โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ตลาดกาแฟระส่ำ "พื้นที่ปลูก-ผลผลิต" ลดวูบ ! แห่พึ่งบราซิล-เวียดนาม

ประชาชาติธุรกิจ

เผยแพร่ 20 มี.ค. 2561 เวลา 13.29 น.
phu03190361p1

พื้นที่ปลูก-ผลผลิตกาแฟไทยลดฮวบจาก 7-8 หมื่นไร่ เหลือ 1.1 หมื่นไร่ หลังเกษตรกรหันปลูกยาง-ปาล์ม-ทุเรียน เนื่องจากราคาดีกว่า ต้องนำเข้าจากเวียดนาม-บราซิลป้อนอุตสาหกรรมกาแฟไทย นายกสมาคมชาวสวนกาแฟไทยแนะรัฐสนับสนุนพันธุ์-ส่งเสริมมาตรฐาน GMP-หาตลาด

นายประยูร สงค์ประเสริฐ นายกสมาคมชาวสวนกาแฟไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันพื้นที่ปลูกและปริมาณผลผลิตกาแฟไทยลดลงอย่างมาก ทั้งพันธุ์อราบิก้าและโรบัสต้า โดยปี 2560/2561 มีปริมาณเหลือเพียง 11,000 ตันเท่านั้น จากเมื่อปี 2532 มีปริมาณรวมทั้งหมด 70,000-80,000 ตัน ขณะที่ความต้องการบริโภคภายในประเทศมีมากถึง 70,000 ตันต่อปี ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องนำเข้าผลผลิตจากต่างประเทศจำนวนมาก

โดยแหล่งปลูกกาแฟพันธุ์อราบิก้าส่วนใหญ่อยู่ภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ขณะนี้ผลผลิตสูงขึ้น จากที่ได้ผลผลิตไม่เกิน 300-3,000 ตัน/ปี ขณะนี้ได้ประมาณ 5,000 ตัน/ไร่ ราคาซื้อขายอยู่ที่ 150 บาท/กิโลกรัม (กก.) แต่ตลาดค่อนข้างแคบ รวมถึงต้องแข่งขันกับบราซิล ซึ่งราคากาแฟพันธุ์อราบิก้าของไทยสูงกว่าบราซิล จึงทำให้การส่งออกค่อนข้างยาก ปัจจุบันผลิตเพียงเพื่อบริโภคภายในประเทศเท่านั้น ซึ่งยังคงเกิน เนื่องจากส่วนใหญ่นำไปทำเป็นกาแฟสดเท่านั้น แต่กาแฟที่ตลาดใหญ่สุด คือ กาแฟอินสแตนท์ และกาแฟมิกซ์

ขณะที่กาแฟพันธุ์โรบัสต้า เป็นสินค้าที่ต้องการในอุตสาหกรรมมากที่สุด โดยมีความต้องการภายในประเทศปีละกว่า 70,000 ตัน ราคาซื้อขายอยู่ที่ 70-90 บาท/กก. ในทางกลับกันผลผลิตลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเมื่อเข้า AEC ก็ทำให้มีการนำเข้ากาแฟผง กาแฟสำเร็จรูปได้ ขณะเดียวกันเมื่อราคาสูง ทำให้พ่อค้าไม่ซื้อผลผลิตของไทย และไปนำเข้าจากเวียดนาม โดยทางสมาคมก็มีการตั้งคณะกรรมการที่จะดูแลเรื่องโควตาขึ้นมาเพื่อช่วยพยุงชาวสวน

โดยปัจจัยหลักมาจากเกษตรกรเปลี่ยนแปลงการปลูกพืชตามราคาพืชที่สูงขึ้น ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน เป็นต้น ประกอบกับสภาพอากาศแปรปรวน รวมถึงนโยบายของภาครัฐไม่แน่นอน เช่น การส่งเสริมไม่ชัดเจน ทำให้พืชที่ปลูกลดลง อีกทั้งผลผลิตกาแฟที่ได้ต่อไร่ไม่สูง ขณะนี้ผลิตได้เพียง 120 กก./ไร่ และปัญหาต้นทุนที่สูง โดยเฉพาะแรงงาน เนื่องจากการปลูกกาแฟต้องใช้แรงงานจำนวนมาก เมื่อรัฐบาลขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ คนไทยก็ไม่อยากทำงาน เช่นเดียวกับแรงงานต่างชาติก็ไม่ค่อยทำงานในภาคเกษตร ปัจจุบันค่าแรงอยู่ที่ 400-500 บาท/วัน หรือค่าแรงเก็บกาแฟในอดีตเฉลี่ยอยู่ที่ 16 บาท/ถัง หรือกิโลกรัมละ 1 บาท ปัจจุบันค่าแรงเก็บกาแฟสูงถึง 10-20 บาท/กก. จึงทำให้ไทยไม่สามารถสู้อาเซียนได้

“มองวิธีการลดต้นทุน ไม่เพียงแต่เกษตรกรเท่านั้น แต่ภาครัฐต้องมีส่วนช่วย ได้แก่ การหาต้นพันธุ์ที่ดีให้เหมาะสมกับพื้นที่ปลูก การปล่อยเงินกู้ให้เกษตรกร การมุ่งเน้นมาตรฐาน GMP ให้ชัดเจนขึ้น ซึ่งจะช่วยทำให้ผลผลิตมากขึ้น โดยมองว่าผลผลิตต่อไร่ควรจะได้ 300 กก.ขึ้นไป/ไร่ ราคาสูงขึ้น ขณะเดียวกันต้องช่วยหาตลาด”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0