โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ทำไมเท้าถึงเหม็น? อ่านหนังสือทีไรทำไมแสนง่วง? 10 คำตอบเรื่องร่างกายในวิทยาศาสตร์

The MATTER

อัพเดต 20 มี.ค. 2561 เวลา 13.46 น. • เผยแพร่ 20 มี.ค. 2561 เวลา 12.38 น. • Byte

ถ้าจะมีหนังสือเล่มไหนที่อ่านแล้วไม่มีวันจบ หนังสือเล่มนั้นคงเป็น 'ร่างกายของคุณ' แม้คุณจะบ่นไม่ชอบตัวเองเอาซะเลย แต่เรื่องราวของชีวิตกลับเต็มไปด้วยเรื่องพิศวงผ่านมุมมองวิทยาศาสตร์ที่ถักทอชีวิตคุณให้มีความหมาย

ปรากฏการณ์ทางร่างกายคุณเป็นอย่างไรหากต้องอยู่ด้วยวิตามินและน้ำเปล่า อ่านหนังสือทีไรทำไมง่วงแสนง่วง เขินแล้วทำไมต้องหน้าแดง ทำไมเท้าเราถึงเหม็น ผู้หญิงรู้สึกหนาวกว่าผู้ชายจริงไหม และอีกหลายๆ คำถามที่น่าสนใจ

เรารวบรวมคำถามชวนคิดผ่านร่างกาย เป็น 10 คำถามที่อาจทำให้วงกาแฟยามบ่ายของคุณกับเพื่อนๆ สนุกขึ้นได้

1. เราจะไม่รู้ในสิ่งที่เคยรู้มาแล้วได้ไหม?

นักจิตวิทยาส่วนใหญ่บอกว่า “ได้!มีงานทดลองหลายชิ้นพิสูจน์ว่า สิ่งที่คุณเรียนรู้ผ่านความทรงจำมาอาจสูญหาย ตกหล่น บิดเบือนระหว่างทาง ตั้งแต่การให้ท่องคำศัพท์ซ้ำๆ จนรู้สึกว่าคำนั้นไม่มีความหมาย เราสามารถทำให้คนลืมพฤติกรรมที่เคยชินได้ในห้องทดลอง ตั้งแต่การเคลื่อนไหวร่างกาย ลักษณะท่าทางการเดิน หรือมากกว่านั้นไปอีกขั้นคือการสร้างความทรงจำเท็จ (False Memories) โดยมีสมมติฐานว่า ความทรงจำของมนุษย์นั้นไม่มีความแน่นอนและสามารถบิดเบือนได้ และใช้กลวิธีการฝังความทรงจำเท็จที่เปลี่ยนรายละเอียดในความทรงจำที่เราเคยสัมผัสไปแล้ว หรือแม้กระทั่งปลูกฝังความทรงจำที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง

อิทธิพลของความทรงจำเหนี่ยวนำความเชื่อผู้คนได้ว่าพวกเขาเคยทำอะไรมาก่อน ซึ่ง False Memories เป็นปัจจัยต่อความคิด อารมณ์ การแสดงออกทางร่างกาย หากเอาไปใช้ในเชิงสร้างสรรค์จะช่วยลดความทรงจำที่เป็นบาดแผลจิตใจ (Traumatic memories) ในเหยื่อที่เห็นการฆาตกรรมหมู่ หรือผู้ถูกทารุณกรรมทางร่างกาย การสามารถบิดเบือนความทรงจำที่เลวร้ายบ้าง อาจทำให้พวกเขาอยู่กับปัจจุบันได้ง่ายขึ้น

แต่เราแยกแยะความทรงจำเท็จออกจากความทรงจำจริงได้หรือไม่? งานศึกษาหลายชิ้นระบุว่า คนส่วนใหญ่ที่เข้าสู่กระบวนการฝังความทรงจำเท็จ ไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างได้

2. เราจะอยู่รอดไหมหากมีเพียงวิตามินและน้ำเท่านั้น?

ไม่ได้แน่นอน! วิภาวดีไม่รอดแล้วววว แม้วิตามินจะเป็น สารอาหารรอง (Micronutrients) ที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่คุณก็ต้องการปริมาณเพียงเล้กน้อยเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอที่จะทดแทนสารอาหารหลัก (Macronutrient) ในกลุ่มที่ให้พลังงานต่อร่างกาย ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีนและไขมัน ในสัดส่วนที่พอเหมาะกับการใช้เป็นพลังงานของร่างกายคุณ

แม้วิตามินรวมส่วนใหญ่มีปริมาณแป้งและโปรตีนจากยีสต์นิดหน่อย ซึ่งถ้าคุณจะต้องกินมันจริงๆ ให้รอดชีวิต อาจต้องกินถึง 2,000 เม็ดต่อวัน (ไม่มีใครทะลึ่งทำหรอก) แต่ถ้าคุณยังฝืนอยู่อีก (คนดื้อ!) ปริมาณวิตามินเอที่เกินขนาดจะทำให้ตับวายก่อนที่ร่างกายจะแสดงออกถึงอาการขาดกรดไขมันจำเป็นอื่นๆ

แต่ถ้าคุณมีเพียงวิตามินและน้ำประทังชีวิต คุณอาจมีชีวิตรอดเพียง 4–5 สัปดาห์เท่านั้นก่อนที่อวัยวะต่างๆจะล้มเหลวและสู่ขิต

3. ทำไมอ่านหนังสือแล้วง่วงนอน?

ปัญหาอันเจ็บปวดของเหล่านักอ่านคืออาการง่วงทุกทีที่เปิดหนังสือ หนังสือเปิดโลกกว้างให้คุณ พอๆ กับเป็นยานอนหลับชั้นดี ส่วนใหญ่พวกเราอ่านหนังสือในอิริยาบถที่ 'สบายที่สุด' คือนั่งเอกเขนกหรือนอนราบในที่เงียบสงบตอนกลางคืน หรือหลังจากคุณเสร็จสิ้นกิจกรรมออกแรงไปแล้ว อันเป็นช่วงเวลาฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin) เริ่มหลั่งทำให้คุณง่วงนอน หมอนอยู่ไหน

การตั้งสมาธิโฟกัสไปที่ตัวหนังสือเพียวๆ ทำให้คุณตัดขาดจากสิ่งเร้าอื่นๆ ภายนอกที่อาจทำให้คุณตื่น ยิ่งไปกว่านั้นหากหนังสือที่คุณอ่านน่าเบื่อสุดๆ ความกระตือรือร้นในการอ่านหน้าต่อๆ ไปก็จะลดน้อยลง และล้มเลิกความตั้งใจไปในที่สุดโดยเฉพาะหนังสือเรียนในวิชาที่เกลียด อ่านอะไรที่ไม่น่าเบื่อสิ! เช่นบทความนี้ของ The MATTER ขายตรงแบบหน้าไม่อาย ด้านได้อายอด!

4. ผู้หญิงรู้สึกหนาวง่ายกว่าผู้ชายไหม?

มีเสื้อคลุมติดตัวไว้บ้างก็ดีนะ หรือสุภาพบุรุษอาจจะหาจังหวะให้เธอยืมสวมตอนดูหนังหนาวๆ ที่ผู้หญิงหนาวง่ายกว่าผู้ชาย เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากมวลน้ำหนักตัวและกล้ามเนื้อผู้หญิงน้อยกว่าผู้ชาย (กล้ามเนื้อเป็นแหล่งสะสมความร้อนเช่นกัน) แต่ปัจจัยที่มีผลกระทบมากที่สุดคือฮอร์โมน 'เอสโตรเจน' ฮอร์โมนเพศขั้นพื้นฐานที่พบในเพศหญิงที่ทำให้เลือดไหลผ่านเส้นเลือดฝอย (capillaries) น้อยลง

ในปี 1998 มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัย Utah ระบุว่า ผู้หญิงมีอุณหภูมิที่ มือ เท้า และใบหูต่ำกว่าผู้ชายอยู่ที่ 3 องศาเซลเซียส

เอาข้ออ้างนี้ไปออเซาะซะสิพวกมีแฟนทั้งหลาย ส่วนพวกที่ไม่มีก็เอามือมาจับที่ตา ถ้าร้อนแปลว่าอิจฉา ดูแลตัวเองไปละกันนะ

5. ทำไมเขินแล้วถึงหน้าแดง?

ถ้าถูกจับได้ว่าตดในลิฟต์ ก็คงจะเขินจนหน้าแดงเป็นหมากผีผ่วน (ไม่รู้จักหมากผีผ่วนล่ะสิ เด็กกรุงเทพฯ) ชาลส์ ดาร์วิน นักธรรมชาติวิทยาเคยกล่าวว่า “ความเขินขวยเป็นสิ่งที่แปลกประหลาดที่สุดและทำให้เราเป็นมนุษย์ท่ามกลางอารมณ์ทั้งหมดทั้งมวล” เพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เขินแล้วหน้าแดงแบบที่ยังไม่มีสิ่งมีชีวิตไหนทำได้ สิ่งนี้จึงไม่สามารถแอบซ่อนหรือโกหกได้

มีงานวิจัยสนุกๆ ในปี 2009 จากมหาวิทยาลัยในเนเธอร์แลนด์ระบุว่า เรามักให้โอกาสครั้งที่ 2 หากใครสักคนทำผิดพลาดและเขาแสดงอาการเขินอายอย่างเปิดเผย ความเขินอายหากมองในเชิงวิวัฒนาการมักถูกให้เหตุผลว่า เพราะมนุษย์เองอ่อนไหวต่อกลไกทางสังคมที่ต้องอยู่ร่วมกับคนอื่น เมื่อคุณล้ำเส้นไปนิดหน่อยจึงแสดงออกด้วยความรู้สึกผิดอย่างละมุนละม่อม

6. เรามีโอกาสตายจากเลือดกำเดาไหลไหม?

เลือดกำเดามักเกิดจากเส้นเลือดภายในโพรงจมูกแตก ส่วนใหญ่ไม่ใช่สัญญาณอันตรายของโรคร้ายแรง และหยุดได้ด้วยการประคบด้วยน้ำแข็ง แต่อย่าชะล่าใจ เพราะในบางกรณีเลือดกำเดาอาจเกิดจากหลอดเลือดแดง 'อินเทอร์นัลคาโรติด' (internal carotid artery) ฉีกขาด ซึ่งเป็นหลอดเลือดหลักที่นำเลือดผ่านไปเลี้ยงสมอง ทำให้เลือดไหลมาก และป็นอันตรายถึงชีวิต แถมมีความเป็นไปได้ที่เลือดจะอุดตันทางเดินหายใจและทำให้คุณขาดอากาศ

ในปี 2011 มีชาวอเมริกันวัย 47 ปี เสียชีวิตจากเลือดกำเดาไหลที่ทำให้เขาหายใจไม่ออก ดังนั้นรักษาตัวเองดีๆ อย่าไปเที่ยวยื่นหน้าให้ใครเขาชก ตายได้นะเออ นี่เป็นห่วง

7. ทำไมเราถึงเท้าเหม็น?

ปวดหัวเลย เวลานึกถึงคาบวิชาคอมพิวเตอร์ที่ต้องถอดรองเท้า เท้าเหม็นๆ ก็เหมือนกลิ่นนมบูดๆ เอาเข้าจริงมันก็มาจากแบคทีเรียตัวเดียวกันกับที่เอาไปทำชีสและเนยแข็ง 'พอร์ต ซาลูท' ยอดนิยม ใครกินก็กินเด้อ ฉันไม่กิน

แบคทีเรียเหล่านี้อาศัยในผิวหนังของคุณ พวกมันกินเศษผิวหนังที่ตายแล้ว ตัวแรกมีชื่อว่า Brevibacterium ระหว่างที่กินจะปล่อยสารเคมีที่ชื่อ S-methyl thioesters ให้กลิ่นเหม็นอับๆ ชวนเวียนหัว นอกจากนั้นยังมีแบคทีเรียขาประจำตัวที่ 2 Staphylococcus epidermidis ที่กินเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วเช่นกัน แต่ปล่อยกรดไอโซวาลิริก (Isovaleric acid) ที่ฉุนจัด และผู้ร่วมวงสุดท้ายคือแบคทีเรีย Propionibacterium ที่เปลี่ยนเหงื่อในเท้าคุณให้กลายเป็นกลิ่นเหม็นเปรี้ยวจากกรดโพรพิโอนิก (Propionic Acid)

ดังนั้นเท้าเหม็นๆ ของคุณ จึงเป็นการบรรเลงวงมโหรีของแบคทีเรียทั้ง 3 ที่ทำงานเข้าขากันเหลือเกิน  กินเก่ง เหม็นเก่ง!

8. ทำไมแสงแดดยามเช้าถึงทำให้รู้สึกดี?

มนุษย์ที่รักยามเช้ามักสดชื่นแจ่มใส เล่นมุกอะไรก็ขำ ช่วง 7 โมงถึง 8 โมงเช้า แสงอาทิตย์เป็นมิตรกับคุณ หากคุณอาศัยอยู่ทวีปยุโรปคนที่นั่นจะให้ความสำคัญกับกิจกรรมกลางแจ้งมาก ผู้คนจะเดินขวักไขว่เต็มสวนสาธารณะ (คนเขียนไม่เคยไปอยู่ ทำมาเป็นรู้ดี) แม้แสงแดดจะทำให้รู้สึกดี แต่ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่า คนในประเทศที่แสงแดดดีๆ จะเป็นคนอารมณ์ดีเสมอไป แต่ในอีกมุมหนึ่งมีหลักฐานว่า คนที่อยู่ในประเทศที่แสงแดดส่องไม่ถึงนานๆ มักมีอาการเครียด ซึมเศร้าจากฤดูกาลที่เรียกว่า Seasonal Affective Disorder (SAD)

Circadian Clock หรือนาฬิกาชีวภาพเป็นตัวกำหนดการรับรู้ในระดับ 24 ชั่วโมง (24 Hour Cycles) โดยร่างกายทำงานร่วมกับประสาทการมองเห็น ‘กลางวัน-กลางคืน’ เรติน่าของดวงตาตรวจจับแสงที่มองเห็นจากดวงอาทิตย์ ส่งข้อมูลไปยังเซลล์พิเศษที่ชื่อว่า Suprachiasmatic Nucleus หรือ SCN และ Paraventricular Nucleus ซึ่งจะไปควบคุมการทำงานของต่อมไพเนียล (Pineal Gland) อีกที ในการกำหนดว่าควรหลั่งฮอร์โมนอะไรในช่วงเวลาไหน เพื่อที่จะทำให้ร่างกายดำเนินไปอย่างผาสุกที่สุด

ถึงจะชอบแสงแดดมาก แต่อย่าให้ถึงกับเดินกลางแดดเที่ยงๆ นะ มีไก่วิเชียรบุรีเท่านั้นที่ทำแล้วอร่อย คุณไม่น่าจะอร่อย

9. กาแฟที่ดื่มจะออกฤทธิ์ตอนไหน?

กล่าวโดยคร่าวๆ คาเฟอีน (caffeine) ในกาแฟจะเริ่มออกฤทธิ์หลังจากคุณกระดกไปแล้วสัก 10 นาที แต่ความพีคของคาเฟอีนในเลือดจะเข้มข้นจริงๆ คือ 45 นาทีเป็นต้นไป ซึ่งอาจอยู่ในร่างกายคุณได้นาน 6 ชั่วโมง ดังนั้นหากคุณดื่มกาแฟตอน 4 โมงเย็น อาจไปรบกวนการนอนหลับของคุณในช่วงกลางคืนได้ ตาสว่าง คึกคัก ดุ๊กดิ๊ก สะกิดคนข้างๆ

แต่อิทธิพลของคาเฟอีนยังแตกต่างกันไปในรายบุคคล บางคนดื่มไป 4 แก้ว ยังนอนหลับได้ปกติ อาจมีสาเหตุจากเอ็นไซม์ CYP1A2 ในร่างกายของเขาที่สามารถขับคาเฟอีนออกจากร่างกายได้เร็วกว่าคนอื่น

ถ้าจะกินกาแฟก็เลือกที่หวานน้อยแล้วกัน เพราะน้ำตาลในกาแฟเป็นผู้ต้องหาที่แอบแฝงมาทำให้คุณน้ำหนักเกิน

10. ทำไม 'ไมเกรน' ถึงเกิดกับแค่บางคน?

น่าประหลาดใจที่ทางการแพทย์เองยังไม่สามารถชี้ชัดสาเหตุของอาการไมเกรนได้ ในประวัติศาสตร์โลก ไมเกรนอยู่เคียงคู่อารยธรรมมนุษย์มาโดยตลอด เป็นหนึ่งในอาการทางระบบประสาทที่เก่าแก่พอๆ กับ 'โรคลมชัก' (Epilepsy) เก่าขนาดมีการค้นพบม้วนตำราทางแพทย์ของอียิปต์สมัย 1,200 ปีก่อนคริสต์ศตวรรษบนกระดาษปาปิรัส ที่บันทึกโดยอะรีทรีอัส แห่งแคปพาโดเซีย (Aretaus of Cappadocia) แพทย์ชาวกรีกสุดเก๋าอธิบายถึงอาการปวดหัวข้างเดียว วิงเวียน และอาเจียน ผู้คนในอียิปต์เชื่อว่าเป็นพลังเหนือธรรมชาติ ถูกผีร้ายสิงสู่ และแก้ปัญหาด้วยหมอผี โชคดีที่ไม่ได้เกิดมายุคนั้น

การแสดงออกของไมเกรนมี 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ 'ไมเกรนที่ไม่มีอาการเตือน' (Migraine without aura) พบมากที่สุดในกลุ่มที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรน และ 'ไมเกรนที่มีอาการเตือน' (Migraine with aura) อาการเตือนที่พบบ่อยได้แก่ การมองเห็นผิดปกติ เห็นแสงเป็นเส้นซิกแซกคล้ายฟันเลื่อย ภาพที่เห็นอาจไม่มีสี หรือเห็นภาพมืดดำไปบางส่วน ราวกับมีม่านหมอกมาบดบัง โฟกัสเบลอ หลับตาแล้วยังเห็นได้อยู่ อ่อนไหวต่อสิ่งเร้าแทบทุกประเภท ทั้งกลิ่น แสง สี เสียง และอาจลามไปถึงรู้สึกชามือ ชาปาก พูดไม่ได้ชั่วคราว นึกชื่อไม่ออก

ซึ่งอาการไมเกรนในกลุ่มที่ 2 นี้ มักดึงดูดความสนใจนักวิทยาศาสตร์ด้านประสาทวิทยาเป็นที่สุด มันแสดงถึงการเชื่อมโยงของระบบทำงานของประสาทการมองเห็นและสมองอย่างเป็นพลวัตร พวกเขาพบว่าลักษณะที่เห็นภาพบิดเบือนไปจากความจริง หรือเรียกว่า Classic Aura เกิดจากไฟฟ้าที่วิ่งไปตามผิวของสมองส่วน cortex ซึ่งอยู่ท้ายสมองที่รบกวนการมองเห็น

ตามที่เข้าใจทั่วไป อาการปวดไมเกรนเกิดจากความผิดปกติของระบบไฟฟ้าที่ผิวสมอง ทำให้สมองเกิดการกระตุ้นได้ง่ายและไวกว่าคนปกติ งานวิจัยในช่วงหลังๆ พบว่าไมเกรนอยู่ภายใต้อิทธิพลของยีนกว่า 30 ยีน รวมถึงยีนควบคุมนิวรอนบนผิวสมองที่ควบคุมการปล่อยไอออน (โซเดียม โพแทสเซียม และแคลเซียม) และยีนบางตัวควบคุมประสาทสัมผัสความเจ็บปวด

ดังนั้นหากคนในครอบครัวคุณมีประวัติปวดไมเกรน คุณเองก็มีความเสี่ยงรับมรดกนี้โดยไม่ต้องเซ็นเอกสารใดๆ กับทนายด้วยเช่นกัน

อ้างอิงข้อมูลจาก

Caffeine Sensitivity

www.caffeineinformer.com

Neuropsychological mechanisms of interval timing behavior.

www.ncbi.nlm.nih.gov

Lifting The Burden The Global Campaign to Reduce the Burden of Headache Worldwide

www.l-t-b.org

Falsifying memories

www.theguardian.com

Illustration by Kodchakorn Thammachart

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0