โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

"สิงคโปร์" รับมือสังคมสูงวัย ปรับเพิ่ม "ภาษี GST" อุดรายได้รัฐ

ประชาชาติธุรกิจ

เผยแพร่ 17 ก.พ. 2561 เวลา 13.41 น.
for01190261p1

“สิงคโปร์” เป็นอีกหนึ่งประเทศที่โด่งดังในด้าน “เมืองต้นแบบด้านภาษีต่ำ” ทว่ามุมมองเหล่านี้อาจเปลี่ยนไป หลังมีแนวโน้มว่ารัฐบาลสิงคโปร์จะพิจารณาปรับโครงสร้างภาษีครั้งใหม่ โดยเฉพาะ “ภาษีสินค้าและบริการ” (GST) หลังจากที่ส่งสัญญาณความกังวลเกี่ยวกับ”ประชากรผู้สูงอายุ” ที่ทำท่าจะเติบโตขึ้นต่อเนื่อง ทั้งยังพิจารณาบรรจุ “ภาษีอีคอมเมิร์ซ” เพิ่มเข้าไปด้วย

ก่อนหน้านี้ ในปี 2016 รัฐบาลสิงคโปร์ได้ปรับขึ้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้มีรายได้สูง จาก 20% เป็น 22% เพื่อชดเชยการใช้จ่ายของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก การปรับขึ้นภาษีครั้งนั้นมีผลบังคับใช้ต่อผู้ที่มีรายได้สูงกว่า 160,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อปี หรือราว 117,647 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ราว 5% ของกลุ่มผู้ที่มีเงินได้ทั้งหมดในประเทศ

ปัจจุบันสิงคโปร์มีประชากร 5.6 ล้านคน หากมองเฉพาะตัวเลขของผู้ที่ถือสัญชาติสิงคโปร์ไม่นับรวมแรงงานต่างชาติ ซึ่งมีมากถึง 3.31 ล้านคน ส่วนประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปี มีสัดส่วนถึง 11.7% จากประชากรทั้งประเทศ

ขณะที่เวิลด์แบงก์ ประเมินไว้ว่า ภายในปี 2050 สิงคโปร์จะเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุด ทั้งยังเป็นประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สิงคโปร์แสดงความกังวลมาโดยตลอดเกี่ยวกับกระแสผู้สูงอายุดังกล่าว โดยพยายามตั้งรับออกนโยบายรองรับกับการเปลี่ยนแปลง หนึ่งในนั้นก็คือ การหาช่องทางเพิ่มรายได้ให้กับภาครัฐ ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์ส่งสัญญาณตั้งแต่ปีก่อนว่า “สถานการณ์สังคมผู้สูงอายุสร้างความกังวลมากขึ้น รัฐบาลอาจเพิ่มการพิจารณาปรับโครงสร้างประเทศบางอย่าง”

ผลสำรวจ “รอยเตอร์ส” ต่อความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์พบว่า 9 ใน 10 ราย ประเมินตรงกันว่า รัฐบาลสิงคโปร์อาจประกาศปรับขึ้นภาษี GST ระหว่างการแถลงแผนงบประมาณประจำปี ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์นี้

โดยคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 1% จาก 7% ในปัจจุบันเป็น 8% เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับภาครัฐในการตอบสนองความต้องการใช้จ่ายทางสังคมในอนาคต โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มประชากรที่มีอายุมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นอัตราภาษี GST เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2007

นายฟราสซิส ตัน นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารยูโอบี มองว่า “การเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสิงคโปร์เป็นปัจจัยหนุนในการปรับเพิ่มอัตราภาษี พร้อมคาดการณ์ว่า รัฐบาลสิงคโปร์อาจปรับเพิ่ม 1% อีกครั้งในปี 2019 เพราะสังคมผู้สูงอายุทำให้สิงคโปร์เก็บภาษีรายได้บุคคลธรรมดาได้น้อยลง”

ขณะเดียวกัน ผลสำรวจของ “บลูมเบิร์ก” ยังเปิดเผยมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์จำนวน 8 ใน 12 คน ที่เห็นพ้องกันว่า เป็นไปที่สิงคโปร์จะออกกฎเข้มเรียกเก็บภาษีผู้ค้า “อีคอมเมิร์ซ” เร็ว ๆ นี้ โดยกฎหมายฉบับใหม่นี้จะส่งผลให้การทำธุรกรรมดิจิทัลข้ามพรมแดนอยู่ภายใต้การควบคุมของกฎหมาย GST

และนั่นหมายถึงธุรกิจอีคอมเมิร์ซรายใหญ่สัญชาติจีนและฝั่งตะวันตกอย่าง “ลาซาด้า” และ “อเมซอน” ก็เตรียมจะถูกเก็บภาษีไปด้วยเพียงไม่กี่วันที่มีรายงานของบลูมเบิร์ก

“อินดรานี ราจาห์” รัฐมนตรีอาวุโส กระทรวงกฎหมายและการคลังของสิงคโปร์ กล่าวว่า รัฐบาลได้ศึกษาความเป็นไปได้ในเรื่องภาษีอีคอมเมิร์ซ ซึ่งปรากฏการณ์ธุรกิจออนไลน์ที่โตแบบรั้งไม่อยู่ ยิ่งตอกย้ำให้รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ

“ปัจจุบันนักช็อปชาวสิงคโปร์ที่ซื้อสินค้าจากร้านค้าปลีกออนไลน์ในสิงคโปร์ต้องเสียภาษี GST ที่ 7% แต่พวกเขากลับไม่ได้จ่ายภาษีสำหรับสินค้าที่ซื้อจากซัพพลายเออร์ของต่างประเทศ หากมูลค่าของสินค้าที่นำเข้าต่ำกว่า 400 ดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งหากมีการเก็บภาษีสินค้าอีคอมเมิร์ซให้ครอบคลุมทุกชนิด จะทำให้มีรัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้น” นางราจาห์กล่าว

นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์หลายคนยังมองว่า หากรัฐบาลสิงคโปร์โฟกัสไปที่การเพิ่มรายได้จากการเก็บภาษีเพิ่ม เป็นไปได้ว่าอาจจะพิจารณาการเก็บ “ภาษีความมั่งคั่ง” มากขึ้นด้วย เช่น การเก็บภาษีเพิ่มของภาษีทรัพย์สินรายปี รวมถึงอัตราภาษีที่สูงขึ้นในผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาสูบ หรือแม้กระทั่งออกภาษีใหม่ในการบริโภคน้ำตาล

ทั้งนี้ “ไมเคิล วัน” นักวิเคราะห์ เครดิตสวิส ประเมินว่า หากปรับเพิ่มภาษี GST ขึ้นอีก 2% คาดว่าจะช่วยให้ GDP ต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลต่อปีเพิ่มขึ้น ราว 0.6% โดยคำนึงถึงมาตรการชดเชยที่เป็นไปได้ เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อครัวเรือนที่มีรายได้น้อย

แม้ว่าสิงคโปร์จะไม่ใช่ประเทศเดียวในเอเชียที่สนใจเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซ โดยรัฐบาลของอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ก็ได้ยกแผนการมาพิจารณาด้วย เพื่อหวังช่วยผ่อนคลายบรรยากาศในการแข่งขันสำหรับผู้ค้าปลีกออฟไลน์ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ “ฉัว ฮัก บิน” และ “ลี จู เย” จากฝ่ายวิจัยของบริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ในสิงคโปร์ ระบุว่า การเรียกเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซอาจมีการบังคับใช้ได้ยาก เพราะถือว่าเป็นธุรกิจที่จับต้องยาก อีกทั้งผู้ค้าออนไลน์ยังหาทางเลี่ยงจ่ายภาษีได้เสมอ อย่างกรณีที่เกิดในเวียดนามและฟิลิปปินส์ เป็นต้น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0