โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

สำรวจภาษีหมา-แมวในต่างประเทศ ต้องจ่ายเงินเท่าไรก่อนจะมีสัตว์เลี้ยงคลายเหงา

THE STANDARD

อัพเดต 21 มี.ค. 2561 เวลา 03.43 น. • เผยแพร่ 21 มี.ค. 2561 เวลา 03.34 น. • thestandard.co
สำรวจภาษีหมา-แมวในต่างประเทศ ต้องจ่ายเงินเท่าไรก่อนจะมีสัตว์เลี้ยงคลายเหงา
สำรวจภาษีหมา-แมวในต่างประเทศ ต้องจ่ายเงินเท่าไรก่อนจะมีสัตว์เลี้ยงคลายเหงา

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประกาศให้พื้นที่ในหลายจังหวัดของไทยเป็นเขตโรคพิษสุนัขบ้าระบาดชั่วคราว โดยล่าสุดพบผู้เสียชีวิตจากสาเหตุนี้แล้วถึง 6 คนในปีนี้ การเฝ้าระวังดังกล่าว มาพร้อมกับมาตรการควบคุมโรคต่างๆ มากมาย และ ‘การจัดเก็บภาษีสัตว์เลี้ยง’ ก็เป็นหนึ่งในประเด็นที่ถูกพูดถึงเป็นวงกว้างอยู่ในขณะนี้

 

หลังจากที่ นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเกี่ยวกับมาตรฐานของวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคในปัจจุบัน นพ.เจษฎา ได้กล่าวถึงการเซ็ตซีโร่ปัญหาสุนัขและแมวจรจัดในไทย รวมถึงหยิบยกตัวอย่างการจัดเก็บภาษีสัตว์เลี้ยงในบางประเทศ ล่าสุด น.สพ.อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ แสดงท่าทีขานรับ เตรียมประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้

 

 

ภาษีสัตว์เลี้ยงไม่ใช่สิ่งใหม่ในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรป

 

เยอรมนี เป็นหนึ่งในประเทศแถบยุโรปเพียงไม่กี่ประเทศที่ยังคงมีการจัดเก็บภาษีสัตว์เลี้ยงจากสุนัข ซึ่งกฎหมายการจัดเก็บภาษีนี้เริ่มประกาศใช้ในหลายแคว้นที่พูดภาษาเยอรมัน ตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 19 โดยมีจุดประสงค์หลักในการลดการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในขณะนั้น รวมถึงหาเงินทุนเพื่อใช้จ่ายในการทหาร รวมถึงการจ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม

 

ในอดีตการจัดเก็บภาษีสุนัข ถือเป็นเรื่องปกติและเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการหาเงินสนับสนุนให้กับรัฐบาลหลายประเทศในยุโรป ก่อนที่ในทศวรรษ 1970 ประเทศเหล่านั้นจะค่อยๆ ทยอยยกเลิกการจัดเก็บภาษีสุนัข หนึ่งในนั้นคือ อังกฤษ ที่ประกาศยกเลิกไปราวปี 1987

 

อัตราการเสียภาษีสุนัขในแต่ละเขตพื้นที่ของเยอรมนีไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับกฎระเบียบข้อบังคับในแต่ละพื้นที่ โดยผลสำรวจของ Stiftung Warentest เมื่อปี 2015 พบว่า ชาวเยอรมันเสียภาษีสุนัขเฉลี่ยสูงสุดปีละ 186 ยูโร (ราว 7,200 บาท) และในปี 2016 เฉพาะในกรุงเบอร์ลิน เมืองหลวงของเยอรมนีสามารถจัดเก็บภาษีนี้ได้เป็นเงินมากกว่า 11 ล้านยูโร (ราว 423.3 ล้านบาท) เลยทีเดียว

 

ชลธิชา นิรัตติศัยกุล หนึ่งในคนไทยที่แต่งงานและใช้ชีวิตในเยอรมนี เจ้าของซิโอและลูน่า สุนัขสายพันธ์ุพิตบูลและมาลินอยส์ เล่าถึงประสบการณ์ในการเสียภาษีสุนัขให้ THE STANDARD ฟังว่า “อัตราภาษีสุนัขในแต่ละเขตพื้นที่ของเยอรมนีไม่เท่ากัน โดยสุนัขที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง จะต้องเสียภาษีประมาณ 140-160 ยูโรต่อปี (ราว 5,400-6,200 บาท) ในขณะที่สุนัขในเขตชนบท จะต้องเสียภาษีประมาณ 40-60 ยูโรต่อปี (ราว 1,500-2,300 บาท) ยิ่งถ้าสุนัขเป็นสายพันธ์ุต่อสู้ที่ทางการไม่อนุญาตให้เลี้ยง เช่น พันธุ์พิตบูล ร็อตไวเลอร์ มาลินอยส์ ฯลฯ จะต้องเสียภาษีสุนัขขั้นต่ำ 450 ยูโรขึ้นไป (ราว 17,300 บาท) และจะต้องทำการทดสอบความสามารถทุกๆ 2 ปี”

 

ปัจจุบัน มีเจ้าตูบที่รอการรับไปอุปการะกว่า 3 แสนตัวต่อปี ถ้าหากคนรักสุนัขรับสุนัขกลุ่มนี้ไปเลี้ยงจะได้รับการยกเว้นการเสียภาษีสุนัขในปีแรก ในขณะที่สุนัขนำทางของผู้พิการทางสายตาและการได้ยิน รวมถึงสุนัขที่ได้รับเหรียญกล้าหาญต่างๆ และสัตว์เลี้ยงจำพวกน้องแมว ไม่จำเป็นต้องเสียภาษีสัตว์เลี้ยง

 

 

สวิตเซอร์แลนด์เป็นหนึ่งในประเทศแถบยุโรปที่ในบางพื้นที่ยังคงมีการจัดเก็บภาษีสุนัข หนึ่งในนั้นคือเมืองเล็กๆ อย่าง Reconvilier ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของสวิตเซอร์แลนด์ ที่ระบุให้เจ้าของเจ้าตูบต้องเสียภาษี 48.50 เหรียญสหรัฐต่อตัวต่อปี (ราว 1,500 บาท) โดยtheweek.comได้รายงานว่า เมือง Reconvilier ยังได้กำหนดบทลงโทษในกรณีที่เจ้าของไม่ยอมเสียภาษีสัตว์เลี้ยงให้แก่หน่วยงานท้องถิ่น หน่วยงานดังกล่าว อาจดำเนินมาตรการรุนแรงต่อสุนัขตัวนั้น (การสังหาร จะเป็นวิธีการสุดท้ายที่จะถูกนำมาปฏิบัติ) ซึ่งได้สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง โดยสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความยากจน ผู้นำท้องถิ่นต้องการเงินทุนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในพื้นที่

 

พรพีพล จงเกรียงไกรธร อดีตนักเรียนแลกเปลี่ยนที่มีโฮสต์อยู่สวิตเซอร์แลนด์ ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ว่า “ในสวิตเซอร์แลนด์เก็บภาษีสุนัขมานานแล้ว แต่แมวไม่ต้อง ในปัจจุบันที่นี่มีแต่แนวโน้มที่จะเก็บภาษีนี้เพิ่มมากขึ้น และอาจจะรวมถึงการเก็บภาษีม้าในอนาคต ถ้าไม่จ่ายภาษี เจ้าของก็เลี้ยงไม่ได้และอาจจะถูกตามมาทวงเก็บเงิน แย่ไปกว่านั้นสุนัขของเราอาจจะถูกกักให้อยู่ในพื้นที่ของสัตว์จรจัดจนกว่าจะจ่ายภาษี ซึ่งส่วนใหญ่ถ้าจะเลี้ยงสุนัข ชาวสวิสก็จะจ่ายภาษีแทบทุกคน เงินภาษีที่ได้ก็จะกลายเป็นเงินสนับสนุนสวัสดิการในด้านการจัดซื้อถุงเก็บอุจจาระที่ประชาชนสามารถหยิบไปใช้ได้ฟรี รวมถึงค่าจัดการของเสียและสิ่งปฏิกูลต่างๆ ในท้องถิ่น”

 

ในกรณีที่คุณเป็นชาวต่างชาติและต้องการจะนำสัตว์เลี้ยงเข้าไปในสวิตเซอร์แลนด์ นอกจากที่จะต้องทำการขึ้นทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในละแวกที่คุณไปพักอาศัยแล้ว คุณยังจะต้องเสียภาษีสุนัขแต่ละตัว โดยคำนวณภาษีจากน้ำหนักและขนาดของสุนัข และอาจถูกกักกันในช่วงระยะเวลาหนึ่งก่อนเข้าประเทศ เว้นแต่จะมีใบรับรองยืนยันว่า สุนัขดังกล่าวได้รับการฝังไมโครชิป พร้อมตรวจเช็กสุขภาพและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแล้วอย่างน้อย 30 วัน แต่ต้องไม่เกิน 1 ปี โดยสุนัขที่ถูกตัดแต่งใบหูหรือหางจะไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศ โดยสามารถตรวจสอบอัตราภาษีสุนัขในแต่ละพื้นที่เพิ่มเติมได้ที่ www.ch.ch/en/dog-tax/

 

 

เนเธอร์แลนด์ประเทศสายอีโค่ที่พลเมืองส่วนใหญ่ปั่นจักรยานแทนการใช้รถยนต์ ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีการจัดเก็บภาษีสัตว์เลี้ยง โดยแต่ละเมืองจะระบุอัตราภาษีไม่เท่ากัน และสามารถปรับเปลี่ยนได้ในแต่ละปี ที่สำคัญยิ่งมีจำนวนสุนัขมากเท่าไร อัตราภาษีจะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย เช่น ในปี 2017 ที่ผ่านมา กรุงเฮก เมืองหลวงของจังหวัดเซาท์ฮอลแลนด์ 1 ใน 12 จังหวัดของประเทศ กำหนดให้เจ้าของสุนัข 1 ตัว ต้องเสียภาษี 111.96 ยูโร (ราว 4,300 บาท) ในขณะที่ถ้าเป็นเจ้าของ 2 ตัว ต้องเสียภาษี 287.40 ยูโร (ราว 11,100 บาท)

 

เมืองต่างๆ จำนวนมากต่างเริ่มทยอยมีมติยกเลิกการจัดเก็บภาษีสุนัข โดยในปี 2017 ที่ผ่านมา มีถึง 11 เมืองที่จะยกเลิกการจัดเก็บภาษีดังกล่าว หนึ่งในนั้นคือ เมืองรอตเทอร์ดัม (Rotterdam) เมืองที่เคยจัดเก็บภาษีสุนัขสูงที่สุดในประเทศเมื่อปี 2015 ที่อัตราภาษีอยู่ที่ 128 ยูโรต่อหนึ่งตัว และ 300 ยูโรต่อสองตัว จะยกเลิกการเก็บภาษีสุนัขภายในปีนี้ ซึ่งเหตุผลในการยกเลิกไม่ระบุแน่ชัด

 

นอกจากอัตราภาษีที่ต้องคำนึงแล้ว เจ้าของยังจะต้องศึกษากฎระเบียบในแต่ละเขตพื้นที่ด้วยว่า พื้นที่ดังกล่าวสามารถปลดสายจูงได้หรือไม่ รวมถึงมีวิธีการจัดการกับปัสสาวะและอุจจาระของเจ้าตูบอย่างไร ถ้าหากทำผิดกฎอาจจะต้องเสียค่าปรับในอัตราที่สูง ในกรณีที่เป็นสัตว์เลี้ยงชนิดอื่น อาทิ แมว ไม่จำเป็นต้องเสียภาษี

 

 

กระโดดข้ามทวีปมาที่ สหรัฐอเมริกา ในบางรัฐก็มีการจัดเก็บภาษีจากสัตว์เลี้ยงเช่นเดียวกัน โดยcbsnews.comเคยรายงานว่า เจ้าของสัตว์เลี้ยงที่อาศัยอยู่ในเมืองเดอร์แรม (Durham) รัฐนอร์ทแคโรไลนา จะต้องเสียภาษีสัตว์เลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นสุนัขหรือแมว ที่มีอายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่ออัตราการเสียภาษีคือ การทำหมัน ซึ่งหากทำหมันแล้ว จะเสียภาษีประมาณ 10 เหรียญสหรัฐ (ราว 310 บาท) แต่ถ้าหากยังไม่ทำหมัน จะต้องเสียภาษีสัตว์เลี้ยงประมาณ 75 เหรียญสหรัฐ (ราว 2,340 บาท)

 

กฎหมายของรัฐอินเดียน่ากำหนดให้สุนัขที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป จะต้องเสียภาษีสูงสุดไม่เกินตัวละ 5 เหรียญสหรัฐต่อปี (ราว 160 บาท) ในกรณีที่เลี้ยงสุนัขเพื่อเพาะพันธ์ุ เพื่อฝึกฝนและจำหน่าย ถ้าหากมีสุนัขที่อายุถึงเกณฑ์เสียภาษีไม่เกิน 6 ตัว จะต้องได้รับใบอนุญาตและเสียภาษีสูงสุดไม่เกิน 30 เหรียญสหรัฐ (ราว 930 บาท) ถ้ามากกว่า 6 ตัว จะต้องเสียภาษีสูงสุดไม่เกิน 50 เหรียญสหรัฐ (ราว 1,560 บาท) โดยเงินภาษีที่จัดเก็บได้ 20% จะจัดสรรเป็นเงินสนับสนุนการศึกษาและงานวิจัยของมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ขณะที่อีก 80% รัฐบาลท้องถิ่นจะใช้เป็นเงินสนับสนุนในด้านการดูแลสัตว์ การควบคุมโรคระบาดในสัตว์ รวมถึงการกำจัดซากสัตว์ที่ตายลง และเป็นเงินชดเชยให้แก่พี่น้องเกษตรกรที่ปศุสัตว์ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดและส่งผลเสียต่อรายได้

 

 

ประเทศส่วนใหญ่ที่จัดเก็บภาษีสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะภาษีสุนัข มักเป็นประเทศในแถบตะวันตก ในทวีปอื่นๆ โดยเฉพาะทวีปเอเชียแทบไม่มีประวัติหรือข้อมูลการจัดเก็บภาษีในลักษณะนี้ แต่อย่างไรก็ตามประเทศที่ไม่ได้มีการจัดเก็บภาษีสัตว์เลี้ยงโดยตรง ก็อาจจะมีกฎระเบียบและกระบวนการที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงจะต้องปฏิบัติตาม ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง และขอรับใบอนุญาตจากทางการท้องถิ่น การตรวจเช็กสุขภาพและฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้แก่สัตว์เลี้ยงอย่างสม่ำเสมอตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งจะมีค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายตามมา

 

 

ส่วนประเด็นการจัดเก็บภาษีสัตว์เลี้ยงยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากในปัจจุบัน ฝ่ายที่สนับสนุนระบุว่า การจัดเก็บภาษีชนิดนี้จะเป็นประโยชน์ในระยะยาว ทั้งเป็นแหล่งที่มาของเงินทุนในท้องถิ่น และการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงที่ครอบคลุมเพิ่มมากขึ้น อาจมีส่วนช่วยส่งเสริมแนวทางการต่อสู้และป้องกันโรคระบาดที่เกิดจากสัตว์เลี้ยงอย่างน้องหมาน้องแมวได้ในอนาคต ในขณะที่ฝ่ายเห็นต่างมองว่า การจัดเก็บภาษีอาจจะเป็นการเพิ่มภาระให้กับเจ้าของสัตว์ และทำให้ปัญหาสัตว์จรจัดรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

 

คุณเห็นด้วยหรือไม่ ที่ประเทศไทยจะจัดเก็บภาษีสัตว์เลี้ยงในอนาคต? การจัดเก็บภาษีชนิดนี้มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนในสังคมไทย?

 

Photo:  Shutterstock

อ้างอิง:

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0