โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

“ผักกางมุ้งอินทรีย์” แหล่งเรียนรู้เกษตรผสมผสาน อีกหนึ่งรายได้เสริม ของเกษตรกรบึงกาฬ

เทคโนโลยีชาวบ้าน

อัพเดต 25 ม.ค. 2561 เวลา 07.23 น. • เผยแพร่ 20 ม.ค. 2561 เวลา 16.19 น.
N5

*หากพูดถึงพืชเศรษฐกิจสำคัญของเกษตรกรในจังหวัดบึงกาฬ คงจะหนีไม่พ้นการทำสวน “ยางพารา” และการทำ “นาข้าว” ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความคุ้นชินเนื่องจากเกษตรกรในพื้นที่ยึดการทำสวนยาง และนาข้าวเป็นอาชีพหลักมาเป็นเวลานาน นอกจากนี้ การขายยางพารายังสามารถสร้างรายได้จำนวนมากให้แก่เกษตรกรอีกด้วย *

แต่เนื่องจากปัญหาเรื่องของราคายางพาราที่ตกต่ำลง ทำให้เกษตรกรหลายรายเริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตรแบบเชิงเดี่ยว มาสู่การทำเกษตรแบบผสมผสาน เพื่อเป็นการสร้างรายได้เสริมให้แก่ตนเองและครอบครัว ทำให้นอกจากยางพาราและนาข้าวที่เป็นจุดเด่นของจังหวัดบึงกาฬแล้ว “การทำเกษตรแบบผสมผสาน” ก็ถือเป็นการเกษตรอีกรูปแบบหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน

คุณสมหมาย แก้วมณี เกษตรอำเภอศรีวิไล และ คุณยุทธการ บุญประคม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวไรซ์เบอร์รีอู่คำ บึงกาฬ และประธานโครงการปลูกผักกางมุ้งอินทรีย์ โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อใต้ร่มพระบารมี เพื่อพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน ร่วมให้ข้อมูลว่า โครงการ “แปลงผักกางมุ้งอินทรีย์” ที่ตำบลศรีวิไล อำเภอศรีวิไล จังหวัดบึงกาฬ ถือเป็นอีกโครงการหนึ่งที่สนับสนุนให้เกษตรกรหันมาให้ความสำคัญกับการทำเกษตรแบบผสมผสาน และการทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อสร้างรายได้และอาชีพเสริมให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่

จากสวนยางพารา

สู่การทำเกษตรแบบผสมผสาน

คุณสมหมาย เล่าถึงการทำเกษตรของชาวบ้านในอำเภอศรีวิไลว่า ในอดีตชาวบ้านจะเน้นการทำเกษตรแบบเชิงเดี่ยวหรือการทำเกษตรโดยเน้นการปลูกพืชเพียงอย่างเดียว และอย่างที่ทราบดีว่ายางพารานั้นถือเป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดบึงกาฬ จึงทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่เน้นการปลูกยางพาราไปโดยปริยาย อีกทั้งยางพารายังเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของการทำเกษตรในจังหวัดอีกด้วย

“เราได้สนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่หันมาทำเกษตรแบบผสมผสาน เช่น การปลูกพืชแซมยาง รวมไปถึงการทำเกษตรแบบอินทรีย์หรือการปลูกผักปลอดสารพิษด้วย ส่วนหนึ่งเพื่อสร้างรายได้เสริมให้แก่เกษตรกรในภาวะราคายางตกต่ำ ทั้งยังต้องการสร้างความเข้าใจใหม่ๆ ให้กับคนภายนอก ว่าบึงกาฬ ไม่ได้มีดีเพียงแค่ยางพาราเท่านั้น แต่ยังสามารถปลูกพืชได้อีกหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นเงาะ ทุเรียน รวมถึงไม้ผลอีกหลายชนิดด้วย” เกษตรอำเภอเล่า

 “ปลูกผักกางมุ้งอินทรีย์”

อีกหนึ่งรายได้เสริมของเกษตรกร

ก่อนจะเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำโครงการ คงต้องเกริ่นก่อนว่าการปลูกผักกางมุ้งนั้นคือ การปลูกผักโดยใช้วิธีการทางธรรมชาติร่วมกับวิธีการอื่นๆ ที่ปลอดภัย โดยหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีและยาปราบศัตรูพืช ทั้งยังสามารถป้องกันในเรื่องของแมลงได้เป็นอย่างดี ซึ่งเหมาะสำหรับพื้นที่ที่ปลูกหลายรุ่นหรือพื้นที่ที่มีการปลูกอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีอีกด้วย

คุณยุทธการ เล่าว่า เดิมทีโครงการนี้เกิดจากการรวมกลุ่มเพื่อปลูกและแปรรูปข้าวไรซ์เบอร์รีเพื่อส่งขาย หลังจากที่เกษตรกรหลายรายต้องประสบกับปัญหาราคายางตกต่ำ ต่อมาจึงได้เริ่มมาทำโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อใต้ร่มพระบารมีฯ โดยจะเน้นทั้งการปลูกผักกางมุ้งอินทรีย์ในพื้นที่ควบคู่กันไป ส่วนเหตุผลที่เลือกปลูกผักอินทรีย์นั้น เพราะกำลังเป็นที่นิยมของผู้บริโภค ทั้งยังเชื่อว่าโครงการนี้จะสามารถสร้างทั้งอาชีพและรายได้เสริมให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ด้วย

“ในตอนนี้เราจะเน้นปลูกผักบุ้ง ผักสลัดรวมถึงคะน้า ผักชีไทย และผักชีลาวด้วย เนื่องจากเป็นผักที่ดูแลง่ายและใช้เวลาปลูกเพียงไม่นานก็สามารถเก็บผลผลิตได้ ซึ่งในตอนนี้ก็มีสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 40 ราย โดยจะแบ่งให้แต่ละรายรับผิดชอบแปลงของตนเอง ส่วนผลผลิตนั้นก็สามารถส่งขายให้แก่ร้านค้าในบริเวณใกล้เคียง หรือผู้ที่เข้าเยี่ยมชมโครงการผักกางมุ้งเพื่อเป็นการสร้างรายได้เสริม นอกจากนี้ ยังเน้นการให้ความรู้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเพื่อให้สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้จากการทดลองปลูกแปลงผักกางมุ้งอินทรีย์ไปประยุกต์ใช้ในครัวเรือนอีกด้วย”

 การเตรียมดินและการดูแล

แปลงผักปลอดสารพิษ

สำหรับการปลูกผักกางมุ้งอินทรีย์นั้น การเตรียมดินก็ถือเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญมากขั้นตอนหนึ่ง ดังนั้น จึงต้องมีการปรุงด้วยปุ๋ยคอกก่อน แล้วจึงนำดินไปตากให้แห้งเพื่อรอนำต้นกล้าที่เพาะมาลงต่อไป นอกจากดินแล้วเรื่องปุ๋ยก็เป็นสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง โดยปุ๋ยที่ใช้นั้นจะเป็นปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพที่ทางโครงการเป็นผู้ผลิตเอง ซึ่งการเลือกใช้ปุ๋ยที่ผลิตเองนอกจากจะเป็นการหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีแล้ว ยังถือเป็นการลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมในโครงการอีกด้วย

นอกจากการเตรียมดินและการให้ปุ๋ยแล้ว การให้น้ำก็เป็นอีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน โดยจะให้น้ำด้วยระบบสปริงเกลอร์ทั้งตอนเช้าและตอนเย็น ซึ่งที่เลือกใช้ระบบสปริงเกลอร์เพราะสะดวก ทั้งยังสามารถช่วยให้เกษตรกรประหยัดเวลาอีกด้วย และเนื่องจากเป็นโครงการผักกางมุ้ง ซึ่งมุ้งที่ใช้นั้นเป็นผ้าที่มีความหนาเป็นพิเศษจึงสามารถป้องกันปัญหาเรื่องศัตรูพืชและแมลงได้เป็นอย่างดี

 ผักกางมุ้งอินทรีย์

ผลตอบแทนที่มากกว่าคำว่า “รายได้”

สำหรับโครงการผักกางมุ้งอินทรีย์นั้นนอกจากจะเป็นโครงการที่สนับสนุนให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรแบบผสมผสานและเกษตรอินทรีย์เพื่อสร้างรายได้เสริมจากการขายยางพาราแล้ว ยังถือเป็นแหล่งเรียนรู้และแปลงทดลองทำเกษตรสำหรับชาวบ้านที่สนใจและต้องการเริ่มต้นทำการเกษตรด้วย

โดยทางโครงการไม่เพียงแค่ให้องค์ความรู้ในเรื่องการปลูกผักเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการทำปุ๋ยหมักชีวภาพและการเตรียมดินก่อนนำต้นกล้าลงปลูก เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้กับสวนของตนเองได้อีกด้วย*   *

*สำหรับผู้ที่สนใจเข้าเยี่ยมชม ซื้อผักปลอดสารพิษหรือต้องการสอบถามและขอข้อมูลในการปลูกผักกางมุ้ง รวมถึงการทำเกษตรอินทรีย์ สามารถติดต่อได้โดยตรงที่ คุณยุทธการ บุญประคม หมายเลขโทรศัพท์ (084) 519-4669 *

ขอขอบพระคุณ  คุณสมหมาย แก้วมณี เกษตรอำเภอศรีวิไล ที่พาลงพื้นที่ พบปะเกษตร

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0