โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ผ่าขุมทรัพย์ "ไฮสปีด EEC" แจกสัมปทาน 2 แสนล้าน 50 ปี

ประชาชาติธุรกิจ

เผยแพร่ 17 ก.พ. 2561 เวลา 18.04 น.
edi01190261p1

ใกล้เข้ามาเต็มทีสำหรับการเตรียมการเพื่อจะประกาศ TOR เชิญชวนภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) แบบไร้รอยต่อ รวมมูลค่าโครงการมากกว่า 237,700 ล้านบาท

โดยโครงการนี้ จะเป็นโครงการที่ใช้โครงสร้างและแนวเส้นทางการเดินรถปัจจุบันของโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Rail Link) และก่อสร้างทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร เพิ่มอีก 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงสถานีพญาไท-สถานีดอนเมือง กับช่วงสถานีลาดกระบัง-สถานีอู่ตะเภา ระยะทาง 226 กิโลเมตร โดยใช้เขตทางเดิมของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) หรือทั้งหมด 9 สถานี ได้แก่ สถานีดอนเมือง-บางซื่อ-มักกะสัน-สุวรรณภูมิ-ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-พัทยา-อู่ตะเภา

การเดินรถจะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงเขตเมือง (urban area) จากสถานีดอนเมือง-สุวรรณภูมิ ความเร็วสูงสุด 160 กม./ชม. กับ ช่วงระหว่างเมือง (intercity area) จากสถานีสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ความเร็วสูงสุด 250 กม./ชม. โครงสร้างทางรถไฟส่วนใหญ่จะเป็นทางยกระดับ พร้อมอุโมงค์ 4 ช่วง บริเวณถนนพระรามที่ 6-ถนนระนอง 1, ช่วงทางเข้าออกสนามบินสุวรรณภูมิ, ช่วงผ่านเขาชีจรรย์ และช่วงเข้าออกสถานีอู่ตะเภา พร้อมกับการก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟความเร็วสูง พื้นที่ประมาณ 400 ไร่ ห่างจากตัวสถานีรถไฟฉะเชิงเทรา 2 กม.

ล่าสุดรัฐบาลไทยได้ตัดสินใจที่จะใช้การลงทุนรูปแบบ PPP net cost หรือภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนในส่วนโครงสร้างพื้นฐาน ระบบไฟฟ้ารถไฟฟ้า ขบวนรถไฟ ค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการ การดำเนินการเดินรถไฟและการซ่อมบำรุงที่จะ

เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาของโครงการนี้ ในขณะที่ภาครัฐจะเป็นผู้ลงทุนในส่วนของค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และให้เงินอุดหนุนโครงการการดำเนินงานในโครงการเป็นรายปีในระยะยาว

โดยโครงการนี้จะเป็นโครงการร่วมลงทุน รูปแบบสัมปทานมีระยะเวลาโครงการยาวนานถึง 50 ปี หรือมากที่สุดเท่าที่เคยมีการทำโครงการมา ผู้ร่วมลงทุนภาคเอกชนจะต้องจ่ายค่าเช่าให้ ร.ฟ.ท. คิดเป็น 61% ของมูลค่าที่ดิน

BOI ยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปี

คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้อนุมัติในหลักการการขอส่งเสริมการลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบินแบบไร้รอยตัว โดยโครงการนี้จะได้รับการส่งเสริมในประเภท 7.3 กิจการขนส่งมวลชนและสินค้าขนาดใหญ่ประเภทย่อย 7.3.1 กิจการขนส่งทางราง จะได้รับสิทธิประโยชน์ตามประเภทกิจการ (activity-based incentives) ใน กลุ่ม A2 โครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาประเทศ ได้รับการ “ยกเว้น” อากรขาเข้าเครื่องจักร, การ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี โดยกำหนดวงเงินภาษีที่ได้ยกเว้นไม่เกินร้อยละ 100 ของเงินลงทุน ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน โดย ร.ฟ.ท.จะต้องระบุรายละเอียดในส่วนของการได้รับสิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุนไว้ใน TOR ที่จะออกประกาศแก่นักลงทุนด้วย

สิทธิพัฒนา พท.เชิงพาณิชย์

ส่วนสิทธิของผู้ลงทุนในการดำเนินโครงการนี้ จะประกอบไปด้วย 1) สิทธิในการใช้พื้นที่สถานีกลางบางซื่อในการจอดรับส่งผู้โดยสาร การขายตั๋วรถไฟ การให้บริการเสริมบนขบวนรถในพื้นที่ที่ ร.ฟ.ท.จะเป็นผู้กำหนดให้ 2) สิทธิในการใช้สนามบิน

สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ในการใช้พื้นที่จอดรับส่งผู้โดยสาร โดยผู้ร่วมทุนจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามสัญญาที่จะต้องทำระหว่าง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กับกองทัพเรือไทย

3) สิทธิในการใช้โครงสร้างพื้นฐานเดิม กับสิทธิในการเป็นผู้ให้บริการเดินรถไฟในโครงการ Airport Rail Link

โดยผู้ร่วมทุนมีสิทธิในการใช้โครงสร้างพื้นฐานเดิมของโครงการ Airport Rail Link ช่วงพญาไท-สุวรรณภูมิ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

4) สิทธิในการใช้โครงสร้างพื้นฐานส่วนก่อสร้างเพิ่มเติมช่วงสถานีพญาไท-ดอนเมือง กับช่วงสถานีสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา พร้อมทั้งการให้สิทธิบริการเดินรถไฟบนโครงสร้างนี้

5) สิทธิในการใช้ที่ดินมักกะสันเชิงพาณิชย์ ประมาณ 140 ไร่ กับสิทธิในการใช้ที่ดินรอบสถานีรถไฟศรีราชา รวมทั้งการเข้า-ออกพื้นที่

6) สิทธิในการพัฒนาเชิงพาณิชย์บนสถานีรถไฟในโครงการนี้ แบ่งเป็น สถานีรถไฟที่จะต้องใช้ร่วมกับโครงการอื่น ๆ (บางซื่อ-ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) จะได้รับพื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์ตามที่ ร.ฟ.ท.กำหนดให้ ส่วนสถานีรถไฟความเร็วสูง ผู้ร่วมทุนจะได้รับพื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์บนสถานีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และ 7) สิทธิในการใช้คลื่นความถี่ GSM-R ในระบบอาณัติสัญญาณ ETC level 2

นอกจากนี้ รัฐบาลยังกำหนดมาตรการสนับสนุนโครงการทั้งทางการเงินและไม่ใช่การเงิน ประกอบไปด้วย 1) ค่าใช้จ่ายจากรัฐสู่ ร.ฟ.ท. แบ่งเป็น ค่าเวนคืนที่ดิน 3,639 ล้านบาท กับการโอนหนี้สินของ ร.ฟ.ท.อีก 33,229 ล้านบาท 2) เงินสนับสนุนเอกชน 3 ส่วน คือ เงินสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน-เงินสนับสนุนเผื่อโครงการอื่น-เงินสนับสนุนรายปีเป็นระยะเวลา 10 ปี รวมเป็นเงินสนับสนุนทั้งหมดประมาณ 109,300 ล้านบาท แต่ไม่เกินมูลค่าโครงสร้างพื้นฐานในโครงการ 120,500 ล้านบาท

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0