โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

รู้จัก SALT : สำนักพิมพ์นี้มีดีที่เค็ม

The MATTER

เผยแพร่ 20 มี.ค. 2561 เวลา 18.05 น. • Pulse

“เราไม่ได้ตั้งคำถามเพื่อต่อสู้หรือพิสูจน์ว่าตัวเองคิดถูก แต่เพื่อให้ตัวเองเผื่อใจไว้ว่าอาจผิดก็ได้ แก่นสารของวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์จะทำให้คุณเป็นคนดีขึ้น ดีในแง่ของการเปิดใจรับฟังความคิดเห็นหรือข้อมูลใหม่ๆ ตลอดเวลา” 

เป็นคำพูดของหนึ่งในคณะบรรณาธิการของ Salt Publishing

ในปัจจุบัน คำว่า ‘วิทยาศาสตร์’ และ ‘ปรัชญา’ คล้ายเป็นสองสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรกัน แต่หากย้อนกลับไปในอดีต ภายใต้ความหมายของการใช้เหตุผลมามองชีวิตและปรากฏการณ์ต่างๆ ทั้งสองศาสตร์เคยเป็นสิ่งเดียวกันมาก่อน อีกทั้งเป็นศาสตร์ที่สำคัญยิ่งต่อประวัติศาสตร์และเส้นขอบฟ้าทางความคิดของมนุษย์

จากความสนใจร่วมกันของคนกลุ่มเล็กๆ ที่เห็นความสำคัญของทั้ง ‘วิทยาศาสตร์’ และ ‘ปรัชญา’ รวมไปถึงประโยชน์จากการอ่านหนังสือ จึงเกิดเป็น Salt Publishing สำนักพิมพ์ที่นิยามบทบาทของตัวเองว่าคือ “การเปิดโลกผ่านวิทยาศาสตร์และปรัชญา”

คณะบรรณาธิการของ  Salt Publishingประกอบด้วย โตมร ศุขปรีชา ทีปกร วุฒิพิทยามงคล สฤณี อาชวานันทกุล สุธรรม ธรรมรงค์วิทย์ ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ แอลสิทธิ์ เวอร์การา พวกเขาตั้งใจสร้างสรรค์หนังสือที่มีวิทยาศาสตร์และปรัชญาเป็นรากฐาน ไม่ว่าจะเป็นหนังสือเชิงสาระความรู้ที่อ่านสนุก หรือนิยายแนวไซไฟ โดยในสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 46 (29 มีนาคม - 8 เมษายน 2561) จะมีหนังสือออกมาให้ผู้อ่านได้เปิดโลกทั้งหมด 3 เล่ม คือ

Isaac Newton (ไอแซค นิวตัน นักวิทยาศาสตร์คนแรก และพ่อมดคนสุดท้าย) 

Why Grow Up? (เติบโตอย่างไรไม่เจ็บปวด) 

Rise of the Robots (หุ่นยนต์ผงาด) 

ตามแนวทางที่กล่าวไว้ข้างต้น ทั้ง 3 เล่มเป็นการใช้แว่นของ ‘วิทยาศาสตร์’ และ ‘ปรัชญา’ มาเล่าถึงประเด็นต่างๆ ทั้งที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต เรื่องราวร่วมสมัย และที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

แม้ใครต่อใครจะบอกว่า ‘หนังสือเล่ม’ เป็นช่วงขาลง แต่บนชั้น (ทั้งในร้านหนังสือ และงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ) ก็ยังมีหนังสือใหม่ๆ ออกมามากมาย เราเลยอยากชวนให้ใช้เวลาสั้นๆ อ่านตัวตนของ Salt Publishing เพื่อนำมาพิจารณาด้วยเหตุผลว่า หนังสือของพวกเขาน่าสนใจที่จะควักกระเป๋าจ่ายเงินมาเป็นเจ้าของหรือไม่

ทำไมถึงชื่อ Salt ล่ะ

โตมร : คำว่าเกลือไม่ใช่เกลือที่ใส่กับข้าวอย่างเดียว เวลากรดกับเบสทำปฏิกิริยากัน มันจะเกิดเกลือขึ้นมา เป็นเกลือของอะไรก็ได้ เรารู้สึกว่า Salt มีความเป็นวิทยาศาสตร์ มีความเป็นวัฒนธรรม และทำให้เห็นความหลากหลาย เป็นการรวมตัวของคนที่ไม่ได้สนใจอะไรเหมือนกัน เนื้อหาที่แตกต่างได้หลายแบบ ฟิคชั่น นอนฟิคชั่น วิทยาศาสตร์ ปรัชญา นวนิยายไซไฟ

Salt Publishing เกิดขึ้นได้ยังไง 

ทีปกร : ผมกับพี่หนุ่ม (โตมร ศุขปรีชา) ทำรายการพอดแคสต์ชื่อว่า Omnivore ทำไปหนึ่งปี เพื่อไม่ให้พูดแล้วหายไป พี่หนุ่มเลยบอกว่า เราทำสิ่งที่พูดออกมาเป็นหนังสือไหม

โตมร : ด้วยความที่ Omnivore เป็นรายการที่เลือกประเด็นตามความสนใจ ไม่ได้คิดว่าต้องขายได้ พอจะทำหนังสือเลยต้องทำเอง ออกมาเป็นหนังสือชื่อ อดีตอยู่ข้างหน้า อนาคตอยู่ข้างหลัง (ตีพิมพ์เมษายน 2560) โดยปกติแล้ว ผม แชมป์ ยุ้ย (สฤณี อาชวานันทกุล) จะเจอกันอยู่เนืองๆ เพราะเล่นบอร์ดเกมด้วยกัน ยุ้ยมีเพื่อนสนิทชื่อ แอลสิทธิ์ (เวอร์การา) ทั้งสองคนชอบอ่านนวนิยายไซไฟ (Sci-Fi - Science fiction) และมีความคิดว่าอยากทำสำนักพิมพ์มาพิมพ์งานนวนิยายไซไฟ บ้านเราไม่ค่อยมีงานนวนิยายไซไฟและหนังสือความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์หรือปรัชญา ถ้าพวกเรามาทำด้วยกัน ก็น่าจะเกิดแบรนด์ที่ผลิตงานแบบที่อยากทำ เพื่อเผยแพร่ไปสู่คนที่สนใจงานแบบนี้

สฤณี : เรากับแอลสิทธิ์อ่านหนังสือคล้ายกัน คือ นวนิยายไซไฟ แต่บ้านเรารู้จักอยู่ไม่กี่คน เช่น Isaac Asimov, Arthur C. Clarke, Robert A. Heinlein, Frank Herbert เราสองคนมีโอกาสได้อ่านของนักเขียนคนอื่นๆ ไม่ใช่แค่นวนิยายที่พูดถึงโลกอนาคตหรือโลกของหุ่นยนต์เท่านั้น แต่ยังมีแขนงที่เรียกว่า Alternate history คือจินตนาการถึงโลกในอดีตที่ต่างออกไป เช่น ถ้านาซีชนะสงครามโลกล่ะ หรือถ้าเจงกีสข่านบุกยึดยุโรปตั้งแต่พันปีที่แล้วล่ะ โลกจะเปลี่ยนไปยังไง เป็นแขนงเบ้อเริ่มของนวนิยายไซไฟเลย รวมไปถึงนวนิยายที่ทุกวันนี้เรียกว่า ดิสโทเปีย (Dystopia) ที่คนไทยรู้จักคือ 1984 ซึ่งเป็นแขนงที่ใหญ่มากของนวนิยายไซไฟ หรืองานที่มีคุณค่าเชิงวรรณกรรม ลงลึกในการจินตนาการภาษา โดยเชื่อว่าภาษาเป็นตัวกำหนดความรู้สึกความคิดของคน รวมไปถึงงานของนักเขียนรุ่นใหม่ๆ ก็ตื่นเต้นกว่าเดิม เช่น คนจีน คนเวียดนาม ที่ถ่ายทอดนวนิยายไซไฟออกมา ขณะที่เมืองไทยยังไม่พ้นชื่อนักเขียนคลาสิกแค่ไม่กี่คน

สฤณี / โตมร / ทีปกร
สฤณี / โตมร / ทีปกร

ทีปกร : ถ้าเราเสนอ Rise of the Robot ไปยังสำนักพิมพ์สักที่ ก็อาจมีคนเอานะ แต่การเป็นหนังสือหนึ่งเล่มในหนังสือทั้งหมดของเขา มันจะไม่แข็งแรงว่าทำอะไรกันแน่ จุดยืนของสำนักพิมพ์กับจุดยืนของหนังสืออาจไม่ตรงกันซะทีเดียว การแยกออกมาจะทำให้ชัดว่าสำนักพิมพ์พิมพ์งานแบบไหน

สฤณี : เราพยายามจะนำเสนอวิธีมองโลกผ่านแว่นของ ‘ปรัชญา’ และ ‘วิทยาศาสตร์’ ซึ่งสมัยก่อนเป็นศาสตร์เดียวกัน ตอนหลังถึงมาแยกเป็น Science และ Philosophy เช่น 3 เล่มแรกที่จะออกงานหนังสือนี้ คือ Isaac Newton (ไอแซค นิวตัน นักวิทยาศาสตร์คนแรก และพ่อมดคนสุดท้าย) คือเรื่องของอดีต เป็นจุดกำเนิดวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ส่วนของพี่หนุ่ม Why Grow Up? (เติบโตอย่างไรไม่เจ็บปวด) คือเรื่องร่วมสมัย คนเขียนเป็นนักปรัชญาที่อธิบายการเติบโตด้วยแว่นปรัชญา ส่วนของแชมป์ Rise of the Robots (หุ่นยนต์ผงาด) คือเรื่องของอนาคต แต่เป็นอนาคตที่ใกล้ตัวมาก

สมัยเด็กๆ เราอ่านนวนิยายเรื่องหุ่นยนต์ อ่านแล้วรู้ว่าเป็นเรื่องอนาคตแน่ๆ หุ่นยนต์ที่ไหนจะมาพูดกับเราได้ ก็อ่านเพื่อความเพลิดเพลิน แต่ทุกวันนี้ไม่แน่แล้ว อนาคตมันวิ่งไล่มา มนุษย์เคยตีกรอบว่า มนุษย์เก่งกว่าหุ่นยนต์ เราทำศิลปะได้ แต่หุ่นยนต์ทำไม่ได้ แต่ตอนนี้ AI (Artificial Intelligence) ทำได้แล้วนะ สร้างภาพสไตล์แวนโก๊ะ เส้นแบ่งความเป็นมนุษย์เริ่มพร่า นวนิยายไซไฟไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันแล้ว แล้วไม่ใช่แค่เทคโนโลยี แต่รวมถึงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติด้วย แขนงนึงของนวนิยายไซไฟที่มาแรง คือเรื่องที่อยู่ในโลกใกล้ล่มสลาย สมัยก่อนดิสโทเปียเป็นอนาคตที่ไกลมาก แต่ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์มี scenario ถ้าอุณหภูมิสูงขึ้นอีกจะหายนะแล้ว เริ่มมีดิสโทเปียของอนาคตแค่ไม่กี่สิบปี ทั้งโลกที่มันดูดี เช่น จะมีหุ่นยนต์มาช่วยงาน กับโลกที่จะล่มสลาย มันใกล้ตัวทั้งคู่แล้ว นวนิยายไซไฟบางเล่มแทบไม่ต่างจากวรรณกรรมธรรมดาแล้ว เพราะมาบรรจบกันเร็วมาก ตัวเองแปลหนังสือก็จริง แต่ไม่คิดว่าเก่งขนาดแปลนิยายได้ ถ้าทำสำนักพิมพ์ขึ้นมา เราสามารถเลือกหนังสือให้คนอื่นแปลได้

ทำไมต้องเป็น ‘วิทยาศาสตร์’ และ ‘ปรัชญา’ ล่ะ

สฤณี : รากฐานของวิชาหรือองค์ความรู้แนวนี้ คือเรื่องการใช้เหตุผล การคิดเชิงวิเคราะห์ การตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ ถ้าคิดแบบวิทยาศาสตร์ เราต้องเปิดใจไว้เสมอว่าที่รู้ในวันนี้อาจผิดก็ได้ ความรู้ไม่อยู่นิ่งและตายตัว หนังสือสารคดีวิทยาศาสตร์ที่ดีมากๆ มักเปิดความคิดตรงนี้ไว้ “ผมเสนอแบบนี้ จากข้อมูลที่ได้ตอนนี้ ถ้าอนาคตมีคนศึกษาเรื่องนี้เพิ่ม หรือสามารถส่งดาวเทียมออกไปไกลจากระบบสุริยะมากๆ ก็อาจเจอข้อค้นพบที่แตกต่างได้” วิทยาศาสตร์ฝึกให้ใช้เหตุผล และมันช่วยในแง่พัฒนาตัวเองด้วย เราไม่ได้ตั้งคำถามเพื่อต่อสู้หรือพิสูจน์ว่าตัวเองคิดถูก แต่เพื่อให้ตัวเองเผื่อใจไว้ว่าอาจผิดก็ได้ แก่นสารของวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์จะทำให้คุณเป็นคนดีขึ้น ดีในแง่ของการเปิดใจรับฟังความคิดเห็นหรือข้อมูลใหม่ๆ ตลอดเวลา

สำนักพิมพ์มีวิธีเลือกหนังสือยังไง

ทีปกร : เรามีกรุ๊ปไลน์ที่ทุกคนนำหนังสือที่อ่านมาโยนกัน ถ้าใครโยนมาแล้วมีคนเห็นด้วยประมาณนีง ก็ทำได้ ทุกๆ คนก็อ่านหนังสืออยู่แล้ว ทั้งอ่านเหมือนกัน และไม่ค่อยเหมือนกัน มันเป็นการ scout ไปในตัวว่าพวกเราเห็นขอบฟ้าของหนังสือแบบไหน

จากเล่ม อดีตอยู่ข้างหน้า อนาคตอยู่ข้างหลัง เล่มที่สองคือเล่มไหน

โตมร : เล่มต่อมาตั้งใจจะทำงานแปล เลยเลือก Why Grow Up? (เติบโตอย่างไรไม่เจ็บปวด) คนเขียนคือนักปรัชญาชื่อ Susan Neiman เขาจะเล่ากระบวนการเติบโตของมนุษย์ผ่านมุมมองของนักปรัชญา ยกให้เห็นว่านักปรัชญาแต่ละคนมองยังไง ตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ตอนต้น ผู้ใหญ่ตอนกลาง จนถึงตอนที่แก่แล้ว

ตอนเป็นเด็ก เราเหมือนถูกโยนมาอยู่ในโลกที่ตัวเองไม่ได้สร้าง ด้วยความไม่รู้อะไรเลย สิ่งที่ทำได้คือต้องเชื่อฟังพ่อ แม่ ครูบาอาจารย์ เราถูกหล่อหลอมให้เป็นคนในแบบที่นักปรัชญาเรียกว่า Dogmatism คือเชื่อในหลักศาสนา เชื่อในรสอาหารแม่ เชื่อในทุกอย่าง ถ้าไม่เชื่อเราก็ตาย แต่พอเป็นวัยรุ่น เราเริ่มมองว่าสิ่งที่พ่อแม่บอกไม่ค่อยจริงแล้ว เลยเกิดการต่อต้าน ส่วนใหญ่เลยเหวี่ยงจาก Dogmatism ไปเป็น Scepticism คือคนที่สงสัยและต่อต้านทุกเรื่อง กลายเป็นความสงสัยว่าโลกแบบที่พ่อแม่บอก กับโลกที่ควรจะเป็น คืออะไรกันแน่ หนังสือจะเล่าว่านักปรัชญาคนต่างๆ เช่น รุสโซ, อิมมานูเอล คานต์, ซีมอน เดอ โบวัวร์, เช็คสเปียร์ มองโลกแบบไหนบ้าง การมีชีวิตใน ‘โลกที่เป็น’ กับ ‘โลกที่ควรเป็น’ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีแนวโน้มว่า เราจะไม่เชื่อไปทั้งหมด ก็จะปฏิเสธทั้งหมดแล้วบอกว่าโลกต้องเป็นอีกแบบ แล้วการเติบโตไม่ได้แปลว่าต้องปฏิเสธโลกใดโลกหนึ่งนะ แต่หมายถึงการดูว่าสองโลกนี้จะอยู่ด้วยกันยังไง แล้วจะขับเคลื่อน ‘โลกที่เป็น’ ไปสู่ ‘โลกที่ควรเป็น’ ได้ยังไง

ในฐานะคนแปล คาดหวังให้คนอ่านได้อะไร

โตมร : เขาจะเกิดการตั้งคำถามในแบบที่ไม่ใช่ตั้งกับคนอื่นทั้งโลก แต่รวมถึงการตั้งคำถามกับคำถามของตัวเองด้วย คนจำนวนมากเป็นนักปฏิวัติ เป็นขบถ ตั้งคำถามกับคนทั้งโลก แต่ลืมตั้งคำถามกับตัวเอง เลยไม่พาเขาไปสู่โลกที่ควรจะเป็นในแบบที่ดีขึ้น

เล่มที่สองคือเล่มไหน

ทีปกร : Rise of the Robots (หุ่นยนต์ผงาด) เป็นหนังสือปี 2015 ที่พูดถึงเทคโนโลยีในอนาคต ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ที่จะมาแย่งงานมนุษย์ หรือทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้น มนุษย์มักมีความผยองแบบผิดๆ ว่าหุ่นยนต์ไม่สามารถทำงานนั่นนี่ได้หรอก เช่น งานสร้างสรรค์ การตัดสินใจบางอย่าง แต่คุณ Martin Ford มาชี้ให้เห็นว่าความคิดแบบนั้นผิด หุ่นยนต์ทำได้ทั้งนั้นแหละ แล้วมันค่อยๆ มาอย่างแนบเนียน คนเขียนพยายามนำเสนอระบบเศรษฐกิจทั้งโลกมีปัญหายังไง แล้วระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์จะทำให้ปัญหาเลวร้ายลงยังไง สุดท้ายก็เสนอทางแก้ไขว่า เราในฐานะคนๆ นึง และคนที่มีส่วนในการออกแบบนโยบาย จะช่วยแก้ไขเยียวยาปัญหายังไง

โตมร : เวลาพูดถึงหุ่นยนต์ เราจะนึกถึงมาเป็นตัวๆ แต่หุ่นยนต์ไม่เป็นแบบนั้นเสมอไป มันแทรกซึมในวงการต่างๆ เต็มไปหมดเลย เช่น การแพทย์ การศึกษา

ทีปกร : อย่างเช่นมาช่วยจ่ายยา อ่านผลรังสีวิทยา ต่อไปก็ไม่ต้องมีคนอ่านแล้ว หรือการศึกษาก็ไม่ใช่หุ่นยนต์เป็นครูเข้ามาสอน แต่หมายถึงระบบการเชื่อมต่อทั้งหมด ครูคนเดียวสอนคนเป็นหมื่นเป็นแสนคน ทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นจริงแล้วในต่างประเทศ เรื่องนึงที่ผมตื่นเต้นมาก คือเกษตรกรเปลี่ยนวิธีปลูกของตัวเองให้เหมาะกับหุ่นยนต์ที่มาช่วยเก็บ เช่น เมื่อก่อนจะปลูกพืชที่มีผลบอบบางได้ เพราะใช้มือคนเก็บ แต่พอเป็นหุ่นยนต์เก็บด้วยวิธีเขย่าๆๆ ต้นแล้วรองผลผลิต เขาเลยต้องปลูกพืชที่จะไม่ถูกทำลายด้วยแรงหุ่นยนต์ เลยส่งผลต่อวิถีการบริโภค พืชมีความหลากหลายน้อยลง มันเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เราไม่รู้ตัวว่าหุ่นยนต์กำลังทำอยู่

เท่าที่เล่ามา อ่านเสร็จแล้วไม่เครียดแย่เหรอ

ทีปกร : มันมืดมนเหมือนกันนะ เราเหลือหนทางในอนาคตน้อยลงทุกที แต่การจะหาแสงสว่างได้ เราต้องรู้จักความมืดมนที่สุดก่อน ข้อเสนอในหนังสือเป็นเชิงนโยบาย เช่น รัฐบาลควรจัดสรรรายได้ขั้นพื้นฐานให้ประชาชนของตัวเองยังไง

สฤณี : มีการทดลองจริงในบางประเทศแล้วนะ ก็กลับไปคำถามว่า จริงๆ มนุษย์ต้องทำงานไหม ถึงได้บอกว่าโลกที่เราไม่เคยคิดถึงจะมาเร็วมาก นวนิยายไซไฟจำนวนมากพูดเรื่องแบบนี้ คือโลกที่หุ่นยนต์ทำงาน คนไม่ต้องทำงาน มันจะเป็นยังไง

ทีปกร : ตอนแปลหนังสือเล่มนี้ ถ้ามันออกสิบปีก่อน เรื่องในนี้คือฟิคชั่น แต่ตอนนี้กลายเป็นนอนฟิคชั่นไปแล้ว ก็ดีที่เราได้เตรียมตัว รู้จักกับอนาคตที่มืดมน เผื่อคุณอยู่ในจุดที่ทำอะไรได้ ก็จะได้ทำ

เวลาพูดถึงนวัตกรรมใหม่ๆ อะไรล้ำๆ มักเป็นเคสต่างประเทศ เรื่องแบบหนังสือเล่มนี้จะเกิดในเมืองไทยเหรอ

ทีปกร : สิ่งที่เกิดขึ้นกับคนไทยแล้ว เวลาประเทศพัฒนาแล้วต้องใช้แรงงานที่เป็นมนุษย์ แต่ค่าแรงในประเทศตัวเองสูงเกินไป ก็ใช้คนไทย คนเวียดนาม คนจีน ก็คือใช้คนไทยเป็นหุ่นยนต์นั่นแหละ แต่ตอนนี้การใช้หุ่นยนต์มันราคาถูกลงเรื่อยๆ เขาก็ไม่มาจ้างแล้ว มันส่งผลกระทบทางตรงแบบนี้ด้วย

เล่มที่สามล่ะ

สฤณี : คือ Isaac Newton (ไอแซค นิวตัน นักวิทยาศาสตร์คนแรก และพ่อมดคนสุดท้าย) ตอนเริ่มคุยกับพี่หนุ่มและแชมป์ว่าจะมีหนังสือแนวไหนบ้าง หนังสือแนวนอนฟิคชั่นที่เป็นวิทยาศาสตร์โดยตรงก็ควรมีเล่มที่

คลาสิค สำคัญ และมีคุณค่าเชิงวรรณกรรม ในใจมีลิสต์หนังสืออยู่แล้ว ซึ่งเล่มนี้เป็นหนึ่งในนั้น เป็นเล่มที่ได้รับการกล่าวขานมาก คนเขียนคือ James Gleick มีพรสวรรค์ในการถ่ายทอดชีวิตนักวิทยาศาสตร์ได้อ่านสนุกมาก มีความเป็นวรรณกรรมสูง เหมาะเป็นเล่มแรกๆ ของสำนักพิมพ์

ทุกคนที่เรียน ม.ปลาย ก็ต้องรู้จักนิวตัน รู้จักกฎแรงโน้มถ่วง กลศาสตร์ เราจะเซ็งไม่ชอบ จำได้แค่แอปเปิ้ลตกใส่หัว ปิ๊ง เป็นทฤษฎีออกมา แต่ตัวนิวตันจริงๆ มีอีกหลายมิติ สมัยนั้นวิทยาศาสตร์กำลังจะเดินแยกทางจากปรัชญา ยังไม่มีคำว่าวิทยาศาสตร์เลย นิวตันเรียกตัวเองว่า Natural Philosopher หรือ นักปรัชญาธรรมชาติ เป็นคนแรกที่เปิดประตูไปสู่ยุคของเหตุผล แต่คนเขียนอธิบายว่าวิธีคิดหลายอย่างของเขาก็ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ขนาดนั้นนะ เช่น เหตุผลที่ทำตัวลึกลับมาก เพราะเขาเป็นคนคริสต์ที่เคร่งศาสนา แต่ความเชื่อบางเรื่องไม่ตรงกับสถาบัน ถ้าเผยแพร่ออกไปจะกลายเป็นคนนอกรีต หลายสิ่งต้องจดลับๆ ขณะเดียวกัน เขาก็สนใจเรื่องเล่นแร่แปรธาตุ เป็นงานอดิเรกยอดฮิตในสมัยนั้น ทำยังไงจะมีแร่โลหะแปลกๆ กระบวนการบางอย่างแล้วเป็นทองคำ แต่เขาเก็บเป็นความลับเหมือนกัน เพราะมันเป็นงานอาชีพที่คนค่อนแคะ เป็นเรื่องไสยศาสตร์ จะทำให้ภาพลักษณ์ไม่ดี เรารู้จักว่าคนนี้ค้นพบกฎแรงโน้มถ่วง ค้นพบแคลคูลัส แต่ในอีกมุมเขาก็เป็นเหมือนพ่อมด มีความคิดนอกรีต เล่นแร่แปรธาตุ และเชื่อในไสยศาสตร์หลายเรื่อง

หลายๆ เรื่องเพิ่งรู้หลังเขาตายไปแล้ว บางเรื่องตายไปหลายสิบปีถึงเจอบันทึกเก่าๆ เลยได้รู้ว่าเขามีมุมตรงนี้ด้วย หนังสือแค่สองร้อยหน้า เล่าได้ทั้งหมดนี้ เป็นการเล่าที่คนอ่านวางไม่ลง มีการอธิบายทฤษฎีแอปเปิ้ลหล่นใส่หัวด้วย ทำไมถึงกลายเป็นภาพจำของนิวตันเลย มันเป็นตำนานปรำปราแหละ หลานสาวเล่าให้คนอื่นฟัง "ใช่ มีสวนแอปเปิ้ลหลังบ้าน แล้วลุงชอบเดินเล่น คงนั่งดูแอปเปิ้ลบ้าง" คงไม่มีฉากเป๊ะๆ แอปเปิ้ลหล่นใส่หัว พอเขาตายไปแล้วก็มีการเชิดชูนิวตัน ภาพจำด้านแอปเปิ้ลเลยติดมา

แบบนี้กลุ่มคนอ่านคงเป็นคนทั่วๆ ไปใช่ไหม

สฤณี : ไม่จำเป็นต้องอ่านเป็นวิทยาศาสตร์ก็ได้ อ่านเป็นชีวประวัติคนๆ นึงที่เคยได้ยินชื่อ เสน่ห์ของเล่มนี้ คืออ่านแล้วจะพบหลายอย่างที่ทึ่ง ทำให้เปลี่ยนความคิดต่อนิวตันที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาของวิทยาศาสตร์ แล้วไม่ใช่แค่ชีวิตนิวตัน แต่ยังได้ภาพบรรยากาศของยุคที่วิทยาศาสตร์ในความหมายที่เรารับรู้กำลังจะเกิดด้วย

วิธีการทำงานเป็นยังไงบ้าง

โตมร : เรามีทุกอย่างเหมือนที่สำนักพิมพ์หนึ่งแห่งควรจะมีเลย

ทีปกร : คนที่อยากพูดถึงมาก คือ น้ำใส ศุภวงศ์ พอจะทำสำนักพิมพ์ น้ำใสเป็นคนแรกๆ ที่เรานึกถึง เขามีความสามารถในการตีความสิ่งต่างๆ ได้ดี ตีโจทย์แตก ด้วยความเป็นหนังสือวิทยาศาสตร์ที่ดูแข็งและเข้าถึงยาก ถ้ามีคนตีความได้โดนและสวย ก็ช่วยให้หนังสือเข้าถึงง่ายมากขึ้น น้ำใสเป็นคนออกแบบโลโก้ ปกหนังสือทั้ง 3 เล่ม ส่วนบรรณาธิการก็เป็นฟรีแลนซ์ที่ความถนัดเหมาะกับเนื้อหาแต่ละเล่ม

ช่วงเวลาที่การทำสำนักพิมพ์ไม่ใช่เรื่องง่าย คาดหวังเรื่องความอยู่รอดขนาดไหน

ทีปกร : เล่มแรกของสำนักพิมพ์ เราแค่อยากรวมเล่มพอดแคสต์ให้เป็นหลักเป็นฐาน พอขยายก็ต้องคิดเรื่องกำไรขาดทุนจริงๆ จังๆ ตอนนี้วางแผนว่าหนึ่งปีจะออกหนังสือ 6-8 เล่ม ไม่ได้เป็นสำนักพิมพ์ใหญ่ แต่ก็ไม่ใช่สำนักพิมพ์เล็ก

สฤณี : ตอนคุยกับแอลสิทธิ์เรื่องจะทำสำนักพิมพ์นวนิยายไซไฟ ก็คิดว่ามันเสี่ยงนะ พอพี่หนุ่มตอบรับให้เป็นพันธมิตร ก็รู้สึกดี เพราะแนวนอนฟิคชั่นน่าจะมีโอกาสทางธุรกิจมากกว่า โลกของหนังสือแปลมันใหญ่มาก การที่สำนักพิมพ์มีจุดยืนชัดเจนจะยิ่งดี บางสำนักพิมพ์อาศัยเบสท์เซลเลอร์ลิสต์ เล่มขายดี นักเขียนดัง กำลังจะเป็นหนัง เลยไม่มีแนวที่ชัดเจน เรามองว่าแนวทางนั้นจะเสี่ยง ท่ามกลางตัวเลือกมากมาย จุดยืนที่ชัดเจนจะกลายเป็นแบรนด์ ช่วยคนอ่านในการเลือกหนังสือ เห็นชื่อสำนักพิมพ์แล้วไว้ใจ Salt พิมพ์หนังสือที่มองโลกด้วยแว่นวิทยาศาสตร์และปรัชญา เคยซื้อของเจ้านี้มาแล้ว ก็ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น โดยอาจไม่รู้จักหนังสือเล่มนั้นๆ มาก่อนก็ได้

Salt Publishing จะไม่พิมพ์หนังสือเบสต์เซลเลอร์เหรอ

สฤณี : ไม่เกี่ยวค่ะ แต่หนังสือที่ขายดีไม่ควรเป็นเกณฑ์เดียวในการเลือกหนังสือ เพราะตัวอย่างเยอะแยะว่า เล่มที่ขายดีในต่างประเทศอาจแป๊กในประเทศไทยก็ได้ ดังนั้นการมีแนวทางที่ชัดเจนจะช่วยให้ธุรกิจไปได้ดี เป็นตัวช่วยให้คนอ่านในยุคสมัยที่ปกหนังสือท่วมตลาด

โตมร : กลับไปที่คำถาม คำว่าอยู่รอดหมายถึงอะไร

ก็ไม่ขาดทุน

โตมร : เรื่องขาดทุนหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องที่ผมเป็นกังวล ถ้ามีเงินอยู่เท่านี้ แล้วจะทำสิ่งนี้ ต่อให้เงินหายไปทั้งหมด แต่มันไปงอกงามในสติปัญญาของผู้คน ผมโอเค สิ่งที่อยากให้อยู่รอดไม่ใช่เงินเข้ามาที่ตัวเอง แต่เป็นสิ่งที่ทำให้กับผู้คน เพราะตัวเองตั้งพรรคการเมืองไม่เป็น ทั้งชีวิตก็ทำแต่หนังสือหนังหา

ทีปกร : ถ้าถามว่าพี่ยุ้ยเข้ามาแล้วไว้ใจว่าจะอยู่รอดทางธุรกิจไหม แน่นอน แต่ธุรกิจหนังสือ โดยเฉพาะหนังสือแบบนี้ มันไม่ใช่ธุรกิจที่จะรวยอยู่แล้ว ต้องอาศัยความอยากให้มีหนังสือแบบนี้ในตลาด อยากให้คนอื่นได้อ่าน ถ้าสำนักพิมพ์จะอยู่รอด เราได้ทำสิ่งนี้ไปเรื่อยๆ มีความยั่งยืน ถือเป็นเรื่องที่ดีแล้วนะ

คงเป็นคำถามที่ทุกคนตอบมาบ่อยแล้ว การอ่านให้อะไรกับแต่ละคนบ้าง

ทีปกร : การอ่านคือ input ถ้าไม่มี input ที่ดี เราคงมี output ที่ดีไม่ได้ สำหรับผม การอ่านเป็นวิธีการรับสารที่มีประสิทธิภาพลำดับต้นๆ เราสามารถรู้เรื่องต่างๆ โดยไม่ต้องมีประสบการณ์เรื่องนั้นด้วยตัวเอง เป็นการลงทุนที่ดีกับชีวิต

สฤณี : เอาแบบเบสิคที่สุด การอ่านเปิดโลกให้เราไปอยู่ที่อื่นได้โดยยังนั่งอยู่ที่เดิม  เป็นการเข้าไปยังความคิดคนอื่น แล้วไม่ใช่แค่ข้อมูล แต่รวมถึงมุมมองของคนอื่น วิธีคิดที่แตกต่าง ยิ่งอ่านยิ่งเห็นโลกที่หลากหลาย มันมีงานวิจัยออกมาเยอะ ยิ่งอ่านนวนิยายเรายิ่งมี empathy สามารถเอาใจเขามาใส่ใจเรามากขึ้น ถ้าไม่อ่านหนังสือเลย การพยายามมองโลกจากมุมมองของคนอื่นอาจไม่ใช่เรื่องง่าย

โตมร : สิ่งที่พูดน่าจะ romanticize การอ่านเหมือนกัน การพลิกหน้าหนังสือเหมือนเราค่อยๆ เข้าไปในโลกอีกใบ เป็นโลกที่ไม่เคยอยู่ และไม่เคยพบเคยเห็น ถ้าเป็นงานฟิคชั่นก็อย่างที่ยุ้ยว่า เราจะเข้าใจคนอื่น มีความ empathy และมีมุมมองที่หลากหลาย ถ้าเป็นนวนิยายไซไฟ เราจะเข้าไปอยู่ในโลกอีกแบบ เหมือนเดินไปบนโลกคู่ขนานโดยเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจริงๆ มีหรือเปล่า แต่การอ่านพาเราไปได้ ถ้าการอ่านหนังสือความรู้ เราอาจไม่ได้เดินไปในเรื่องราวชีวิตของคนๆ นั้น แต่เราได้เดินไปในความคิดของคนที่เขียน ถ้าอ่านเรื่อง Why Grow Up? (เติบโตอย่างไรไม่เจ็บปวด) คนเขียนได้เอาความคิดรุสโซมาชนกับคานต์จนได้ความคิดแบบนี้ เราไม่ต้องใช้เวลาสามสิบปีในการศึกษาให้เข้าใจเท่ากับคุณป้า Susan Neimanค่าหนังสือสองร้อยกว่าบาทไม่ได้แพงเลย แน่นอนว่าที่พูดมาทั้งหมด เรามีเป้าหมายเพื่อขายหนังสือ ถ้าคุณซื้อไปอ่านแล้วรู้สึกว่า "ฉันไม่เห็นรู้สึกแบบที่คุณพูดเลย" เก็บมันไว้ก่อน อีกห้าปีอ่านอีกครั้ง อีกสิบปีอ่านอีกครั้ง การซื้อหนังสือไม่เคยสูญเปล่า มันอยู่กับเราได้ตลอด เราทำหนังสือก็อยากให้อยู่บนชั้นไปนานๆ พอเราโตขึ้น ตัวตนเปลี่ยนไป อาจอยากกลับมาอ่านอีกครั้ง แล้วได้พบสิ่งที่ไม่ได้พบตอนอ่านครั้งแรกก็ได้

หนังสือของ Salt Publishing มีทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ซึ่งทั้งหมดนั้นน่าจะอ่านเพื่อ 'ความหวัง' ต่อชีวิตที่ดีขึ้น การเรียนรู้ การปรับตัว แต่คนไทยเงยหน้ามาเจอประยุทธ์และประวิตร ประเทศเราดูไม่มีความหวังเลย มีคำแนะนำไหม เราจะอยู่กับโลกแบบนี้ยังไง

ทีปกร : นี่คือโจทย์ของหนังสือที่พี่หนุ่มแปลเลย มันสอนวิธีดีลกับเรื่องพวกนี้ ดีลกับสิ่งที่คิดว่าควรจะเป็น กับสิ่งที่เป็นจริง ผมพูดแบบนี้ละกัน เวลาเปิดทีวีแล้วเห็นประยุทธ์และประวิตร แล้วรู้สึกว่าปัญหามันรุมเร้า ปัญหาใหญ่โตมหึมา ความรู้สึกของเราต่อปัญหานั้นๆ เลยไปบดบังปัญหาอื่น เวลาอ่าน Rise of the Robots (หุ่นยนต์ผงาด) เราจะรู้สึกว่าปัญหาไม่ได้มีแค่ตรงหน้า แต่ยังมีปัญหาอื่นๆ ที่มองไม่เห็น

สฤณี : อ่านจบแล้วเงยหน้าขึ้นมาเจอพวกเขาในทีวี ก็อ่านเล่มต่อไปไง

โตมร : มันช่วยให้เราขำไง เราขลุกกับมันมากๆ ก็ทุกข์มาก รู้สึกว่าไม่มีทางเลือกอื่นในโลกนี้เลย การอ่านหนังสือทำให้เห็นความเป็นไปได้ที่หลากหลาย มีหนังสือเล่มนึงชื่อ อยู่กับมาร ต่อให้ต้องอยู่กับมาร เราก็มีวิธีอยู่ พอเห็นโลกที่พ้นไปจากโลกที่อยู่กับมาร แล้วเราจะขำมาร ถ้าเราขำประยุทธ์ขำประวิตรได้ ไม่ได้เคียดแค้น เราจะมองหาวิธีใหม่ๆ ที่จะดีลกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่มากขึ้น

สฤณี : มันเป็นบททดสอบขันตินะ ตัวเองพยายามคิดแบบนั้น การอ่านหนังสือที่ดี ไม่ใช่อ่านเฉพาะคนที่เราชอบ คนที่เกลียดก็ลองอ่านด้วย โซเชียลมีเดียก็ไม่ควรตามแต่คนที่คิดว่าสุดยอด ลองไปตามคนที่ไม่ชอบด้วย คุณไม่ชอบใครก็ยังไม่ชอบได้นะ แต่ถ้าฟังเขาได้ ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีว่าเราเริ่มอยู่กับเขาได้ เพราะสุดท้ายเราก็ต้องอยู่ร่วมกัน หนังสือแนวของ Salt คือวิทยาศาสตร์และปรัชญา เป็นการพูดเรื่องสากล เราก็เป็นคนๆ นึงในประเทศ ประเทศก็อยู่ในโลก โลกก็เป็นดาวเคราะห์ดวงเดียวในสุริยะจักรวาล ดังนั้น นอกประเทศยังมีเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย เราจะได้มองจากจุดที่ต่างออกไปบ้าง

Interview by Kwanchai Dumrongkwan

Photos by อดิเดช ชัยวัฒนกุล

Disclaimer: ทีปกร วุฒิพิทยามงคล ดำรงตำแหน่งเป็นบรรณาธิการบริหารของสำนักคอนเทนต์ The MATTER

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0