โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

วิธีมัดใจลูกค้า Top Spender จาก 3 แบรนด์หรู ทำอย่างไรไม่ให้ถูกเท ในยุคที่ Customer Loyalty ดิ่งเหว

Brandbuffet

อัพเดต 21 ก.ย 2560 เวลา 22.44 น. • เผยแพร่ 21 ก.ย 2560 เวลา 22.44 น. • pp

photo credit: shutterstock_517231588

ในยุคที่ผู้บริโภคมีอำนาจเต็มเปี่ยม แบรนด์กลายเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ต้องรอให้เป็นฝ่ายถูกเลือก ท่ามกลางคู่แข่งหลากหลาย ทั้งที่คุ้นหน้าคุ้นตากันดี รวมทั้งแบรนด์ใหม่ๆ ที่เกิดเพิ่มขึ้นมากมาย การที่แต่ละแบรนด์จะทำให้ผู้บริโภคเลือกตัวเองไม่ใช่เรื่องง่าย และที่ยากไปกว่านั้นคือ ทำอย่างไรให้ผู้บริโภคยังอยู่กับแบรนด์ของเราต่อไป ในยุคที่แวดล้อมไปด้วยสิ่งยั่วยุสำหรับการ Switch ไปหาแบรนด์อื่นๆ ได้ตลอดเวลา

เป็นโอกาสดีที่ทางวีซ่า ประเทศไทย เชิญ 3 บริษัทชั้นนำอย่าง คาวาลลิโน มอเตอร์ ผู้นำเข้าและทำตลาดซูเปอร์คาร์อย่างเฟอร์รารี่ บริษัท เอลิส คอร์ปอเรท ผู้ทำตลาดแบรนด์แฟชั่นวาเล็นติโน่ จิมมี่ชู ดิษยา และกล้องไลก้า  รวมทั้ง PMT THE HOUR GLASS ผู้ทำตลาดนาฬิกาแบรนด์หรูมากกว่า 40 แบรนด์ในประเทศ อาทิ โรเล็กซ์, โชพาร์ด,ทิวดอร์,อูโบลท์,ปาเต๊ะ ฟิลิป,ปิเก้ เพื่อร่วมแชร์ประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ในการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้ากลุ่มลักซ์ชัวรี่ ในหัวข้อ “Building Lasting Relationship in the Digital Age Lessons in Engaging with High-end Customer”  เพื่อให้แต่ละกลุ่มธุรกิจนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม

คุณณรัณ ธรรมาวรานุคุปต์, คุณสุริพงษ์ ตันติยานนท์,คุณนันทมาลี ภิรมย์ภักดี และ คุณดนัย สรไกรกิติกูล

เฟอร์รารี่ แบรนด์ที่ไม่ได้ขายรถ แต่ขายฝัน

หนึ่งในแบรนด์ที่ติดอันดับ Powerful Brand ของโลกเบอร์ต้นๆ มาโดยตลอด กับระดับราคาขายตั้งแต่หลายสิบล้านไปจนแตะร้อยล้านบาท ขณะที่รถทุกคันของเฟอร์รารี่จะมีความเป็น Personalize เป็น Made to Order เรียกว่านอกจาก Price Point ที่ค่อนข้างสูง ยังต้องใช้เวลาในการรอคอยอีกด้วย กว่าที่จะได้เป็นเจ้าของเฟอร์รารี่สักคัน

คุณนันทมาลี ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท คาวาลลิโน มอเตอร์ จำกัด ตัวแทนจำหน่ายและซ่อมบำรุงรถยนต์เฟอร์รารี่แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย กล่าวว่า เฟอร์รารี่ไม่ได้ขายรถแต่ขายฝัน เป็นสิ่งที่ผู้ก่อตั้งกล่าวไว้ตั้งแต่เริ่มธุรกิจ จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 70 ปีแล้ว แต่เสน่ห์ของเฟอร์รารี่ยังไม่เสื่อมคลาย เพราะอันดับการประมูลรถที่ขายได้ราคาสูงที่สุดของโลกจากจำนวน 10 คัน ก็เป็นเฟอร์รารี่ถึง 7 คัน โดยคันที่ราคาแพงที่สุดสามารถขายได้ถึง 1,300 ล้านบาท ส่วนในประเทศไทยราคาที่ขายได้ก็สูงถึง 166 ล้านบาทเลยทีเดียว

คุณนันทมาลี ภิรมย์ภักดี

เฟอร์รารี่ยังติด List การลงทุนผ่านสินทรัพย์ของกลุ่มลักซ์ชัวรี่ด้วย เพราะระดับราคาที่ไม่ได้ลดลงตามอายุการใช้งานเหมือนรถทั่วไป แต่ก็เป็นเพียงเหตุผลหนึ่งเท่านั้น เพราะยังมีเรื่องของดีไซน์ที่คลาสสิก เทคโนโลยีการผลิตที่ล้ำหน้า  รวมทั้งการได้เป็นส่วนหนึ่งใน Ferrari Family ที่จะมีโอกาสร่วมกิจกรรมที่มอบประสบการณ์พิเศษต่างๆ แบบเอ็กคลูซีฟที่คนทั่วไปไม่มีโอกาสได้สัมผัส โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เริ่มเข้ามาเป็น Core Target มากขึ้น และให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ค่อนข้างมาก

“ความพิเศษของเฟอร์รารี่ไม่ใช่มีเงินแล้วจะซื้อได้ รถบางรุ่นมีไม่กี่ร้อยคันทั่วโลก หรือในประเทศไทยก็มีไม่ถึงสิบคัน การเป็นเจ้าของเฟอร์รารี่สักคันหนึ่ง จึงเป็นความฝันของหลายคน ขณะที่เราไม่ได้จบแค่การที่ลูกค้าซื้อรถแล้วส่งมอบให้เท่านั้น เพราะลูกค้าไม่ได้ต้องการแค่รถ แต่ต้องให้ความสำคัญกับการส่งมอบประสบการณ์ระดับพรีเมียมให้ลูกค้าด้วย ทั้งประสบการณ์ในการขับขี่ที่ต่างจากรถทั่วไป เทคโนโลยีเทียบเท่าต้นแบบอย่าง Formular1 รวมถึงสิ่งพิเศษต่างๆ เช่น ประสบการณ์ในการขับ F1 การสร้างรถแบบของตัวเอง โอกาสทดลองขับรถรุ่นใหม่ๆ ก่อนใคร หรือการได้เข้าไปเยี่ยมชมโรงงานเฟอร์รารี่ที่จะเปิดให้เฉพาะลูกค้าวีไอพีเท่านั้น”

สิ่งที่ทำให้เฟอร์รารี่ได้ใจลูกค้า มาจากการให้ความสำคัญกับ Customer Experience ด้วยการดูแลลูกค้าทุกคนอย่างใกล้ชิด แม้แต่ผู้บริหารระดับสูงเองก็ลงมาดูแลลูกค้าด้วยตัวเองอยู่เสมอ ทำให้เกิดความคุ้นเคยกัน ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ลูกค้าเท่านั้นแต่ยังส่งต่อไปถึงครอบครัวของลูกค้าด้วย ขณะที่ลูกค้าก็จะรู้สึกว่าเฟอร์รารี่คือครอบครัว มองช่างยนต์  พนักงาน และเซลล์เป็นเหมือนพี่น้อง เมื่อเกิดปัญหาหรือข้อผิดพลาดต่างๆ ในอนาคต  เช่น การรออะไหล่ที่ต้องสั่งผลิตมาโดยเฉพาะเป็นเวลานาน หรือปัญหาอื่นๆ ลูกค้าก็จะมีความเข้าใจ และประนีประนอมมากขึ้น ทำให้ปัญหาต่างๆ ไม่กลายเป็นปัญหาที่ลุกลามหรือสร้างความไม่พอใจให้กับลูกค้า และยังเลือกที่จะเป็นลูกค้าของเฟอร์รารี่ต่อไป

photo credit: shutterstock_508127509

“อีกหนึ่งสิ่งที่คาวาลลิโนให้ความสำคัญในฐานะดีลเลอร์ คือ พยายามถ่ายทอด DNA ที่แข็งแรงของเฟอร์รารี่มาสู่ลูกค้าชาวไทยอย่างสมบูรณ์มากที่สุด ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ลูกค้า  แต่รวมไปถึงพนักงานของเฟอร์รารี่ด้วย ต้องให้ทุกคนมีโอกาสได้สัมผัส ได้ทดลองขับรถจริงๆ เพื่อสามารถสื่อสารกับลูกค้าได้อย่างเข้าใจมากขึ้น รวมทั้งการเปิดโอกาสให้ไปดูงานหรือร่วมกิจกรรมต่างๆ กับทางแบรนด์อยู่เสมอ เพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมต่างๆ และเข้าใจความเป็นเฟอร์รารี่ได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น”

*เรียนรู้วิธีการขายแบบไม่ต้องขาย จากเอลิส *

คุณดนัย สรไกรกิติกูล

ขณะที่ คุณดนัย สรไกรกิติกูล  ประธานกรรมการ บริษัท เอลิส คอร์ปอเรท จำกัด ผู้นำเข้า luxury brands ระดับโลกทั้งในกลุ่มสินค้าแฟชั่น Valentino, Chloe, Jimmy Choo กล้องถ่ายภาพ Leica รวมทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งแบรนด์เสื้อผ้าชื่อดังของไทยอย่างดิษยา (Disaya) ที่ได้รับการยอมรับจากห้างแฟชั่นชั้นนำในต่างประเทศทั้งญี่ปุ่นและยุโรป และยังเป็นแบรนด์ที่มี Customer Loyalty สูงมาก เพราะมีลูกค้าของดิษยาถึง 90% ที่เป็นลูกค้าเก่าหรือลูกค้าประจำ

และด้วยสินค้าในพอร์ตโฟลิโอที่ค่อนข้างหลากหลาย ซึ่งล้วนแต่เป็นแบรนด์ที่ได้รับความนิยมในกลุ่ม Top Spender ทั้งสิ้น โดยเฉพาะแบรนด์ล่าสุดที่นำเข้ามาทำตลาดอย่างไลก้า ที่ต้องถือว่าเป็นครั้งแรกกับการเข้ามาทำตลาดในแบรนด์ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ชาย ทำให้ได้เรียนรู้เรื่อง Price Concern ที่แม้จะเป็นแบรนด์ระดับบนแต่ความแตกต่างเรื่องของราคาเมื่อเทียบกับตลาดอื่นๆ ก็ส่งผลต่อความรู้สึกของลูกค้าเช่นกัน จึงต้องสร้าง Value ที่แตกต่างของการซื้อผ่านตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ เช่น การมีโอกาสร่วมกิจกรรมต่างๆ จากทางแบรนด์โดยตรง การสร้าง Community ของแบรนด์ผ่านกิจกรรมที่จัดขึ้น เป็นความเหนือกว่าที่ลูกค้าจะได้รับจากตัวแทนจำหน่ายที่เป็นทางการเท่านั้น และช่วยลดข้อเปรียบเทียบในเรื่องของราคาจากช่องทางอื่นๆ ลงได้

“ตั้งแต่นำแบรนด์ไลก้าเข้ามาทำตลาด เราแทบไม่เคยขายสินค้าแบบตรงๆ แต่เลือกที่จะพูดในมุมของความสนุกจากการใช้กล้อง ความรู้สึกพิเศษที่มากกว่าและแตกต่างจากการถ่ายรูปผ่านมือถือ เป็นเรื่องของการเก็บความทรงจำที่ไม่มีทางย้อนกลับมาได้ โดยพยายามเข้าไป Educate ให้ลูกค้ารู้จักและเข้าถึงผลิตภัณฑ์ผ่านกิจกรรมต่างๆ ให้มากขึ้น ซึ่งการรุกกิจกรรมต่างๆ ยังทำให้มีกลุ่มลูกค้าที่เด็กลงด้วย เพราะกล้องราคา 3-4 แสนบาท เราอาจคิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่คนอายุน้อยกว่า 40 ปีจะซื้อได้ แต่ตอนนี้คนอายุ 20-30 ปี กลายเป็นลูกค้ากลุ่มหลักของไลก้า และยังเป็นแบรนด์เดียวในพอร์ตที่เราตั้งเป้าเติบโตในสิ้นปีนี้ 100% ซึ่งยังไม่เคยทำได้ในแบรนด์อื่นมาก่อน”

ขณะที่กลุ่มแฟชั่น จะให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิดผ่านพนักงานขายของร้าน ซึ่งบางคนทำหน้าที่ไม่ต่างจาก Personal Shopper คอยอัพเดทคอลเล็กชั่นใหม่ๆ โดยเฉพาะแบบที่เป็นลิมิเต็ดเอดิชั่น ซึ่งผลิตจำนวนไม่มาก โดยจะพยายาม Select ให้กับกลุ่มลูกค้าวีไอพี เพื่อให้รู้สึกถึงความเป็นคนพิเศษที่ได้รับการดูแลและใส่ใจอย่างใกล้ชิด เพราะของบางอย่างไม่มีขายในสโตร์

photo credit : blog.leica-camera.com/

“การใช้พนักงานสร้าง Engage กับลูกค้าเป็นการลงทุนที่มีประสิทธิภาพสูงในราคาไม่แพง เพราะลูกค้าส่วนใหญ่จะมีความเชื่อมั่นในพนักงานที่ร้าน ถ้าแนะนำสินค้าชิ้นไหนให้ ลูกค้าส่วนใหญ่ก็จะตัดสินใจซื้อ ทำให้ปัจจุบันยอดขายผ่านช่องทางออนไลน์ของทางร้าน มีออเดอร์น้อยกว่า Line ส่วนตัวของพนักงานในร้านด้วยซ้ำ เพราะลูกค้ามีความรู้สึกสนิทสนมคุ้นเคยและเชื่อใจพนักงาน แม้บางคนอาจจะยังไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อนก็ตาม”

เอลิสต์ยังให้ข้อคิดในการบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มลักซ์ชัวรี่ ที่ส่วนใหญ่แบรนด์ต่างๆ จะเลือกดูแลเฉพาะคนที่ Well Known หรือเซเล็บบริตี้ที่คนรู้จัก ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่าคนทั่วไป ที่อาจมีกำลังซื้อแต่ไม่มีชื่อเสียงหรือโด่งดัง แต่หากแบรนด์สามารถเข้าถึงกลุ่มคนเหล่านี้ได้มากขึ้น ก็จะมีโอกาสเข้าถึงลูกค้าคุณภาพกลุ่มใหม่ๆ โดยอาจะหาคนที่เป็น Influencer หรือคนที่สามารถ Inspired เพื่อสร้าง Future Customer  แม้ปัจจุบันลูกค้ากลุ่มนี้อาจจะยังไม่ได้ซื้อสินค้าบ่อยนัก แต่ลูกค้าทุกคนต้องการการดูแลแบบ Special ต้องการความ Personalize หากแบรนด์สามารถตอบโจทย์หรือทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้รู้สึกว่าได้รับความพิเศษ และทำให้เกิดความประทับใจได้ ก็จะช่วยสร้างลูกค้าที่มีคุณภาพเพิ่มเข้ามาได้มากขึ้น

“ขณะที่การทำตลาดให้ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น ควรทำแบบโฟกัส เลือกกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อทำตลาดโดยตรงดีกว่าการทำสเกลใหญ่ เพราะด้วยงบประมาณที่เท่ากัน สามารถนำไปสร้างความประทับใจที่มากขึ้นกับกลุ่มที่เฉพาะเจาะจงได้มากกว่า และยังทำให้ลูกค้ามีความรู้สึกว่าเป็นคนพิเศษ เป็นกันเองและคุ้นเคยกับแบรนด์ ซึ่งจะส่งผลให้ยอดขายและฐานลูกค้าในอนาคตขยายได้เพิ่มมากขึ้น”

*PMT คุณค่าเพิ่มจาก Human Touch ที่แข็งแรง *

คุณณรัณ ธรรมาวรานุคุปต์

สำหรับ PMT The Hour Glass เป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่มลูกค้า Luxury Watch ในฐานะตัวแทนจำหน่ายนาฬิกาสุดหรูแบรนด์ดัง โดยคุณณรัณ ธรรมาวรานุคุปต์ กรรมการผู้จัดการ PMT The Hour Glass กล่าวถึง การปรับตัวในยุคที่ดิจิตอลเข้ามามีบทบาทในการทำตลาดมากขึ้น บทบาทของพนักงานขายในร้านจึงต้องเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เพราะตอนนี้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ จากอินเตอร์เน็ต บล็อกเกอร์ หรือสื่อทั่วไป ลูกค้าส่วนใหญ่จึงมีข้อมูลสินค้ามาตั้งแต่ก่อนเข้าร้าน หรือบางครั้งมีรุ่น มีแบบที่ต้องการซื้อไว้ในใจแล้ว บทบาทของพนักงานขายนาฬิกาภายในร้าน จากที่เคยเป็นผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับนาฬิกาแต่ละแบรนด์ก็ต้องเปลี่ยน เพราะสิ่งเหล่านี้อาจไม่ใช่สิ่งที่ลูกค้าต้องการอีกต่อไป ต้องเพิ่ม Value ให้พนักงานขาย เพื่อไม่ให้กลายเป็นเพียงคนส่งของ ขณะธุรกิจก็จะไม่ต่างจากการเป็นพ่อค้าคนกลางเท่านั้น

“ปฏิเสธไม่ได้ว่านอกจากข้อมูลที่หาได้จากอินเตอร์เน็ต ลูกค้ายังมีประสบการณ์ชีวิตมากกว่า เพราะได้เดินทางไปหลากหลายประเทศ มีความสามารถทางภาษาที่ดีกว่า รวมทั้งเป็นผู้ใช้แบรนด์ต่างๆ ด้วยตัวเอง สิ่งที่ลูกค้าต้องการจึงเป็น Sale Executive ที่สามารถตอบได้ว่าลูกค้าเหมาะหรือต้องการอะไร สามารถเปรียบเทียบโปรดักต์ต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง หรือบางครั้งก็ช่วยยืนยันว่าสิ่งที่ลูกค้าเลือกหรือต้องการนั้นเป็นสิ่งที่เหมาะกับตัวเองจริงหรือไม่”

การเพิ่มศักยภาพให้พนักงานขายมีความจำเป็น โดยเฉพาะประสบการณ์บางอย่างที่ลูกค้าอาจจะยังไม่เคยมี เราจึงให้ความสำคัญกับการส่งพนักงานไปเทรนนิ่งและพัฒนาทักษะต่างๆ โดยตรงจากโรงงานผู้ผลิตอยู่เสมอ รวมทั้งเรียนรู้ Branding Culture เพื่อเข้ามาเติมเต็มหรือถ่ายทอดประสบการณ์บางอย่างให้ลูกค้า รวมทั้งการให้ความสำคัญกับ  Service เพราะลูกค้าจะคาดหวังเรื่องเหล่านี้สูงมาก บริษัทจึงจ้าง Mystery Shopper เพื่อซื้อสินค้าภายในเครือ ไตรมาสละครั้ง เพื่อเช็คมาตรฐานการให้บริการให้อยู่ในระดับสูงสุดอยู่เสมอ ทำให้พนักงานมี Paranoid Culture ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการบริการ

“การทำให้ลูกค้ารู้สึกถึง Quality of Service, Trust และ Empowerment ทำให้ลูกค้ายินดีที่จะจ่าย  พนักงานในร้านจึงมีส่วนสำคัญ จึงต้องทำให้พนักงานรู้สึกถึงความเป็น Ownership ขณะที่รูปแบบการบริหารในแต่ละร้านก็จะแตกต่างกันไป แต่ละแห่งแต่ละสาขาก็จะมีวิธีและรูปแบบการบริหารงานของตัวเอง รวมทั้งการให้ Incentive ต่างๆ และทำให้พนักงานมีส่วนร่วมซึ่งสำคัญมาก เพราะจะทำให้เขาดูแลลูกค้าทุกคนเหมือนเป็นลูกค้าของตัวเอง ทำให้ลูกค้าพอใจและมีความเชื่อมั่นได้”

photo credit : shutterstock_303593141

ขณะที่ลูกค้าก็มีความคาดหวังจากการเป็นลูกค้าประจำ จึงต้องเพิ่ม Privilege ให้ลูกค้าเช่นกัน เช่น Special Trip ไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมการต้อนรับจากเจ้าของแบรนด์ เพื่อทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นในคุณภาพของแบรนด์เพิ่มขึ้น และสร้าง Engagement ต่อลูกค้าได้เป็นอย่างดี

ขณะที่ปัจจุบันหลายธุรกิจกังวลเรื่อง Digital Disruptive และพยายามให้ความสำคัญกับการสร้าง Digital Engagement แต่คุณณรัล มีมุมมองว่า ดิจิทัลเป็นเพียงเครื่องมือที่เข้ามาช่วยเสริมประสิทธิภาพบางอย่างที่ธุรกิจมีความแข็งแรงอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ความเป็น Traditional ไม่ได้ตายไป เพราะลูกค้ายังคงให้ความสำคัญกับเรื่องของ Human Touch ยังต้องการการติดต่อสื่อสารจากตัวแทนจากแบรนด์ที่เป็นคน โดยเฉพาะเจ้าของหรือผู้บริหารระดับสูง ที่สามารถลงมาช่วยแก้ปัญหาร่วมกับลูกน้อง เพื่อทำให้ลูกค้ามีความรู้สึกประทับใจมากกว่า

“การที่เจ้าของหรือระดับผู้บริหารโทรหาลูกค้าด้วยตัวเอง ในเวลาที่ลูกค้ามีปัญหาจะทำให้ลูกค้ารู้สึกประทับใจ หรือการเขียนโน้ตด้วยลายมือส่งไปให้ลูกค้าในโอกาสต่างๆ เป็นสิ่งที่ทำให้ธุรกิจแตกต่างได้ ลูกค้ากลุ่มไฮเอนด์คือ คนที่ทำงานหนักมาเพื่อให้มีรายได้ในระดับสูง จึงไม่ต้องการความยุ่งยาก หรือบริการที่ไม่สะดวกสบาย และจะพยายามมองหาโซลูชั่นส์ที่ง่ายและมีประสิทธิภาพมากที่สุด แต่ขณะเดียวกันก็ยังต้องการความจริงใจด้วย แบรนด์ที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าได้รับสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ก็จะทำให้ลูกค้าประทับใจและเลือกที่จะอยู่กับแบรนด์นั้นๆ”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0