โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

นี่ “กู้ภัย” หรือ “เน็ตไอดอล” โพสต์เรียกเรตติ้ง ผ่านศพไม่เซ็นเซอร์

Manager Online

อัพเดต 10 ต.ค. 2560 เวลา 14.57 น. • เผยแพร่ 10 ต.ค. 2560 เวลา 13.41 น. • MGR Online
นี่ “กู้ภัย” หรือ “เน็ตไอดอล” โพสต์เรียกเรตติ้ง ผ่านศพไม่เซ็นเซอร์

สังคมถล่มด่า กู้ภัยลงภาพศพผ่านโซเชียลฯ แบบไม่เซ็นเซอร์ พร้อมตั้งคำถาม อยากช่วยเหลือคนหรืออยากเรียกเรตติ้ง? กู้ภัยอ้างเป็นอุทาหรณ์ ด้านผู้เชี่ยวชาญดึงสติ ถ้าเป็นอุทาหรณ์จริงได้ ไทยคงไม่ครองแชมป์อุบัติเหตุระดับต้นๆ ของโลกขนาดนี้!

อุทาหรณ์สำหรับใคร?!

กลายเป็นประเด็นดรามาสนั่นโลกโซเชียลฯ หลังจากที่เพจ “บันทึกหมอรีบ” เพจที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการแพทย์ฉุกเฉิน โพสต์ถึงกรณีที่มีเจ้าหน้าที่อาสากู้ภัยคนหนึ่ง ลงภาพผู้เสียชีวิตที่ไม่ได้มีการเซ็นเซอร์ เมื่อมีคนที่เรียนพาราเมดิก(Paramedic)หรือนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์หรือนักกู้ชีพ มาคอมเมนต์ท้วงติงถึงเรื่องนี้ เขาก็ตอบกลับอย่างไม่แคร์ว่า ตนเองนั้นทำงานด้านนี้มา 13 ปีแล้ว ก็ลงภาพแบบนี้มาตลอด หากเรียนพาราเมดิกจบ ก็ขอให้หางานทำให้ได้ ขอให้กระทรวงเปิดตำแหน่งนี้ให้ด้วย และบอกอีกด้วยว่าค่าเทอมของผู้ทักท้วงยังไม่เท่าค่าเทอมลูกตนเลย

ทางด้านเพจ “บันทึกหมอรีบ” ได้แสดงความคิดเห็นถึงเรื่องนี้ว่า รู้สึกเบื่อกับอาสาสมัครกู้ภัยบางคน ที่โพสต์ภาพผู้เสียชีวิต รวมถึงชื่อและที่อยู่ โดยอ้างว่าเป็นการตามหาญาติ ทั้งที่ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อีกทั้งหน้าที่ตามหาญาติก็เป็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ การจะทำงานด้านนี้ต้องรู้กฎหมาย จะอ้างว่าทำมานานไม่ได้ เพราะนั่นคือความเคยชินที่ถูกใจ ไม่ใช่ความถูกต้องที่ควรเป็น ก่อนจะทิ้งท้ายว่า พาราเมดิก ก็มีตำแหน่งในกระทรวงแล้ว

ขณะเดียวกัน ทาง เพจ “Drama-addict” ก็ได้แสดงความคิดเห็นถึงเรื่องนี้เช่นเดียวกันว่า บ่อยครั้งที่มีอาสาสมัครกู้ภัย นำภาพของผู้เสียชีวิตมาลงในโลกโซเชียลฯ โดยอ้างว่าทำไปเพื่อเป็นอุทาหรณ์บ้าง ตามหาญาติบ้าง หากใครพบเห็นการกระทำลักษณะนี้ ก็ให้ช่วยกันรีพอร์ตทันที พร้อมกันนี้ เพจดรามายังได้โพสต์ภาพที่เป็นอีกหนึ่งข้อความของอาสาสมัครกู้ภัยคนเดียวกับคนที่ลงภาพผู้เสียชีวิตแล้วโดนติติง ทำนองเดียวกับข้อความแรกว่า "ทีหลังญาติพี่น้องใครหายหรือเกิดอุบัติเหตุตามหาเองนะครับ #ไม่สุสานก็โรงพยาบาล”

ไม่รอช้า ทีมข่าวผู้จัดการ Live ติดต่อไปยังเพจ “บันทึกหมอรีบ” ผู้เปิดประเด็นดรามานี้ โดยเพจดังกล่าวมีแอดมินเป็นพาราเมดิกหรือนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ ที่อยู่ในแวดวงนี้มายาวนาน เขากล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ถึงอย่างไรก็ไม่ควรลงภาพผู้เสียชีวิตทุกกรณี

“การลงภาพ ถ้าจะให้พูดตรงๆ คือ ไม่สมควรลงทุกกรณี หลายคนที่มาพูดคุยหลังไมค์หรือแม้ในคอมเมนต์เอง ล้วนไม่อยากเห็นภาพญาติตัวเองในโซเฃียลฯ ที่ตายอย่างอนาถแน่นอน มันจะเกิดวงจรการไลค์ การแชร์อย่างรวดเร็ว ภาพเหล่านี้จะถูกรีรันซ้ำๆ มาในทุกปี กลับเป็นเครื่องมือตอกย้ำความเจ็บปวดของญาติโดยที่เราไม่รู้ตัว ปกติแล้วถ้าตายนอกโรงพยาบาล หลังจากชันสูตรพลิกศพ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการตามหาญาติตามขั้นตอนเอง จากระบบราษฎร์หรือขั้นตอนต่างๆ ของทางตำรวจ

การนำภาพมาลงเพจโดยเฉพาะสภาพศพที่ไม่น่าดู ก็คงไม่เป็นที่น่าดูอะไรมากนักสำหรับญาติ อุทาหรณ์กับความรู้สึกหดหู่ของญาติ เราต้องถามตัวเราว่าอันไหนสำคัญกว่ากัน ใจเขาใจเรา ถ้าแอดตอบคงจะไม่เห็นด้วย ถ้าเป็นอุทาหรณ์จริงๆ ประเทศไทยจะไม่ครองแชมป์อุบัติเหตุระดับต้นๆ ของโลกแน่นอน จิตสำนึกการรู้จักผิดชอบชั่วดีย่อมสำคัญกว่าอุทาหรณ์”

นอกจากนี้ในฐานะของคนทำงานด้านกู้ชีพ แอดมินเพจดังได้ฝากย้ำเตือนถึงคนที่ทำงานในด้านนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในระดับใด สิ่งที่สำคัญมากนอกเหนือจากการปฏิบัติตนตาม พ.ร.บ.วิชาชีพแล้ว ที่ขาดไม่ได้เช่นกันคือ จริยธรรมและการทำงานเป็นทีม “การทำงานด้านกู้ชีพ ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรระดับไหน สิ่งที่สำคัญที่ทุกคนผ่านมาแล้วคือการเรียน อบรมความรู้ สิ่งที่ควรจะทราบต่อมาคือ กฎหมาย พ.ร.บ.วิชาชีพ ก็คือพ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน ปี 2551 ว่าบุคคลนั้นสามารถทำอะไรได้บ้างตามขอบเขตของกฎหมาย

ต่อมาคือจริยธรรม นี่แหละที่มีปัญหาในปัจจุบัน คือเครื่องบ่งชี้ว่าอันนี้ควรทำ อันนี้ไม่ควรทำ สิทธิผู้ป่วย/ศพ ยิ่งในยุค 4.0 นี้ควรจะต้องทราบอย่างยิ่ง เพราะทุกคนสามารถเป็นสื่อได้เองเพียงปลายนิ้วกดโพสต์หรือแชร์ และสุดท้ายคือ การให้เกียรติกัน เพราะบุคลากรทุกระดับต้องทำงานร่วมกัน ขาดคนหนึ่งคนใดไปไม่ได้ งานกู้ชีพสิ่งสำคัญที่สุดคือทีมครับ”

อยากช่วยคนหรืออยากเรียกเรตติ้ง?!

เพื่อหาคำตอบของประเด็นดรามานี้ให้ได้ทุกมิติ รวมถึงมุมของอาสาสมัครกู้ภัยด้วย ทีมข่าวผู้จัดการ Live จึงติดต่อไปยังเพจ “กลุ่มคนอาสา กู้ชีพ กู้ภัย Thailand” ที่มีแอดมินก็เป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่อาสาสมัครกู้ภัยของมูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ต มาเป็นตัวแทนของกู้ภัยน้ำดีที่อาจถูกเหมารวมจากกรณีนี้ พูดถึงประเด็นการลงภาพของผู้บาดเจ็บหรือผู้เสียชีวิตไว้ว่า พบเจอการกระทำแบบนี้เช่นกัน แม้การตามหาญาติจะเป็นหน้าที่ของตำรวจ แต่การประกาศตามหาฝ่ายโซเชียลฯ ก็ช่วยให้หาญาติได้เร็วขึ้นอีกทาง เมื่อเจอแล้วก็จะลบโพสต์ทันทีเช่นกัน

“ปกติแล้วจะมีการติดต่อกันระหว่างอาสาสมัคร มีกลุ่มไลน์ให้ช่วยส่งข่าว ก่อนลงภาพจะมีการเซนเซอร์หน้าผู้เสียชีวิตหรือผู้บาดเจ็บก่อน เพื่อเป็นการให้เกียรติครับ แต่ช่วงที่ทำเพจใหม่ๆ เคยมีประเด็นแบบนี้เหมือนกัน เมื่อก่อนจะลงเพื่ออุทาหรณ์ แต่หลังๆ ไม่ได้แล้ว เพราะมีพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ขึ้นมา

ความคิดเห็นจากแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน มองว่าการลงภาพผู้เสียชีวิตในโซเชียลฯ ยิ่งเป็นการทำร้ายจิตใจญาติ

หน้าที่การตามหาญาติมันเป็นหน้าที่ของตำรวจอยู่แล้วครับ แต่ว่าเดี๋ยวนี้มีโซเชียลฯ อะไรมันก็ไวกว่า แต่ก่อนลงก็จะขอโทษก่อน เมื่อตามหาญาติเจอแล้วก็ลบออก การโพสต์ของเพจ เราจะไม่ลงพวกบัตรประชาชนเลย เพราะเลขบัตรประชาชน 13 หลักมันเอาไปทำอะไรได้หลายอย่าง รูปผู้เสียชีวิตเราก็จะเซ็นเซอร์ก่อน บางทีภาพได้มาเยอะเลย แต่ถ้าเกิดว่าภาพไหนมันล่อแหลมเกินก็จะไม่เอามาลง เพราะส่วนมากทางเพจจะนำเสนอเกี่ยวกับการทำงานของหน่วยกู้ภัยมากกว่าครับ”

นอกจากนี้ เขาเล่าถึงการทำงานในฐานะอาสาสมัครกู้ภัยว่า ปกติแล้วหน่วยกู้ภัยจะมี 2 แบบ ทั้งอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่ของรัฐและของมูลนิธิที่เป็นงานประจำ ถ้าเกิดเป็นพนักงานประจำของมูลนิธิเอง เงินเดือนก็จะไม่ได้เยอะ แต่ถ้าเป็นอาสาก็จะไม่มีเงินเดือน สำหรับตัวเขาเองที่มีงานประจำแต่มาเป็นอาสาสมัครกู้ภัยกับทางมูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ต จะไม่มีนโยบายในการรับเงินเดือน ไม่รับค่าเคส ส่วนค่ารถและค่าน้ำมันจะออกเองทั้งหมด

เมื่อถามถึงประสบการณ์การทำงาน ว่าเคยเจอผู้ร่วมงานที่มีลักษณะเดียวกันกับที่ปรากฏเป็นประเด็นดรามาอยู่ในขณะนี้หรือไม่ แอดมินเพจกู้ภัยได้ตอบกว่า เคยเจอผู้มีพฤติกรรมแบบนี้เช่นกัน และคนเหล่านี้มักจะโพสต์ภาพผู้เสียชีวิตแบบไม่เซ็นเซอร์ เพื่อเป็นการ “เรียกเรตติ้ง” ให้ตนเอง โดยที่ไม่ได้มีการให้เกียรติผู้เสียชีวิตหรือคำนึงถึงความรู้สึกของญาติผู้เสียชีวิตแม้แต่น้อย พร้อมทั้งยังเตือนสติกู้ภัยบางคนที่ยังมีพฤติกรรมเช่นนี้ว่า ให้คิดว่าทำไปเพื่ออะไร อยากช่วยเหลือคนจริงๆ หรืออยากเรียกเรตติ้ง

ในอดีตก็เคยมีเหตุการณ์ที่กู้ภัยบางคนมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม โดยการถ่ายภาพเซลฟี่กับผู้เสียชีวิต

“เคยเจอบ้างเหมือนกันในขณะที่ปฏิบัติงาน มีการ Live ถ่ายทอดสด ถ่ายภาพ บางคนก็จำเป็นต้องถ่ายเพื่อใช้ในการส่งผู้บังคับบัญชา ผมเห็นหลายคนใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวในการนำเสนอ เรียกเรตติ้งก็มีเยอะ เคยมีการพูดคุยตรงนี้ เคยเตือนกันว่าต้องให้เกียรติผู้เสียชีวิตและระวังเรื่อง พ.ร.บ.คอมพ์ฯ แต่ว่าบางคนเขาไม่ฟัง เคยเตือนแต่ไม่ฟัง

กู้ภัยที่ดียังมีอีกเยอะ แต่ว่าอยากจะเตือนกู้ภัยบางคนเหมือนกัน เรื่องการนำเสนอภาพข่าวว่าเราควรจะคิดว่ามาตรงนี้เพื่ออะไร มาช่วยเหลือ ถ้าคุณอยากนำเสนอภาพข่าว ให้นำเสนอในรูปแบบการทำงานของกู้ภัยดีกว่า ไม่ใช่เอาภาพผู้เสียชีวิตโดยที่ไม่เซ็นเซอร์มาลง เพราะเห็นหลายครั้ง ต้องแยกแยะให้ชัดเจนก่อนว่า จะมาเป็นนักข่าวหรือเป็นอาสากู้ภัย”

ขอบคุณภาพและข้อมูล : เพจ “บันทึกหมอรีบ” และ “กลุ่มคนอาสา กู้ชีพ กู้ภัย Thailand”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0