โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

กสิกรชี้ Q3 เศรษฐกิจโต 3.8% โค้งท้ายยังแรง-ระวัง! บาทแข็งค่าข้ามปี

ประชาชาติธุรกิจ

เผยแพร่ 18 พ.ย. 2560 เวลา 14.27 น.
33

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดเศรษฐกิจไตรมาส 3 โต 3.8% อานิสงส์ “ส่งออก-ท่องเที่ยว” แรงดีไม่มีตก บวกภาคลงทุน-รัฐเบิกจ่ายหนุน ลุ้นไตรมาส 4 โตถึง 4% ชี้สัญญาณเริ่มดีขึ้น ยกเว้นรากหญ้า ส่องค่าเงินบาทแข็งขึ้นยาวปีหน้า เหตุเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง ผู้ว่าการ ธปท.ปลอบใจค่าเงินบาทแข็งช่วงสั้น ย้ำให้นักธุรกิจทำป้องกันเสี่ยง

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ประเมินเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยในไตรมาส 3 ที่สภาพัฒน์จะแถลงวันที่ 20 พ.ย.นี้ จะขยายตัวได้ 3.8% เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ที่โต 3.7% โดยเป็นผลมาจากส่งออกและภาคการท่องเที่ยวที่ยังเติบโตดีต่อเนื่อง รวมไปถึงการลงทุนและการเบิกจ่ายงบฯลงทุนของภาครัฐที่เพิ่มขึ้น ขณะที่แนวโน้มไตรมาส 4 นี้ จีดีพีน่าจะเติบโตได้ใกล้ 4% เนื่องจากเริ่มเห็นตัวเลขต่าง ๆ ปรับตัวดีขึ้น ถึงแม้ว่าการบริโภคระดับรากฐานยังไม่ได้ฟื้นตัวมากนัก แต่โดยรวมมีความเป็นไปได้ในปีนี้ จีดีพีเติบโตได้ตามเป้าที่ 3.7%

“เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นเป็นลำดับ แต่ยังมีเซ็กเตอร์ที่น่าเป็นห่วงคือ ภาคการเกษตรที่เจอปัญหาน้ำท่วม ทำให้ไม่สามารถจับจ่ายหรือบริโภคที่ดีนัก ส่งผลให้การฟื้นตัวมาจากภาคส่วนอื่น ๆ มากกว่า” นายเชาว์กล่าว

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทในขณะนี้ ทางศูนย์วิจัยมองว่าจะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องไปถึงปีหน้า เพราะไทยมีรายได้จากการส่งออกเข้ามาค่อนข้างมาก ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูง ขณะที่เงินต่างชาติที่เข้ามาลงทุนปีนี้ไม่มาก รวมถึงนักลงทุนรับรู้การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ไปพอสมควรแล้ว ดังนั้น ทิศทางเงินบาทจะอ่อนค่าอาจ “ลดน้อย” ลง จึงอาจมีการปรับประมาณการค่าเงินบาทใหม่ จากที่เคยประเมินว่า ค่าเงินบาท ณ สิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในระยะนี้เป็นผลมาจากสกุลหลัก “ดอลลาร์สหรัฐ” ที่อ่อนค่าลงเพราะปัจจัยทางการเมือง ซึ่งค่าเงินบาทก็แข็งค่าตามสกุลเงินประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค โดยยังมีสกุลเงินอื่นในภูมิภาคที่แข็งค่ากว่าค่าเงินบาทของไทย ซึ่งแนวโน้มค่าเงินยังเผชิญกับความผันผวนจากปัจจัยนอกประเทศ

ดังนั้นผู้ประกอบการยังคงต้องบริหารความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน (FX) เช่น การซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (forward) สิทธิในการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ (FX option) ส่วนเศรษฐกิจได้เห็นสัญญาณหลายด้านที่บ่งบอกว่า เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวชัดเจน เช่น การส่งออกที่ฟื้นตัวกระจาย ซึ่งไม่ได้กระจุกตัวอยู่ในหมวดใด

หมวดหนึ่งเหมือนก่อนหน้านี้ การนำเข้าเครื่องจักรที่เป็นสินค้าทุน สิ่งเหล่านี้ถือเป็นสัญญาณบวกต่อเศรษฐกิจที่จะขับเคลื่อนต่อไปในปีหน้า แต่ก็มีบางด้านที่ยังน่าเป็นห่วงโดยเฉพาะภาคเกษตรที่การฟื้นตัวเริ่มจำกัดหลังเกิดภาวะน้ำท่วม ปัญหาภัยแล้ง รวมถึงราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ภาคครัวเรือนยังมีการสร้างหนี้สินอยู่ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 77-78% ของจีดีพี ถือว่าสูงเป็นลำดับต้น ๆ ในโลก

“สิ่งเหล่านี้ถือเป็นความเปราะบางและเป็นข้อจำกัดให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวไม่ได้มาก โดยเฉพาะเศรษฐกิจในต่างจังหวัด เนื่องจากมีภาระหนี้สินค่อนข้างมาก” นายวิรไทกล่าว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0