โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

คุยกับหมอหนุ่มผู้ทำหน้าที่มากกว่ารักษาสัตว์ป่า กับบทบาทที่แสนท้าทายและไลฟ์สไตล์สุดโดดเด่น

OK Magazine Thailand

เผยแพร่ 21 ก.พ. 2561 เวลา 03.23 น.
INTO THE WILD หมอล็อต นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน คุยกับหมอหนุ่มผู้ทำหน้าที่มากกว่ารักษาสัตว์ป่า กับบทบาทที่แสนท้าทายและไลฟ์สไตล์สุดโดดเด่น
INTO THE WILD หมอล็อต นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน คุยกับหมอหนุ่มผู้ทำหน้าที่มากกว่ารักษาสัตว์ป่า กับบทบาทที่แสนท้าทายและไลฟ์สไตล์สุดโดดเด่น

เพราะนายสัตวแพทย์สัตว์ป่าที่เข้าไปทำงานรักษาสัตว์ในป่ารุ่นบุกเบิกมีเพียงคนเดียวในประเทศไทย จึงไม่แปลกใจอะไรที่เราจะได้เห็น หมอล็อต นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ออกมาให้ข้อมูลทางวิชาการผ่านรายการต่างๆ อยู่บ่อยๆ เมื่อมีประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมหรือเรื่องราวของสัตว์ป่าเกิดขึ้น และหลายครั้งที่เราได้เห็นภาพของผู้ชายคนนี้กับบทบาทในการอารักขาช้างตกมันที่ออกมาเดินบนถนนเส้นเขาใหญ่ พร้อมกับช่วยอำนวยความสะดวกในเรื่องการจราจรให้เป็นไปได้อย่างไม่ติดขัด
หมอล็อตเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางจากรายการคนค้นฅน เพราะภาพการทำงานอย่างถึงลูกถึงคนและเสี่ยงภัยในป่าที่รายการได้ถ่ายทอดทำให้คนดูอดชื่นชมในความเสียสละของผู้ชายคนนี้ไม่ได้ จากนั้นสื่อต่างๆ ก็ทยอยถ่ายทอดเรื่องราวการทำงานของเขาให้สาธาณะชนได้รับรู้ ยิ่งเมื่อวันที่โซเชี่ยลมีเดียเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น การแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับงานที่หมอล็อตทำก็ยิ่งได้รับความสนใจ เรียกได้ว่าวันนี้หมอล็อตคือหนึ่งในผู้สร้างแรงบันดาลใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่าและสิ่งแวลดล้อมอีกคนหนึ่งเลยก็ว่าได้
ด้วยบุคลิกภาพที่โดดเด่น การแต่งตัวที่ไม่ค่อยเห็นบ่อยนักในคนสายงานเดียวกัน บวกกับผลงานที่ผ่านมา ทำให้ OK! อยากจะรู้จักผู้ชายคนนี้มากขึ้น และตอนนี้เมื่อประเด็นของการอนุรักษ์สัตว์กำลังได้รับความสนใจอยู่ทุกหย่อมหญ้า ผู้ชายคนนี้จึงเป็นคนแรกที่เรานึกถึง

คุณหมอทำงานด้านสัตวแพทย์สัตว์ป่ามา 10 กว่าปีแล้ว คิดว่าเป็นเพราะอะไรถึงทำให้ทำงานนี้มาได้อย่างยาวนาน

การทำงานในป่าหรือการทำงานที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ป่าจะมีความท้าทายใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ เรื่องราวมันจะไม่ซ้ำกัน ต่อให้สัตว์บาดเจ็บอาการเดียวกัน แต่ความแตกต่างของมันคือสภาพแวดล้อม และข้อจำกัดในเรื่องต่างๆ ที่ไม่เคยซ้ำกัน นี่คือสิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกตื่นเต้น รู้สึกท้าทายตลอดเวลา ซึ่งตอนที่เริ่มทำงานผมก็ตั้งใจไว้ว่าเราจะทำงานเป็นหมอสัตว์ป่าสักระยะหนึ่ง เพราะว่าตอนที่เริ่มทำงานใหม่ๆ ฐานะทางสังคมและทางเศรษฐกิจของตัวเองอาจจะไม่ค่อยดีนักเมื่อเทียบกับสัตวแพทย์ทั่วไป เราก็เลยตั้งใจว่าจะทำงานด้านนี้แค่ 10 ปี จากนั้นก็ถึงเวลาที่เราจะทำอะไรให้กับตัวเองและครอบครัวบ้าง แต่พอทำงานตรงนี้ไปเรื่อยๆ ทำให้เรามองเห็นอะไรหลายๆ อย่าง ซึ่งเป็นผลพลอยได้ตั้งแต่ผมทำงานอยู่ในรัฐสภา (ตำแหน่งนักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการ ผู้ชำนาญการประจำคณะกรรมาธิการ ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการ เลขานุการประจำคณะกรรมาธิการ) คือเมื่อก่อน จริงอยู่ว่าการทำงานด้านนี้จะได้เห็นว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำลังบอกอะไรกับเรา แต่มันก็เป็นแค่การมองแบบปัจจุบัน มันเหมือนมองจากด้านล่างขึ้นไปข้างบน เราก็จะเห็นแค่ 1,2 แต่เมื่อเราทำงานในสภาทำให้เราได้มองจากบนลงล่าง ได้เห็นภาพที่กว้างและไกลกว่าเดิม ได้คิดถึงอนาคตว่าสิ่งแวดล้อม สังคมไทย มันกำลังขับเคลื่อนไปในทิศทางใด คนและสิ่งแวดล้อมอยู่รวมกันอย่างสมดุลได้อย่างไร เพราะฉะนั้นพอครบ 10 ปี แทนที่ผมจะเลิก กลายเป็นว่าพอย่างเข้าสู่ปีที่ 11 มุมมองของเรามันเปลี่ยนไปแล้ว ตอนนี้ประเทศไทยมันแคบลง แม้แต่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังเล็กไปสำหรับเรา โลกใบนี้มันยังมีจุดอื่นที่เราต้องไปยืน และมองว่าทุกอย่างบนโลกมีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน ถ้าสิ่งใดสิ่งหนึ่งบาดเจ็บ ล้มตาย เกิดการสูญหาย มันก็ย่อมส่งผลกระทบกับสิ่งมีชีวิตอื่นที่อยู่บนโลกใบนี้ ซึ่งนั่นก็หมายถึงมนุษย์ ตอนนี้ผมเลยใช้บทบาทสัตวแพทย์สัตว์ป่าเป็นสะพานเชื่อมไปสู่การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งทางสัตวแพทย์สมาคมให้ผมเป็นโรลโมเดล ในฐานะที่เราทำงานกับธรรมชาติ ทำงานกับสิ่งแวดล้อม จากเดิมเราเป็นหมอสัตว์ป่า พอปีที่ 11 เราก็อัพเดทตัวเองให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทั้งโลกที่มันเปลี่ยนแปลงไป สถานะของผมเลยกลายเป็น Vet for Planet ก็คือสัตวแพทย์เพื่อโลกทั้งใบ มันอาจจะดูงดงามมาก แต่นี่คือบทบาทของเราที่นำไปสู่การอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ทั้งโลก

ตอนที่มีประเด็นข่าวเกี่ยวกับการล่าสัตว์ในเขตคุ้มครองสัตว์ป่าเกิดขึ้น คุณหมอมีความคิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไรบ้างคะ

เหตุการณ์นี้ทำให้ผมรู้สึกสลดใจมาก ซึ่งหลังจากทราบเรื่องผมมีคำถามกับตัวเองว่าทำไมมันถึงเกิดขึ้นและเพราะอะไร ก็พยายามคิดแทนว่าถ้าเราจะทำแบบนี้จะมีเหตุผลอะไรที่จะจูงใจให้เรากระทำบ้าง ซึ่งผมก็คิดว่าหนึ่งในเหตุผลก็คงเป็นเรื่องของสรรพคุณ คุณประโยชน์หรือความเชื่อเกี่ยวกับเนื้อสัตว์ป่าที่มีคุณสมบัติเป็นยาอายุวัฒนะ พอเรานึกถึงเหตุผลข้อนี้ได้ก็คิดว่าเราควรจะให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวเรื่องนี้แก่สังคมและชั่งใจว่าประชาชนรู้เรื่องนี้ดีหรือยัง แต่พอไปเช็คฟีดแบ็กจากข่าวต่างๆ หรือทางเฟสบุค เราได้เห็นเลยว่าคนที่มาคอมเมนท์ได้เขียน อธิบายข้อเท็จจริง ให้ข้อมูลทางวิชาการได้ถูกต้องและครบถ้วนหมดเลย ว่าเนื้อสัตว์ป่าไม่ได้มีสรรพคุณเป็นยาอายุวัฒนะ เมนูสัตว์ป่าที่มีนาน ประโยชน์มันมาจากเครื่องเทศ พืช สมุนไพรที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหาร เนื้อสัตว์ป่าพวกนี้เป็นพวกโปรตีนธรรมดาเท่านั้น จะใช้เนื้อหมู, เนื้อไก่มาทำก็ได้ประโยชน์เหมือนกัน หนำซ้ำการทำแบบนี้ยังมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโรคจากสัตว์ป่าเหล่านั้น ซึ่งพอเราได้รู้แล้วว่าคนทั่วไปก็ทราบดีถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสัตว์ป่า ผมเลยไปโฟกัสที่ผู้กระทำว่าคงเป็นรสนิยม ความชอบส่วนตัว

คุณหมอเองก็ต้องเข้าป่าเป็นประจำ อยากทราบว่าในแต่ละปีคุณหมอพบสัตว์ที่ถูกล่ามากน้อยแค่ไหน

คำว่าถูกล่า หมายถึงการกระทำใดๆ ต่อคุณภาพชีวิตของสัตว์ป่าโดยมุนษย์ ไม่ว่าจะเป็นการล่าทางตรง เช่น การใช้ปืนยิง หรือการใช้กับดักต่างๆ นั้นก็เป็นการล่าทางอ้อม ดังนั้นสัตว์ที่เราไปช่วยเหลือก็จะมีให้เห็นเป็นประจำ แต่สถิติก็จะลดน้อยลง การล่าที่น่ากลัวไม่ใช่การถือปืนเข้าไปล่านะครับ แต่เป็นการวางกับดัก พวกตอกตะปูหรือการขุดหลุมดัก การล่าเหล่านี้เป็นวิธีการที่เลวร้ายมากเพราะไม่ทำให้สัตว์ตายทันที พวกเขาจะทุกข์ทรมาน ถ้าไม่ตายก็จะใช้ชีวิตได้ลำบาก
อย่างล่าสุดผมได้ไปช่วยกวางตัวหนึ่งที่ถูกบ่วงรัดที่ขาทั้ง 4 ข้างจนกัดเข้าไปลึกถึงเนื้อทำให้ตัวเขาผอมเพราะหากินลำบาก จะเดินก้าวหนึ่งก็เหมือนเอามีดกรีดทีหนึ่ง แล้วเขาโดนทั้ง 4 ขาเลย นี้เป็นความทุกขเวทนาที่เกิดจากการล่าสัตว์ในรูปแบบนี้ ซึ่งเราก็มีหน้าที่ช่วยเขาให้พ้นจากทุกขเวทนา คือการดูแลรักษาเขาให้รอดพ้นจากพันธนาการต่างๆ จากการล่า

คุณหมอคิดว่ากฎหมายเมืองไทยเรื่องนี้มีช่องโหว่หรือไม่ แล้วเราสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร

กฎหมายเมืองไทยมีความเข้มแข็งของตัวมันเองอยู่แล้วครับ การห้ามการฆ่าหรือทำร้ายสัตว์ป่ามีกฎหมายชัดเจนอยู่แล้ว แต่ว่าบทลงโทษอาจไม่เหมาะกับสถาการณ์ที่เกิดขึ้น สัตว์ป่าหลายตัวมีมูลค่ามากกว่าบทลงโทษ จึงคุ้มที่จะเสี่ยงที่จะล่าเพื่อนำมาค้าขาย เดิมทีโทษของการล่าสัตว์ป่าคือจำคุกไม่เกิน 4 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับแต่ตอนนี้มีการปรับเปลี่ยนให้จำคุก 7 ปี ปรับ 1 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ แต่อย่างไรผมก็มองว่ามันไม่คุ้มกับชีวิตของสัตว์ป่าที่เสียไปอยู่ดี หรือตอนนี้จะมาบอกว่าล่าเพื่อประทังชีวิตมันเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผลแล้ว เพราะเวลานี้เรามีเนื้อปศุสัตว์ปลอดโรคต่างๆ มากมาย ดังนั้นผมจึงมองว่ามันไม่มีเหตุผลอะไรที่มีน้ำหนักมาเพียงพอที่ต้องออกไปล่าสัตว์ป่า

อยากให้คุณหมอช่วยประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจของสัตว์ป่าว่ามีมูลค่าเท่าไหร่ต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรมและเพื่อตระหนักถึงความสำคัญให้ชัดมากขึ้น

ในประเทศบราซิล มีการนำลิงโกลเด้นไลออนไปขายทั่วโลกครับ พอขายไปเรื่อยๆ ลิงพวกนี้ก็ลดน้อยลง บราซิลจึงมีโครงการจะนำลิงเหล่านี้ไปปล่อยคืนสู่ป่า ปรากฎว่าพอคืนลิงเหล่านี้สู่ป่าพวกเขากลับทำหน้าที่ได้ไม่ดีนัก จากนั้นจึงมีการวิจัยและพบว่ากว่าที่ลิงจะสามารถปรับตัวเข้าสู่เข้าสู่ระบบนิเวศดั้งเดิมได้ต้องใช้งบประมาณกว่า 700,000 บาทจากราคาเดิมที่ขายตามท้องตลาด 6,000 กว่าบาทซึ่งมันมากกว่า 116 เท่าของราคาเดิม อย่างเสือดำตัวหนึ่ง มูลค่าที่ผมประเมินตามเศรษฐกิจโลกอย่างต่ำอยู่ที่ประมาณ 800,000 บาท เมื่อคูณ 116 เท่า เสือดำตัวหนึ่งก็จะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 92,000,000 บาทครับ
ซึ่งการคิดมูลค่าของสัตว์ป่าเหล่านี้เราไม่ได้ต้องการให้ผู้ทำผิดมาชดเชยเป็นวงเงินเท่านี้ แต่เราต้องการให้สังคมตระหนักว่าสัตว์ป่าตัวหนึ่งถ้าคิดเป็นเงิน พวกเขาจะมีมูลค่ามากเท่าไร เพราะการที่เราสูญเสียสัตว์ป่า 1 ตัวไม่ใช่แค่การนำสัตว์ตัวใหม่ไปแทนแล้วจะจบ ในเรื่องของสัตว์ป่าเราไม่ได้ให้ความสำคัญแค่เรื่องจำนวนเพียงอย่างเดียวแต่เรายังใส่ใจในเรื่องพันธุกรรม การหายไปของสัตว์ป่า 1 ตัวมันคือการหายไปของสัตว์ป่า 1 พันธุกรรม แต่การที่เรานำเรื่องมูลค่าของสัตว์ป่าออกมาพูดเพราะเป็นสิ่งที่มีอิมแพคต่อผู้ได้ฟัง เช่น ผมเล่าให้ชาวบ้านฟังว่า ช้างตาย 1 ตัวเท่ากับเราเสียภาษีเป็นล้านๆ บาทเลย พวกเขาก็จะเห็นภาพได้ชัดมากขึ้น

การสูญเสียสัตว์ป่าส่งผลต่อระบบนิเวศแน่นอน แต่อยากให้คุณหมอเล่าให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้นว่า จะมีผละกระทบใดเกิดขึ้นอีกจากการสูญเสียชีวิตสัตว์ป่าบ้าง

สัตว์ป่าคือตัวรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ ป่าไม้ ต้นน้ำ ลำธารทุกอย่างเชื่อมโยงกันหมด เพราะฉะนั้นถ้ามีสิ่งมีชีวิตใดหายไปก็จะกระทบอีกหลายๆ ห่วงโซ่ อย่างผลกระทบที่เราเห็นได้ชัดที่สุดเลยคือ ภัยธรรมชาติที่พวกเรากำลังเผชิญอยู่ครับ ผลกระทบของการสูญเสียสัตว์ป่าไม่ใช่ว่ามันยังไม่มาถึง แต่ได้ส่งผลกระทบต่อมนุษย์มานานแล้ว เมื่อสัตว์ป่าถูกล่า ระบบนิเวศก็ถูกเปลี่ยนแปลงจึงทำให้เกิดภาวะโลกร้อน อากาศเปลี่ยแปลงและภัยธรรมชาติก็ตามมา แล้วการนำเนื้อสัตว์ป่ามากินก็เป็นการนำเชื้อโรคมาเผยแพร่สู่มนุษย์ การไปเปลี่ยนแปลงถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าก็ทำให้พวกเขาเข้ามาใกล้ชิดมนุษย์มากขึ้นและเป็นตัวการที่นำโรคมาติดต่อสู่คน ไม่ว่าจะเป็นโรคซาร์ , ไข้หวัดนก, ไข้สมองอักเสบ ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเกิดจากสัตว์ทั้งนั้นและนี่คือผลกระทบจากการล่าสัตว์ป่าที่กำลังคุกคามเราอยู่ครับ

แล้วคุณหมอคิดว่าควรจะมีการแก้ไขปัญหาระยะยาวอย่างไรบ้างคะ

ตอนนี้เรากำลังใช้กรณีที่เคยเกิดขึ้น มาสร้างความตระหนักให้กับสังคมและผมก็คิดว่าวิธีนี้จะทำให้สังคมรับรู้ได้ดี พอคนในสังคมได้รู้ พวกเขาก็จะตระหนักแล้วไปเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการล่าสัตว์ในที่สุด จริงๆการปรับแก้กฎหมายมันอาจะเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ ถ้าคนไม่ทำผิด กฎหมายฉบับนี้ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ ดังนั้นการสร้างจิตสำนึกให้คนตระหนักถึงความสำคัญของสัตว์ป่าผมว่าสำคัญกว่าการแก้ไขกฎหมายนะครับ

เอาเข้าจริงการทำงานของคุณเหมือนการพายเรือไม่เห็นฝั่งเหมือนกัน อีกทั้งปัญหาต่างๆ อย่างรุมเร้าเข้ามามากมาย แต่อะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้คุณทำงานตรงนี้มากว่า 10 ปี

ถ้าตอบแบบนักเลงหน่อยคือ เรารู้อยู่แล้วว่าสิ่งมีชีวิตทุกสิ่งต่างเชื่อมโยงกัน สิ่งใดสิ่งหนึ่งสูญหายไป ไม่นานก็มาถึงตัวเรา สิ่งที่ทำทุกวันนี้ผมพูดได้เลยว่าเป็นเพราะผมเห็นแก่ตัว เราไม่อยากให้ภัยอันตรายตรงนั้นมันเกิดขึ้นกับตัวเรา ก็เลยต้องไปพิทักษ์สิ่งอื่นให้มันอยู่รอด เพื่อไม่ให้ย้อนมาที่ตัวเราในอนาคต อีกเรื่องหนึ่งคือผมมองว่าไม่ว่ามนุษย์หรือสัตว์เราต่างมี 1 ชีวิตเท่ากัน ถ้า 1 ชีวิต ช่วยอีก 1 ชีวิตได้ ก็ถือว่าเท่าทุน แต่ถ้าอีก 1 ชีวิตช่วยได้อีกร้อย อีกพันชีวิต นั่นคือกำไรที่พึงกระทำ การทำงานของผมล้วนเกิดจากการแสวงหาผลกำไรของชีวิตเราเองเท่านั้นครับ
สิ่งที่ผมทำมันเป็นงานที่ต้องเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ ไม่มีหลักอ้างอิงทางวิชาการ ไม่มีแนวทางปฏิบัติเพื่อให้สอดคล้องกับงาน เรื่องไหนดีก็บันทึกแล้วถ่ายทอด เรื่องไหนไม่ดีก็จดจำและไม่ทำอีก ตอนนี้ตัวผมเองได้ไปเป็นอาจารย์ วิทยากร รวมทั้งเป็นครูฝึกให้กับเจ้าหน้าที่ มีการสอนลูกศิษย์ตามมหาวิทยาลัย ให้ทักษะปฏิบัติกับชาวบ้านเพื่อสร้างเครือข่าย สร้างองค์ความรู้ให้เกิดในวงกว้าง เพราะเรารู้ว่าเราทำคนเดียวไม่ได้ และทำได้ไม่ดีพอ จริงๆ แล้วเวลาเกิดปัญหา สัตว์ป่าเขาไม่ต้องการหมอที่เก่งที่สุดนะครับ แต่เขาต้องการหมอที่เร็วที่สุด ผมมีหน้าที่ในการสร้างหมอที่เร็วที่สุด ให้เขาสามารถแก้สถานการณ์เฉพาะหน้าได้ คนไข้ของเราอยู่ในป่า การที่เราจะไปแต่ละที่ ต้องใช้เวลา การสร้างศักยภาพและทักษะให้กับคนเหล่านี้ มันเป็นเรื่องที่จำเป็นมากครับ

เคยเจอคนที่มาฝึกงานกับคุณหมอแล้วดื้อบ้างหรือเปล่า

มีครับ ผมค่อนข้างชอบเลยนะ เด็กที่จะสอบแพทย์มักจะเป็นคนที่มั่นใจ มีความอยากรู้อยากเห็น รวมถึงมีความมุ่งมั่นในการเรียนรู้สูง เพราะว่าการเรียนในวิชาชีพสัตวแพทย์ก็ไม่ต่างจากวิชาชีพแพทย์ด้านอื่นๆ มันเกี่ยวข้องกับความอยู่รอด การรู้จริง ปฏิบัติจริง ดังนั้นเวลาที่ผมเจอเด็กดื้อเหล่านี้ ผมจะชอบ เพราะผมเห็นว่าพวกเขาคือเด็กฉลาด คำถามที่เขาถามมา บางทีห้วนๆ กวนๆ บางเรื่องก็ไม่ควรถาม แต่มันคือความท้าทายเพราะถ้าเราตอบให้เขาเข้าใจได้ มันเป็นการประเมินศักยภาพของตัวเราเองด้วย ผมว่าไม่ว่าเราจะทำอะไรก็แล้วแต่ ตัวชี้วัดว่าคุณเก่งหรือเปล่ามันคือการถ่ายทอด ซึ่งแค่บอกให้เขารับรู้มันไม่พอ ต้องทำให้เขาอยากมีประสบการณ์จริง พอเขาเข้าใจก็จะสามารถไปพูดต่อให้คนอื่นเข้าใจได้ตรงนี้สำคัญ มันคือการสร้างฮีโร่คนใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ในสังคมไทย นี่คือเป้าหมายของผม

คุณหมอทำงานในรูปแบบนี้ สมาชิกในครอบครัวแสดงความเป็นห่วงยังไงบ้าง

เขาห่วงเรื่องความปลอดภัย อันตราย เพราะผมต้องทำงานในป่า เวลาพ่อแม่เห็นลูกโดนช้างไล่กระทืบ โดนกระทิงไล่ขวิด ก็ไม่สบายใจ ผมเลยต้องสร้างความเชื่อมั่นกับคนในครอบครัวด้วยการแสดงให้เขาเห็นว่าเรารักตัวเอง ผมออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ เวลาจะทำงานเราก็ระมัดระวัง มีความรอบคอบในการทำงาน เจ็บไข้ได้ป่วยก็รีบไปหาหมอ อย่าปล่อยไว้นาน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าเรารักตัวเอง แล้วเวลาที่เราเสร็จภารกิจ เราก็กลับมาใช้ชีวิตในเมือง มีไลฟ์สไตล์ปกติ ไปกินข้าวกับเพื่อนๆ ไปแฮงค์เอาต์ ไปดูหนัง ไปเล่นกีฬา กิจกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่บอกกับตัวเราเองว่า เราจะต้องมาสัมผัสกับโลกแห่งความเป็นจริงในสังคมเมืองด้วย ไม่ใช่ไปขลุกอยู่แต่ในป่าและสิ่งที่ผมต้องการให้น้องๆ ลูกศิษย์มองผมก็คือ หมอแบบเราไม่จำเป็นว่าจะต้องอยู่แต่ในป่า ยากลำบาก เพราะเมื่อคุณเสร็จภารกิจ คุณก็สามารถไปใช้ชีวิตแบบคนอื่นในสังคมได้เช่นกัน

ทุกวันนี้คุณหมอแบ่งสัดส่วนการใช้ชีวิตในเมืองกับในป่าอย่างไรคะ

ถ้าใน 1 เดือนก็ 50:50 ครับ แต่ช่วงหลังๆ มีการบริหารจัดการดีขึ้น ปัญหาก็เลยไม่เกิด เราจะเน้นการป้องกันมากกว่าการรักษา เพียงแต่ว่าเมื่อไรที่ต้องมีการรักษา เราก็ต้องเข้าไปรักษา เข้าไปดูแล

เราจะรู้ได้อย่างไรคะว่าตอนนี้สัตว์ตัวไหนเป็นอะไร

สัตว์ป่าถ้าไม่เจ็บหนักจะไม่โผล่ออกมาให้คนเห็น เพราะฉะนั้นจิตวิญญาณและทัศนคติของสัตว์ป่าที่มีต่อมนุษย์คือ ไม่ว่ามนุษย์จะเลวกับเขามากน้อยขนาดไหน เมื่อเขาอยู่ในวาระสุดท้ายที่ใกล้จะตาย เขาก็ยังเชื่อว่ามนุษย์คือที่พึ่งพิงสุดท้ายที่ทำให้เขาอยู่รอดได้ครับ

คุณเป็นนายสัตวแพทย์สัตว์ป่าที่ได้รับความสนใจจากคนภายนอกมากทีเดียว คิดว่าเป็นเพราะอะไรที่ทำให้มีคนรู้จักคุณหมอมากขนาดนี้

จริงแล้วคนไม่น่าจะรู้จักผมเยอะนะครับ เพราะว่าเราทำงานในป่า มันไม่ใช่งานโชว์ ข้อจำกัดในการทำงานต่างๆ มันมีมากมาย แต่ต้องยอมรับว่า ณ เวลานี้สื่อสังคมออนไลน์ การแชร์ การถ่ายทอดข้อมูล มันเกิดขึ้นตลอดเวลา และเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วผมก็ใช้ช่องทางนี้สื่อสารให้สังคมได้รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นจากการบุกรุกของมนุษย์ และมันได้เตือนอะไรมนุษย์บ้าง นี่จะเป็นข้อมูลที่ทำให้มนุษย์ปรับตัวได้ครับ

หลายๆ คนมองว่าคนทำงานแนวนี้น่าจะมีบุคลิกแบบหนึ่ง ซึ่งมักจะเป็นแนวเซอร์ แต่คุณหมอกลับชอบแต่งตัว แถมยังดูแลตัวเองได้ดีด้วย เคยคิดไหมว่าเพราะบุคลิกแบบนี้แหละที่ทำให้คุณโดดเด่นขึ้นมา

ปกติเวลาผมทำงาน ก็จะเซอร์นะครับ แต่ก็ขอให้มีสไตล์ชุดทำงานในแบบของเรา ใส่แว่นเพื่อกันฝุ่น ผ้าโพกหัวเพราะกันแมลงเข้าหู กันแมลงต่อย มีชุดทำงานที่กระฉับกระเฉง รัดกุม มีอุปกรณ์ เครื่องมือ ดูเป็นไลฟ์สไตล์แบบกวนๆ หน่อย เพียงแต่ว่าตัวชี้วัดเหล่านี้มันคือผลงานมากกว่านะครับ

เคยได้ยินมาว่า คุณหมอเป็นคนไม่รักสัตว์ แต่เพราะอะไรถึงมาทำงานตรงนี้คะ

มันเป็นความรับผิดชอบเราครับ และสัตว์ป่าบนโลกใบนี้คนทั้งโลกเป็นเจ้าของ ประชาชนชำระภาษีมาเป็นเงินเดือนให้เป็นสัตวแพทย์สัตว์ป่า เราก็ต้องทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด อีกอย่างคือผมอยากทำให้คนอื่นเห็นว่าขนาดผมเป็นคนไม่รักสัตว์ ผมยังทำหน้าที่นี้ได้ แล้วถ้าคนมาทำรักสัตว์ล่ะ เขาจะทำได้ดีขนาดไหน

ถ้าคุณหมอต้องรักษาสัตว์ป่าที่บาดเจ็บและกำลังดุร้ายด้วย จะเตรียมตัวรับมืออย่างไรคะ

ถ้าเขาไม่นอนพะงาบ ยังพอที่จะระมัดระวังตัวได้ เราจะใช้ปืนยิงยาสลบ ซึ่งก็ต้องเข้าไปยิงในป่า การยิงยาสลบเป็นเรื่องที่ยากเพราะว่าเราอยู่ในป่าทึบ ไม่เหมือนในต่างประเทศที่เป็นทุ่งหญ้าสามารถขับรถหรือขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปยิงได้ แต่เราเดินเท้าเข้าไปแทนครับ (ทราบมาว่าปืนยิงยาสลบเองก็มีอยู่ไม่กี่กระบอก) ในอดีตมีไม่เยอะครับ แล้วมันก็เป็นความน่ารักของหน่วยงานผมเองที่เมื่อก่อน ผมคนเดียว แต่มีปืนยิงยาสลบให้ใช้ถึง 5 กระบอก มองเผินๆ ก็คือทำไมไม่หาหมอมาเพิ่มล่ะ ยังว่างตั้ง 4 ระบอก แต่โดยนัยคือเขาต้องการให้ผมเซฟตัวเองไว้ เวลาที่เรายิงยาสลบ ปืนมันหนัก เรายิงเสร็จ เราก็ทิ้งปืน ช้างก็เดินมากระทืบปืน หรือกระทิงก็วิ่งมาสนใจปืน แล้วเราก็วิ่งหนีไป ก็ยังมีปืนอีก 4 กระบอกที่ใช้งานได้ นั่นคือมุมมองที่หน่วยงานเขาเซฟหมอไว้

จริงๆ แล้วในวันนี้คุณหมอยังต้องการอุปกรณ์อะไรอีกหรือเปล่าคะ

สังคมหรือคนรอบนอกเห็นผมทำงานในพื้นที่ป่าที่มีข้อจำกัดเยอะ เขาก็อยากให้ผมเป็นเพอร์เฟ็กชั่นนิสต์ แต่การทำงานในป่า เราอยู่ในฐานะที่เป็นผู้ปฏิบัติที่ดีมากกว่า นั่นคือ ไม่ต้องมีอะไรมากมาย เพียงแค่มีอุปกรณ์ที่เหมาะสมและเพียงพอก็ OK! เพราะถ้ามีอะไรเกิดขึ้นนอกเหนือจากนี้มันจะทำให้เราดึงศักยภาพในการใช้ไหวพริบ ปฏิภาณในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากับเหตุการณ์นั้นขึ้นมา สถานการณ์จะทำให้เรามีสติ ได้คิด ได้ไตร่ตรอง จนออกมาเป็นแนวทางที่มันเหมาะสมได้ครับ

สำหรับคุณหมอเอง ของจำเป็นที่ต้องติดตัวเข้าป่าตลอดมีอะไรบ้างคะ

ผ้าโพกหัว, หมวก, แว่นตา, คอนแทกเลนส์, ชุดเครื่องแบบ, ปืนยิงยาสลบ, ปืนพกสำหรับป้องกันตัว, มีด, อุปกรณ์ยังชีพ และเรื่องศิลปะการต่อสู้ เช่น ฆ่าคนได้ด้วยมือเปล่า บางทีเราเข้าไปเจอพวกพรานป่า ก็มีปะทะ มีต่อสู้บ้างครับ

มีเคสไหนที่หมอเกือบเอาชีวิตไม่รอดบ้างไหมคะ

มีครั้งหนึ่งที่เข้าไปรักษากระทิงที่บาดเจ็บเพราะถูกยิง แล้วกระทิงก็ไล่ขวิด เราก็เลยต้องรีบปีนต้นไม้ แล้วกระทิงก็หงุดหงิด เพราะเขาทำอะไรไม่ได้ ตอนแรกคิดว่ากระทิงเดินหนีไปแล้ว แต่ปรากฏว่าสักพักเขาวิ่งกลับมากระแทกต้นไม้ที่เราปีนอยู่ เพื่อให้เราตกต้นไม้ให้ได้ กระแทกอยู่เป็นครึ่งชั่วโมง ตอนนั้นผมเองก็มือเหนียวมาก เกาะต้นไม้แน่นเลยครับ (หัวเราะ) จากนั้นก็ดึงสติกลับมา แล้วค่อยๆ แก้สถานการณ์ ถามว่าผมกลัวไหมกับสิ่งที่เกิดขึ้น กลัวครับ แต่ผมกลัวเขาตายมากกว่า ถ้าเราไม่รักษาเขา เพราะอย่าลืมว่า มนุษย์ไปทำเขา จนเขาจะตายอยู่แล้ว เขาต้องการเรานะครับ เคสนี้สุดท้ายผมก็ได้รักษาเขานะ เราก็ยิงยาสลบ และผ่าตัด รักษาเขาในป่าครับ

ก่อนนั่งสัมภาษณ์กันจริงจัง เราคุยกันเรื่องช้างตกมัน ซึ่งคุณหมอบอกว่าช้างตกมันไม่น่ากลัวเท่ากับช้างตกใจ อยากให้อธิบายให้ฟังหน่อยค่ะ

เพราะช้างจะตกใจเมื่อไรก็ได้ ถ้ามีสิ่งแวดล้อมเข้าไปกระตุ้น เช่น การส่งเสียงดัง การเปลี่ยนระดับเสียงจากเบาเป็นดัง การใช้แสงแฟลตเพื่อกระตุ้นอะไรต่างๆ เราก็ต้องพยายามงดเว้นสิ่งเหล่านี้ถ้าอยู่ใกล้เขา หรือถ้ามันเกิดขึ้นมาแล้วก็ถอยก่อน วิ่งหนีก่อน ช้างเองวิ่งไม่ได้ แต่เดินเร็วนะครับ แต่ในขณะเดียวกัน คือถึงแม้ช้างเป็นสัตว์ที่ตกใจง่าย แต่ก็หายไวเหมือนกัน ซึ่งเราสามารถสังเกตพฤติกรรมได้ คือ ถ้าเขายังหูกาง หางชี้อยู่ แสดงว่ายังโกรธอยู่ก็ให้เขาไปก่อน แต่ถ้าเขาอยู่นิ่ง สะบัดหู แกว่งหางไปมา หากินอาหารแสดงว่าเขาเริ่มผ่อนคลาย เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนช้างตกมันเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสรีระวิทยา ซึ่งดูจากรูปร่างและร่างกายเขาเราก็จะรู้ได้ครับ (เคยเจอช้างที่ทั้งตกใจและตกมันไหมคะ) เจอครับ ภาวะตกมันคือภาวะที่ช้างร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรงมากๆ ก็ต้องดูว่าระยะไหน ถ้าระยะที่น้ำมันไหลเข้าปาก นั่นคืออาละวาด ถ้าระยะที่น้ำมันไหลยังไม่เข้าปากยังซึมๆ อยู่ แต่อาจจะโกรธง่ายหน่อย พอเราเจอแบบนี้ เราไม่มีทางที่จะควบคุมตัวช้างได้ แต่เราสามารถควบคุมสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบตัวช้างได้ อย่าทำให้เขาตกใจ อย่าให้สภาพแวดล้อมไปรบกวนตัวเขา เราจะต้องเป็นคนอำนวยการทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการสั่งการทั้งทางวิทยุ สัญญาณมือ ถ้าเราทำงานกับทีมงานที่ทำด้วยกันมานาน เราก็จะสามารถจัดการกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ผมไม่ได้มองว่ามันคือปัญหา แต่มันคือเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้น ขึ้นอยู่กับว่าเวลาหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นแล้ว เราจะเข้าไปบริหาร จัดการมันอย่างไร

คุณหมอเองเป็นคนกลัวงู อย่างนี้มีวิธีการเซฟตัวเองอย่างไร ยิ่งเวลาต้องเข้าไปทำงานในป่า

เราจะพยายามสังเกตว่าตรงไหนที่เป็นอาจจะเป็นที่อยู่ของงู แล้วพยายามหลีกเลี่ยง กับอีกอย่างคือภาวนาว่าอย่าเจอเลย (หัวเราะ) แต่โดยหลักๆ พวกงูเหล่านี้จะทางใคร ทางมัน เขาก็หลบเราอยู่แล้ว ถ้าเราไม่เข้าไปทำอันตรายเขา และเวลาที่เราเข้าไปทำงานในป่า ใจเราต้องนิ่งและบริสุทธิ์ บางทีก็แผ่เมตตา หรือบอกว่าเรามาทำงานนะ ขอให้ปกป้อง คุ้มครองเราด้วย ขออย่าให้เจออันตรายอะไรเลย ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่เคยเกิดเหตุอะไรเลวร้ายกับนะครับ

คุณหมอคิดว่าตัวเองรู้ใจสัตว์ป่าประเภทไหนบ้างคะ

ผมไม่รู้ใจสัตว์แบบไหนเลยครับ สัตว์ป่าจะมีสัญชาติญาณแตกต่างกันไป แล้วในแต่ละตัวก็จะมีความแตกต่างกันด้วยเพราะฉะนั้นเราจะไม่รู้ใจ แต่เราจะอ่านใจเขาได้โดยใช้สถานการณ์ ณ เวลานั้นว่าเขากำลังคิดอะไร กำลังจะทำอะไร ทุกอย่างเกิดจากการประสบการณ์ล้วนๆ ครับ และที่สำคัญอีกเรื่องคือการฟังครับ ผมเป็นคนที่ฟังลูกน้องมาก ฟังคนอื่นมาก ฟังเยอะก็ได้ข้อมูลเยอะ ได้ความรู้เยอะนะครับ

เวลาเข้าไปทำงานในป่า คุณเคยกลัวตายไหมคะ

เหตุการณ์เหล่านี้มันมีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา มันขึ้นอยู่กับว่าเรามีสติขนาดไหน ทุกคนก็กลัว แต่ถ้ากลัวถึงขนาดว่าไม่กล้าทำอะไร ก็อยู่บ้านนะครับ แต่ในเมื่อเราต้องเผชิญออกมากับความเป็นจริง เราต้องมีสติครับ

วันนี้มีสัตว์ประเภทไหนที่ยังไม่ได้รักษาอีกบ้างคะ

เรารักษาสัตว์ป่ามาเกือบทุกกลุ่มแล้วครับ (แล้วถ้าเรารักษาจนเขาแข็งแรงแล้วล่ะคะ เขายังจะไล่ทำร้ายเราอีกไหม เขาก็ยังไล่เราปกติครับ แต่มันเป็นการหนีตายที่มีความสุขมาก เป็นการวิ่งหนีเอาตัวรอดที่มีรอยยิ้ม เพราะหมายถึงการรักษาสัมฤทธิ์ผล แล้วนั่นก็เป็นตัวชี้วัดให้เห็นว่าเขาจำหมอไม่ได้หรอกครับ

เคสสะเทือนใจหมอ เป็นเคสไหนคะ

ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ฝนตก แล้วลูกเม่นตัวหนึ่งที่ถูกรถเหยียบทั้งล้อหน้า ล้อหลัง และยังไม่ตายทันที เขาก็มาตกอยู่ที่ท่อระบายน้ำ ข้างๆ ถนนมีรอยเลือด ขนเม่นกระจาย ภาพที่สะเทือนใจก็คือแม่เม่นมาเลียขน เลียเลือดของลูก ส่วนตัวลูกที่ยังไม่ตายก็ร้องหาแม่ วินาทีนั้นด้วยความที่เราเป็นหมอ ผมมีความตั้งใจมากว่าเราจะช่วยเขาให้รอด เพื่อให้เขาอยู่ในโลกใบนี้ อยู่กับแม่เขาต่อไป แต่พอเรามาจับดูที่ท้องเขา ปรากฏว่าอวัยวะภายในเขาแหลกเหลวไปหมดแล้ว มันเกินเยียวยา สิ่งที่เราทำก็คือต้องช่วยให้เขาพ้นจากทุกขเวทนา นั่นคือฉีดยาให้เขาไปอย่างสงบ โดยที่ไม่ทุกข์ทรมาน เพราะฉะนั้นเวลาที่สัตว์ป่าเหล่านี้บาดเจ็บ การมาของหมอ ไม่ได้มาเพื่อรักษาอย่างเดียว แต่มาเพื่อความเหมาะสม ซึ่งมีความเหมาะสมอยู่ 2 อย่าง คือช่วยให้รอดกับช่วยให้พ้นจากทุกขเวทนา แล้วก็เคยมีคนถามว่า คุณมีสิทธิ์อะไรมาชี้วัดความเป็นความตาย ของสัตว์ คำตอบคือสัตว์ป่ามันฆ่าตัวตายไม่เป็นไงครับ ถ้าเป็นกรณีของคน ทำไมหมอจะต้องคุยกับญาติคนไข้ว่าถอดสายอ๊อกซิเจนเถอะ เพราะมันทรมานมากเกินเยียวยาแล้ว ซึ่งสัตว์มันคิดแบบนั้นไม่ได้ครับ เราประเมินทุกอย่างด้วยความเหมาะสมก่อนจะทำอะไรเสมอ

ทุกครั้งที่ไม่สามารถรักษาชีวิตสัตว์ได้ คุณหมอรู้สึกอย่างไรบ้าง

สำหรับผม ความเสียใจไม่มีนะครับ แต่จะมีคำถามกลับมาที่ตัวเองว่าเราได้ทำเต็มที่ภายใต้ข้อจำกัดในด้านต่างๆ ที่อยู่ในป่า ทั้งเรื่องอุปกรณ์ หยูกยาที่มันจำเป็นแล้วหรือยัง ถ้าเราทำได้ดีแล้ว ผมก็ไม่เสียใจแล้วครับ เรื่องราวต่อจากนั้นก็จะเป็นบทเรียนสำหรับเราว่า ครั้งหน้าถ้าเกิดปัญหาแบบนี้ เราจะต้องแก้ไขอย่างไร

พอทำงานตรงนี้นานๆ เข้า คุณหมอได้ลด หรือเลิกอะไรในชีวิตลงไปบ้างหรือเปล่า

เมื่อก่อนผมจะเป็นคนขี้เมาหน่อย ดื่ม เที่ยว แต่พอมาทำงานตรงนี้ เวลาทำงานมันขึ้นอยู่กับคนไข้ของเรา โดยเฉพาะคนไข้ของเราหากิน 24 ชั่วโมง บางตัวหากินกลางคืน บางตัวก็หากินกลางวัน เราเลยต้องคงความมีสติไว้ตลอด 24 ชั่วโมง เวลามีเหตุฉุกเฉินจะได้ไปทำงานได้ ถ้าไปเมา ไปแฮงค์เอาท์กับเพื่อนๆ แล้วเลิกตี 2 ตี3 ลุกขึ้นไปทำงานไม่ได้ เราก็จะไม่ทำ ตอนนี้ผมดื่มบ้าง พอสำราญ แต่จะไม่หัวราน้ำ เพราะเคยเกิดเหตุว่าผมกำลังเมาหัวราน้ำ แล้วมีเหตุต้องไปปฏิบัติงาน ซึ่งเราก็ทำได้นะ แต่มันไม่ดีพอก็เลยต้องปรับตัวครับ

คุณหมออยู่กับธรรมชาติมากว่า 10 ปีแล้ว บอกได้ไหมว่าตอนนี้ธรรมชาติกำลังเตือนอะไรเราอยู่บ้าง

ธรรมชาติเตือนมนุษย์ว่าอย่าเยอะ อย่าคุกคาม เบียดเบียน เปลี่ยนแปลงธรรมชาติครับ เพราะธรรมชาติกำลังตอบโต้มนุษย์อยู่วิธีหนึ่งก็คือการปล่อยเชื้อโรคใหม่ๆ ขึ้นมา ปล่อยสู่สัตว์ป่า สิ่งแวดล้อม ถ้ามนุษย์ไม่ไปรุกรานสัตว์ป่า ไม่ไปรุกรานสิ่งแวดล้อม มนุษย์ก็จะอยู่ได้ แต่ถ้ามนุษย์ไปเบียดเบียนสัตว์ป่า บริโภคสัตว์ป่า ตัดไม้ทำลายป่า ก็ทำให้เชื้อโรคที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมเหล่านั้นมาสัมผัสกับมนุษย์จนมนุษย์สามารถติดได้ แล้วก็ติดจากมนุษย์สู่มนุษย์ต่อไปเรื่อยๆ ตอนนี้ธรรมชาติคัดเลือกแล้วว่าผู้ที่ปรับตัวได้คือผู้ที่อยู่รอด ในบทบาทของผมคือทำอย่างไรก็ได้ให้มนุษย์มีการปรับตัวเพื่อที่จะได้อยู่ด้วยกันได้ เราจะได้อยู่รอดไปด้วยกัน

นายแบบ: นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน
สไตลิสต์: Karat
แต่งหน้า-ทำผม: โชติรส โรดดอน
ช่างภาพ: Kantarika
สัมภาษณ์: กิ่งสุรางค์ อนุภาษ
สถานที่: Sofitel Bangkok Sukhumvit โทร.0-2126-9999
ติดตาม OK! Magazine Thailand ได้ที่นี่
Website : http://www.okmagazine-thai.com/
Instagram : https://www.instagram.com/okmagazinethailand/
Facebook : https://www.facebook.com/okmagthailand
Twitter : https://twitter.com/okthailand

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0