โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ความเกรี้ยวกราดฉาบน้ำตาล : พฤติกรรมชวนหงุดหงิดแบบ Passive-Aggressive

The MATTER

อัพเดต 17 พ.ย. 2560 เวลา 06.33 น. • เผยแพร่ 16 พ.ย. 2560 เวลา 05.04 น. • Curious Cat

คนบางคนยอมทำทุกทางมากกว่าจะเผชิญหน้าและพูดจาตรงๆ พวกเขาไม่เคยขึ้นเสียง ไม่เคยดุด่า ไม่เคยหัวเสีย เหมือนเป็นมิตรจิตใจดี ออกจะปากหวาน และชอบชม แต่กลับทำเราให้รู้สึกแย่นับครั้งไม่ถ้วน เพราะเต็มไปด้วยรอยยิ้มแต่วาจาแสนทิ่มแทงเหยียดหยาม ทำให้เราเกลียดตัวเอง

หากเคยรู้สึกมีคนตั้งใจทำร้ายให้เจ็บชํ้านํ้าใจทางอ้อม ให้สงสัยในตัวเอง เอ… เราคิดมากไปรึเปล่า หรือเราอ่อนไหวเกินไป ทำให้เราเหมือนเป็นบ้า คุณอาจเผชิญพฤติกรรม Passive-Aggressive เข้าให้แล้ว

Dean Burnett ผู้เขียนหนังสือ The Idiot Brain เสนอว่า อาการ Passive-Aggressive อาจแสดงถึงความสามารถในการสื่อสารได้อย่างคลุมเครือและซับซ้อนของมนุษย์ เราสามารถพูดว่า “ฉันสบายดี” ทั้งที่นํ้าเสียงและภาษากายไม่ได้แสดงเช่นนั้น และเมื่อสารนั้นส่งไปถึงคนที่รับฟัง เขาก็เจ็บเองนี่ช่วยไม่ได้ หรือบางคำชมก็สามารถแฝงคำด่าได้นุ่มนวลแนบเนียน

พฤติกรรม Passive-Aggressive นรกความร้ายเงียบที่คุ้นเคย

"พฤติกรรม Passive-Aggressive คือการทำอะไรสักอย่างโดยตั้งใจให้บางคนโมโห หงุดหงิด แล้วค่อยกลบเกลื่อนว่า ‘อ้าว ฉันไม่รู้ว่าสิ่งนี้จะรบกวนจิตใจเธอ" - Urban Dictionary

พฤติกรรม Passive-Aggressive คือการประพฤติร้ายทางอ้อม เมื่อคนแสดงความไม่เป็นมิตร (hostility) ทางอ้อม คนเหล่านี้เมื่อไม่พอใจ แทนที่จะบอกเราว่าเขาโกรธ ไม่เห็นด้วย หรือชี้แจ้งว่า เราผิดอย่างไร กลับเลือกที่ทำจะทำวิธีอื่นๆ อีกหลากหลายทาง ให้อีกฝั่งรู้สึกไม่สบายใจ เซ็ง เครียด หรือไม่สะดวก ซึ่งสิ่งที่เขาทำในทางเทคนิคก็ดูไม่เป็นไร แต่โคตรทำให้หงุดหงิด รำคาญใจ ลำไย

ลักษณะเด่นของพฤติกรรมนี้คือ angry smile และ sugar-coated Hostility ยิ้มที่แฝงความโกรธและความดุร้ายเคลือบนํ้าตาล

คุณเคยทำหรือเคยพบเห็นอาการเหล่านี้หรือไม่

ทำตัวเหมือนนิสัยดี อ่อนหวาน เป็นมิตร ว่าง่าย แต่จริงๆ แล้ว เกรี้ยวกราด ขี้โมโห ชอบเกลียด และขี้อิจฉาอยู่ลึกๆ ขี้นินทา พูดร้ายลับหลัง วิจารณ์พื้นเพ หน้าตา ความน่าเชื่อถือ สติปัญญา ฯลฯ มีคำชมที่ฉาบความประสงค์ร้าย หรือมีความหมายอื่นแฝง (backhand compliment) ชอบทำให้รู้สึกผิด (guilt-baiting) พูดจาร้าย ตำหนิ แซะ วิจารณ์ จากนั้นค่อยบอกว่า ล้อเล่นน้า (just kidding!) ชอบขุดรากเหง้า หน้าตา เอามาล้อแบบเนียนๆ วันดีคืนดี ทอดทิ้ง หนีหาย เงียบใส่ ไม่ยอมพูดด้วย (silent treatment) ตั้งใจทำงานผิดพลาด ทำงานคุณภาพแย่ มาสาย ลืม ลึกๆ อยากทำให้อีกฝ่ายอารมณ์เสียหรือเสียหน้า เช่น นักเรียนที่ตั้งใจทำงานแย่ พนักงานที่ตั้งใจทำงานที่ผิดพลาดหรือทำงานล่าช้า ไม่ตรงเวลา หรือทำงานห่วยๆ อย่างจงใจ ตั้งใจวางแผนให้อีกฝั่งอารมณ์เสียอย่างรุนแรง จากนั้นบอกว่า “คิดไปเองน่า” เมื่อคนให้งานที่ไม่ชอบ จะทำห่วยๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องทำอีก (ทั้งที่บอกได้ว่า ไม่อยากทำ ไม่ถนัด) คนที่เหมือนจะเป็นมิตร แต่อยู่ดีๆ ก็เกิดห่างเหินเย็นชา แบบไม่มีปี่มีปี่ขลุ่ย ต่อหน้าพูดจาดี แต่ไปด่าเสียหายๆ เช่น ตั้งทวีตดิสเครดิต บางครั้งก็เขียนชื่อแต่ไม่แท็ก อาจด่าที่ทำงาน อาจารย์ สถาบัน ฯลฯ ซึ่งจริงๆ ก็วิจารณ์ได้แหละ ถ้ามีประเด็นหรือน่าด่า (ต้องแยกความไม่เห็นด้วยกับการเหน็บแนมทำร้ายจิตใจให้ออก) ชอบตั้งสเตตัสด่าใครก็ไม่รู้ลอยๆ พาสะดุ้งหนาวไปทั้งผองเพื่อนในลิสต์ 1,000 คน บอกว่า “โอเค ได้เลย” แต่สุดท้ายไม่ทำ ฯลฯ และอีกหลากหลายวิธีที่จงใจทำให้คนอื่นรู้สึกแย่ได้แบบเนียนๆ แต่บางครั้งความ Passive-Aggressive ในรูปแบบของการประชดก็เป็นความสนุกในชีวิต เช่นที่ปรากฏในป้ายเตือนกึ่งตำหนิ แบบที่หมาเยี่ยว ซึ่งถ้าไม่มีใครคิดมากก็เป็นความขำขันได้เหมือนกัน ไม่ได้อันตรายมุ่งร้ายเสมอไป และไม่ใช่ว่าทุกอารมณ์ขันจะแฝงร้ายหมด เช่น ป้ายเตือนในห้องนํ้า NASA ประชดว่า “หากโยนขยะไม่ลงถัง จะส่งยานบินผ่านเหนือผิวดวงจันทร์ยูโรป้า 25 km. ได้ไง” ซึ่งเหล่าเนิร์ดนาซ่าออกมาพูดถึงกันคึกคักด้วยความสนุกสนาน ไม่โกรธแค้น

ชอบมอบหมายงานให้คนทำไม่ได้และรู้สึกเฟล ไม่ค่อยอธิบาย ให้ฟีดแบ็กที่ไม่ชัดเจน ชอบบอกคำใบ้แล้วให้คิดเอาเอง ไม่ชอบพูดตรงๆ ว่ามันผิด ไว้ใจไม่ได้ ไม่ช่วยเหลือยามเกิดปัญหา ไม่เคยลงแรง ลงเวลาในการพัฒนาคนในทีม เจ้าคิดเจ้าแค้น อะไรที่เคยผิดพลาดจะโกรธแค้นแสนนาน รอเอาคืน มีอารมณ์ขันแบบมุ่งร้าย ละเลยคนที่มีคำถาม ทำเหมือนปัญหาและความขัดแย้งไม่มีอยู่จริง คิดไปเอง พึงระวัง เพราะมีหลากหลายวิธีที่จะทำร้ายจิตใจโดยตั้งใจแต่ทำเหมือนไม่ตั้งใจ โดยต้องสังเกตจากจุดประสงค์หรือผลกระทบที่ตามมา อย่างผู้เขียนเองก็เด๋อด๋า (หรืออาจจะหน้าด้าน) แยกไม่ค่อยออก ชอบบอกว่าเพื่อนมโนไปเอง จนเพื่อนด่าว่าแกไม่รู้อะไรเลย และบางครั้งก็ทำเองเหมือนกัน ขอโทษค่ะ วันหลังจะระมัดระวังมากขึ้น (ซึ่งหลายคนก็พูดงี้แหละ ให้หลุดรอดไปได้ หึ ก็ฉันไนซ์ ฉันไม่ตั้งใจ)

พฤติกรรม Passive-Aggressive เกิดในทุกที่ ไม่ว่าจะที่ทำงาน ที่บ้าน โรงเรียน คนในชุมชน หรือกับคนรัก อาการนี้เป็นการแสดงความมุ่งร้ายแบบอ้อม อาศัยการตีความ และไม่ได้สามารถ pin point วินิจฉัยได้ชัดเจน เบื้องหลังของหน้า Wikipedia: Passive-Aggressive Behaviour มีการถกเถียงอย่างสนุกปาก ว่าสิ่งนี้มีอยู่จริงหรือมโนไปเอง มีบล็อกและหนังสือจำนวนหนึ่งเล่าประสบการณ์การใช้ชีวิตกับคน Passive-Aggressive ซึ่่งเหมือนเป็นนรกเย็นยะเยือกที่ปวดใจ

ไม่ได้มีแต่ชะนีที่เลือกวิธี Passive-Aggressive

หลายคนอาจจะคิดว่า Passive-Aggressive คือเกมการเมืองดราม่าของผู้หญิง เหมือนดูหนังไฮสคูลและดราม่าตบตี กอสซิป แม้ในการวิจัยปี 1994 รายงานบอกว่า เพศหญิงมักจะมีความ Passive-Aggressive หรือร้ายอ้อมๆ มากกว่า ในขณะที่เพศชายจะร้ายตรงๆ (Active-Aggressive) มากกว่า แม้จะตรงกับ common sense ว่าผู้หญิงร้ายแบบอ้อมๆ เพราะเลือกวิธีที่นิ่มนวลกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงจะร้ายมากกว่า

ทั้งนี้อาจเพราะผู้หญิงมักถูกกดลงในอำนาจ ยามที่พูดจาตรงๆ และมักถูกลงโทษทางสังคมว่าไม่เหมาะสม เลยทำให้หาวิธีการร้ายทางอื่นอ้อมๆ เช่น นินทา พูดจาทิ่มแทง ไม่ถนัดทางตรง มีปากเสียง ลงไม้ลงมือ แต่ก็ทำเพื่อให้อยู่รอด และได้พูดสิ่งที่ตัวเองไม่พอใจ

Olga Khazan ได้เขียนบทความขนาดยาวหัวข้อ The Atlantic เรื่อง ‘Why Do Women Bully Each Other at Work?’ (ทำไมผู้หญิงถึงชอบข่มเหงรังแกกันเองในที่ทำงาน) เป็นเรียงความขนาดยาวที่กินใจมาก เธอบอกว่าในนรรดา Bitch ที่ดุร้ายทั้งหมดในที่ทำงาน Passive-Aggressive Bitch เป็นยัยตัวร้ายที่ควรหลีกเลี่ยงที่สุด เพราะมักทำให้คนที่โดนทำตัวไม่ถูก ไม่แน่ใจว่ายัยนี่ร้ายหรือเรามโนคิดไปเอง หลายๆคนเลือกที่จะลาออกไปเอง เพราะทนไม่ไหวกับสงครามประสาททำลายสุขภาพจิต แน่นอนว่าหากบรรยากาศการทำงานไม่ดี ก็ย่อมลด Productivity เพราะต้องมากังวลกับดราม่า

พึงหลีกเลี่ยงคำชมที่ร้ายแฝงแสนเจ็บแสบ

คนที่มีนิสัย Passive-Aggressive ต้องการจะปกปิดความร้ายของตัวเอง จึงชอบเลือกวิถีมุ่งร้ายแบบเคลือบนํ้าตาล (sugar-coated hostility)

บางครั้ง ข้อความที่พูดฟังผิวเผินอาจเป็นคำชมหรือความเป็นห่วง แต่เมื่อพิจารณาแอบมีข้อความรุนแรงแฝง อาจเสียดสี หรือสื่อสารถึงอคติบางอย่าง ไม่ว่าจะตั้งใจแทรกแบบเนียนๆ หรือไม่รู้ตัว คำพูดแฝงเหล่านี้ในทางเทคนิคก็ทำได้ ต้องอาศัยการตีความ แต่เชื่อเถอะบางทีมันเจ็บกว่าไม่พูดอะไรหรือตำหนิตรงๆ เสียอีก เจ็บชํ้าไม่ต่างจากการด่าทอเลย (แต่ถ้าคุณตั้งใจให้อีกฝ่ายเจ็บ) มันก็ประสบผล

ยกตัวอย่าง

หากเทียบกับคนเอเชียโดยทั่วไปแล้ว คุณนี่สวยมาก (hidden message: คนเอเชียส่วนใหญ่น่าเกลียด) ไม่น่าเชื่อว่าคนหล่อแบบคุณจะฉลาดขนาดนี้ (hidden message: ตอนแรกฉันก็คิดว่าคุณดูโง่) แซวเล่นนิดเดียวอย่าคิดมากน่า (hidden message: ฉันก็หมายความตามที่แซวแหละ แต่เอาความไม่จริงจังมาปกปิด) อิจฉาที่เธอมั่นใจดีจัง ไม่แคร์หน้าตาเลย (hidden message: เธอไม่สวย) เพลงวงเธอเพราะจัง เหมือนวง xxx เลย (hidden message: เธอลอกเขามา เธอไม่ได้เป็น original) คุณนี่ทันสมัยสำหรับคนอายุปูนนี้ (hidden message: อีแก่) แต่งตัววาบหวิวจัง ไม่กลัวโดนฉุดไปข่มขืนเหรอ เป็นห่วง (hidden message: เธอมันแรด แต่งตัวโป๊) หากเทียบกับมาตรฐานผู้หญิง คุณขับรถเก่งนะเนี่ย (hidden message: ผู้หญิงขับรถไม่ได้เรื่อง) คนที่เป็นกะเทยสวยแบบเธอนี่เราโอเคนะ (hidden message: เราไม่โอเคกับผู้หญิงข้ามเพศคนอื่นๆ) คุณนี่ฉลาดจัง คงอยู่ยอดบนสุดของกราฟระฆังควํ่า (hidden message: แกมันสติปัญญาปานกลาง ใครคิดอันนี้ ร้ายยยยมากกกก) แม้จะฟังดูดี แต่ก็คือความไม่ประสงค์ดีที่ต้องตีความ ความซับซ้อนทางภาษาอาจทำให้ดูเหมือนด่าแบบ advance แต่อีกทางก็อาจจะทำร้ายและข่มเหงนํ้าใจของอีกฝ่ายได้ damage รุนแรง การด่าแบบนิ่มๆ ประชดประชัน แต่สาระที่แท้คือการดูถูก เหยียดหยามให้รู้สึกแย่

หลายๆ คนที่โดนถูกทำร้ายให้เจ็บใจ ด้วยวิธี Passive-Aggressive หากเหยื่อไม่ทนทาน อ่านคนนิสัยแบบนี้ไม่ออก พวกเขาจะรู้สึกเหมือนเป็นบ้า ความคลุมเครือไม่ชัดเจนเป็นสิ่งที่สมองของมนุษย์อ่านไม่ออกและไม่ถนัดชัดเจน พวกเขาวิตก เสียการเสียงาน นั่งคิดใคร่ครวญ ไม่แน่ใจว่าตัวเองคิดมากไปไหม นี่เขาเกลียดเราเหรอ เราอ่อนแอไปรึเปล่าที่หยิบคำพูดและการกระทำ (ที่ดูไม่ผิด) เล็กน้อยมาคิดจนปวดหัวและปวดใจ เสียเวลา เหนื่อยใจ

ร้ายอ้อมๆ เพราะกลัวการเผชิญหน้า

จะว่าไปพฤติกรรม Passive-Aggressive ก็อาจจะดีกว่าการทำร้ายโดยตรงๆ เพราะไม่ว่าจะทำร้ายทางวาจาหรือร่างกาย เพราะอาจผิดกฎหมายได้ และความโกรธมุทะลุก็ไม่เป็นที่ยอมรับในคนส่วนใหญ่ ใครๆก็หวาดกลัวคนที่เกรี้ยวกราด ขึ้นเสียง โมโหตลอดเวลา พูดจาหมาไม่แดก

สาเหตุหลักของความ Passive-Aggressive คือความกลัวการเผชิญหน้า ลึกๆ แล้วพวกเขากลัวการถูกปฏิเสธที่สุดและกลัวสังคมไม่ยอมรับ คนที่นิสัย Passive-Aggressive จึงมักกลัวการเผชิญหน้าและความชัดเจนมากๆ พวกเขาจึงคิดค้นวิธีอื่นในการแสดงออกถึงความไม่พอใจได้หลากหลายแล้วแต่สถานการณ์

พฤติกรรม Passive-Aggressive อาจเป็นวิถีในการต่อต้านและส่งเสียงความไม่เห็นด้วยออกมา เป็นการตอบโต้กับฝั่งที่มีอำนาจ เพราะการกระทำการรุนแรงหรือทะเลาะขัดแย้งตรงๆ อาจพาปัญหามาให้ แต่มนุษย์นั้นซับซ้อนจนไม่จำเป็นต้องเป็นการทำร้ายทางกาย แต่เป็นการทำร้ายทางอารมณ์และจิตใจ

เพราะกติกาการอยู่ร่วมกันในสังคมที่ไม่ยอมรับความโกรธ คนที่โมโหไม่พอใจจึงหาทางอื่นให้ไม่เผชิญหน้า ทำให้ต้องตีความอีกขั้น แต่ทำไม? ทำไม? ทำไม? คนเราถึงคิดค้นหนทางอ้อมต่างๆ มากมายนับไม่ถ้วนมาเพื่อทำร้ายจิตใจอีกฝ่ายทางอ้อม แทนที่จะบอกว่า เราไม่ชอบเพราะอะไร อีกฝั่งทำผิดตรงไหน และปรับปรุงได้อย่างไรได้บ้าง

ในสมัยวัยรุ่นผู้เขียนรู้สึกภูมิใจมาก เวลาเพื่อนบอกว่า “แกด่าได้นิ่มนวลแต่เจ็บมากกกก” ตอนนั้น เราค่อนข้างหลงดีใจ รู้สึกว่าเป็นศิลปะแห่งการสื่อสารที่เราได้ฝึกฝน สามารถด่าได้โดยอ้อมค้อม มีชั้นเชิง แต่เจ็บลึกโดยไม่ต้องใช้คำหยาบคาย สมกับที่ชอบนิยามความจิกกัดปากร้ายของ Oscar Wilde และ Dorothy Parker แต่เมื่อเจอผู้อื่นกระทำกับตัวเอง หรือว่าได้รับรู้ว่ามีคนที่เขาเสียใจกับคำประชดของเรา ความสัมพันธ์ที่สั่นคลอนอาจไม่คุ้มกับความสะใจไม่กี่นาที หากไม่อยากมองว่าเป็นคนร้ายก็เรียนรู้ว่าสิ่งที่เราภูมิใจอาจจะไม่ใช่พฤติกรรมที่น่าประสงค์กับสิ่งแวดล้อม ในการทำงานและใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นนั้น การแสดงท่าทีนี้ ไม่มีประโยชน์กับใครเลย และอาจรู้สึกผิดไปยาวๆ (ทุกวันนี้บางวันยังรู้สึกผิดกับการกระทำร้ายๆ ตอนสมัย 16 ปีที่แล้วอยู่ว่าไม่น่าพูดแบบนั้นเลย ขอโทษค่ะ)

รับมืออย่างไรกับคน Passive-Aggressive

พูดตรงๆ ว่าเราไม่โอเค เพราะคนเหล่านี้กลัวการเผชิญหน้ามากๆๆๆ อย่างที่บอก หากเราจับเข่านั่งคุย ตักเตือนและบอกตรงๆ ว่า “เราไม่โอเค มีอะไรที่เราทำให้เขาไม่โอเคไหม ในวันนั้นที่คุณพูดแบบนี้” ซึ่งเดาได้ว่า เขาก็จะบอกว่า “โอ้ยไม่ตั้งใจ อย่าคิดมาก” เราก็ยํ้าอีกทีว่าอย่าทำแบบนี้อีก เราไม่ชอบนะ เมื่อเขารู้ว่าเราไม่ยินยอม เขาอาจจะเลิกทำแบบนี้กับเรา และไปหาเหยื่อรายใหม่ให้ประสาทเสียทุกข์ใจแทน หากเขาไม่ตั้งใจ ได้พูดจาปรับทุกข์กัน หรือเขาได้ตำหนิและวิจารณ์เราตรงๆ ก็ยังดีกว่าต้องมาตีความ สับสน สงสัย อย่าไปก่อสงครามตอกกลับ อย่าคิดทำให้เป็นเรื่องส่วนตัว หากเจอพฤติกรรมที่ไม่ชอบ อย่าเพิ่งเหมารวมไปว่าเขาเกลียดเรา เพราะเราอาจจะมโนไปเองก็ได้ เขาอาจจะเครียด มีวันที่ไม่ดี หรืออาจทำอะไรผิดพลาดจริงๆ (ถ้าสงสัยก็ถาม ถ้าเขาละเลยคำถาม ก็อาจจะเป็นการ Passive-Aggressive) อย่าเอาพลังงานที่มีไปสร้างสงครามหรือตอบโต้ให้สะใจ เพราะชีวิตจะยิ่งหมดพลังและเสียเวลาไปอีก และบรรยากาศก็จะแย่ สร้างสิ่งแวดล้อมที่พูดตรงและวิจารณ์ได้ ไม่ต่อต้านความเห็นที่ขัดแย้ง สนับสนุนการทะเลาะถกเถียงอย่างมีสติ ไม่ใช้อารมณ์ การมุ่งร้ายแฝงอาจพัฒนามาจากสังคมที่พูดตรงๆ ไม่ได้ จึงเลือกทางอื่นแทนที่ดูไม่รุนแรง (แต่ร้ายยยย) จากหนังสือ Radical Candor ซึ่งผู้เขียนเคยหยิบมาเขียนถึงในบทความ ‘เราควรชมอย่างไร’ เสนอว่า วิธีการสื่อสารและให้ feedback ที่ดีที่สุดคือพูดตรงไปตรงมาอย่างจริงใจ ด่าได้ในที่ลับและตรงประเด็น ชมในที่สาธารณะและชมเมื่อมีเรื่องให้ชมเท่านั้น อย่าชมพรํ่าเพรื่อ อย่าแฝงคำด่าในคำชมให้สับสนในสาระของคำพูด หากไม่พอใจแต่ไม่บอกตรงๆ ไม่ได้ทำให้ใครปรับปรุงตัวนอกจากทำให้เราแค่สะใจ บรรยากาศมาคุน่าอึดอัด เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม  หากคนเป็นหัวหน้าสร้างบรรยากาศให้ลูกน้องสามารถวิจารณ์ได้ตรงๆ ลูกน้องก็อาจจะลดการ Passive-Aggressive นี้ลงได้

ช่างแม่ง/เดินหนีออกมา/block/mute ทางนี้ดูหนีปัญหาแต่บางทีก็จนปัญญา ถ้าเขามีความสุขกับการทำร้ายก็ปล่อยเขาทำไป เรื่องของเขา คนบางคนมีความสุขจริงๆ ที่ได้เห็นคนอื่นทุกข์ใจ ไม่มีความสุข คนบางคนเขียนสเตตัสด่าสิ่งที่เขาเกลียดได้เป็นวักเป็นเวน และปิดท้ายว่า “โอ้ยไม่ได้คิดอะรายยย ขำๆ” แต่ถ้าเราไม่สนใจ ทำเหมือนเขาเป็นอากาศ อีนี่ใครก็ไม่รู้ ก็ปล่อยๆ ไป อย่ามีอารมณ์กับฝุ่น (นี่เป็นคำพูดที่ Passive-Aggressive กลับ เพราะฉันจะไม่แคร์ ไม่รู้ทำไงแล้ว ฮือ) หรือสิ่งที่เขาพูดไม่มีประเด็นชัดเจน มี argument ที่อ่อน ด่ากราดๆ ลมๆ ลอยๆ ก็อย่าไปใส่ใจ คนบางคนแค่ไม่ชอบบางสิ่งและยอมสละเวลาปริมาณมาก ต่อต้านและทำลาย แต่พึงระวังว่า หากการกระทำของเราแย่จริงๆ หรือเราผิดจริง สิ่งที่เขาพูดมีประเด็น ถ้าสิ่งที่เขาพูด เป็นจุดที่เรามองไม่เห็นก็ต้องขอบคุณและปรับปรุงแก้ไขกันไป และบอกว่าวันหลังให้เขามาบอกเราตรงๆ แต่ถ้าไม่จริงก็อย่าไปถือว่าเป็นอารมณ์ เขาก็มีสิทธิ์มีความเห็นและไม่พอใจ บางคนเขาแค่ไม่เห็นด้วย ไม่ได้เกลียดเราเสมอไป ต้องแยกให้ได้ เพราะบางคนก็เลือกแล้วว่าเขาอยากให้เราเจ็บชํ้านํ้าใจ

อย่า อย่า อย่าอ้างว่าไม่รู้ ไม่ได้ตั้งใจ แล้วลอยนวลไปได้

แน่นอนว่าเราทุกคนต่างมีวันแย่ๆ วันที่ใจซบเซา วันที่หงุดหงิด ที่อาจเผลอทำร้ายคนอื่นโดยไม่ตั้งใจ ผ่านทางวาจา ปากจัด ปากไว ประชดประชัน พูดจาแรงๆ เพื่อความสะใจ หรือบางวันแม้จะพยายามเก็บความโกรธแล้ว แต่อารมณ์ไม่ดีของเราอาจแสดงออกทางอื่น เช่น ภาษากาย นํ้าเสียง เผลอกลอกลูกตา

หรือใครถนัดช่องทางอื่นๆ ก็อาจจะเลือก เช่น เราอาจจะเลือกไประบายด่ากราดในทวิตเตอร์ หรือด่าลอยๆ ในสเตตัส Facebook พาให้คนที่ไม่รู้เรื่องต้องสะดุ้งว่าหมายถึงใคร สร้างมวลอากาศความเครียด หวาดระแวง เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม แม้เราไม่ตั้งใจแต่ถ้าทำบ่อยๆ ก็ย่อมสร้างความทุกข์ใจให้คนที่ต้องปฏิสัมพันธ์กับเรา ล้วนเป็นอันตรายกับความสัมพันธ์ทั้งสิ้น

แต่หากรู้ตัวว่าเป็นคนนิสัย Passive-Aggressive โดยไม่ตั้งใจ และรู้สึกว่าตัวเองอาจเผลอเป็นภัย ทำร้ายจิตใจคนรอบข้าง ลองตั้งสติ ทุกครั้งที่โมโหหรือไม่พอใจอะไร อย่าเพิ่งอารมณ์เสีย ถ้าไม่ไหวก็ระบายลงไดอารี่ไปและหวังว่าอย่ามีใครเห็น สร้างเฟซบุ๊กปลอมที่ไม่มีเพื่อนเลย อยากบ่นอะไรก็บ่นไปแบบปลอดภัย มีสติ อย่าคิดว่า ก็เราไม่ตั้งใจ ถ้าไม่พอใจก็ต้องเผชิญหน้าและพูดตรงๆ หรือถ้าทำอะไรไม่ได้ก็ปล่อยไป ไม่ใส่อารมณ์ลงไปในสิ่งที่ไม่เห็นด้วยมากเกินไป หากไม่พอใจใครก็เดินไปบอกตรงๆ ทักไปหาในแชต คุยในที่ลับ และคุยว่าให้ชัดเจนเราไม่พอใจอย่างไร เรื่องอะไร และเขาปรับปรุงอย่างไรได้บ้าง

ในสังคมที่พูดตรงๆ ไม่ได้ บางคนจึงเลือกสอดความไม่พอใจใส่รอยยิ้ม

แต่ แต่ แต่ บางครั้งคนอื่นไม่ได้เกลียดเราหรือมุ่งร้ายกับเราเสมอไป เขาแค่ไม่พอใจและไม่เห็นด้วยกับวิธีการของเรา ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ อย่าตีความการต่อต้านหรือไม่เห็นด้วยเป็นความประสงค์ร้ายไปหมด การเห็นไม่ตรงกันเป็นเรื่องปกติที่เราต้องแยกให้ออกจาก Passive-Aggressive ไม่ใช่ความรุนแรงที่ต้องกำจัดให้สิ้นซาก

Adam Grant ผู้เขียนหนังสือเรื่อง *Originals: How Non-Conformists Move the World *เสนอให้ผู้ใหญ่สอนเด็กเข้าใจประโยชน์ของการไม่เห็นด้วย สนับสนุนให้คนทะเลาะกันให้ชิน จะได้ไม่หวาดกลัวการถกเถียง และการเผชิญหน้า เด็กๆ ควรได้รู้คุณค่าของการเถียงแบบใช้ความคิด ไม่ใช้อารมณ์ มองใหม่ว่าการวิจารณ์คือการใส่ใจในรายละเอียดในความคิดของอีกคน มากพอที่จะท้าทายมัน การ brainstorm จะได้ไอเดียเพิ่ม 16% เมื่อเราถูกสนับสนุนให้ถกเถียงวิจารณ์ไอเดียกันได้ใน session

Passive-Aggressive อาจเกิดขึ้นได้ในสภาพแวดล้อมที่ไม่สามารถพูดตรงๆ ได้ บางคนจึงต้องหาทางในการสื่อสารความไม่พอใจ ไปในทางต่างๆ ไม่มีใครอยากดูร้ายและเกรี้ยวกราด แต่เมื่ออยากต่อต้านและไม่พอใจ หลายคนจึงเลือกวิธีอ้อมๆ ให้รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ทำผิดกฎในทางเทคนิคเพื่อให้สังคมยอมรับได้

เมื่ออยู่ในโลกที่ยินดีกับความสามัคคีอันเป็นหนึ่งเดียว คนที่ไม่เห็นด้วยอาจดูรุนแรงร้ายกาจดูเป็นตัวร้ายของสังคม ทำให้หลายๆ คนต้องเก็บความไม่เห็นด้วยเอาไว้ เพราะไม่อยากโดนแบนโดยคนในสังคม

หากเราสร้างสังคม บ้าน เมือง ที่ทำงาน ที่สามารถพูดตรงได้ วิจารณ์ผู้มีอำนาจได้ พฤติกรรม Passive-Aggressive อาจถูกนำมาใช้ลดลง และเกิดการถกเถียงอย่างมีสติ โปร่งใส่ ตรงไปตรงมามากขึ้น

ยํ้าอีกครั้งว่าสิ่งที่ควรระวังไม่ใช่ความขัดแย้ง แต่คือความกลัวการเผชิญหน้าขัดแย้ง จนเลือกทำร้ายจิตใจทางอ้อมซึ่งนอกจากจะสร้างพิษร้ายต่อบรรยากาศ สุมไฟใส่ความสัมพันธ์ ยังไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นยกเว้นสะใจ

หากไม่เห็นด้วยหรือไม่พอใจ ขอร้องว่าพูดตรงๆ บอกกันตรงๆ ให้ชัดเจน อย่าลีลา อย่าเป็นนางฟ้า/เทวดาที่สร้างนรกให้คนที่อยู่รอบตัว มันน่ากลัวและทรมาน

อ้างอิงข้อมูลจาก

Kids, Would You Please Start Fighting?

www.nytimes.com/2017/11/04/opinion/sunday/kids-would-you-please-start-fighting.html

Why Do Women Bully Each Other at Work?

www.theatlantic.com/magazine/archive/2017/09/the-queen-bee-in-the-corner-office/534213/

10 Signs of a Passive-Aggressive Relationship

www.psychologytoday.com/blog/communication-success/201508/10-signs-passive-aggressive-relationship

Radical Candor: Be a Kick-Ass Boss Without Losing Your Humanity

www.radicalcandor.com

OK, don't read this article about passive-aggressive behaviour. Honestly, it's fine

www.theguardian.com/science/brain-flapping/2015/feb/19/ok-dont-read-this-article-about-passive-aggressive-behaviour-honestly-its-fine

Passive-Aggressive Test

psymed.info/passive-aggressive_test

Illustration by  Namsai Supavong

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0