โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ลายแทงเพิ่มค่าลดหย่อนเร่งด่วนให้ทันสิ้นปี_60

iTAX

อัพเดต 16 ธ.ค. 2560 เวลา 06.49 น. • เผยแพร่ 15 ธ.ค. 2560 เวลา 17.00 น. • iTAX
ลายแทงเพิ่มค่าลดหย่อนเร่งด่วนให้ทันสิ้นปี_60
ลายแทงเพิ่มค่าลดหย่อนเร่งด่วนให้ทันสิ้นปี_60

การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใช้กรอบเวลาตามปีปฏิทิน ดังนั้น ปีภาษีจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธ.ค. 2560 ซึ่งเมื่อนับจากวันนี้ก็เรียกได้ว่าใกล้หมดเวลาเข้าไปทุกทีแล้ว และหากพ้นวันที่ 31 ธ.ค. 2560 นี้ไป ค่าลดหย่อนที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ก็จะกลายเป็นของปีภาษี 61 ซี่งไม่มีผลใดๆ ต่อการลดหย่อนภาษีปี 60 อีกแล้ว

ทำไมต้องเพิ่มค่าลดหย่อน?

โดยปกติสูตรการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ

เงินได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ

ซึ่งเงินได้สุทธิจะเป็นฐานที่ใช้ในการคำนวณค่าภาษีต่อไป ดังนั้น เงินได้สุทธิจะมากหรือน้อยจึงสัมพันธ์โดยตรงกับค่าลดหย่อนด้วย เพราะยิ่งมีค่าลดหย่อนเยอะ ยิ่งทำให้เงินได้สุทธิลดลง และส่งผลให้เมื่อคำนวณภาษีแล้ว เราจะเสียภาษีถูกลงนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ การเพิ่มค่าลดหย่อนจึงเป็นการเพิ่มผลประโยชน์ทางภาษีของตัวเองที่ทุกคนสามารถทำได้ตามเพดานที่กฎหมายกำหนด

ลายแทงค่าลดหย่อนภาษี

เพื่อให้เราสามารถเพิ่มค่าลดหย่อนได้ทันเวลา จึงขอนำเสนอลายแทงค่าลดหย่อนภาษี 8 รายการที่สามารถหาเพิ่มได้เองแบบเร่งด่วนก่อนสิ้นปี 60 นี้

1. ช้อปช่วยชาติ

ช้อปช่วยชาติ เป็นค่าลดหย่อนที่มากันแทบเป็นประเพณีประจำทุกปลายปี ซึ่งปี 60 นี้นับเป็นรอบที่ 3 แล้ว

  • หาได้ที่ไหนบ้าง: ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าต่างๆ ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว
  • เงื่อนไขเบื้องต้น: ต้องเป็นค่าซื้อสินค้า/ค่าบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่จ่ายไประหว่าง 11 พ.ย. - 3 ธ.ค. 60
  • สิทธิลดหย่อน: ตามที่ซื้อจริง สูงสุด ฿15,000
  • หลักฐานที่ต้องขอ: ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปจากผู้ประกอบการ

2. บริจาคเพื่อการศึกษา

*เงินบริจาคเพื่อการศึกษา เป็นค่าลดหย่อนที่ให้สิทธิลดหย่อนโดดเด่นที่สุดในบรรดาค่าลดหย่อนอื่นๆ เพราะสามารถนำไปใช้สิทธิลดหย่อนได้ถึง 2 เท่า ของที่บริจาคจริงเลย

  • หาได้ที่ไหนบ้าง: โรงเรียน มหาวิทยาลัยทั้งเอกชนและรัฐบาล
  • เงื่อนไขเบื้องต้น: ต้องเป็นเงินบริจาคเพื่อสนับสนุนโรงเรียน มหาวิทยาลัยนั้นๆ (เช็ครายชื่อสถานศึกษาที่ลดหย่อนภาษีได้ที่นี่ http://www.rd.go.th/publish/28654.0.html)
  • สิทธิลดหย่อน: 2 เท่าของที่บริจาคจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช่จ่ายและค่าลดหย่อนแล้ว
  • หลักฐานที่ต้องขอ: ใบเสร็จรับเงินหรือใบอนุโมทนาบุญ

3. บริจาคทั่วไป

เงินบริจาคทั่วไป ที่คุณเคยบริจาคให้วัดวาอาราม หรือมูลนิธิ/สมาคม ต่างๆ ใบเสร็จรับเงินที่ได้มาสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ อย่างล่าสุด โครงการ #ก้าวคนละก้าว ของพี่ตูน Bodyslam ที่รับบริจาคเพื่อสนับสนุนโรงพยาบาล 11 แห่ง เป็นการบริจาคเข้ามูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ซึ่งสามารถนำไปเป็นกำลังใจให้พี่ตูนและนำไปลดหย่อนภาษีให้ตัวเองได้พร้อมๆ กัน ดูได้รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.kaokonlakao.com

  • หาได้ที่ไหนบ้าง: วัดวาอาราม มูลนิธิ สมาคม องค์กรการกุศลสาธารณะต่างๆ
  • เงื่อนไขเบื้องต้น: บริจาคให้องค์กรการกุศลสาธารณะที่ได้รับการประกาศรายชื่อแล้ว (เช็ครายชื่อที่ลดหย่อนภาษีได้ที่นี่ http://www.rd.go.th/publish/29157.0.html)
  • สิทธิลดหย่อน: ตามที่บริจาคจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช่จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นๆ ทั้งหมดแล้ว
  • หลักฐานที่ต้องขอ: ใบเสร็จรับเงินหรือใบอนุโมทนาบุญ

4. LTF

  • ค่าซื้อกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF: Long-term Equity Fund)* เป็นการลงทุนลดหย่อนภาษียอดนิยมของหลายๆ คน เนื่องจากมีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงกว่ารายการอื่นๆ แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงสูงเช่นเดียวกัน เนื่องจากเป็นการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไทย
  • หาได้ที่ไหนบ้าง: บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) หรือธนาคารพาณิชย์ต่างๆ
  • เงื่อนไขเบื้องต้น: ซื้อกองทุนรวมหุ้น LTF แล้วถือไว้โดยไม่ขายอย่างน้อย 7 ปีปฏิทิน
  • สิทธิลดหย่อน: ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และต้องไม่เกิน ฿500,000
  • หลักฐานที่ต้องขอ: หนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุนที่ออกโดย บลจ.

5. RMF

(RMF: Retirement Mutual Fund) เป็นการลงทุนระยะยาวเพื่อการเกษียณที่มีลักษณะใกล้เคียงกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาก เพียงแต่ว่าเป็นภาคสมัครใจที่เราสามารถหาซื้อเองได้ มีรูปแบบที่หลากหลายกว่า LTF มาก เพราะสามารถเลือก RMF ที่ความเสี่ยงต่ำมากไปจนถึงสูงมากได้ เลือกนโยบายลงทุนในประเทศหรือต่างประเทศก็ได้

  • หาได้ที่ไหนบ้าง: บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) หรือธนาคารพาณิชย์ต่างๆ
  • เงื่อนไขเบื้องต้น: ซื้อกองทุนรวม RMF แล้วถือไว้โดยไม่ขายอย่างน้อยจนอายุ 55 ปีบริบูรณ์
  • สิทธิลดหย่อน: ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และเมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้วต้องไม่เกิน ฿500,000
  • หลักฐานที่ต้องขอ: หนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุนที่ออกโดย บลจ.

6. ประกันชีวิตทั่วไป

ประกันชีวิตทั่วไป เครื่องมือสำหรับคุ้มครองความเสี่ยงที่จะจ่ายเงินให้เราเมื่อเสียชีวิต ทั้งนี้ ผลประโยชน์ขึ้นอยู่กับประเภทของประกันชีวิตที่เลือกซื้อ ได้แก่ แบบคุ้มครองตลอดชีพ ชั่วระยะเวลา หรือแบบออมทรัพย์ แต่ไม่ว่าจะเลือกแบบใดก็สามารถลดหย่อนภาษีได้ทั้งสิ้น

  • หาได้ที่ไหนบ้าง: บริษัทประกันชีวิต หรือตัวแทนประกันชีวิต
  • เงื่อนไขเบื้องต้น: ซื้อประกันชีวิตที่มีอายุความคุ้มครองอย่างน้อย 10 ปีขึ้นไป
  • สิทธิลดหย่อน: ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน ฿100,000
  • หลักฐานที่ต้องขอ: หนังสือรับรองการจ่ายเบี้ยประกันที่ออกโดยบริษัทประกัน

7. ประกันสุขภาพ

ประกันสุขภาพ เป็นเครื่องมือสำหรับคุ้มครองความเสี่ยงที่จะจ่ายเงินให้เราเมื่อเจ็บป่วยหรือตรวจพบโรคร้ายแรง เป็นค่าลดหย่อนน้องใหม่ล่าสุดที่ประกาศเป็นกฎหมายช่วงปลายปีนี้

  • หาได้ที่ไหนบ้าง: บริษัทประกันชีวิต หรือบริษัทประกันวินาศภัย หรือตัวแทนฯ
  • เงื่อนไขเบื้องต้น: ซื้อประกันสุขภาพจากบริษัทประกันชีวิต หรือบริษัทประกันวินาศภัยในไทย
  • สิทธิลดหย่อน: ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน ฿15,000 และเมื่อรวมกับประกันชีวิตทั่วไปแล้ว ต้องไม่เกิน ฿100,000
  • หลักฐานที่ต้องขอ: หนังสือรับรองการจ่ายเบี้ยประกันที่ออกโดยบริษัทประกัน

8. ประกันชีวิตแบบบำนาญ

ประกันชีวิตแบบบำนาญ เป็นเครื่องมือสำหรับคุ้มครองความเสี่ยงที่จะจ่ายเงินให้เราเมื่อเสียชีวิตแต่จะเน้นการรับผลตอบแทนกลับมาช่วงเกษียณมากกว่า จึงเป็นทางเลือกลดหย่อนภาษีที่เน้นการออมระยะยาวที่ต้องการความคุ้มครองมากกว่าแทนที่จะจ่ายเบี้ยทิ้ง

  • หาได้ที่ไหนบ้าง: บริษัทประกันชีวิต หรือตัวแทนประกันชีวิต
  • เงื่อนไขเบื้องต้น: ซื้อประกันชีวิตแบบบำนาญที่มีอายุความคุ้มครองอย่างน้อย 10 ปีขึ้นไป และเริ่มจ่ายผลประโยชน์เมื่อเรามีอายุตั้งแต่ 55-85 ปีหรือสูงกว่านั้น
  • สิทธิลดหย่อน: ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน ฿200,000 และเมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและ RMF แล้วต้องไม่เกิน ฿500,000
  • หลักฐานที่ต้องขอ: หนังสือรับรองการจ่ายเบี้ยประกันที่ออกโดยบริษัทประกัน

ข้อสังเกต

เนื่องจากค่าลดหย่อนกลุ่มกองทุนกับประกันนั้นหากจ่ายเงินจำนวนเท่ากันย่อมได้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีไม่แตกต่างกัน ดังนั้น ความแตกต่างเดียวที่มี คือ ผลประโยชน์หรือผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนนั้นๆ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ขึ้นอยู่กับอายุ เพศ ความเสี่ยงที่รับได้ และเงื่อนไขอื่นๆ ซึ่งแต่ละคนย่อมแตกต่างกันอย่างแน่นอน

เพื่อให้สะดวกแก่ในการค้นหาค่าลดหย่อนที่เหมาะสมกับตัวเราจริงๆ คุณสามารถค้นหา LTF/RMF รวมถึงประกันลดหย่อนภาษีได้จากฐานข้อมูลของ iTAX ที่ www.itax.in.th/market ซึ่งสามารถใช้ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่ขอข้อมูลส่วนตัว และไม่ต้องลงทะเบียนแต่อย่างใด

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0