โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

การอยู่เป็นของ 'หลวงเจ๊' ในศูนย์กลางพุทธโลกที่มีพุทธธรรมเป็นต้นทุนส่งออกสันติภาพโลก

The MATTER

อัพเดต 16 ม.ค. 2561 เวลา 13.43 น. • เผยแพร่ 16 ม.ค. 2561 เวลา 03.55 น. • seX-ray

มันเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องตอนปลายปี 2560 หลังจากมีสุภาพสตรีกลุ่มหนึ่งเดินฉุยฉายเข้าไปในอุโบสถวัดทางภาคเหนือ เมินป้าย 'ห้ามผู้หญิงขึ้น' กับความเชื่อประเภทผู้หญิงเป็นเพศสกปรก มีประจำเดือนสามารถทำให้อาคมความศักดิ์สิทธิ์เสื่อมได้ อันเป็นซากความเชื่อตกค้างตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มีการศึกษาสมัยใหม่ ไม่มีความรู้วิทยาศาสตร์การแพทย์ ชีววิทยา ไม่มีนวัตกรรมที่เรียกว่าผ้าอนามัย และเป็นผลผลิตของสังคมปิตาธิปไตยที่ไม่รู้จักว่าทุกเพศมีคุณค่าศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน และการเหยียดเพศยังมีสถาบันศาสนาเข้ามารองรับสร้างความชอบธรรมอยู่

แม้ว่าดูเผินๆ มนุษย์ป้าอายุอานามน่าจะหมดประจำเดือนแล้วก็ตาม ทว่าทางวัดก็ยังประหวั่นพรั่นพรึงว่าจะเกิดความฉิบหายวายป่วง จึงอาศัยวันปีใหม่ตามปฏิทินสากล จัดพิธีกรรมขอขมาตามความเชื่อท้องถิ่น สวดมนต์ข้ามปี พร้อมกับพิธีปัดเสนียด 'ถอนขึด' ไปเลย ขณะเดียวกันก็ประกอบพิธีกวนข้าวทิพย์ ซึ่งเป็นการยืนยันถึงความเชื่อความไม่เท่าเทียมทางเพศของวัด

จะด้วยรู้เท่าไม่ถึงการ ไร้เดียงสา หรือตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เพราะกวนข้าวทิพย์เป็นพิธีที่ต้องให้ผู้หญิงพรหมจารีขึ้นเปิดกวนคนแรก ด้วยสำนึกการรักษาบริสุทธิ์ ให้คุณค่าผู้หญิงด้วยเรื่องเพศ ผู้หญิงต้องรักนวลสงวนตัว อุทิศกายและใจให้ชายที่รักเท่านั้น มีหน้าที่ตอบสนองความใคร่ของสามีเท่านั้น ขณะที่ผู้ชายสามารถตอบสนองความต้องการทางเพศได้อย่างอิสระเสรี และเป็นการตีตราผู้หญิงผ่านเพศของเธอว่าบริสุทธิ์หรือมีมลทิน

อย่างไรก็ตาม ทางวัดไม่สามารถเสาะแสวงหาหญิงพรหมจรรย์มาประกอบพิธีนี้ได้ จึงต้องให้สามเณรมากวนแทน[1]

อ้าวแบบนี้ก็ได้หรอ ทำไมวัดอะลุ่มอล่วยง่ายจุง ไม่กลัวประเพณีจารีตอันดีงามล่มสลายแล้วหรา…โฆษกวัดไม่ถูกผีสิงอาละวาดทำลายข้าวของด้วย ไม่มีใครชักดิ้นชักงอจะเป็นจะตายไปกองกับพื้นว่าลบหลู่วัฒนธรรมดั้งเดิมแล้ว…ไม่ยึดธรรมเนียมข้อปฏิบัติเก่าแก่แล้วไม่กลัวกาลกิณีอัปรีย์จัญไรกันแล้วหรา นี่ประเพณีเขายึดถือหลายร้อยปีเชียวน้าาาาาา…

แหม่ รู้ข่าวแล้วได้แต่ยิ้มมุมปากดีใจ ถ้าวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่นใจกว้าง ยืดหยุ่นแบบนี้ อะไรๆ ก็คงดีเนอะ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเพศที่ถูกจัดวางภาพลักษณ์ให้เป็นคู่ตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิงกับศาสนา จนกลายเป็นจักรวาลคู่ขนาน ทางเสื่อม-ทางสว่าง, โลกียะ-โลกุตระ, sexual-asexual, พระจึงต้องรักษาพรหมจรรย์ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเพศ การแสดงออกถึงความใคร่ความต้องการทางเพศจึงถูกจับแยกออกจริยวัตรของสงฆ์

ปฏิเสธไม่ได้ว่าพุทธเถรวาทไทยไม่เพียงมีทัศนคติติดลบต่อกามารมณ์และกิจกรรมทางเพศ ว่าเป็นกิเลสตัณหา

สีกาจึงถูกอธิบายให้เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรมของสงฆ์ แต่ยังเป็นสถาบันให้ความชอบธรรมความเหลื่อมล้ำทางเพศ ที่รักษาสถานภาพผู้หญิงให้ต่ำกว่าชาย รูปธรรมหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือการไม่ยอมรับผู้หญิงเข้าสู่ศูนย์กลางสังฆมณฑล เพียงแต่เจียดพื้นที่ชายขอบให้บ้างในฐานะแม่ชี อุบาสิกาคอยปรนนิบัติรับใช้ศาสนาอีกที แต่ต้องไม่ใช่พระสงฆ์นักบวชหญิง[2]

เพราะสถาบันศาสนาพุทธเถรวาทก็เช่นเดียวกับศาสนาสากลอื่นๆ ที่เป็นผลผลิตของผู้ชายและระบอบปิตาธิปไตย ไม่ว่าจะมีสาวก ศาสนิกหรือแม้แต่นักบวชผู้หญิงหรือไม่ก็ตาม วาทกรรมจำนวนมากในนามของศาสนาก็มักจะผลักให้ผู้หญิงกลายเป็นอื่นอยู่ดี หรือจัดให้มีคุณค่าต่ำกว่าชาย กุศลผลบุญมากย่อมทำให้กลายเป็นชาย อกุศลมากย่อมกลายเป็นหญิง เหมือนกับที่พระไตรปิฏกบอกไว้[3]

ในโลกของพุทธเถรวาท ไม่เพียงมีแต่เพศชายกับหญิงเท่านั้น หากแต่ยังมีเพศ 'บัณเฑาะก์' ในอรรถกถาหมายถึงผู้ที่ไม่เป็นหญิงไม่เป็นชาย เป็นความบกพร่องทางกายภาพ มีกิเลสหนา กำหนัดกลัดกลุ้มไม่สร่างซา ปรารถนาสนิทสนมเสพกามกับผู้ชาย ซึ่งก็ได้จำแนกประเภทบัณเฑาะก์มากมายทั้งผู้ที่ไม่มีอวัยวะเพศ ผู้ที่ตัดอวัยวะเพศเช่นขันที ผู้ชายที่มีกิจกรรมทางเพศกับผู้ชายด้วยกัน ชอบยั่วยวนเสพกามกับชายอื่น ชอบใช้ปากอมองคชาติแล้วให้น้ำอสุจิราดตัว ดูดกินน้ำอสุจิเพื่อลดความกระเซ่าเร่าร้อน ผู้ชายที่ชอบดูชายอื่นประกอบกิจกรรมทางเพศ และผู้ที่กระวนกระวายเร่าร้อนต้องการมีเพศสัมพันธ์เฉพาะช่วงข้างแรม[4]

และจากทัศนะของพระพุทธศาสนา บัณเฑาะก์เกิดจากแรงอกุศลกรรมจากการประพฤติล่วงละเมิดศีลข้อกาเมสุมิจฉาจาร เป็นชู้กับเมียชาวบ้าน สั่งสมไว้เมื่อชาติปางก่อน กลายเป็นวิบากกรรมที่ต้องชดใช้ในชาติต่อๆไป เหมือนกับใน 'มหานารทกัสสปชาดก' ที่เล่าถึงอดีตของพระอานนท์ในชาติปางก่อนเคยล่วงละเมิดภรรยาผู้อื่น เมื่อตายไปก็เกิดเป็นลาและถูกตอน แล้วเมื่อเกิดเป็นลิงก็ถูกกัดอัณฑะ เกิดมาเป็นวัวก็ถูกตอนอีก แล้วมาเกิดเป็นบัณเฑาะก์แล้วก็เกิดเป็นผู้หญิง[5] การเกิดเป็นหญิงหรือบัณเฑาะก์จึงกลายเป็นบทลงโทษทางศาสนาอย่างหนึ่ง

มากไปกว่านั้น บัณเฑาะก์ยังถือว่าเป็น 'อภัพบุคคล' ไม่ควรบวชให้หรือบวชไม่ขึ้น โดยมีกฎบัญญัติที่เรียกว่า 'พระวินัยปิฏก' ว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มบุคคลที่ต้องห้ามบวช เช่นเดียวกับคนที่ฆ่าพ่อฆ่าแม่ คนทำร้ายพระพุทธเจ้า คนฆ่าพระอรหันต์ สัตว์ดิรัจฉาน คนมี 2 อวัยวะเพศ (อุภโตชยัญชนก)[6]

ทว่าในโครงสร้างการจัดระเบียบเพศสมัยใหม่ ตามความรู้วิทยาการตะวันตกในศตวรรษที่ 19 ทั้งวาทกรรมทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์ เพศศึกษา ที่จัดประเภทเพศวิถีใหม่อย่างไม่ยืดหยุ่น ด้วยการขีดเส้นแบ่งออกเป็นขั้วตรงข้ามระหว่างรักเพศเดียวกัน (homosexual) กับรักต่างเพศ (heterosexual) พุทธเถรวาทไทยก็ได้ตีความรวม ชายรักเพศเดียวกัน กะเทย อัตลักษณ์ทางเพศแบบเกย์ เข้าไปอยู่ในหมวดหมู่ 'บัณเฑาะก์' แม้จะตั้งอยู่บนสำนึกคนละชุดกับการแบ่งเพศกัน

การตัดสินใจบวชเป็นพระนั้นเอาเข้าจริงมีหลายเหตุผลปัจจัย เช่น ความต้องการตอบแทนพระคุณพ่อแม่ ให้บุพการีดีใจ ความยากจน การประกอบอาชีพดำรงชีวิตเป็นพระหารายได้ การเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา ไปจนถึงการหลบความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมฆราวาส ด้วยการเข้าไปสู่สถานะอันศักดิ์สิทธิ์ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้านายลูกน้อง ครูนักเรียน อาจารย์นักศึกษา พ่อแม่ลูกสิ้นสุดลง อย่างน้อยที่สุดในช่วงเวลาแห่งการห่มผ้าเหลือง นำไปสู่การสลับบทบาทกันที่ครูบาอาจารย์เจ้านายพ่อแม่ต้อเชื่อฟังเคารพลูกลูกศิษย์หรือลูกน้องที่บวช ซึ่งเป็นการบรรเทาความตึงเครียดของความสัมพันธ์เชิงอำนาจอย่างหนึ่ง

เงื่อนไขการพิจารณาให้เพศใดได้บวชก็เป็นการตัดบางเพศออกจากโอกาสเหล่านั้น และสงวนอภิสิทธิ์ให้ผู้ชายเพศเดียวเท่านั้นในสังคมที่มีเพศหลากหลาย

การเบียดขับ 'บัณเฑาะก์' ออกจากพื้นที่ศาสนายังเป็นนิยามความหมายของ 'ความเป็นชายแท้' และ 'ไม่ใช่ชายแท้' ภายใต้สังคมชายเป็นใหญ่ ให้เป็นสิ่งที่ไร้ระเบียบ มีสภาวะอันตรายและน่าละอาย เพราะไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมทางเพศได้ ภายใต้ชุดความคิดที่เรื่องเพศเป็นสิ่งสกปรก[7] เพราะในโลกเถรวาทแบบไทยๆ การบวชไม่ได้ทำให้ผู้ชายเข้าสู่ภาวะไร้เพศสภาพเพศวิถี ไม่ข้องเกี่ยวกับเซ็กซ์ หากแต่เป็นพิธีกรรมที่เชื่อว่าเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ผู้ชายเต็มตัวตามอุดมคติ เหมือนที่เชื่อว่าโตเป็นหนุ่มเต็มที่ต้องผ่านพิธีกรรมบวชก่อนจะแต่งงานครองเรือน

เหมือนกับที่ห้ามผู้หญิงบวชห้ามผู้หญิงขึ้นพระธาตุอุโบสถน่ะแหละที่พระต้องผ่องแผ้วจากผู้หญิง ทั้งไม่เข้าใกล้แตะต้องผู้หญิงหรือเป็นผู้หญิงเสียเอง ด้วยเหตุนี้ไม่เพียงการเคลื่อนไหวเพื่อให้มีภิกษุณีในประเทศจะเต็มไปด้วยความยากลำบาก การที่ภิกษุจะ 'สาว' ก็ถูกกำจัดออกไปจากศาสนาจักรเช่นกัน ภายใต้การผูกขาดความหมายของศาสนาโดยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

อย่างไรก็ตามคนรักเพศเดียวกัน ผู้ชายที่มีอากัปกิริยาคล้ายผู้หญิงบางคนก็ยังสามารถบวชได้ เนื่องจากการบวชของบัณเฑาะก์ในปัจจุบันเป็นเรื่องความพยายามจัดการกับอารมณ์ความต้องการทางเพศภายใต้กฎของศาสนามากกว่าการรับรู้เพศสภาพเพศวิถีของตนเอง ภายใต้ความพยายามไกล่เกลี่ยต่อรองระหว่างบริบทสังคมอันซับซ้อนทั้งทางโลกและธรรมกับโลกในอุดมคติตามพระวินัยปิฏก[8]

เพราะอะไรๆ มันก็อะลุ่มอล่วยรอมชอมกันได้ เณรยังทำหน้าที่แทนหญิงบริสุทธิ์เปิดกวนข้าวทิพย์ได้เลย บัณเฑาะก์ก็น่าจะบวชได้สิ

ทว่าพระสงฆ์หรือเณรกลุ่มนี้ก็ถูกนิยามอย่างเหยียดๆ เชิงล้อเลียนเป็น 'พระตุ๊ดเณรแต๋ว' บ้าง 'หลวงเจ๊' บ้าง ซึ่งการอยู่เป็นของหลวงเจ๊นี้ อาจมีเงื่อนไขต่อรองด้วย 'ความเป็นหญิง' ว่า 'ความเป็นหญิง' นั้นสามารถเข้ากับชุมชน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมวัดได้แค่ไหน เช่นพัฒนาวัด ช่วยงานวัดตามประเพณีจนสวยงามสะอาดสะอ้าน ตบแต่งพับดอกไม้ไหว้พระจนได้รับการชื่นชมว่ามีความสามารถ เพราะวัดเองก็ยังต้องพึ่งพิงชุมชน การสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีเกื้อกูลกันก็ทำให้ชาวบ้านพออดทนได้กับเรื่องนั้นไป

แต่มันจะกลายเป็นปัญหาก็เมื่อพระเหล่านั้นแอบไปมีเซ็กซ์แล้วถูกเปิดโปง ซึ่งไม่ว่าจะเพศวิถีใดมีอะไรกับเพศเดียวกันหรือต่างเพศ เพราะด้วยตัวของพุทธเถรวาทเองเพศสัมพันธ์เป็นสิ่งไม่ดี หรือไม่ก็มี 'ความเป็นหญิง' เหมือนนางร้ายในละคร ทำตัวร้ายๆ เป็น Mean Girl แต่งหน้าทาปากจัดจ้าน รักสวยรักงาม มั่นหน้ามงลง เป็นตัวของตัวเอง ก๋ากั่น ยั่วยวน แสดงออกถึงความต้องการความปรารถนา ต้องการให้ดึงดูดทางเพศ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการสร้างอำนาจของผู้หญิง เพราะเสน่ห์เย้ายวนของผู้หญิงถือว่าเป็นอำนาจและเครื่องมือหนึ่งในการต่อรองกับผู้ชาย ซึ่งผู้หญิงเช่นนั้นคือ 'หญิงไม่ดี' สำหรับสังคม

หลวงเจ๊ที่อยู่เป็นจึงต้องจำลองคุณสมบัติ 'หญิงดี' ทำตัวเป็นดาราจิตสาธารณะใฝ่ธรรมะ เป็นนางเอกทั้งในจอและนอกจอประหนึ่งแพนเค้ก-เขมนิจ จามิกรณ์ หรือสยบยอมต่อวาทกรรมทางสังคมกระแสหลัก ข่มเก็บความรู้สึกและอารมณ์ของตนเอง ก้มหน้าก้มตาปฏิบัติและผลิตซ้ำความหมายเดิมๆ ในสังคมแบบไม่ออกมาตั้งคำถาม ซึ่งเป็นการท้าทายโครงสร้างสังคมแม้แต่คำถามที่ใกล้ตัวมากที่สุดว่า “บัณเฑาะก์ไม่ดีอย่างไร ทำไมศาสนาพุทธต้องเหยียดต้องกีดกัน”

หากแต่จะต้องพูดจาภาษา Miss Universe รุ่นเก่า ที่ติดปากคำว่า World Peace สักแต่พูดสันติภาพหรือประดิดประดอยคำพูดสวยหรูแต่จับหาสาระข้อเท็จจริงรูปธรรมอะไรไม่เจอ ขอแค่เชียร์รัฐเผด็จการ เอาใจอุดมการณ์ขวาจัดที่ถืออาวุธอยู่ถือเป็นพอ เช่น ค่านิยมสิบสองประการของเผด็จการคล้ายธรรมะในพุทธศาสนา หรือประชาธิปไตยที่ไม่มีธรรมะคือหายนะมวลรวมประชาชาติ

เมื่ออยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์และสถาบันขวาจัดติดอาวุธ ไม่ว่าจะถูกล้อถูกแซะถูกเหยียด ก็บ่ยั่น ไม่ไหวติง และไม่มีใครกล้าเข้าไปตรวจสอบปราบปราม

บางที 'พระตุ๊ดเณรแต๋ว' อาจจะไม่ใช่ปัญหา แต่มันสะท้อนปัญหาต่างๆ ภายในประเทศที่อ้างว่าเป็นเมืองพุทธ พุทธมณฑล เป็นศูนย์กลางพุทธโลก มีพุทธธรรมที่เป็นต้นทุนในการสร้างสันติภาพ เป็นแหล่งส่งออกสันติภาพสู่ประชาคมโลก แต่ความเป็นจริงกลับเต็มไปด้วยสำนึกรังเกียจ 'ความเป็นหญิง' เกย์กะเทยและผู้หญิงในสถาบันศาสนา การเลือกปฏิบัติ การมีสองมาตรฐานเพื่อบุคคลใดบุคคลนึงโดยเฉพาะจนกลายเป็นไร้มาตรฐาน ต้องอาศัยระบอบเผด็จการเป็นพำนักพิงเพื่อให้มีที่ยืนและตัวตน ไปจนถึงการใช้ธรรมะสร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจที่ไม่ชอบธรรมที่มาจากรัฐประหาร ต่อต่านเสรีประชาธิปไตยในนามศาสนา

หรือบางทีปัญหาอาจจะอยู่ที่ว่า ในโลกที่ไม่ต้องการสองมาตรฐาน การเลือกปฎิบัติบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ในโลกที่อยากเห็นคนทุกคนได้รับคุณค่าความเป็นคนเท่าเทียมกัน และสันติภาพที่ไม่ได้ออกมาจากปากกระบอกปืน หรือนักบวชที่อิงแอบกับกลุ่มผู้ติดอาวุธและระบอบเผด็จการ เรายังจะต้องสมาทานหรือยึดถือสถาบันเช่นนั้นอีกหรือไม่ หรือจำเป็นมั้ยที่จะเอาตัวเองไปวางไว้ในพื้นที่เช่นนั้น แล้วปล่อยให้คำสอนเหล่านั้นควบคุมกำกับเราไปเรื่อยๆ

อ้างอิงข้อมูลจาก

[1] www.tnamcot.com

[2] สุชาดา ทวีสิทธิ์. “ผู้หญิง ผู้ชาย และเพศวิถี : เพศภาวะในงานมานุษยวิทยา” วารสารสังคมศาสตร์ ปีที่19 ฉบับที่ 1 (2550) : 312-358.

[3] พระมหาสักชาย กนฺตสีโล. การศึกษาวิเคราะห์เรื่อง "บัณเฑาะก์" ในกลุ่มพระภิกษุสามเณรไทยในปัจจุบัน. กรุงเทพฯ : คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2551, น. 21-23.

[4] เรื่องเดียวกัน, น. 10-12, 14-16.

[5] เรื่องเดียวกัน, น. 23.

[6] เรื่องเดียวกัน, น. 30.

[7] นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ. เพศและความเป็นชายในพุทธศาสนา กับการควบคุมภิกษุ สามเณร และบัณเฑาะก์. วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, ปีที่ 12 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2559), น. 3-25.

[8] เรื่องเดียวกัน.

Illustration by Kodchakorn Thammachart

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0