โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

การโกงในตลาดหุ้น / โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

Stock2morrow

อัพเดต 20 มี.ค. 2561 เวลา 11.03 น. • เผยแพร่ 20 มี.ค. 2561 เวลา 08.19 น. • Stock2morrow
การโกงในตลาดหุ้น / โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
การโกงในตลาดหุ้น / โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

สัปดาห์ก่อนมีข่าวเล็ก ๆ  ว่ามีการ  “โกง”  ในสหกรณ์ออมทรัพย์ที่อิงอยู่กับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเก่าแก่แห่งหนึ่ง  เงินที่ถูกโกงไปก็อาจจะมีแค่  “สองสามพันล้านบาท”  (อีกแระ)  ดังนั้น  เรื่องนี้ก็อาจจะเป็นข่าวเล็ก ๆ  ที่ออกมาครั้งเดียวแล้วก็จะเลือนหายไปเมื่อเทียบกับสหกรณ์ออมทรัพย์ใหญ่ ๆ  อีกหลายแห่งที่มีการโกงและความเสียหายเป็นหมื่นล้านบาท

นอกจากการโกงเงินของสหกรณ์ที่มีมาต่อเนื่องแล้ว  การโกงผ่าน “แชร์ลูกโซ่” ก็เกิดขึ้นตลอดเวลาและก็มักจะเป็น “ข่าวเล็ก ๆ” ในหน้าหนังสือพิมพ์ซัก 1-2 วันแล้วก็เลือนหายไปเพราะเงินที่โกงกันก็อาจจะแค่หลักร้อยหรือพันล้านบาท

ในช่วงที่ตลาดหลักทรัพย์  “ร้อนแรง” เพราะดัชนีหุ้นปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปีและปริมาณการซื้อขายหุ้นขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์  ก็มีข่าวการ “โกง”  เกิดขึ้นต่อเนื่อง  เม็ดเงินที่มีการโกงนั้นหลาย ๆ  กรณีคิดเป็นเงิน  “หลายหมื่นล้านบาท”  รวม ๆ  แล้วน่าจะเกิน “แสนล้านบาท” ดังนั้น  บ่อยครั้งก็เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ติดต่อกันนานหลาย ๆ  วันหรือหลาย ๆ  เดือน

การโกงทั้งหมดที่พูดถึงนั้นเฉพาะที่เป็นข่าวหรือเป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องกล่าวโทษ  ส่วนที่โกงกันแล้วจับไม่ได้คงมีอีกมากโดยเฉพาะการโกงในตลาดหลักทรัพย์ที่แม้ว่าคนโกงจะได้เงินเป็นพันหรือหมื่นล้านบาทแต่บ่อยครั้งคนที่ “ถูกโกง” ก็ “ไม่รู้ตัว”  หรือรู้แต่ก็ไม่อยากจะเอาเรื่องอะไรกับคนที่โกง  เหตุผลก็เพราะคนที่ถูกโกงแต่ละคนนั้น  “เสียหายไม่มาก” บางทีก็อาจจะเป็นการ  “ขาดทุนนิดหน่อย”  จาก “การซื้อขายหุ้น”  และก็ไม่รู้ว่าถูก  “ใครโกง”  อย่างชัดเจนเพราะไม่สามารถหาหลักฐานได้

ทำไมคนจึงชอบโกงและจะแก้ปัญหาอย่างไร?   ถ้าพูดแบบคนที่ยึดถือศีลธรรมและจารีตประเพณีเป็นหลักพวกเขาก็จะพูดว่าเป็นเพราะมีคนที่ “ไม่ดี”  อยู่ในสังคม  วิธีที่จะขจัดการโกงก็คือการไม่ให้ “คนไม่ดี” เข้ามามีบทบาทในตำแหน่งที่สามารถโกงได้ในทุกองค์กร  นอกจากนั้นก็จะต้องตั้งหน่วยงานที่เข้มแข็งและมีอำนาจมากขึ้นมาตรวจสอบและจับคนโกง  แต่ปัญหาก็คือ  เรามักจะไม่รู้ว่าคนไหนคือ  “คนไม่ดี” จริง ๆ  และหน่วยงานที่จับโกงนั้นจะตั้งใจจับ “คนโกง”  มากน้อยแค่ไหนหรือมีความสามารถพอที่จะตรวจจับคนโกงได้ดีพอหรือไม่

ในความคิดของผมแล้ว พฤติกรรมต่าง ๆ  ของคนเรานั้น  ที่สำคัญที่สุดเกิดจาก “ยีน” ของมนุษย์  แน่นอนการอบรมสั่งสอนและเรื่องของศีลธรรมก็คงจะมีส่วนบ้าง  แต่จะนำมาเป็นคำอธิบายกับคนทั่วไปได้ยาก  ยกตัวอย่างเช่น  แม้แต่  “ในวัด” ที่ทุกคนน่าจะยึดถือหลักคำสอนของศาสนาที่จะต้องไม่โกง  แต่ก็มีเรื่องราวของการโกงกันอย่างต่อเนื่องและผมคิดว่าไม่ได้มีการโกงน้อยกว่าในแวดวงอื่น ๆ  ด้วยซ้ำ

จากการวิเคราะห์โดยอาศัยเรื่องของยีนแล้ว  ผมคิดว่ามนุษย์น่าจะมี “ยีนของการโกง” อยู่ในตัว—ทุกคน  แต่ใครจะโกงหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับ “ผลตอบแทน” และ “ความเสี่ยง” ที่จะถูกจับได้และโทษทันฑ์ที่จะได้รับ  โดยที่ผลตอบแทนก็คือมูลค่าคิดเป็นเม็ดเงินที่จะได้รับ   ส่วนความเสี่ยงที่จะถูกจับได้นั้นรวมถึงการถูกจับโดยผู้รักษากฎหมายและโดย  “สังคม”  ในขณะที่โทษนั้นรวมถึงการถูกยึดเงิน  ติดคุก  และการเป็นที่ยอมรับหรือภาพพจน์ที่เสียหายในสายตาของสาธารณชน  พูดง่าย ๆ   คนจะโกงหรือไม่นั้น   เขาจะคำนวณถึงผลตอบแทนเปรียบเทียบกับความเสี่ยงแบบเดียวกับทฤษฎีทางการเงินยุคใหม่ที่มักพูดกันสั้น ๆ  ว่านักลงทุนนั้นจะคำนึงถึง  “Risk-Return”  ทางการเงินในการตัดสินใจลงทุน  แต่ในเรื่องของการโกงนั้น  ความเสี่ยงจะรวมถึงความเสี่ยงอื่นเช่น การถูกจับและติดคุกด้วย

ดังนั้น วิธีที่จะดูว่าสังคมไหนหรือหน่วยงานหรือองค์กรไหนจะมีโอกาสที่จะเกิดการโกงมากน้อยแค่ไหนจึงต้องวิเคราะห์ดูว่า  ถ้าโกงสำเร็จ   คนที่สามารถโกงได้จะได้ผลตอบแทนเท่าไร  และเขาจะมีโอกาสหรือความเป็นไปได้ที่จะถูกจับได้มากน้อยแค่ไหน  และถ้าถูกจับ  โทษคืออะไร   ตัวอย่างเช่นผู้บริหารสหกรณ์ออมทรัพย์นั้น  เนื่องจากระบบการบริหารมักจะค่อนข้างหละหลวม  ระบบการตรวจสอบบัญชีก็ไม่ค่อยได้มาตรฐานสากล  ระบบตรวจสอบภายในก็ไม่เข้มแข็งหรือไม่เป็นอิสระจากผู้บริหาร  ดังนั้น  การที่จะถูกจับได้ก็ทำได้ยากหรือไม่ก็ใช้เวลานานมาก  ในขณะที่เม็ดเงินของสหกรณ์นั้นมีจำนวนมาก บางแห่งหลายพันล้านและบางแห่งหลายหมื่นล้านบาท  ถ้าวิเคราะห์แบบนี้ก็จะเห็นว่าผลตอบแทนนั้นมหาศาลในขณะที่ความเสี่ยงต่ำ  เหนือสิ่งอื่นใด  สำหรับผู้บริหารบางคนแล้ว  ถึงจะถูกจับได้และโทษก็คือต้องติดคุก  เขาก็อาจจะคิดว่าเขาสามารถ “หนี” ไปใช้ชีวิตที่อื่นได้  หรือแม้แย่กว่าคือต้องถูกจำคุกแต่เขาก็คิดว่าคุ้มกับเม็ดเงินที่เขาจะได้รับเนื่องจากในชีวิตนี้เขา  “ไม่มีอะไรที่จะต้องเสีย”  เขาไม่เคยมีเงินมากเป็นหลาย ๆ  ล้านบาท   การที่จะได้ผลตอบแทนเป็นร้อยหรือพันล้านบาทนั้น  เขา  “แลกได้ทุกอย่าง”  ดังนั้นการโกงก็เกิดขึ้น

ตลาดหลักทรัพย์เป็นแหล่งของเม็ดเงินมหาศาลที่สามารถให้ผลตอบแทนจากการโกงสูงลิ่วโดยเฉพาะในยามที่ตลาดเฟื่องฟู   โอกาสของการโกงก็มีมากมายหลายช่องทางทั้งการโกงเงินบริษัทหรือโกงเงินผู้ถือหุ้นผ่านตลาดของการซื้อขายหุ้น  โอกาสถูกจับได้นั้นมีน้อยโดยเฉพาะถ้าเป็นการโกง  “คนเล่นหุ้น”  วิธีการโกงนั้นหลากหลายมากมายและบ่อยครั้งไม่ผิดกฎหมายหรือไม่มีทางถูกจับได้ถ้าเข้าใจกฎเกณฑ์ดีพอ  ดังนั้น  ความเสี่ยงของการโกงในตลาดหุ้นจึงต่ำแต่ผลตอบแทนสูงมาก  ผลก็คือ  ยีนบอกให้โกงถ้าเขาวิเคราะห์แล้วพบว่ามัน “คุ้ม”  ที่จะทำ

ผู้บริหารหรือนักลงทุนแต่ละคนมีความคิดเกี่ยวกับผลตอบแทนและความเสี่ยงไม่เหมือนกัน   คนที่มีเงินมากอยู่แล้วหรือคิดว่าตนเองมีเงินเพียงพอที่จะใช้ชีวิตตลอดชาติโดยไม่เดือดร้อน  การได้ผลตอบแทนมาเพิ่มอีกก็อาจจะสร้างความพึงพอใจเพิ่มไม่มาก  ในขณะที่เขาให้คุณค่ากับชื่อเสียงและภาพพจน์ของตนเองมาก  เขาคิดว่าเขาสร้างชื่อเสียงที่ดีมาตลอดชีวิตและก็ภูมิใจกับมันมาก  ดังนั้น  ถ้ามีความเสี่ยงแม้แต่เพียงน้อยนิดที่มันจะถูกทำลายไม่ต้องคิดถึงว่าเขาอาจจะต้องถูกลงโทษและติดคุก  เขาก็จะไม่โกงแม้ว่าความเสี่ยงที่จะถูกจับได้จะต่ำมากและผลตอบแทนจะสูงมาก

การโกงผู้ถือหุ้นหรือคนเล่นหุ้นนั้น  ส่วนใหญ่แล้วจะจับได้ยากโดยเฉพาะถ้าเข้าใจเกณฑ์การซื้อขายหุ้นดี  ดังนั้น  การโกงคนเล่นหุ้นผ่านราคาหุ้นที่ร้อนแรงในตลาดจึงเป็นกิจกรรมที่คนโกงทำกันมาก  ผลตอบแทนเป็นเม็ดเงินนั้นมหาศาลในขณะที่ความเสี่ยงต่ำมาก  บ่อยครั้งคนมักไม่รู้ด้วยซ้ำว่าถูกโกง  วิธีการโกงคนเล่นหุ้นนั้น  บ่อยครั้งก็ต้องอาศัยการ “ปั้นตัวเลข” ของบริษัทโดยคนโกง  นี่ก็เป็น “ความเสี่ยง”  ที่อาจจะถูกจับได้ในที่สุดเมื่อเวลาผ่านไปอาจจะหลายปี  แต่นี่สำหรับหลายคนก็อาจจะคิดว่าคุ้ม  เหนือสิ่งอื่นใด  เขาได้เงินไปมากมายแล้วและอาจจะสามารถ “เอาตัวรอดได้”  โดยอาศัยเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่ได้รับมา  ดังนั้น  เขาโกง

 

มีเรื่องที่จะพูดได้อีกยาวมากในเรื่องของการโกงในตลาดหุ้น  ความเสี่ยงของนักลงทุนในตลาดหุ้นที่จะ  “ถูกโกง”  ในยามนี้นั้นผมคิดว่า  “สูงมาก”  อย่างไรก็ตาม  ตลาดหุ้นไม่เคย Discount หรือนำความเสี่ยงของการถูกโกงเข้ามาคิดในการตีราคาหุ้น   ไม่เคยมีนักวิเคราะห์ไหนกล้าพูดว่า  “บริษัทนี้มีความเสี่ยงที่ผู้ถือหุ้นจะถูกโกง  ดังนั้นราคาหุ้นจึงควรมีส่วนลดลงมา 50% จากราคาพื้นฐานที่คำนวณได้” 

สำหรับผมแล้ว  หุ้นทุกตัวจะต้องถูกประเมินโดยดูสภาพแวดล้อมรวมถึงแรงจูงใจของผู้บริหารว่าจะมีโอกาสโกงมากน้อยแค่ไหน  ถ้ามีโอกาสสูงผมมักจะหลีกเลี่ยงหรือไม่ก็ต้องลดมูลค่าพื้นฐานที่คำนวณได้ลงอย่างมาก  ในส่วนของตัวเอง  ผมก็คิดว่าผลตอบแทนที่จะได้จากหุ้นไม่ว่าจะมากแค่ไหนก็ไม่คุ้มกับความเสี่ยงที่เราจะเสียชื่อเสียงจากการ“โกง”  ซึ่งรวมถึงการพยายาม  “ปั่นหุ้น”  เพราะผมมีเงิน “มากเกินพอแล้ว”

 

บทความโดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

stock2morrow

ศูนย์รวมความรู้เรื่องหุ้น ศูนย์รวมนักลงทุนรายย่อย ที่อยากรู้วิธีการลงทุนในหุ้นอย่างถูกต้องและได้กำไรอย่างยั่งยืน ติดตามเราได้ที่ LINE@stock2morrow, FB:stock2morrow และ www.stock2morrow.com 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0