โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

วันที่รอคอย!! ปรับขึ้นค่าจ้าง น้อยหรือมาก? ในยุคแรงงานเป็นหนี้หัวโต

ไทยรัฐออนไลน์ - Economics

เผยแพร่ 18 ม.ค. 2561 เวลา 02.41 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

ต่างคนต่างคิด เปิดมุมมองนักวิชาการ และองค์กรแรงงาน ต่อการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ ยึดตามภาระค่าครองชีพแต่ละจังหวัด รวมถึงอัตราที่ปรับขึ้นเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่ ในขณะที่กลุ่มแรงงานยังคงมีหนี้ เหมือนเงาตามตัว…

ภายหลังคณะกรรมการค่าจ้าง หรือ บอร์ดค่าจ้าง ได้พิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 เมื่อวันที่ 17 ม.ค. จนได้ข้อสรุปปรับขึ้นอัตราค่าจ้างทั่วประเทศ อยู่ที่ 5-22 บาท อัตราค่าเฉลี่ยรวมอยู่ 315.97 บาท แบ่งเป็น 7 ระดับ โดยต่ำสุดอยู่ที่ 308 บาท ในกลุ่มสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสูงสุดอยู่ที่ 330 บาท ในจังหวัดภูเก็ต ชลบุรี และระยอง ส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ 325 บาท ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2561 นี้ โดยไม่มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในสัปดาห์หน้า

สำหรับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 เป็นไปตามภาวะครองชีพของแต่ละจังหวัด โดยแบ่งเป็น 7 ระดับ 1. ค่าจ้าง 308 บาท มี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา 2. อัตรา 310 บาท มี 22 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี ตรัง ลำปาง ลำพูน ตาก ราชบุรี ระนอง ชุมพร สตูล หนองบัวลำภู พิจิตร กำแพงเพชร สุโขทัย เชียงราย อุทัยธานี ศรีสะเกษ ชัยภูมิ อำนาจเจริญ แพร่ แม่ฮ่องสอน นครศรีธรรมราช มหาสารคาม

3. อัตรา 315 บาท มี 21 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด ประจวบคีรีขันธ์ นครสวรรค์ สระแก้ว พัทลุง อุตรดิตถ์ อุดรธานี นครพนม บุรีรัมย์ สุรินทร์ เพชรบุรี พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ชัยนาท เลย ยโสธร พะเยา บึงกาฬ น่าน กาญจนบุรี อ่างทอง 4. อัตรา 318 บาท มี 7 จังหวัด คือ จันทบุรี สมุทรสงคราม สกลนคร มุกดาหาร นครนายก กาฬสินธุ์ ปราจีนบุรี

5. อัตรา 320 บาท มี 14 จังหวัด คือ อุบลราชธานี สุพรรณบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา หนองคาย ลพบุรี ตราด ขอนแก่น สงขลา สุราษฎร์ธานี กระบี่ เชียงใหม่ นครราชสีมา พังงา 6. อัตรา 325 บาท มี 7 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา และ 7. อัตรา 330 บาท มี 3 จังหวัด คือ ภูเก็ต ชลบุรี และ ระยอง

ขณะที่ นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ยังคงยืนกรานไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างครั้งล่าสุด ซึ่งอัตราค่าจ้างควรเท่ากันทั่วประเทศ โดยต้องการให้ปรับขึ้น 360 บาทเหมือนกันทั่วประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้า ทั้งนี้ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จะมีการประชุมในวันจันทร์นี้ เพื่อแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วย ในการพิจารณาอัตราค่าจ้างตามอัตราส่วนเป็นรายจังหวัดซึ่งไม่เท่ากัน

ด้าน นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าจ้างเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งดีกว่าไม่ปรับขึ้น โดยส่วนตัวมองว่าน้อยไป ซึ่งควรจะปรับขึ้น 350-360 บาท เพื่อให้คุณภาพชีวิตแรงงานดีขึ้นตามเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีขึ้น เป็นการแบ่งปันผลประโยชน์ให้ผู้ใช้แรงงาน ถ้าปรับน้อยเกินไปก็ไม่มีเงินเก็บ เนื่องจากผู้ใช้แรงงานระดับล่างมีภาระหนี้สินอยู่แล้ว หากปรับขึ้นไม่มากพอ จะแก้ปัญหาแบบเดิมในการทำโอที และเจอปัญหาเดิมๆกับครอบครัวไทย ทำให้ไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัว ทำให้ครอบครัวอ่อนแอ

นอกจากนี้ ยังมองว่าการปรับขึ้นค่าจ้างควรเป็นอัตราเดียวทั่วประเทศ เพื่อการเจรจาต่อรองขององค์กรลูกจ้าง หากลอยตัวตามจังหวัด ซึ่งบางพื้นที่ไม่มีองค์กรลูกจ้าง ทำให้ไม่สามารถต่อรองได้ ซึ่งการปรับขึ้นค่าจ้างครั้งนี้เหมือนไม่ได้ปรับขึ้น โดยที่ผ่านมาเคยเสนอให้ปรับค่าจ้างพื้นฐานไปก่อน และให้แต่ละพื้นที่ไปพิจารณาจากอุปสงค์อุปทาน ให้ปรับค่าจ้างตามความเหมาะสมของแต่ละจังหวัด

ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่าจ้างอัตราเดียวทั่วประเทศมีข้อดี ทำให้คนอยู่ในพื้นที่ไม่ต้องมาทำงานในเมืองใหญ่ ซึ่งหมายความว่างานต้องอยู่ในพื้นที่ ดังนั้น ต้องมีมาตรการจูงใจให้ผู้ประกอบการลงทุนในพื้นที่ เพราะเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น หากยังกระจุกในกลุ่มเล็กๆ ก็ไม่มีประโยชน์ในการปรับขึ้นค่าจ้าง โดยต้องมีเป้าหมายเรื่องความเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0