โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

รู้ยัง_เงินเดือนเท่าไหร่ถึงไม่ต้องเสียภาษี

iTAX

อัพเดต 16 ธ.ค. 2560 เวลา 06.49 น. • เผยแพร่ 15 ธ.ค. 2560 เวลา 17.00 น. • iTAX
รู้ยัง_เงินเดือนเท่าไหร่ถึงไม่ต้องเสียภาษี
รู้ยัง_เงินเดือนเท่าไหร่ถึงไม่ต้องเสียภาษี

รู้ไว้ไม่เสียหาย โครงสร้างภาษีใหม่ปี 2560 มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหลายส่วน ซึ่งส่วนที่ผมอยากนำเสนอวันนี้คือ ความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับหน้าที่ของผู้มีรายได้จากงานประจำ (เงินได้ประเภทที่ 1) ในการ "ยื่นภาษี" และ "เสียภาษี"

โครงสร้างเบื้องต้น

การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะคำนวณจากเงินได้สุทธิ ซึ่งมีสูตรคำนวณเบื้องต้นคือ

เงินได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ

ทั้งนี้หากเงินได้สุทธิไม่เกิน ฿150,000 จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ปี 2560 มีอะไรใหม่?

ได้ค่าลดหย่อนส่วนตัวเพิ่ม

โครงสร้างภาษีใหม่เพิ่มค่าลดหย่อนส่วนตัวให้จากเดิม ฿30,000 เป็น ฿60,000

ได้สิทธิหักค่าใช้จ่ายเพิ่ม

โครงสร้างภาษีใหม่เพิ่มสิทธิหักค่าใช้จ่ายของรายได้จากงานประจำ (เงินได้ประเภทที่ 1) จาก 40% แต่ไม่เกิน ฿60,000 เป็น 50% แต่ไม่เกิน ฿100,000

หน้าที่ยื่นภาษี

สำหรับใครที่มีรายได้จากงานประจำเพียงทางเดียว กฎหมายกำหนดว่าผู้ที่มีรายได้จากงานประจำตลอดทั้งปี ไม่เกิน ฿120,000 (หรือเฉลี่ยเดือนละไม่เกิน ฿10,000) ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นภาษี

หน้าที่ยื่นภาษีคือหน้าที่ที่ต้องแสดงรายการภาษีว่ามีรายได้ ค่าภาษีและสิทธิลดหย่อนอย่างไรบ้าง ซึ่งโดยปกติผู้ที่ทำงานประจำจะมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีประจำปี ปีละ 1 ครั้ง ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. - 31 มี.ค. ของทุกปี

ทำไมเงินเดือนไม่เกิน ฿10,000 ไม่ต้องยื่นภาษี?

ที่กฎหมายใหม่กำหนดว่าเงินเดือนไม่เกิน ฿10,000 หรือรวมทั้งปีไม่เกิน ฿120,000 ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีนั้น ไม่ใช่ตัวเลขที่กำหนดขึ้นมาเฉยๆ แต่มีที่มาที่ไปดังนี้

ถ้าเราได้รับเงินเดือนรวมตลอดทั้งปี ฿120,000 (หรือเฉลี่ยเดือนละ ฿10,000) เราจะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50% ของเงินเดือนที่เราได้รับ นั่นคือ ฿60,000 และเมื่อเราเป็นผู้มีเงินได้ กฎหมายจึงมอบค่าลดหย่อนส่วนตัวให้ ฿60,000 อยู่แล้วทุกคน ดังนั้น จึงสรุปเป็นสูตรการคำนวณเงินได้สุทธิได้ว่า

เงินได้ ฿120,000 - ค่าใช้จ่าย ฿60,000 - ค่าลดหย่อน ฿60,000 = เงินได้สุทธิ ฿0

ดังนั้นเมื่อมีเงินได้สุทธิ ฿0 อยู่แล้ว จึงไม่มีค่าภาษีต้องเสียเพิ่มอยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้ โครงสร้างภาษีใหม่จึงกำหนดว่าผู้ที่มีรายได้จากงานประจำตลอดทั้งปีไม่เกิน ฿120,000 หรือเฉลี่ยเดือนละไม่เกิน ฿10,000 ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นภาษี

หน้าที่เสียภาษี

เมื่อโครงสร้างภาษีใหม่ทำให้ผู้ที่ทีรายได้จากงานประจำสามารถหักค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 50% ของเงินเดือนที่ได้รับตลอดทั้งปีแต่ไม่เกิน ฿100,000 และยังเพิ่มค่าลดหย่อนส่วนตัวให้เป็น ฿60,000 ด้วย แต่ค่าลดหย่อนจากเงินสะสมกองทุนประกันสังคมยังคงอยู่ที่เพดานสูงสุด ฿9,000 เท่าเดิม

ดังนั้น หากมีเงินเดือนเฉลี่ยเดือนละ ฿26,583.33 จะคำนวณเงินได้ตลอดทั้งปีได้ ฿319,000 (เงินเดือน ฿26,583.33 x 12 เดือน) โดยเราจะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50% ของเงินเดือนที่เราได้รับ ซึ่งควรจะเป็น ฿159,500 แต่เนื่องจากโครงสร้างภาษีใหม่จำกัดสิทธิหักค่าใช้จ่ายอยู่ที่ ฿100,000 จึงทำให้เราสามารถหักค่าใช้จ่ายจากเงินเดือนได้สูงสุดที่ ฿100,000

และเมื่อรวมกับค่าลดหย่อนส่วนตัว ฿60,000 และเงินสะสมกองทุนประกันสังคมที่เราถูกนายจ้างหักไปตอนรับเงินเดือนด้วยอีกเดือนละ ฿750 หรือรวมทั้งปีเป็นเงิน ฿9,000 จึงทำให้เราสามารถสรุปเป็นสูตรการคำนวณเงินได้สุทธิได้ว่า

เงินได้ ฿319,000 - ค่าใช้จ่าย ฿100,000 - ค่าลดหย่อน (฿60,000+฿9,000) = เงินได้สุทธิ ฿150,000

ดังนั้น เมื่อมีเงินได้สุทธิไม่เกิน ฿150,000 แม้จะยังคงมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีตามปกติ แต่เราจึงไม่มีภาระภาษีต้องจ่ายแต่อย่างใด

สรุป

ถ้าคุณมีรายได้จากงานประจำเพียงทางเดียว

  • ถ้าเงินเดือนไม่เกิน ฿10,000 = ไม่ต้องยื่นภาษี
  • ถ้าเงินเดือนไม่เกิน ฿26,583.33 = ต้องยื่นภาษี แต่ไม่ต้องเสียภาษี
  • ถ้าเงินเดือนเกิน ฿26,583.33 = ต้องยื่นภาษี และต้องเสียภาษีด้วย
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0