โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

มนุษย์เงินเดือนน้อยอย่างเรา จะเอาตัวรอดกับสินสอดได้อย่างไร

aomMONEY

อัพเดต 05 มี.ค. 2561 เวลา 01.52 น. • เผยแพร่ 16 ก.พ. 2561 เวลา 04.13 น. • TAXBugnoms
มนุษย์เงินเดือนน้อยอย่างเรา จะเอาตัวรอดกับสินสอดได้อย่างไร
มนุษย์เงินเดือนน้อยอย่างเรา จะเอาตัวรอดกับสินสอดได้อย่างไร

ย้อนกลับไปสมัยก่อนที่หนุ่มสาวยังไม่มีสยามให้เดิน ไม่มีคาเฟ่ให้นั่ง ไม่มีไลน์ให้ส่งความรู้สึก ไม่มีเฟซบุ๊คให้ไลฟ์สด และไม่มีคุกกี้ให้เสี่ยงทายให้ฟัง มีแต่เพียงการนัดพบ ซึ่งนานๆ เจอกันที จนเมื่อหนุ่มสาวตกลงปลงใจจะร่วมหอลงโรง สินสอดจึงทำหน้าที่คล้ายการมัดจำความรักให้แก่ฝ่ายเจ้าสาว เพื่อไม่ให้เจ้าบ่าวทอดทิ้งงานไปกลางคัน ซึ่งสินสอดนั้นมีชื่อเรียกอีกอย่างตามภาษาคนโบราณว่า ‘ค่าน้ำนมข้าวป้อน’

ส่วนคำว่า สินสอด ประกอบด้วยคำว่า สิน กับคำว่า สอด. สิน แปลว่า เงิน. สอด แปลว่า ใส่เข้าในช่องหรือในที่แคบๆ. สินสอด จึงแปลว่า เงินที่ใส่เข้าในช่องแคบๆ. มีคำสันนิษฐานว่า แต่โบราณเงินไทยเป็นเงินที่ทำจากแร่เงินเป็นรูปต่างๆ และเรียกชื่อตามรูปเงินนั้นๆ เช่น เงินที่ทำเป็นรูปกลมๆ มีปลายเป็นขางอ ๒ ข้างคล้ายตัวด้วง เรียกว่า เงินพดด้วง. เงินที่มีลักษณะยาวคล้ายราง เรียกว่า เงินราง. เมื่อบิดามารดาของฝ่ายชายไปขอลูกสาวของผู้ใด จะนำเงินรางคือสินนั้นสอดเข้าไว้ในเงินพดด้วงไปมอบให้บิดามารดาของฝ่ายหญิง. เงินที่ฝ่ายชายนำไปมอบให้บิดามารดาของหญิงชดเชยค่าเลี้ยงดูหญิงสาวนั้นจึงเรียกว่า สินสอด และเรียกดังนั้นจนถึงทุกวันนี้ (ที่มา: สำนักงานราชบัณฑิตยสภา https://goo.gl/tPK4GM)

ถามว่าสินสอดมีเงื่อนไขไหม ตอบเลยว่ามีครับ โดยสินสอดจะเกิดความหมายเมื่อฝ่ายชายส่งมอบให้ฝ่ายหญิงในช่วงพิธีหมั้น ไม่ว่าจะเป็นแก้วแหวน เงินทอง หรือโฉนดที่ดิน แต่ถ้ามีการส่งมอบกันภายหลังงานหรือนอกเหนือจากนั้น ถือว่าไม่ใช่สินสอดนะจ๊ะ แถมกรณีฝ่ายเจ้าสาวมอบสินทรัพย์ให้เจ้าบ่าวภายในพิธีหมั้น ก็ไม่ถือว่านั้นคือสินสอดเน้อ ตามกฎหมายจัดเป็นการให้โดยเสน่ห์หา (อ้างอิง: สินสอดและของหมั้นตามประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ลักษณะ1หมวด1การหมั้น)

เบื้องต้นเป็นที่มาที่ไปและความหมายกว้างๆ ของสินสอดครับ ส่วนประเด็นหลักสำหรับฝ่ายชายที่กำลังเตรียมตัวเป็นเจ้าบ่าวนี่น่าจะหนักอกหนักใจกว่าเป็นไหนๆ ถ้าฝ่ายชายมีเงินเดือนแค่ 20,000 บาท แต่คิดอยากเป็นเจ้าบ่าวแล้ว แถมถูกเรียกค่าสินสอดจำนวนมาก ทำไงได้ก็ต้องหาทางให้ดี เพราะเรื่องความรักแบบนี้มันห้ามกันไม่ได้!!

จากประสบการณ์รอบตัวของผมถือว่าอยู่ในช่วงที่เพื่อนพ้องทยอยกันแต่งงานกันเยอะพอสมควร ซึ่งก็ได้แง่คิดในการจัดการกับค่าสินสอด และความรักของบ่าวสาวให้ออกมาแฮปปี้แอนดิ้งได้ระดับหนึ่ง และนี่คือวิธีที่ไม่ลับ แต่เอามาจากชีวิตจริงของคนรอบตัวที่เคยผ่านประสบการณ์และเงินเดือน 20,000 แถมต้องจ่ายสินสอดเป็นล้านต้องวางแผนไงดีพร้อมกับงานนี้ผมได้เชิญผู้มีประสบการณ์อย่าง TAXBugnoms มาร่วมแชร์ความรู้สึกเหมือนเช่นเดิมครับ

1. เปลี่ยนประตูนรกเป็นประตูวิวาห์ด้วยการวางแผน

Creative Salary: การจะวิ่งเข้าสู่ประตูวิวาห์ต้องเริ่มสตาร์ทด้วยการเปิดอกคุยกัน เพราะจะได้รู้ความคิดของทั้งฝ่ายชายและหญิงว่า คิดเห็นไปในทางเดียวกันหรือเปล่า ถ้ามีความคิดเหมือนกัน บางคู่ก็ช่วยกันเก็บเงินเพื่อเป็นสินสอดในงานแต่งของทั้งคู่ได้ (ถ้าฝ่ายหญิงเอาด้วย) ข้อดีคือการเก็บเงินจะไปได้เร็วเพราะช่วยกันเก็บทั้งคู่ และส่งผลต่อการใช้จ่ายที่มีระเบียบวินัยมากขึ้น ซึ่งตรงนี้จะส่งผลต่อพฤติกรรมในระยะยาวด้วยเช่นกัน แต่ถ้าคุยแล้วฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยังคงตอบคำถามได้ไม่ชัดเจน เราก็ยังแนะนำให้คุณออมเงินอยู่นะ อย่างน้อยก็เพื่อตัวเองและการตั้งตัวกับความรักในอนาคต ถึงแม้ว่าหลังแต่งานไปแล้วจะมีเสียงแว่วๆ จากอดีตเจ้าบ่าวหลายคนแซวมาว่าประตูนรกมันเปิดรอแล้วหลังจากแต่งไปต่างหาก 

Taxbugnoms: ถ้าเรามองว่าใครสักคนจะมาเป็นคู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขของเราจริงๆ สิ่งที่เราต้องแชร์กันคือ “ความจริง” ระหว่างเรา โดยเฉพาะเรื่องการเงินซึ่งเป็นอักเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากๆ และทำให้คนจำนวนมากมีปัญหากับเรื่องนี้ พรี่หนอมมองว่าฝ่ายชายถ้าไม่มีหรือไม่ไหวก็ให้บอกไปตรงๆอย่างจริงใจ ในขณะที่ฝ่ายหญิงเองอาจจะต้องลองหาจุดสมดุลที่เหมาะสมระหว่างคนทั้งคู่ร่วมกัน เพราะตอนแรกที่เรารักกัน เราต่างก็ไม่ได้คิดว่าแต่ละฝ่ายต้องมีรายได้หรือฐานะมากขนาดไหน จริงไหมล่ะครับ?

2. เจรจามูลค่าของความรักไม่ให้เกิดรอยร้าว

Creative Salary: กรณีที่ข้อแรกบรรลุไปด้วยดี ก็มาสู่ข้อถัดมา คือนัดวันบุกเข้าไปเจรจาสู่ขอฝ่ายหญิง ซึ่งถือเป็นหลักไมล์ที่วัดใจฝ่ายชายสุดๆ ว่าจะเดินออกจากบ้านด้วยจำนวนสินสอดที่ทางฝ่ายหญิงต้องการเท่าไหร่ ซึ่งโดยหลักการแล้วจะมีวิธีคำนวณสินสอดเพื่อความเหมาะสม โดยมีปัจจัยวัดจาก อายุ / รายได้ / ระดับการศึกษา / ลำดับการแต่งงาน ซึ่งมีวิธีการคิดดังนี้ 

มูลค่าสินสอด = (2.2205 x รายได้ต่อเดือน) + (8986.92 x อายุ) + (174818.6 หากเป็นคนกรุงเทพฯ) – (454350.5 หากจบการศึกษาไม่เกินมัธยม/ปวช.) + (227064.1 หากแต่งงานเป็นลำดับแรกของครอบครัว) – (134160.8 หากมีภาระต้องดูแลครอบครัวอยู่) + (1890610 หากเป็นผู้บริหารระดับสูง)

ยกตัวอย่างคู่บ่าวสาวมีรายได้เฉลี่ย 20,000 บาทต่อเดือน อายุเฉลี่ย 30 ปี ทั้งคู่เป็นคนกรุงเทพฯ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี และแต่งงานเป็นคนแรกของครอบครัว แต่ต่างคนต่างก็ไม่ต้องเลี้ยงดูครอบครัวของตัวเอง และไม่ได้มีตำแหน่งเป็นผู้บริหารระดับสูง

ค่าสินสอดดุลยภาพก็จะอยู่ที่

(2.2205 x 20000) + (8986.92 x 30) + (174818.6) + (227064.1) = 715,590.3 บาท 

เอ่อ…เจ็ดแสนกว่าบาทสำหรับค่าสินสอดกับฐานเงินเดือน 20,000 สมมติคิดวางแผนว่าจะแต่งงานภายใน 2-3 ปี มีความเป็นไปได้ไหมครับพี่หนอม

Taxbugnoms: มันคือหลักการของวิธีการคำนวณนะครับ อย่าไปยึดติดมาก แล้วก็เอาจริงๆถ้าจะคำนวณแบบนี้ต้องมีการคิดเงินเฟ้อด้วยเพราะว่าสูตรนี้มันมีมาตั้งแต่ปี 2011 แล้ว!! ถ้าหากถามว่าเป็นไปได้ไหม ลองมากดเครื่องคิดเลขคำนวณกันดูครับ โดยกำหนดให้ออมเงิน 10% ของรายได้ไว้เพื่อให้ได้สินสอด (เป็นตัวเลขที่น่าจะพอเก็บได้ คือ เดือนละ 2,000 บาท) และเอาไปลงทุนในผลตอบแทนที่สูงสักหน่อย (ประมาณ 7%) เรามาดูตัวอย่างกัน

**สินสอด 700,000 บาท จากการเก็บเงินเดือนละ 2,000 บาท

จะเก็บเงินได้ภายในระยะเวลากี่ปีที่ผลตอบแทนแตกต่างกัน**

มนุษย์เงินเดือนน้อยอย่างเรา จะเอาตัวรอดกับสินสอดได้อย่างไร
มนุษย์เงินเดือนน้อยอย่างเรา จะเอาตัวรอดกับสินสอดได้อย่างไร

Present Value คือ จำนวนเงินเก็บ ณ ปัจจุบัน = ไม่มี

Payment คือ จำนวนเงินเก็บเพิ่มรายเดือน

Future Value คือ จำนวนเงินที่เป็นเป้าหมาย ในที่นี่คือ 700,000 กับ 2,000,000

Annual Rate คือ ผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนที่แตกต่างกัน

Period คือ ระยะเวลา (ในที่นี่คำนวณเป็นเดือน คิดเป็นปีก็หาร 12)

กรณีเงิน 700,000 บาท จะเห็นว่าเป้าหมายนี้พอจะเป็นไปได้อยู่ครับ ถ้าตั้งใจเก็บเงินเดือนละ 2,000 บาทที่ผลตอบแทน 10% จะไว้เวลาประมาณ 13 ปีกว่าๆ ซึ่งก็พอจะทำให้แต่งงานกับคนที่คบมาตั้งแต่มหาวิทยาลัยปีแรกๆได้ (ถ้าคุณศรัทธาในรักแท้)

**สินสอด 2,000,000 บาท จากการเก็บเงินเดือนละ 2,000 บาท

จะเก็บเงินได้ภายในระยะเวลากี่ปีที่ผลตอบแทนแตกต่างกัน**

มนุษย์เงินเดือนน้อยอย่างเรา จะเอาตัวรอดกับสินสอดได้อย่างไร
มนุษย์เงินเดือนน้อยอย่างเรา จะเอาตัวรอดกับสินสอดได้อย่างไร

แต่สำหรับถ้าเก็บเงินเดือนละ 2,000 บาทที่ผลตอบแทน 10% อยากจะได้เงินสัก 2,000,000 บาท ก็จะใช้เวลาประมาณ 22 ปี ซึ่งถือว่าเป็นเวลาดีที่ฝ่ายหญิงน่าจะมีมดลูกน่าจะฝ่อในระดับหนึ่งแล้ว กรณีนี้อาจจะต้องคบตั้งแต่ประถม คงจะพอไหว (อันนี้ขอให้เป็นรักแรกพบละกันครับ)

มาถึงตรงนี้ เราจะพอเห็นแล้วใช่ไหมครับว่า ปัญหาจริงๆมันคือเรื่องของเงินเก็บในแต่ละเดือนที่น้อย ทำให้คุณไม่สามารถคล่องตัวได้อย่างอิสระ ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นคือการสร้างรายได้ที่มากขึ้นและลดรายจ่ายลงต่างหากครับ!!!

3. สินสอดอาจไม่ใช่ปัญหา ความเข้าใจต่างหากละที่ต้องพิสูจน์ 

Creative Salary: ข้อนี้คือประสบการณ์ของหลายๆ คู่ว่าระหว่างนี้ชีวิตคู่จะมีปัญหาเรื่องตัวเลขเข้ามาท้าทายความสัมพันธ์แน่นอน หลายครั้งที่เราเคยได้ยินข่าววิวาห์ล่มกลางคัน หรือความสัมพันธ์พังก่อนแต่งงานก็มาจากเรื่องสินสอดนี่แหละ ก็แหม่เงินเดือนแค่นี้ แต่สินสอดสูงมันก็เครียดสิคร้าบ แต่แนะนำว่าให้ใจเย็นๆ และลองพิจารณาถึงความเป็นไปได้ ถ้าคำนวณแล้วไม่ถึงก็ขยายเวลา หรือขยายเวลาไม่ได้ ยังอยากวิวาห์ในเวลาที่ตั้งไว้ก็ต้องหาทางเพิ่มรายได้จากช่องทางอื่นเอานอกจากเงินเดือน แต่ควรเป็นการหารายได้ที่ความเสี่ยงไม่ควรสูง เพราะไม่เช่นนั้นเราอาจเครียดกว่าเดิมได้

งานอะไรที่ความเสี่ยงไม่สูงและสามารถหาได้ครับพี่หนอม?

Taxbugnoms: จากตัวอย่างเมื่อกี้จะเห็นว่ารายได้ที่น้อยก็ต้องหาเพิ่มกันไป ถ้าหากถามว่าในสายของมนุษย์เงินเดือนแล้วงานอะไรที่ความเสี่ยงไม่สูงและสามารถหาได้ ขอบอกง่ายๆที่สุดคือ ทำงานที่มีอยู่ให้ดี ให้ก้าวหน้า จะเปลี่ยนงานอัพเงินเดือนก็ไม่ว่าแต่ขอให้เรามีความเชี่ยวชาญในสิ่งที่เราทำอยู่จริง นี่ถือว่าเป็นงานที่ความเสี่ยงต่ำระดับหนึ่งครับ เพราะมันใช้แรงแลกเงิน ไม่ใช่ต้องไปลงทุนหรือเจออะไรให้ลำบากทรัพย์สิน ส่วนอีกด้านที่ต้องรีบทำไปด้วยกันคือการสร้างความฉลาดด้านการเงิน โดยการเก็บออม ศึกษาความรู้การลงทุนไปพลางๆ เพื่อสร้างโอกาสในการเพิ่มผลตอบแทนอีกทางหนึ่งครับ

หลายคนบอก โห แม่งพูดแบบนี้ก็ง่าย แต่จริงๆ ชีวิตเรามันไม่ใช่เกมส์สั้นๆนี่นา เพราะงานนี้ต้องมองกันยาวๆใช่ไหมครับ 

4. รักไม่ล่มต้องมองยาวๆ 

Creative Salary: จริงๆ แล้วสินสอดเป็นกระบวนการส่วนหนึ่งของพิธีวิวาห์ แต่หลังม่านพิธีมากกว่าที่จะเป็นตัวพิสูจน์ว่าความรักของเราจะไปได้ไกลแค่ไหน ซึ่งต้องอาศัยการวางแผนชีวิตคู่เพื่อไม่ให้เดือดร้อนเรื่องการเงินด้วยนะครับ เช่น ถ้าเราคำนวณแล้วว่าหลังแต่งเงินเดือน 20,000 บาท จะต้องอยู่กินกันอย่างไร ผ่อนบ้าน ผ่อนคอนโด ผ่อนรถไหวไหมถ้าต้องมี รวมถึงแผนระยะยาวของการมีบุตรอีก ถ้ามีต้องเตรียมค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ อันนี้พี่หนอมจะแชร์ให้ฟังนะครับ

Taxbugnoms: ทำไมโยนไปแล้วมันกลับมาหาตัวเองได้หว่า เอาแบบนี้ละกันครับ สิ่งที่ต้องเปิดใจลำดับแรกคือเรื่องเงิน และสิ่งที่ต้องทำด่วนไม่แพ้กันคือการจัดการดูแลตัวเองให้มีรายได้ที่ดีขึ้น (สำหรับคนที่ไม่พอใจในรายได้ที่มี) และการเลือกใช้ชีวิตแบบให้เบาสบายไร้กังวลโดยการไม่ก่อหนี้ เพราะบอกตรงว่าเงินเดือนที่มีนั้น และการใช้ชีวิตที่มีค่าใช้จ่ายสูงอาจจะทำให้ชีวิตลำบากได้ครับ ดังนั้นตรงนี้คิดดีๆก่อนว่าจะทำอะไร ให้มองเงินในกระเป๋าและความสามารถ และที่สำคัญต้องมองด้วยว่า เรานั้นมีคนมาอยู่ข้างๆแล้วนะ การรับผิดชอบชีวิตกันและกันมันคืออีกหน้าที่ของชีวิตคู่ครับ

อ่านจบแล้วอย่าเพิ่งใจเสียไป สำหรับคนที่มีความรัก ใช้ความพยายามอดทน ตั้งใจทำงาน ให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ตัวเองทั้งด้านความรักและคุณภาพชีวิต เราสองคนเป็นกำลังใจให้เสมอครับผม

อ้างอิง: 

http://book.weddingsquare.com/wedding_info.asp?TID=314

http://setthasat.com/2011/09/20/wedding/  มูลค่า “สินสอด” ในงานแต่งควรเป็นเท่าไหร่ดี?

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0