โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

กยท. แนะช่องทางเพิ่มรายได้ในสวนยาง แบบ “เกษตรผสมผสาน” ตามศาสตร์พระราชา

เทคโนโลยีชาวบ้าน

เผยแพร่ 17 ก.พ. 2561 เวลา 04.01 น.
IM 1

*กรณีปัญหาราคายางพาราตกต่ำที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้ปริมาณการใช้ยางลดลง สวนทางกับไทยที่มีผลผลิตยางเพิ่มขึ้น จากการส่งเสริมให้ปลูกยางพาราในอดีต *

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2560 ว่า เกษตรกรไทยปลูกยางเป็น “พืชเชิงเดี่ยว” เป็นส่วนมาก เมื่อเจอปัญหาราคายางผันผวน จึงส่งผลกระทบต่อรายได้ของครัวเรือนอย่างรุนแรง แนวทางการแก้ไขยางพาราอย่างยั่งยืน คือส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก “พืชทางเลือก” เช่น ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว ปลูกพืชเชิงซ้อนอื่นๆ หรือทำประมง ฯลฯ เพื่อสร้างรายได้เพิ่มควบคู่กับการปลูกยาง เช่นเดียวกับมาเลเซียและอินโดนีเซีย

การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลกำกับด้านการปลูกยางพาราโดยตรง ได้ถ่ายทอดแนวคิดเชิงนโยบายของรัฐบาลสู่ภาคปฏิบัติ โดยส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนยางพาราทั่วประเทศ เปลี่ยนจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว มาทำ “เกษตรผสมผสาน” ตามศาสตร์พระราชา เพื่อก้าวไปสู่ เกษตร 4.0 ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์รัฐบาล

ทั้งนี้ ภาครัฐได้สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยทั่วประเทศประกอบอาชีพเสริมไปแล้วกว่า 380,000 ราย โดยปี 2560 มีชาวสวนยางหันมาทำเกษตรแบบผสมผสานมากขึ้นกว่า 3,000 ราย คิดเป็น ร้อยละ 7 ของจำนวนเกษตรกรทั้งหมดที่โค่นยางในปีที่ผ่านมา โดยอาชีพเสริมที่เกษตรกรชาวสวนยางให้ความสนใจ ได้แก่ การปลูกพืชแซม ประเภทไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก พืชไร่ พืชสมุนไพร รวมทั้งการทำปศุสัตว์และการประมง ควบคู่ไปกับการทำสวนยาง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและกระจายความเสี่ยง เพราะมีช่องทางสร้างรายได้ที่หลากหลาย ลดการพึ่งพารายได้จากการทำสวนยางแต่เพียงอย่างเดียว

ช่วงต้นปี 2561 การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้จัดนิทรรศการ เรื่อง “ทำเกษตรแบบผสมผสาน ตามศาสตร์พระราชา” ในงานวันยางพาราและงานกาชาดบึงกาฬ 2561 โดยนำเสนอแนวคิดการสร้างรายได้เสริมในสวนยางพาราในหลากหลายรูปแบบ

 

*เลี้ยงหนูนาในบ่อซีเมนต์ สร้างรายได้งาม *

ทุกวันนี้ “หนูนา” กลายเป็นอาหารพื้นบ้านเมนูเด็ดที่ถูกใจคนไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงหน้าแล้ง หนูนาจะหายากมาก เกษตรกรหลายรายจึงใช้เวลาว่างเลี้ยงหนูนาในบ่อซีเมนต์ขาย เพราะหนูนาเลี้ยงง่าย ขายดี เป็นที่ต้องการของตลาดตลอดทั้งปี สร้างรายได้ทะลุหลักหมื่นบาทต่อเดือน

คุณพิชิต ศรีจันทร์ อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 21/1 หมู่ที่ 6 ตำบลนาสะแบง อำเภอศรีวิไล จังหวัดบึงกาฬ โทร. (098) 367-1802 เกษตรกรชาวสวนยางรายนี้ ได้ปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตร จากเดิมทำสวนยางเป็นพืชเชิงเดี่ยว มาทำสวนยางพาราแบบผสมผสาน บนเนื้อที่ 11 ไร่ โดยมีอาชีพเสริมที่หลากหลาย ทั้งปลูกไม้ผล เลี้ยงสัตว์ และปลูกผักสวนครัว นอกจากนี้ ยังเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์หนูนา ซึ่งเป็นที่นิยมบริโภค การเลี้ยงหนูนาใช้เวลาเลี้ยงสั้น ต้นทุนต่ำ ที่สำคัญขายได้กำไรดีมาก

คุณพิชิต เลือกเลี้ยงหนูนาเป็นรายได้เสริม โดยลงทุนซื้อบ่อท่อซีเมนต์ จำนวน 2 วง นำมาวางซ้อนกัน จำนวน 3-4  บ่อ หลังจากนั้น เจาะด้านล่างท่อซีเมนต์และเชื่อมบ่อด้วยท่อ พีวีซี เพื่อให้หนูนาได้มีพื้นที่ในการนอน กินอาหาร และวิ่งหากันได้ รองพื้นด้วยฟางข้าวแห้ง แกลบดิบ เพื่อดูดกลิ่น เสิร์ฟด้วยหัวอาหารผสมรำอ่อน กล้วยสุก หญ้าเนเปียร์ ข้าวเปลือก ซึ่งเป็นอาหารที่หนูนาหนูช้อบชอบ คุณพิชิตใช้เวลาเลี้ยงหนูนา ประมาณ 3 เดือน ก็ขายเป็นพ่อแม่พันธุ์ น้ำหนัก 4-5 ขีด ในราคาคู่ละ 500 บาท ใครสนใจไอเดียนี้ก็นำไปทดลองใช้ได้ไม่สงวนลิขสิทธิ์

เลี้ยงแพะในสวนยางพารา

คุณพันธ์ ยามดี เกษตรกรเจ้าของสวนยางพารา อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 18 หมู่ที่ 14 ตำบลบ้านต้อง อำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ โทร. (063) 137-2489 ปัจจุบันเขามีอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ด้วยการเลี้ยงแพะในสวนยางพาราของตนเองมากกว่า 3 ปี โดยเลี้ยงแพะพันธุ์ลูกผสม ที่สามารถต้านทานโรคได้ดี ใช้เวลาเลี้ยงขุนแพะในสวนยางพาราประมาณ 4 เดือน ก็จับแพะออกขายได้ ในราคากิโลกรัมละ 145 บาท

ปัจจุบัน คุณพันธ์ ได้รวมกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะขุนจำหน่าย ภายใต้ชื่อ “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนปศุสัตว์พัฒนาเจริญก้าวหน้าบ้านภูทรายทอง” อำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ โดยมีสมาชิกกลุ่มจำนวน 59 ราย เลี้ยงแพะขุนรวมกันกว่า 280 ตัว มีตลาดหลักอยู่ที่จังหวัดหนองคาย และ สปป.ลาว นอกจากนี้ ยังมีพ่อค้าเข้ามารับซื้อผลผลิตถึงในสวน เพื่อส่งแพะไปขายต่อที่ประเทศเวียดนาม

หลายคนอาจคิดว่า “แพะ” เป็นสัตว์เลี้ยงที่เหม็นสาบ สกปรก กินอาหารไม่เลือก แต่ความจริงแล้ว แพะเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่เลี้ยงง่าย เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันมากที่สุด เพราะการเลี้ยงแพะมีจุดเด่นหลายประการ เช่น  ให้ผลตอบแทนเร็ว ใช้ระยะเวลาสั้นกว่าการเลี้ยงโค แพะหากินเก่ง กินพืช ใบไม้ได้หลายชนิด แพะทนทานต่อทุกสภาพภูมิอากาศ แพะมีขนาดตัวเล็กใช้พื้นที่น้อย เลี้ยงง่าย และให้ผลผลิตคุ้มค่ากับการลงทุน

คุณพันธ์ ยืนยันว่า การเลี้ยงแพะเป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางพาราได้เป็นอย่างดี แม้จะมีปัญหาด้านราคายางพาราตกต่ำหรือปัญหาภัยแล้ง ก็ไม่มีผลกระทบต่อรายได้ในการเลี้ยงครอบครัวมากนัก

 

*เลี้ยงปลาร่วมในสวนยาง ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง *

“การเลี้ยงปลาดุก” เป็นหนึ่งในอาชีพเสริมที่น่าสนใจ เพราะช่วยลดรายจ่ายค่าอาหาร เพิ่มรายได้ทำเงินร่วมกับการทำสวนยางพารา เพราะปลาดุกเลี้ยงง่าย อัตราการเจริญเติบโตสูง มีความทนทานต่อโรคได้ดี สามารถเลี้ยงได้ในบ่อซีเมนต์ บ่อพลาสติก และบ่อดิน เกษตรกรนิยมเลี้ยงกันมากและมีการบริโภคเนื้อปลาดุกกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากปลาดุกมีรสชาติดี ราคาถูก เลี้ยงไว้เพื่อบริโภคภายในครอบครัว หรือเลี้ยงเพื่อจำหน่ายก็ได้ เป็นการสร้างรายได้ ลดรายจ่ายตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย

 

*เลี้ยงกบในกระชังบก  *

นอกจากนี้ กยท. ได้นำเสนอแนวคิด เรื่อง “การเลี้ยงกบในกระชังบก” ซึ่งเป็นอาชีพเสริมรายได้ที่กำลังได้รับความนิยมในกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพาราในภาคอีสาน ทั้งเลี้ยงเพื่อบริโภคในครัวเรือนและเลี้ยงเพื่อการค้า โดยเลี้ยงในบ่อดิน เลี้ยงในคอก เลี้ยงในกระชังบกและเลี้ยงในบ่อซีเมนต์

ข้อดีของการเลี้ยงกบ คือ ดูแลรักษาง่าย เลือกพื้นที่วางบ่อได้ตามต้องการ การเปลี่ยนถ่ายน้ำก็ไม่ยุ่งยาก ต้นทุนการผลิตก็ไม่แพง หลักสำคัญของการเลี้ยงกบคือ ต้องเลือกซื้อพันธุ์กบที่ดี คอยหมั่นเปลี่ยนถ่ายน้ำให้สะอาด และคอยหมั่นสังเกตเรียนรู้นิสัยของกบ

นวัตกรรมแปรรูป เพิ่มมูลค่ายางพารา   

ที่ผ่านมา รัฐบาลยังสนับสนุนให้เกิดการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มยางพาราภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยส่งเสริมด้านการตลาด สนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยชดเชยอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 3 ต่อปี ให้แก่สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบการ ที่ดำเนินธุรกิจแปรรูปยาง ทั้งเป็นเงินทุนหมุนเวียน การปรับปรุงอาคาร การจัดหาเครื่องจักร อุปกรณ์สมัยใหม่ เพื่อจะพัฒนาศักยภาพในการส่งออกและแปรรูปยางในอนาคต

กยท. ได้จัดมุมนิทรรศการเรื่องนวัตกรรมการแปรรูปยางในรูปแบบต่างๆ เช่น ล้อยางรถยนต์ หุ่นจำลองฝึกหัดสำหรับช่วยชีวิต อาสนะยางพาราสำหรับนั่งสมาธิ ปืนยาง มีดยาง ลูกบอลสำหรับฝึกมือเพื่อสุขภาพ รวมทั้งแผ่นยางสำหรับปูพื้นประเภทต่างๆ เช่น แผ่นยางปูพื้นอิฐบล็อก หนึ่งในผลิตภัณฑ์ขายดีที่กำลังได้รับความนิยมในวงกว้าง เพราะสามารถใช้ปูพื้นในที่แจ้งหรือทางเดินเท้า แผ่นยางมีความยืดหยุ่นสูง ทำให้การสัมผัสกับพื้นผิวของการเดินหรือการวิ่งลดการกระแทกบริเวณข้อเท้า ลดความรุนแรงของอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น มีความหนาสม่ำเสมอและมีความแข็งแรงติดตั้งง่าย อายุการใช้งานยาวนาน

แผ่นยางปูพื้นห้องน้ำ ใช้สำหรับปูพื้นห้องน้ำทดแทนการใช้กระเบื้องเซรามิก โดยยางปูพื้นห้องน้ำมีความยืดหยุ่นและสามารถป้องกันลื่นไถล ลดความรุนแรงของอุบัติเหตุที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้สูงอายุ โดยทั่วไปแผ่นยางปูพื้นห้องน้ำจะใช้ยางธรรมชาติ 4 กิโลกรัม ต่อตารางเมตร

แผ่นยางปูพื้นสนามฟุตซอล ติดตั้งง่าย สะดวก อายุการใช้งานยาวนาน แผ่นยางมีความยืดหยุ่นสูง และมีความหนาที่สม่ำเสมอ ทำให้ลูกบอลกระดอนไปในทิศทางที่เหมาะสม รองรับการขยายตัวของคอนกรีตได้ดี ช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหต ช่วยลดแรงกระแทกบริเวณข้อเท้า โดยทั่วไปแผ่นยางปูพื้นสนามฟุตซอล 1 ตารางเมตร จะใช้ยางธรรมชาติ ประมาณ 10 กิโลกรัม มีน้ำหนัก 3.8 กิโลกรัม ต่อแผ่น (ขนาด *33X33X0.30 เซนติเมตร) 1 ตารางเมตร ใช้ 9 แผ่น สนามฟุตซอลเล็กสุดขนาด 375 ตารางเมตร ขนาดใหญ่สุด 1,360 ตารางเมตร  *

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0