โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ทอท.โรดโชว์แผนพัฒนาที่ดิน 6 สนามบิน ผุดโรงแรม-ศูนย์การค้าเพิ่มรายได้ Non-Aero

Manager Online

อัพเดต 25 ก.ย 2560 เวลา 17.01 น. • เผยแพร่ 25 ก.ย 2560 เวลา 09.40 น. • MGR Online
ทอท.โรดโชว์แผนพัฒนาที่ดิน 6 สนามบิน ผุดโรงแรม-ศูนย์การค้าเพิ่มรายได้ Non-Aero

ทอท.โชว์แผนพัฒนาที่ดินสนามบิน 6 แห่งแก่นักลงทุน ผู้ประกอบการ เตรียมดึงท่าดินราชพัสดุ และที่ดินจากการเวนคืนมาพัฒนาหารายได้ ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้จาก Non-Aero ขึ้นมาอยู่ที่ 50% ภายในปี 63

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวว่า ในปี 2560 ทอท.ได้มีแผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานวงเงินประมาณ 2.2 แสนล้านบาท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยาน 6 แห่งให้รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 185 ล้านคนในปี 2568 ขณะที่มีนโยบายพัฒนารายได้เกี่ยวกับกิจการการบิน (Aeronautical Revenue) และรายได้ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน (Non-Aeronautical Revenue) ให้อยู่ในสัดส่วนร้อยละ 50 : 50 เพื่อสร้างความสมดุลของรายได้ และลดผลกระทบจากรายได้ Aero ที่มีความผันผวนมากกว่ารายได้ Non-Aero ภายในปี 2563

โดยแบ่งเป็นการพัฒนารายได้จากธุรกิจในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยาน และการพัฒนารายได้ภายนอกอาคารผู้โดยสาร ซึ่ง ทอท.วางแผนที่จะใช้ประโยชน์ที่ดินทั้งในส่วนที่เป็นที่ราชพัสดุ และที่ดินรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างที่ ทอท.ซื้อมาจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเสียงในพื้นที่ NEF มากกว่า 40

ซึ่งที่ผ่านมา ทอท.ได้มีการศึกษาวิเคราะห์ กำหนดระเบียบ ข้อบังคับ วิธีการ รวมทั้งประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำแผนงานโครงการในการนำพื้นที่ที่ว่างเปล่ามาใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ และขณะนี้แผนการดำเนินงานต่างๆ ได้มีความชัดเจน ได้แก่ การแก้ไขข้อตกลงการใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานภูมิภาค มีการกำหนดกิจกรรมที่เกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องกับกิจการท่าอากาศยานเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการที่ ทอท.จะดำเนินกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ได้แก่ โรงแรม การขนส่งและลอจิสติกส์ สำนักงานและศูนย์ธุรกิจ ร้านค้าและศูนย์การค้า การท่องเที่ยวและนันทนาการ การประชุมสัมมนา และนิทรรศการ ที่พักอาศัย การกีฬา การรักษาพยาบาล นอกจากนั้น ขณะนี้มีความชัดเจนเกี่ยวกับค่าตอบแทนในการใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแล้ว

ทั้งนี้ ทอท.จะดำเนินกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ได้แก่ โรงแรม การขนส่งและลอจิสติกส์ สำนักงานและศูนย์ธุรกิจ ร้านค้าและศูนย์การค้า การท่องเที่ยวและนันทนาการ การประชุมสัมมนา และนิทรรศการ ที่พักอาศัย การกีฬา การรักษาพยาบาล และในปี 2561 ทอท.จะเดินหน้าดำเนินการในการพัฒนารายได้เชิงพาณิชย์ให้เป็นไปตามเป้าหมาย

สำหรับที่ราชพัสดุที่มีศักยภาพในการพัฒนาในสนามบิน 4 แห่ง ประกอบด้วย สุวรรณภูมิ ที่ดินแปลง Airport Business Area เนื้อที่รวม 682 ไร่, เชียงใหม่ จำนวน 2 แปลง เนื้อที่รวม 1.6 ไร่, หาดใหญ่ จำนวน 4 แปลง เนื้อที่รวม 613 ไร่ และแม่ฟ้าหลวง เชียงราย จำนวน 5 แปลง และที่ดินแปลงย่อย รวม 7 จุด เนื้อที่รวม 742 ไร่ และในส่วนที่ดินของ ทอท.ที่ซื้อมาจากราษฎรที่ได้รับผลกระทบทางเสียง จากการดำเนินงาน ณ สนามบินสุวรรณภูมิ มีจำนวน 4 แห่ง แบ่งเป็นที่ดินในเขตลาดกระบัง 3 แห่ง และที่ดินติดถนนทางเข้าสุวรรณภูมิด้านถนนบางนา-ตราด อีก 1 แห่ง รวมเป็นที่ดินประมาณ 105 ไร่

โดยวันนี้ (25 ก.ย.) ทอท.ได้จัดกิจกรรมการประชาสัมพันธ์การใช้ประโยชน์ที่ดินของ ทอท.ที่มีโอกาสพัฒนาเชิงพาณิชย์ โดยได้เชิญผู้ประกอบการในด้านต่างๆ เข้าร่วมงาน โดยที่ผ่านมาได้มีการศึกษาวิเคราะห์ กำหนดระเบียบ ข้อบังคับ วิธีการ รวมทั้งประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำแผนงานโครงการในการนำพื้นที่ที่ว่างเปล่ามาใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ได้เชิญผู้ประกอบการเข้าร่วมงาน เพื่อรับฟังข้อมูล ตำแหน่ง ที่ตั้งของที่ดิน รวมถึงระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดินของ ทอท. รวมทั้งจัดบูทแสดงที่ดิน พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เพื่อตอบข้อซักถาม ทั้งนี้ หากมีผู้ประกอบการสนใจที่จะลงทุนธุรกิจร่วมกับ ทอท.สามารถนำเสนอรูปแบบธุรกิจให้กับ ทอท.ได้ในภายหลัง

ทอท.เชื่อว่าการจัดกิจกรรมครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ทั้งกับ ทอท.ทางด้านโอกาสในการพัฒนารายได้ สำหรับผู้ประกอบการก็เป็นโอกาสในการขยายธุรกิจ และยิ่งไปกว่านั้นเป็นการส่งเสริมรายได้ให้แก่ชุมชนและสังคมโดยรอบท่าอากาศยาน เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ชุมชนและสังคม อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจท้องถิ่นที่จะส่งผลให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับประเทศต่อไป

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น