดทำนโยบายของตนเองได้ และจะต้องอยู่ภายใต้กรอบที่ถูกกำหนดจากยุทธศาสตร์นี้ ซึ่งจะมีผลเท่ากับอายุของรัฐบาลเลือกตั้งถึง 5 สมัย หรือเกิดภาวะ “รัฐซ้อนรัฐ” นานถึง 20 ปี ยุทธศาสตร์นี้จึงเป็นดังการ “รัฐประหารเงียบ” ของฝ่ายทหารที่เกิดขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องมีการเคลื่อนกำลัง และจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ฝ่ายกองทัพสามารถควบคุมการเมืองได้ยาวนานถึง 20 ปี

5) การออกคำสั่ง คสช. ที่ 51/2560 ในการยกระดับให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) กลายเป็น “ซูเปอร์แมน” ในการควบคุมงานความมั่นคงทั้งหมดของประเทศ จนคล้ายกับการจัดตั้ง “รัฐบาลพิเศษ” ขึ้น ทั้งที่ประเทศไม่อยู่ในภาวะสงคราม แต่กองทัพก็ตัดสินใจขยายบทบาทของทหารด้วยความหวังว่า กอ.รมน. จะเป็นผู้ควบคุม “สนามรบทางการเมือง” ทั้งในเมืองและในชนบท และยังจะเป็นเครื่องมือสำคัญใน “สงครามการเมือง” สู้กับฝ่ายตรงข้าม

เพื่อทำให้การเปลี่ยนผ่านที่จะเกิดขึ้นนั้นอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายทหาร

อีกทั้งกองทัพและพรรคการเมืองของฝ่ายทหารจะต้องไม่เป็นผู้แพ้ หรืออย่างน้อยจะต้องไม่นำไปสู่สถานการณ์เหมือนกับการเลือกตั้งไทยในปี 2550 และ 2554

สัญญาประชาคมสากล

การออกแบบทางการเมืองที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็น “ความกลัว” อย่างมากของฝ่ายทหารและกลุ่มปีกขวาว่าพวกเขาอาจจะพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งในอนาคต แต่แม้จะมีความพยายามในอีกด้านหนึ่งผลักดันข้อเสนอให้มีการเลื่อนการเลือกตั้ง แต่ด้วยแรงกดดันจากประชาคมระหว่างประเทศ รัฐบาลไทยได้สัญญาในเวทีสากลมาแล้ว 3 ครั้ง

โดยในครั้งแรก ผู้นำไทยกล่าวที่โตเกียวว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในปี 2559

ครั้งที่สอง กล่าวที่นิวยอร์กว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในปี 2560

และครั้งที่สาม มีคำสัญญาในแถลงการณ์ร่วมที่วอชิงตันว่าจะเลือกตั้งในปี 2561… คำสัญญาทั้งสามครั้งเช่นนี้บ่งบอกถึงแรงกดดันจากเวทีสากลอย่างชัดเจน และทั้งยังมีแถลงการณ์ของสหภาพยุโรปออกมาเป็นแรงกดดันให้รัฐบาลทหารไทยจะต้อง “รักษาคำสัญญา” ที่จะนำพาประเทศกลับสู่การเลือกตั้ง

ฉะนั้น หากรัฐบาลทหารตัดสินใจที่ “บิดพลิ้ว” คำสัญญาเป็นครั้งที่ 3 โดยไม่มีความชัดเจนที่จะจัดการเลือกตั้งในปี 2561 แล้ว รัฐบาลไทยจะ “ไร้เครดิต” ในเวทีสากลเป็นอย่างยิ่ง

และจะทำให้อนาคตของไทยถูกมองจากประชาคมระหว่างประเทศด้วยความไม่มั่นใจ

หรือถ้าเรายอมรับวาทกรรมว่า ประเทศไทยกำลังกลายเป็น “คนป่วย” ในภูมิภาคแล้ว การทำให้อนาคตของประเทศไทยไม่มีความชัดเจนทางการเมืองด้วยการขยายเวลาการเลือกตั้งออกไป จะเป็นดังการพาประเทศไทยเข้า “ห้องไอซียู” นั่นเอง

ประเทศไทย 2561 ในห้องไอซียูจะไม่เป็นผลดีทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างแน่นอน เว้นแต่จะเป็นโอกาสให้รัฐบาลทหารดำรงอยู่ในอำนาจได้ต่อไป แต่ก็เป็นการอยู่บนความ “ผันผวน” และ “ไม่แน่นอน”!

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0