โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

รื้อ 2 คดี 'ทักษิณ' พิจารณาลับหลัง

คมชัดลึกออนไลน์ - ข่าวการเมือง

เผยแพร่ 21 พ.ย. 2560 เวลา 04.03 น.

21 พ.ย.60 - นายวันชาติ สันติกุญชร โฆษกอัยการสูงสุด และคณะรองโฆษกอีก 3 คน ร่วมแถลงมติรื้อคดีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หลัง พ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมือง (วิ อม.) พ.ศ.2560 ได้มีการเเก้ไขบทบัญญัติให้สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่มีตัวจำเลย(ลับหลัง)มีผลบังคับใช้แล้ว

"คณะทำงานพิจารณาสำนวนคดี ที่ดำเนินการโดย คตส. และ ป.ป.ช. ที่มีนายพรศักดิ์ ศรีณรงค์ อัยการสูงสุด ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะทำงาน ได้ตรวจสอบคดีของอดีตนักการเมือง ที่อยู่ในคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้วพบว่ามี คดีของนายทักษิณ ที่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลไว้แล้วสองสำนวน คือคดีหมายเลขดำ อม.9/2551 ที่กล่าวหาทุจริตออกกฎหมายแปลงสัมปทานโทรคมนาคมและมือถือเป็นภาษีสรรพสามิต และคดี อม. 3/2555 ที่กล่าวหาร่วมทุจริตการปล่อยกู้ ของธนาคารกรุงไทยฯ ให้กับกลุ่มกฤษดามหานคร ซึ่งทั้งสองคดีศาลได้สั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว เนื่องจากจำเลยหลบหนี"

นายวันชาติ กล่าวต่อว่า คณะทำงานได้มีความเห็นเสนอต่อ นายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด และอัยการสูงสุดได้เห็นพ้องกับคณะทำงาน ให้ยื่นคำร้งต่อศาลฎีกาฯ เพื่อขอให้ศาลยกเลิกคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวทั้งสองสำนวนดังกล่าว พร้อมทั้งขอให้ศาลมีคำสั่งดำเนินกระบวนพิจารณา คดีทั้งสองสำนวนต่อไปโดยไม่ต้องกระทำต่อหน้านายทักษิณ จำลย ตาม วิ อม.มาตรา28 ,69,70 ซึ่งวันนี้ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษได้ยื่นคำร้องแล้ว หลังจากนี้ต้องรอฟังคำสั่งของศาลว่าจะพิจารณาอย่างไร

ส่วนการติดตามตัว นายทักษิณ และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯที่อยู่ระหว่างหลบหนีคดีที่ศาลพิพากษาแล้วนั้น โฆษกอัยการสูงสุด กล่าวว่า ยังไม่มีข้อมูลระบุว่าอยู่ที่ใด

โฆษกอัยการสูงสุด กล่าวว่า หลังจากอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคดีลับหลัง นายทักษิณ สามารถแต่งตั้งทนายเข้ามาร่วมการพิจารณาในครั้งนี้ได้ ส่วนเรื่องพยานหลักฐานที่จะไต่สวนนั้นเป็นเรื่องในสำนวนคดี

"การดำเนินการครั้งนี้เป็นไปตามกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมืองใหม่ ซึ่งไม่ได้พุ่งเป้าว่าจะดำเนินการเฉพาะเจาะจงกับนายทักษิณ ส่วนประเด็นในเรื่องอายุความ ก็เป็นประเด็นที่ศาลจะพิจารณาต่อไปด้วย"

"คดีของนายทักษิณ ถือเป็นคดีเเรกหลังจากมีการเเก้ไขบทบัญญัติของ พ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมืองให้สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่มีตัวจำเลยหรือพิจารณาลับหลังได้ ก็ต้องดูว่า ศาลจะมีการพิจารณาอย่างไรเพราะเป็นข้อกฎหมายที่ศาลจะมีอำนาจพิจารณา เเต่การที่อัยการได้ยื่นคำร้องไปเนื่องจากพิจารณาเเล้วเห็นว่าเรื่องการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยไม่ใช่หลักสาระบัญญัติ เเละเห็นว่ากระทำได้ตามกฎหมายจึงยื่นคำร้องไป"นายวันชาติ โฆษกอัยการ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับการยื่นคำร้องของอัยการดังกล่าว นายชาติพงษ์ จีระพันธุ รองอธิบดี อัยการ สำนักงานคดีพิเศษ ได้นำคำร้องยื่นต่อศาลฎีกาเเผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมือง วันนี้ เมื่อเวลา 09.30 น.

โดยนายชาติพงษ์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษกล่าวว่า ตนในฐานะอัยการคดีพิเศษ ได้รับมอบหมายจากนายเข็มชัย อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาล โดยคำร้องดังกล่าวมีความยาวประมาณ 5-6 หน้า บรรยายถึงเหตุผลในการร้องขอให้มีการพิจารณาคดีจากที่ถูกจำหน่ายไว้ชั่วคราวเนื่องจากมีการเเก้ไขกฎหมายใหม่

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0