โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

‘4จี’ ครอบคลุมทั่วโลก สะท้อนเครือข่ายไร้สาย‘โตเร็ว’

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ - Business News

เผยแพร่ 10 พ.ย. 2560 เวลา 18.01 น.

"โอเพน ซิกแนล" แอพพลิเคชั่นวิเคราะห์เครือข่ายมือถือเผยรายงาน "สเตท ออฟ แอลทีอี" ที่เก็บข้อมูลจากการใช้เครือข่าย 4จี เข้าถึงแอพพลิเคชั่นของตนกว่า 50,000 ล้านครั้งโดยผู้ใช้กว่า 3.8 ล้านรายใน 77 ประเทศและดินแดน พบว่าเกาหลีใต้นำเป็นอันดับ 1 ของประเทศที่มีเครือข่ายแอลทีอีใช้งานได้ 96.69% ของจำนวนผู้ใช้งานทั้งหมด ขณะที่แอลจีเรียรั้งอันดับสุดท้าย โดยมีอัตราเข้าถึงแอลทีอีเพียง 41.5% ของจำนวนผู้ใช้ทั้งหมด

ประเทศส่วนใหญ่ในรายงานของโอเพนซิกแนล แสดงให้เห็นว่าเครือข่ายแอลทีอีมีความครอบคลุมเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในเดือนมิ.ย. มี 33 ประเทศสามารถสนับสนุนสัญญาณแอลทีอีได้มากกว่า 70% ของจำนวนการใช้งาน และในเดือนนี้ ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 50 ประเทศ

รายงานในเดือนนี้ชี้ว่า มี 20 ประเทศสามารถให้บริการแอลทีอีได้มากกว่า 80% ของจำนวนการใช้งาน เทียบกับในเดือนมิ.. ที่มีเพียง 16 ประเทศอยู่ในการจัดอันดับ ขณะที่เกาหลีใต้และญี่ปุ่นเป็นเพียง 2 ประเทศในโลกที่มีแอลทีอีครอบคลุมกว่า 90% โดยโอเพน ซิกแนลระบุว่า ปัจจุบันเกาหลีใต้มีเครือข่าย 3จี ครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่แล้ว

ประเทศในอเมริกาเหนือที่ติดการจัดอันดับด้วย ได้แก่ สหรัฐ ซึ่งมีความครอบคลุมของแอลทีอี 86.94% (อันดับ 5) แคนาดา 79.55% (อันดับ 23) เม็กซิโก 73.5% (อันดับ 38) โดมินิกัน 58.5% (อันดับ 70) ขณะที่สหราชอาณาจักรอยู่อันดับ 43 ของโลก ด้วยค่าเฉลี่ยความครอบคลุม 71.34% และอินเดียอยู่ในอันดับ 11 ของโลก โดยมีแอลทีอีครอบคลุมการใช้งาน 84.03%

ความเร็วและความครอบคลุมด้านเครือข่ายแอลทีอีของอินเดียมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากเป็นหนึ่งในตลาดขนาดใหญ่ที่สุดสำหรับอุตสาหกรรมมือถือของโลก

ในการทดสอบรอบนี้ของโอเพน ซิกแนล พบว่า มี 50 ประเทศจาก 77 ประเทศที่มี 4จี ครอบคลุมเกิน 70% ของการใช้งาน เทียบกับ 33 ประเทศในการทดสอบเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว หมายความว่าผู้ใช้ 4จี ใน 50 ประเทศเหล่านี้สามารถเข้าถึงสัญญาณแอลทีอีได้กว่า 7 ครั้งในความพยายามทุก ๆ 10 ครั้ง สะท้อนให้เห็นว่ามีจำนวนประเทศเพิ่มมากขึ้นที่เครือข่าย 4จี ขยายตัวอย่างเต็มที่

รายงานของโอเพน ซิกแนล ซึ่งเผยแพร่ปีละ 2 ครั้ง บ่งชี้ว่า หากดูในกลุ่มประเทศอาเซียนสิงคโปร์มีแอลทีอีครอบคลุมที่สุดอยู่ที่ 84.56% ของการใช้งาน (อันดับ 9 ของโลก) รองลงมาคือไทยที่ครอบคลุม 77.35% (อันดับ 30) ตามมาด้วยอินโดนีเซีย 72.44% (อันดับ 39) มาเลเซีย 71.97% (อันดับ 40) กัมพูชา 68.95% (อันดับ 51) และฟิลิปปินส์ 58.83 (อันดับ 69)

นอกจากนี้ รายงานยังวิเคราะห์ความเร็วของเครือข่ายแอลทีอีใน 77 ประเทศด้วย ซึ่งพบว่า แม้ปัจจุบันมีผู้ให้บริการบางรายพัฒนาความเร็วอินเทอร์เน็ตบนแอลทีอีได้เร็วกว่าตัวเลขคาดการณ์ของโอเพน ซิกแนลที่ 50 เมกะบิตต่อวินาที แต่ไม่มีประเทศใดในการสำรวจครั้งนี้ที่มีความเร็วเฉลี่ยถึงตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าว

ประเทศที่มีค่าเฉลี่ยอินเทอร์เน็ต 4จี เร็วที่สุดในโลกและใกล้เคียงตัวเลขคาดการณ์ของโอเพน ซิกแนลมากที่สุดคือ สิงคโปร์อยู่ที่ 46.64 เมกะบิตต่อวินาที ตามมาด้วยเกาหลีใต้ 45.85 เมกะบิตต่อวินาที อย่างไรก็ตาม ทั้งสองประเทศมีค่าเฉลี่ยความเร็วสูงสุดลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับรายงานครั้งก่อน

รายงานระบุว่า สิงคโปร์ เกาหลีใต้ นอร์เวย์ และฮังการี ติดใน 4 อันดับของโลกอีกครั้ง ด้วยความเร็วเฉลี่ย42 เมกะบิตต่อวินาทีขึ้นไป ขณะที่เนเธอร์แลนด์ตามมาติด ๆ ในอันดับ 5 ด้วยความเร็วเฉลี่ย 38.91 เมกะบิตต่อวินาที

ขณะที่ประเทศในอาเซียนนอกจากสิงคโปร์ที่รั้งแชมป์โลกเรื่องความเร็วแล้ว มาเลเซียเป็นประเทศที่มีความเร็วแอลทีอีเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคด้วยค่าเฉลี่ย 14.17 เมกะบิตต่อวินาที (อันดับ 60 ของโลก) ตามมาด้วยกัมพูชา 12.15 เมกะบิตต่อวินาที (อันดับ 68) ไทย 9.4 เมกะบิตต่อวินาที (อันดับ 72) อินโดนีเซีย 9.02 เมกะบิตต่อวินาที และฟิลิปปินส์ 8.24 เมกะบิตต่อวินาที (อันดับ 73)

แม้ว่าบรรดาประเทศอันดับต้น ๆ ของโลกจะมีความเร็วแอลทีอีลดลง แต่ค่าเฉลี่ยการดาวน์โหลด 4จี ทั่วโลกกลับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 16.2 เมกะบิตต่อวินาที มาอยู่ที่ 16.6 เมกะบิตต่อวินาทีในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา และในประเทศกำลังพัฒนายังมีผู้ใช้ 4จี รายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งช่วยเพิ่มความเร็วเฉลี่ยของแอลทีอีในกลุ่มประเทศที่อยู่อันดับครึ่งล่าง

ประเทศที่มีโครงสร้างเครือข่ายแอลทีอีมั่นคงยังคงเพิ่มการเข้าถึงเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง และบรรดาตลาดเกิดใหม่ต่างแข่งกันเปิดเครือข่ายแอลทีอีอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นประเทศอย่างปากีสถานและตูนิเซีย ยังสามารถให้บริการแอลทีอีได้กว่า 50% ของการใช้งานแล้ว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0