โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ถอดบทเรียน “บอย โกสิยพงษ์” เมื่อ Digital Disrupt วงการเพลง ต้องปรับโมเดลธุรกิจ เพื่ออยู่รอด

Brandbuffet

อัพเดต 22 ก.พ. 2561 เวลา 01.49 น. • เผยแพร่ 22 ก.พ. 2561 เวลา 01.07 น. • WP

“อดทนเวลาที่ฝนพรำ อย่างน้อยก็ทำให้เราได้เห็นถึงความแตกต่าง เมื่อวันเวลาที่ฝนจางหาย ฟ้าก็คงสว่างและทำให้เราได้เข้าใจ ว่ามันคุ้มค่าแค่ไหนที่เฝ้ารอ…”

“เมื่อวันที่ชีวิต เดินเข้ามาถึงจุดเปลี่ยน จนบางครั้งคนเราไม่ทันได้ตระเตรียมหัวใจ ความสุขความทุกข์ ไม่มีใครรู้ว่าจะมาเมื่อไหร่ จะยอมรับความจริงที่เจอได้แค่ไหน เพราะชีวิตคือชีวิต เมื่อมีเข้ามาก็มีเลิกไป มีสุขสมมีผิดหวัง หัวเราะหรือหวั่นไหว เกิดขึ้นได้ทุกวัน อยู่ที่เรียนรู้ อยู่ที่ยอมรับมัน ตามความคิดสติเราให้ทัน อยู่กับสิ่งที่มี ไม่ใช่สิ่งที่ฝัน และทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด…”

ทั้งบทเพลง “ฤดูที่แตกต่าง” ร้องโดย “นภ พรชำนิ” และเพลง “Live & Learn” ขับร้องโดย “กมลา สุโกศล” ไม่เพียงแต่ทำให้คนฟังรู้สึกมีกำลังใจที่จะสู้ต่อยามท้อแท้ หรือยามสิ้นหวังเท่านั้น แต่สองบทเพลงนี้ ยังสื่อถึงความเป็น “นักสู้” ในตัวของเจ้าพ่อเพลงรักของไทย “บอย โกสิยพงษ์” หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง “Bakery Music” ค่ายเพลงในตำนานที่สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับอุตสาหกรรมเพลงในเมืองไทยยุค ‘90s ก่อนปิดตัวไป แล้วมาเปิดค่ายเพลง “LOVEis”

เพราะท่ามกลาง Digital Disruption “อุตสาหกรรมเพลง” เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย นับตั้งแต่ยุคเทปคาสเซ็ท มาถึงยุคแผ่นซีดี กระทั่งเข้าสู่ยุค MP3 และปัจจุบันเป็นยุคดิจิทัล

แต่สิ่งที่ทำให้ชื่อ “บอย โกสิยพงษ์” ไม่เคยจางหายไปจากวงการเพลงไทย อีกทั้งนำพาค่าย “LOVEis” ฝ่าคลื่นสึนามิดิจิทัลมาได้สำเร็จถึงทุกวันนี้ ที่ยังสร้างสรรค์ผลงานเพลง และปั้นศิลปินคุณภาพให้กับวงการเพลงในบ้านเรา มาจากการคาดการณ์สถานการณ์ธุรกิจเพลง และปรับตัว เพื่อก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคสมัย

“พ่อผมสอนว่า เวลาที่ต้นไม้ถูกตันจนโกร๋น อีกสักพักหนึ่งจะมีใบใหม่ และดอกใหม่เบ่งบานขึ้นมา ดังนั้น ชีวิตคน หรือชีวิตของธุรกิจก็เช่นกัน ถ้าโดนตันจนเหียน ต้องหาทางเอาตัวรอดมาให้ได้ ถ้าต้นไม้ไหนขึ้นจากปูนได้ ก็อยู่นาน เราก็เลยคิดว่าเราต้องทำแบบนั้น…”

Photo Credit : Facebook Boyd Kosiyabong

“ซวยแน่” ถ้าปรับตัวไม่ทัน !

ถ้าจะกล่าวว่าอุตสาหกรรมเพลง เป็นธุรกิจที่ถูกเทคโนโลยีเข้ามา Disrupt มาตลอดทุกยุคสมัย นับตั้งแต่อดีต ยุค “แผ่นเสียง” ต่อมาถูกลดบทบาทลง เมื่อเทคโนโลยี “เทปคาสเซ็ท” เข้ามาแทนที่ จากนั้นเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุค “แผ่นซีดี”

หากทว่าการเปลี่ยนจากยุคเทปคาสเซ็ท มาถึงยุคแผ่นซีดี “อุตสาหกรรมเพลง” ยังไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงมากนักเพราะรายได้หลักยังคงมาจากการขายเทป และแผ่นซีดี

แต่แล้วการเข้ามาของเทคโนโลยี MP3 ที่ให้ผู้ฟังดาวน์โหลดเพลง ส่งผลให้โมเดลรายได้หลักของอุตสาหกรรมเพลงที่มาจาก Physical Product เริ่มน้อยลง และเปลี่ยนไปเป็นรายได้จากยอดดาวน์โหลด ทั้งในรูปแบบอัลบั้ม และเวลานั้นค่ายเพลงต่างๆ สร้างโมเดลหารายได้จากการต่อยอดโปรดักต์งานเพลงรูปแบบอื่นๆ มากขึ้น เช่น เป็นพันธมิตรกับอุตสาหกรรมอื่น อาทิ โอปอเรเตอร์ ทำบริการเสริม Calling Melody หรือเสียงเพลงระหว่างรอสาย

Photo Credit : Facebook Boyd Kosiyabong

*“ตอนนั้นมี Napster (โปรแกรมดาวน์โหลดเพลง-หนัง) ผมคุยกับน้องชายว่า เราซวยแน่! ถึงแม้ขณะนั้นรายได้จากการขาย Physical Album ยังไม่หายไป แต่เราต้องตั้งตัวให้ทัน จึงได้ปรับโมเดลธุรกิจ จากเคยเน้น B2C หรือเจาะตรงถึงผู้บริโภค ก็ปรับไปเน้นตลาด B2B ก่อน เพื่อให้เราตั้งตัวได้ก่อน เพราะขณะนั้นเรายังไม่เข้าใจว่ากระแส MP3 จะเกิดอะไรขึ้น แต่เราเห็นแล้วว่าต้อง “ซวยแน่ๆ” เหมือนเห็นฟ้าครึม แน่นอนเมฆฝนกำลังจะมา *

*เราก็เลยตัดสินใจเปลี่ยนแผนจาก B2C เป็น B2B ทันที โดยไปคุยกับโอปอเรเตอร์เจ้าหนึ่ง ขณะเดียวกันเราขยายฐาน Fanbase ของเรา ด้วยการสร้างศิลปินกลุ่มใหม่ขึ้นมา พร้อมทั้งทำแผ่นซีดีแจกเป็นล้านแผ่น ทำให้เราสามารถเข้าถึงแฟนเพลงได้เป็นล้านๆ คน *

เมื่อเราได้ตลาด B2B ช่วยทำให้เราตั้งสติกันได้ว่าเราจะเอาอย่างไรดีหลังจากนี้ และเราเริ่มมองเห็นภาพแล้วว่า Paradigm ของอุตสาหกรรมเพลงเปลี่ยนจากหน้ามือ เป็นหลังมือ ดังนั้นเราต้องไม่คิดแบบเดิม” เจ้าพ่อเพลงรัก เล่าถึงการปรับตัวในงาน “Digital Intelligent Nation 2018” จัดขึ้นโดย AIS และได้รับเชิญขึ้นพูดในหัวข้อ “RHYTHM & BOYd”

*ใช้ “Social Media” เข้าถึงแฟนคลับ – ดิจิทัลเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจเพลง *

ทว่าความเปลี่ยนแปลงใด ก็ยังไม่ใหญ่เท่ากับโลกหมุนเข้าสู่ “ยุคดิจิทัล” ซึ่งอุตสาหกรรมเพลงทั่วโลก รวมทั้งไทย กำลังถูกท้าทายด้วย Digital Disruption มหาศาล โดยรายได้จากผลงานเพลง ธุรกิจนี้ ไม่ได้มาจากการขายผลงานเพลงอีกต่อไปแล้ว !!

“ก้าวแรกในชีวิตผม ที่เข้าสู่โลกดิจิทัลเกิดขึ้นในช่วง Twitter มาใหม่ๆ ตอนนั้นน้องชายบอกให้ผมต้องเริ่มเล่น Social Media โดยมีน้องชายสมัคร Account ให้ และคอยดูว่าผมใช้เป็นอย่างไร ซึ่งทุกวันนี้ในเพจ Boyd Kosiyabong ผมโพสต์เอง-ตอบคำถามแฟนเพลงเอง โดยมี Admin คอยลบในสิ่งที่ผมไม่ควรจะพูด” คุณบอย เล่าพร้อมหัวเราะ

พร้อมทั้งขยายความเพิ่มเติมว่า *“การมี Social Media มีข้อดีในตัวมันเอง ทำให้เราเข้าถึงแฟนเพลงได้ อย่างคอนเสิร์ต Rhythm and Boyd บัตรจำนวนกว่า 10,000 ใบ ขายหมดภายใน 15 นาทีแรกที่เปิดขาย เราใช้แพลตฟอร์ม Facebook อย่างเดียวในการสื่อสาร โดยที่เราไม่ต้องเสียเงินโปรโมทสักบาท *

*ดิจิทัล ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับอุตสาหกรรมดนตรีไปมาก จากแต่ก่อนหนึ่งอัลบั้ม (Physical Album) เราขายอย่างต่ำเป็นหลักแสนแผ่น ดังนั้น รายได้ที่เราได้ เยอะมาก แต่ขณะเดียวกันเราใช้งบโปรโมทเยอะมากเช่นกัน เพราะต้องโปรโมทมาก เพื่อสื่อสารไปยังกลุ่มผู้ฟังเพลง *

ขณะที่ในยุคดิจิทัล เมื่อเราใช้งบโปรโมทงานเพลงน้อยลง ทำให้รายได้กลับมาหาเราน้อยลงตามเช่นกัน เนื่องจากการซื้อมา-ขายไปของเพลง เหลือน้อยมาก ขณะที่่รายได้ที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมดนตรีทุกวันนี้ ทดแทนด้วยอย่างอื่น เช่น ทำโชว์ หรือคอนเสิร์ต แตกต่างจากสมัยก่อนที่การทำคอนเสิร์ต เราไม่คิดจะทำกำไรจากการทำคอนเสิร์ต คิดแค่ทำให้คนดูมีความสุข แต่ตอนนี้เรา Spin off 360 องศา ไม่ได้ทำกำไรจากงานเพลง เพราะเพลงถูกเปลี่ยนเป็น “มีเดีย” แต่ได้กำไรจากคอนเสิร์ต และ Showbiz”

Photo Credit : Facebook Boyd Kosiyabong

พัฒนาแอปฯ “FanSter” แพลตฟอร์มเชื่อมต่อ “ศิลปิน – แฟนคลับ”

มองในอีกมุมหนึ่งของยุคดิจิทัล ทำให้โลกใบนี้ ไม่มีกำแพงขวางกั้น เปิดโอกาสให้กับทุกคนสามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ไร้พรมแดน และสร้างโอกาสให้กับธุรกิจได้มหาศาล ดังเช่นที่ค่าย “LOVEis” และ“MFEC” ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ร่วมกันพัฒนาแอปพลิเคชัน “FanSter” ที่จะสร้าง win-win-win ให้กับทั้ง 3 ฝ่าย

“เจ้าของแพลตฟอร์ม” มีรายได้จากโฆษณา และกิจกรรมต่างๆ

“ศิลปิน” ที่ใช้แอปพลิเคชันนี้ เป็นสื่อกลางในการเข้าถึงฐานแฟนคลับ และฐาน Database แฟนคลับ ทำให้ศิลปินได้เข้าใจความต้องการของแฟนคลับแต่ละคน เพื่อ Service แฟนคลับได้แบบเฉพาะบุคคล (Personalization)

“ผู้ใช้งาน” ได้ติดตามข่าวสารของศิลปิน ทั้งยังสามารถสร้างคอนเทนต์เกี่ยวกับศิลปินคน/วงที่ตนเองชื่นชอบ (User Generated Content) และยิ่งผู้ใช้งานมี Engagement กับคอนเทนต์ของศิลปิน เช่น แชร์เพลง จะได้เหรียญมาสะสม สำหรับแลกสิทธิประพิเศษต่างๆ

Photo Credit : Facebook FanSter

“ผมเห็นคนใช้อินเทอร์เน็ต และใช้มือถือเยอะมาก วันหนึ่ง 7 – 8 ชั่วโมง อยู่ในรถไฟฟ้า แม้แต่ขับรถ เมื่อรถจอดก็ต้องหยิบขึ้นมาใช้ ผมมองว่าถ้าเราสามารถเปลี่ยนแปลงเวลาที่คนอยู่กับหน้าจอมือถือ ให้มีมูลค่าขึ้นมา และมาจ่ายให้กับอุตสาหกรรมดนตรี หรืออุตสาหกรรมอื่นๆ น่าจะมีโอกาสที่ทำให้เราอยู่ต่อได้

*นี่จึงเป็นที่มาของการพัฒนาแอปพลิเคชัน “FanSter” จากเดิมคนฟังเพลง หรือแฟนคลับติดตาม Social Media ของศิลปินที่ตนเองชื่นชอบอยู่แล้ว ซึ่งศิลปินแต่ละคน/วง ก็จะใช้ Social Media หลายแพลตฟอร์ม ทั้ง Facebook, Instagram, Twitter โดยแอปพลิเคชันนี้จะจับ Feed คอนเทนต์ที่ศิลปินโพสต์แต่ละแพลตฟอร์ม Social Media มาแสดงไว้ที่แอปพลิเคชันนี้ *

จากนั้นเมื่อผู้ใช้งาน Engage กับคอนเทนต์ของศิลปินคนที่เรากดติดตาม เช่น แชร์คอนเทนต์ หรือเล่นเกมกับศิลปิน ผู้ใช้งานก็จะได้เหรียญสะสม ยิ่งผู้ใช้งานมี Engage มาก ก็จะได้รับเหรียญมาก และเพิ่ม Level ขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อเอาไว้สำหรับแลกสิทธิประโยชน์ต่างๆ หรือลุ้นของรางวัล

ขณะเดียวกันแอปพลิเคชันนี้ สามารถทำ Fan club Management ถ้าศิลปินอยาก Service แฟนคลับ ก็สามารถเข้าไปดูแฟนคลับได้ว่าแต่ละคนอยู่ Level ไหน และดูได้ว่าช่วงนี้แฟนคลับคนนั้นๆ กำลังรู้สึกอย่างไร เช่น อกหัก อินเลิฟ เพื่อที่ศิลปินจะได้รู้ว่าจะไป Service แฟนคลับแต่ละคนอย่างไร”

Photo Credit : Facebook FanSter

ปัจจุบันผู้ใช้งาน FanSter มีทั้งคนไทย และแฟนคลับจากประเทศจีน จึงมองว่าแอปพลเคชันนี้ จะเป็นแพลตฟอร์มที่ทำให้ศิลปินไทย สามารถขยายฐาน และเข้าถึงแฟนคลับในต่างประเทศได้ หลังจากพัฒนาเวอร์ชั่น 1.0 แล้ว จากนี้จะพัฒนาเวอร์ชั่น 2.0 ที่เปิดให้ผู้ใช้งานสร้างคอนเทนต์ได้เองมากขึ้น และในอนาคต นอกจากศิลปินเพลงแล้ว จะขยายไปยังวงการอื่นๆ เช่น นักแสดง นักกีฬา นักเขียน หรือแม้แต่ชมรมของสะสมต่างๆ ที่มีฐานแฟนคลับอยู่แล้ว

*“แอปพลิเคชั่นนี้ เพื่อแก้ Pain Point ของบาง Social Media ที่ปรับ Algorithm ตลอดเวลา แล้วเราเดินตามไม่มัน ดังนั้นถ้าเราสร้างแพลตฟอร์มของคนไทย ผมเชื่อว่าอย่างน้อยเราดูแลกันเองได้ และสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ขณะนี้ คือ การตอบโจทย์ทั้ง Ecosystem ทั้งเจ้าของแพลตฟอร์ม, ผู้ใช้งาน ที่ได้ทั้งความสุข และสะสมเหรียญ, ลูกค้าที่เป็นสปอนเซอร์ สามารถวัดผลได้” *

เช่น ศิลปินวงบอยแบนด์ของไทย “SBFIVE” ที่ได้รับความนิยมในแอปพลิเคชัน “FanSter” และมีฐานแฟนคลับในจีน ไต้หวัน มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเกาหลี ล่าสุดได้จัดงาน Meet and Greet ที่คนดูซื้อบัตรราคา 5,000 หยวน หรือประมาณ 25,000 บาท เพื่อมาเจอศิลปินที่เขารัก และร้องเพลงให้ศิลปินฟัง ซึ่งแตกต่างจากคอนเสิร์ตทั่วไปที่นักร้องมาร้องเพลงให้คนดู

Photo Credit : Facebook Boyd Kosiyabong

*ทำให้เราเข้าใจว่า โลกของ Entertainment ถูก Digital Disrupt ก็จริง แต่เป็นการถูก Disrupt เพื่อให้เราได้เรียนรู้ที่จะเปลี่ยนตัวเอง ถ้าเรายังยืนหยัดทำแบบเดิม เราก็คงไม่สามารถเดินต่อได้ ปัจจุบันในโลกของ Entertainment เปลี่ยนไปแล้ว กลายเป็นโลกของ Entertainment ที่ต้องมี Branding เข้ามาด้วย *

ดังนั้น สิ่งที่เรากำลังทำขณะนี้ คือ เราต้องพัฒนา Branding ของแต่ละศิลปินของเรา เพื่อจะสามารถออกไปสู่ต่างประเทศได้ โดยเริ่มบนแพลตฟอร์มของเราก่อน ถ้าเราเปิดแอปพลิเคชันนี้ที่ประเทศจีนได้เมื่อไร ผมเชื่อว่าเราจะได้ฐานแฟนคลับมหาศาล”

เพราะฉะนั้นในช่วงเวลายากลำบากของวงการเพลง เราต้องอดทนเวลาที่ฝนพรำ เพราะอย่างไรวันหนึ่งฝนก็ต้องหยุด ไม่มีทางที่ฝนจะตกไปเรื่อยๆ เมื่อเรารู้ความจริงเช่นนี้แล้ว อย่าไปยอมแพ้” คุณบอย สรุปทิ้งท้าย

Photo Credit : Facebook FanSter

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0