โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

พิษภัยในอากาศ ญี่ปุ่นกับการรับมือปัญหาภูมิแพ้เกสรดอกไม้และ PM 2.5

The MATTER

อัพเดต 17 ก.พ. 2561 เวลา 04.32 น. • เผยแพร่ 17 ก.พ. 2561 เวลา 04.12 น. • Thinkers

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีประเด็นหนึ่งที่วนเวียนอยู่ในโซเชียลเน็ตเวิร์ก และต้องให้ความกังวลอย่างหนัก ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องของการเข้าป่าล่าสัตว์ หรือเรื่องนาฬิกา แต่เป็นเรื่องใกล้ตัวอย่างปัญหาคุณภาพของอากาศที่เราหายใจครับ คำว่า PM 2.5 <ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ ที่สามารถเล็ดลอดเข้าสู่ร่างกายผ่านระบบทางเดินหายใจ และเป็นอันตรายต่อสุขภาพ> กลายเป็นคำที่คนเริ่มให้ความสนใจกันมากขึ้น เพราะสภาพอากาศในกรุงเทพนั้นแย่ลงจนรู้สึกได้

เพื่อนผมได้เอาแอพฯ ที่ใช้เป็นประจำสมัยอยู่จีน เพราะเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับที่นั่น มาลองเช็กสภาพอากาศก็พบกว่า ระดับคุณภาพอากาศนั้นแย่ไม่แพ้กัน แถมกรุงเทพฯ ยังแย่กว่าบางเมืองในจีนที่เรามักมองว่าสภาพอากาศแย่ด้วยซ้ำ ส่วนตัวผมเองคุ้นกับคำว่า PM 2.5 ตั้งแต่อยู่ที่ญี่ปุ่นอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้เอะใจอะไรมาก จนเริ่มมึกระแส แล้วลองเช็กสภาพอากาศเองนั่นล่ะครับ ถึงกับต้องปาดเหงื่อจริงๆ ซึ่งปกติเวลาขับรถกลับเข้ากรุงเทพทางโทลล์เวย์ตอนเย็นแล้วมองไปทางทิศตะวันตก ก็จะเห็น smog เล่นกับแสงแดดยามเย็นอยู่ตลอด ถึงจะเห็นแล้วสวยแต่ก็น่ากลัว พอมาช่วงนี้กลับรู้สึกว่ามันแย่จริงๆ เพราะออกไปปั่นจักรยานก็แสบจมูกแสบคอแล้วล่ะครับ

ที่บอกว่าคุ้นกับคำว่า PM2.5 อยู่แล้ว เพราะว่าที่ญี่ปุ่น เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ของสังคมเขาครับ แม้ว่าสภาพอากาศเขาจะไม่ได้แย่เหมือนไทย แต่เมื่อระดับ PM 2.5 ขึ้นสูงเมื่อไหร่ ก็เป็นข่าวบนสื่อต่างๆ ทันที ทำให้ประชาชนต้องรีบเตรียมตัวหาทางป้องกันเสมอ แต่ส่วนหนึ่งที่ชาวญี่ปุ่นเขาพร้อมรับกับสภาพอากาศได้อย่างเตรียมพร้อมขนาดนี้ เพราะ PM 2.5 ไม่ได้เป็นปัญหาทางสภาพอากาศแค่อย่างเดียวของญี่ปุ่น เพราะมีปัญหาที่อยู่กับสังคมมาหลายสิบปี นั่นก็คือ โรคภูมิแพ้ละอองเกสรดอกไม้ หรือที่ชาวญี่ปุ่นรู้จักกันดีในชื่อ 花粉症 (คะฟุงโช) ฟังดูอาจจะไม่เหมือนเรื่องร้ายแรงนะครับ บ้านเราก็มีคนแพ้นู่นแพ้นี่ แต่ถ้าประชาชนเกือบครึ่งป่วยเป็นโรคเดียวกันแบบนี้ มันก็เป็นเรื่องน่าเป็นห่วงครับ

จากการสำรวจในปี 2016 ชาวญี่ปุ่นกว่า 48.8% มีอาการแพ้ละอองเกสรดอกไม้ แถมอาการแบบนี้ พอเป็นก็เป็นพร้อมกัน เพราะว่าเกิดจากละอองเกสรดอกไม้ที่ออกมาในช่วงเวลานั้นๆ

เท่าที่ทราบมา กลไกการเกิดอาการแพ้ละอองเกสรดอกไม้นี่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นกันตั้งแต่เกิดครับ แต่ค่อยๆ เป็น ซึ่งก็แล้วแต่สภาพร่างกายของแต่ละคนด้วย หลักๆ คือ ให้ลองคิดว่า ร่างกายแต่ละคนมีภาชนะบรรจุละอองเกสรดอกไม้ ขนาดของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน แล้วแต่ละปี ทุกคนก็จะเจอละออกเกสรดอกไม้ต่างๆ กัน และจะค่อยๆ สะสมในร่างกายไปเรื่อยๆ (ไม่ได้สะสมจริงๆ แต่ประสบการณ์จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ) และพอถึงจุดวิกฤต ล้นจากภาชนะเมื่อไหร่ ก็ตู้ม…กลายเป็นโรคภูมิแพ้ละอองเกสรดอกไม้ทันที อันนี้ประสบการณ์ตรงจากมิตรสหายชาวไทยท่านหนึ่ง ที่ทีแรกอยู่ญี่ปุ่นก็ไม่เป็นไร แต่อยู่ไปอยู่มา อ้าว กลายเป็นคนแพ้ละอองเกสรดอกไม้ไปแล้ว

จริงๆ คนญี่ปุ่นไม่ได้เป็นโรคนี้กันมาตั้งแต่สมัยยังพกดาบไปไล่ฟันกันนะครับ (ลองคิดภาพซามูไรจะออกรบแล้วดันจาม น้ำมูกน้ำตาไหลไม่หยุดก็คงดูไม่จืด) แต่มันคือโรคที่มาพร้อมกับการพัฒนาชาติหลังแพ้สงครามโลกครั้งที่สองครับ สาเหตุหลักๆ ของโรคนี้คาดว่าเกิดจากการกระหน่ำปลูกต้นสนสนสุกิและฮิโนกิ เพื่อเร่งเอาไม้มาใช้ในอุตสาหกรรมฟื้นฟูชาติ ทำให้ปริมาณละอองเกสรดอกไม้เพิ่มขึ้นอย่างกระทันหัน ถึงจะลดปริมาณการปลูกแล้ว แต่ต้นสนเหล่านี้ยิ่งอายุมากขึ้นกลับปล่อยละอองเกสรดอกไม้มากขึ้น จนทำให้ชาวญี่ปุ่นลำบาก แถมการที่พื้นที่ป่าลดลง และพื้นคอนกรีตมากขึ้น ทำให้ละอองเกสรดอกไม้เหล่านี้แค่พักรอที่ผิวถนนหรือคอนกรีต ไม่ถูกดูดซึมเหมือนผืนดิน พอลมมาที ก็ปลิวต่อ สร้างปัญหาให้คนเรื่อยๆ กลายเป็นภัยจากการพัฒนาอย่างหนึ่งครับ (ตอนเร่งปลูกคนคงไม่คิดถึงเรื่องนี้)

พอประชากรเกือบครึ่งมีอาการนี้ ก็เลยเป็นเรื่องสำคัญของสังคม ในขณะที่นักท่องเที่ยว (รวมถึงตัวคนญี่ปุ่นเองด้วยนั่นล่ะ) ต่างตื่นเต้นรอปฏิทินพยากรณ์การบานของดอกซากุระ ผู้มีอาการแพ้เกสรดอกไม้ต่างก็ต้องรอปฎิทินพยากรณ์ว่าเกสรดอกไม้จะพัดมาในช่วงไหน แล้วช่วงไหนเกสรอะไรจะหนัก เพราะแต่ละคนก็แพ้ไม่เหมือนกัน (บางคนหวยลง แพ้มันทั้งสองชนิด) ทีวีก็แพร่ภาพของป่าต้นสนที่เห็นละอองเกสรดอกไม้ปลิวว่อนอย่างสวยงาม แต่น่าสยดสยองสำหรับคนเป็นโรคนี้

นั่นล่ะครับ คือสาเหตุว่าทำไมชาวญี่ปุ่นถึงคุ้นชินกับปัญหาสภาพอากาศที่มีผลต่อชีวิตประจำวัน พอเรื่อง PM 2.5 เริ่มเป็นปัญหาขึ้นมา เขาก็ปรับการรายงานข่าวหรือให้ความรู้กับประชาชน โดยจากแค่เรื่องละอองเกสรดอกไม้ ก็บวกเรื่อง PM2.5 เข้าไป เป็นการเพิ่มประเด็นปัญหาเข้าไปจากปัญหาเดิม เท่าที่ไล่ดู ประเทศญี่ปุ่นก็จัดว่าสภาพอากาศโอเคอยู่ จะมีบางเมืองที่ได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมหนัก และก็จะมีช่วงที่ได้รับผลกระทบจากลมที่พัดเอาทรายเหลืองจากทางจีนมาด้วย ทำให้ PM 2.5 เป็นเรื่องที่คนญี่ปุ่นตระหนักถึงปัญหาอยู่เสมอ

แน่นอนว่าทางภาครัฐก็พยายามหาทางป้องกันและแก้ไขปัญหาทั้งสองเรื่อง แต่ในขณะเดียวกัน ภาคเอกชนเช่นสื่อต่างๆ ก็ให้ข้อมูลวิธีการป้องกันกันโดยตลอด ทั้งรายงานข่าวอย่างที่บอกไป รายการวาไรตี้สายให้ความรู้ก็จะมาอธิบายเรื่องต่างๆ และแนวทางป้องกัน รายการแบบนี้ได้ดูกันทุกปีครับ มีอะไรอัพเดตใหม่ๆ เขาก็จะเอามาเล่าให้ฟังอีก

ส่วนภาคธุรกิจนี่ยิ่งไม่ต้องห่วง เพราะมีสินค้าสารพัดประเภทมารองรับปัญหาอาการแพ้เกสรดอกไม้มาเจาะตลาดเสมอ ตั้งแต่หน้ากากกรองอากาศที่ทำออกมาแข่งกันเรื่อยๆ ว่าใครกรองดี ใส่สบายกว่ากัน ถ้าหน้ากากอย่างเดียวกลัวไม่พอก็มีสเปรย์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการกรองอีก จากเดิมแค่กรองละอองเกสรดอกไม้ ก็ไปพัฒนาให้กรอง PM 2.5 ได้ นอกจากนี้ยังมีสินค้าอื่นๆ มาประโคมไม่หยุดครับ เครื่องกองอากาศ แว่นตากันละออง สเปรย์พ่นจมูก พ่นหน้า เพื่อป้องกันละอองต่างๆ กลายเป็นสินค้าทำเงินเลยทีเดียวครับ

นั่นล่ะครับ เพราะตัวประชาชนเองเขาก็จัดว่ามีความตระหนักถึงปัญหาอยู่แล้ว พอเกิดอะไรขึ้นหน่อยเลยเตรียมพร้อมกันอย่างดี ทำให้รัฐบาลเองก็ต้องพยายามจัดการปัญหาเหล่านี้บ้าง

แต่พอบ้านเราที่ระดับคุณภาพอากาศขึ้นตัวแดง กลับเจอข่าวต่างๆ ชวนปวดหัว เช่น มาตรฐานการวัดของต่างชาติไม่เหมือนไทย (ไทยๆ) อย่าเผาฟางเยอะไป หรือการพูดชวนให้อุ่นใจ เช่น ปกติก็เยอะทุกปี แต่ปีนี้อากาศระบายไม่ดี เลยตกค้างในกรุงเทพ และอันตรายแค่บางพื้นที่ รอฝนตกคงดีขึ้น และแนะนำให้ใช้ผ้าชุบน้ำปิดหน้าก็กันได้แล้ว ทั้งที่จริงๆ แล้วนี่เป็นปัญหาร้ายแรงที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทุกคนแบบระยะยาว ควรจะมีแนวทางป้องกันและแก้ปัญหาที่ชัดเจนกว่านี้ เพราะไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ เท่านั้น แต่จังหวัดอื่นๆ ก็แย่ไม่แพ้กันครับ การทำฝนเทียมก็ช่วยแก้ได้ แต่มันก็แค่ชั่วคราว

ผมเองก็ได้แต่หวังว่าจะมีการประสานงานทำอะไรเป็นแนวทางชัดเจน อย่างน้อยที่สุดก็ควรให้ข้อมูลกับประชาชนอย่างชัดเจนและกระตุ้นความตระหนักถึงอันตรายตรงนี้ให้ได้ก่อนจะไปทำอย่างอื่นครับ

Illustration by Waragorn Keeranan

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0