โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ท่องเที่ยวตามรอยละครดัง การส่งเสริมกันระหว่างท้องถิ่นกับละครทีวี

The MATTER

อัพเดต 25 มี.ค. 2561 เวลา 03.18 น. • เผยแพร่ 24 มี.ค. 2561 เวลา 01.39 น. • Thinkers

วันอาทิตย์ที่แล้ว ผมกับหมอวี สมาชิกทีมปั่น Ducking Tiger ออกไปปั่นจักรยานซ้อมกันยาวๆ ตั้งแต่กรุงเทพไปถึงแถวๆ บางปะอิน พอแวะถ่ายรูปที่แม่น้ำเจ้าพระยา แล้วจะปั่นกลับก็พบว่า รถขาออกจากอยุธยากลับเข้ากรุงเทพมีปริมาณล้นหลาม หมอวีก็บอกว่า “ตอนนี้คนมาเที่ยวอยุธยากันเยอะครับ เพราะมาตามรอยละครบุพเพสันนิวาส” ตัวผมเองถึงไม่ได้ดูละครแต่ก็พอจะเห็นถึงกระแสความฮิตของละครเรื่องนี้อยู่ พอกลับมานั่งอ่านข่าวก็พบว่า คนไปตามรอยดูวัดต่างๆ กันเยอะจริง โดยเฉพาะวัดไชยวัฒนาราม เห็นแล้วก็คิดว่าเป็นกระแสที่น่าสนใจดีเหมือนกันที่ทำให้คนตื่นตัวออกไปตามรอยหาความรู้

จริงๆ แล้วผมเคยเขียนเรื่องการตามรอยอนิเมะและการชูอนิเมะมาเป็นจุดขายทีนึงแล้ว แต่รอบนี้จะขอหันมาเขียนเรื่องของทางละครทีวีบ้าง เพราะมีความแตกต่างกันกับอนิเมะเหมือนกัน แถมทางญี่ปุ่นเขายังทำเป็นระบบ วางแผนไว้อย่างดี เพื่อที่จะได้ส่งเสริมกันอย่างต่อเนื่อง

ละครทีวีที่ผมจะยกมาเป็นตัวอย่างจาก NHK เป็นหลัก เพราะส่วนหนึ่งคือเป็นสถานีแห่งชาติ มีละครยอดนิยมมากมาย (ตัวอย่างก็ โอชิน ที่ฮิตหนักในบ้านเรา) แน่นอนว่าช่องเอกชนต่างๆ ก็มีละครดังเยอะแยะเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้มีตลอด ผลกระทบต่อสังคมก็ต่างกัน ส่วนละครของ NHK ที่เรียกได้ว่าการันตีความนิยมก็เพราะว่า เขาทำต่อเนื่องกันมานาน โดยจะมีสองแนวใหญ่ๆ คือ ละครย้อนยุค และละครชุดช่วงเช้า

ละครย้อนยุค หรือที่ญี่ปุ่นเรียกว่า Taiga Drama คือละครอิงประวัติศาสตร์ที่เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 1963 โดยรูปแบบจะเป็นละครยาว 1 ชั่วโมง ฉายวันอาทิตย์เวลา 20.00 น. ทุกสัปดาห์ เป็นเวลา 1 ปี เริ่มต้นปีจบท้ายปี ดูกันยาวๆ แต่ละปีก็จะยกบุคคลในประวัติศาสตร์ขึ้นมาเป็นตัวเอก และมักจะมีการประกาศล่วงหน้าเป็นปีๆ ว่าอีกสองปีจะทำเรื่องของใคร ที่ผ่านมาคนดังๆ ในประวัติศาสตร์นี่ขุดกันมาทำจนบางที่ก็ต้องเอาเรื่องคนเดิมมาทำซ้ำ และนักแสดงส่วนใหญ่จะเลือกเอาคนที่มีชื่อเสียงมากอยู่แล้วมาเล่นนำ

เพราะความที่เป็นละครอิงประวัติศาสตร์ ดังนั้นในแต่ละปีเมื่อบุคคลในประวัติศาสตร์คนไหนถูกเลือกมาเป็นตัวเอกของเรื่อง สถานที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลคนนั้นก็เตรียมพร้อมจัดอีเวนต์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวสำหรับคนที่ต้องการมาตามรอยละคร ผมได้สัมผัสกับตัวเองเป็นครั้งแรกก็คือตอนที่เรียนอยู่ญี่ปุ่น แล้วปีนั้นเป็นละครเรื่อง Matsu to Toshiie เรื่องของ มาเอดะ โทชิอิเอะ ขุนศึกคู่ใจของโอดะ โนบุนากะ ที่เมื่อเป็นใหญ่ก็ได้ไปปกครองพื้นที่แถบเมืองคานาซาว่าในจังหวัดอิชิกะวะ และสร้างปราสาทคานาซาว่า พอได้ไปทัศนศึกษาที่ปราสาทคานาซาว่าปีนั้นก็ได้เห็นแฟนละครชาวญี่ปุ่นแห่ไปตามรอยละครกันอย่างมหาศาล และที่สำคัญ ตัวปราสาทเองก็จัดอีเวนต์ผูกกับละคร เพื่อให้คนที่ไปตามรอยได้อินมากกว่าเดิม นับเป็นการร่วมงานกันที่วางแผนมาดีเลยครับ

ที่สำคัญคือ เวลาละครฉาย เขาก็ไม่ได้ปล่อยให้คนดูต้องไปหาข้อมูลเองนะครับ เมื่อละครจบในแต่ละตอน ก็จะมีเกร็ดท้ายตอน เป็นวิดีโอสั้นๆ พาไปชมสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่อง หรือเพิ่งพูดถึงไปไปหมาดๆ มีบอกกระทั่งว่าลงรถไฟที่สถานีไหนได้ด้วย เรียกได้ว่าข้อมูลพร้อมสำหรับคนที่ต้องการไปเลยทีเดียว

แน่นอนว่าเวลามีละครแบบนี้ก็จะมีหนังสือแนะนำละคร สรุปตัวละคร เนื้อเรื่อง ออกวางขาย (คล้ายๆ ของไทย แต่รูปเล่มจะพรีเมียมเอาเรื่อง) ในเล่มก็จะมีรายการแนะนำสถานที่ให้ไปตามรอยได้ พร้อมทั้งรายละเอียดครบครัน และแน่นอนว่าเมื่อละครดัง ก็มักจะมีการผลิตของที่ระลึกจากละครมาขายในสถานที่เหล่านั้นด้วย ช่วยๆ ส่งเสริมกันไป ได้ทั้งความรู้และช่วยเศรษฐกิจท้องถิ่น (แต่ละครก็คือละครนะครับ ต้องบิดจากความจริงไปเยอะเหมือนกัน)

ส่วนละครชุดช่วงเช้า ที่คนญี่ปุ่นเรียกกันแบบสะดวกปากว่า Asa Dora (Drama) (Asa แปลว่าเช้า) จริงๆ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า 連続テレビ小説 Renzoku Terebi Shousetsu หรือ นิยายชุดทางทีวี ที่ฉายวันจันทร์ถึงเสาร์ เวลา 8.00 น.  ตอนสั้นๆ แค่ 15 นาที แต่เรื่องทั้งหมดยาวครึ่งปี ดังนั้นมักจะรวมได้ 156 ตอน คิดจริงๆ ก็จัดว่ายาวเอาเรื่องเหมือนกัน ละครชุดช่วงเช้ามักจะเป็นเรื่องร่วมสมัยมากกว่าละครย้อนยุค แม้จะมีเรื่องย้อนอดีตอยู่บ้างแต่ก็เป็นญี่ปุ่นยุคสมัยใหม่แล้วและตัวเอกของเรื่องก็จะเป็นผู้หญิงที่ต้องฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ โอชิน ที่ฮิตในบ้านเราก็คือละครหมวดนี้นี่ล่ะครับ ส่วนนักแสดงโดยมากแล้วก็มักจะเลือกนักแสดงสาวหน้าใหม่ หรือที่กำลังเริ่มมีชื่อเสียง ซึ่งการแสดงละครชุดช่วงเช้านี้ก็มักจะเป็นใบเบิกทางให้หลายคนได้ดิบได้ดีในวงการบันเทิงต่อไป

ละครชุดช่วงเช้าหลายเรื่องพอดังแล้วก็สามารถสร้างรายได้ให้ท้องถิ่นได้ไม่น้อยครับ ตัวอย่างเช่นเรื่อง Ama Chan เกี่ยวกับอาชีพสาวนักดำน้ำเก็บหอย ที่เดิมเป็นเด็กสาวธรรมดาจากโตเกียวแล้วย้ายไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น (ในเรื่องเป็นเมืองสมมติ แต่มีต้นแบบจากเมืองในจังหวัดฟุคุชิมะที่ประสบภัย) เพื่อเป็นสาวนักดำน้ำ กลายเป็นไอดอลท้องถิ่น แล้วกลับโตเกียวเพื่อพยายามเป็นไอดอลเต็มตัว ก่อนที่จะกลับไปทางตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อช่วยฟื้นฟูท้องถิ่นหลังจากได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในปี 2011

แม้คนเขียนบทจะบอกว่า ไม่ได้ตั้งใจที่จะเซ็ตเนื้อเรื่องในพื้นที่ได้รับผลกระทบ แต่ก็คิดว่าสามารถเอาเรื่องแผ่นดินไหวมาใส่ให้น่าสนใจได้ ทำให้ละครปี 2013 เรื่องนี้ ช่วยปลุกฟุคุชิมะให้มีชีวิตชีวา เพราะมันกลายเป็นละครฮิตถล่มทลาย คนภายนอกก็มองฟุคุชิมะในแง่บวกมากขึ้น นักท่องเที่ยวที่เข้าไปเที่ยวในจังหวัดหลายคนไปแล้วก็ไปซ้ำอีก และเขายังเอาละครมาเป็นจุดขายอย่างเต็มที่ มีสินค้าต่างๆ ที่เกี่ยวพันหรือปรากฏในละครวางขายให้แฟนๆ ตามซื้อได้ สร้างรายได้ให้กับพื้นที่ ต่อให้คนเขียนบทบอกว่าไม่ได้ตั้งใจ แต่อิทธิพลของละครก็ช่วยพัฒนาพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบได้ไม่น้อย ล่าสุด นักแสดงนำ Non (ชื่อเดิม Nounen Rena) ก็ได้กลับไปเยือนพื้นที่ประสบภัย ทำเป็นรายการดูผ่านทางแอพพลิเคชั่นได้อีก

อีกตัวอย่างที่เห็นท้องถิ่นรุ่งเรืองจากละครชุดช่วงเช้า ก็คงเป็นเรื่อง Mare นำแสดงโดย Tsuchiya Tao เนื้อเรื่องเกี่ยวกับเด็กสาวจากแถบโนโตะในจังหวัดอิชิคาวะที่มีความฝันอยากจะเป็นนักทำขนม พอละครดัง เมืองวาจิมะในแถบโนโตะก็กลายเป็นที่สนใจ จากที่เป็นเมืองเล็กๆ ริมทะเล ที่มีจุดขายคือตลาดเช้าขายปลาสด พอมีคนสนใจมาเที่ยวมากขึ้น ก็เริ่มผูกกับละครอย่างเต็มที่เพื่อให้คนที่มาตามรอยละครได้สนุก ไม่ใช่แค่สินค้าท้องถิ่น แต่เขายังทำเรือนเพื่อระลึกถึงละครเรื่อง  Mare ไว้ที่ปลายตลาดเช้า ติดกับสะพานข้ามแม่น้ำที่ปรากฎในเรื่อง ให้แฟนๆ ที่เดินตลาดเช้าเสร็จแล้วมาเข้าชม ข้างในก็มีของที่ระลึกจากละคร สินค้าเกี่ยวกับละคร และยังมีฉากจากในละครจำลองมาให้แฟนๆ ได้สัมผัสอีกด้วย แน่นอนว่าก็ช่วยเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี แถมที่สนามบินโนโตะซาโตะยามะ สนามบินที่ใกล้กับเมืองวาจิมะที่สุด ก็มีการเอาฉากจากในเรื่องไปตั้งไว้ในสนามบินเพื่อเป็นการต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาอีกด้วยครับ เรียกได้ว่าท้องถิ่นก็ตั้งใจทำงานกันเพื่อให้สร้างประโยชน์อย่างเต็มที่จริงๆ

ดูการทำงานของท้องถิ่นญี่ปุ่นแล้วร่วมมือกับทางทีมงานจัดทำละครแล้วก็น่าสนใจนะครับ จริงอยู่ที่ของบ้านเราเป็นช่องเอกชนทำละครซะส่วนใหญ่ จึงอาจจะไม่ได้คิดยาวถึงการร่วมงานกับท้องถิ่น แต่ถ้ามีโอกาส หรือท้องถิ่นตาคมและปรับตัวได้ไวพอ ก็น่าสนใจที่จะหันมาวางแผนงานกันนะครับ นอกจากคนไปจะได้ความรู้ ได้อินกับละครอย่างเต็มที่ ผลประโยชน์ก็ยังกลับสู่ท้องถิ่นอีกด้วย ส่วนผู้สร้างละคร แม้จะไม่ได้ผลประโยชน์โดยตรง แต่โอกาสหน้าก็อาจจะมีท้องถิ่นชวนไปถ่ายทำละครโดยอำนวยความสะดวกเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างที่หลายเมืองในญี่ปุ่นสนับสนุนให้ทางไทยไปถ่ายทำละครในพื้นที่เขานั่นล่ะครับ

Illustration by Waragorn Keeranan

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0