โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

แข่งดุ Digital Banking เจาะขุมทรัพย์“สูงวัย”

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ - Business News

เผยแพร่ 13 ม.ค. 2561 เวลา 18.00 น.

พกธนาคารย่อยๆไว้บนสมาร์ทโฟน…!!!

คำพูดเหล่านี้ เริ่มถูกนายแบงก์หลากหลายสำนักหยิบยกขึ้นมากล่าวถึง หลัง"เทคโนโลยี"เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับการทะยอย"ปิดสาขา"ของธนาคารพาณิชย์แบงก์ในช่วงที่ผ่านมา ไม่ใช่เพราะความต้องการใช้บริการที่ลดลง แต่เป็นเพราะเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคที่ไม่จำเป็นต้องเดินเข้ามาแบงก์เพื่อทำธุรกรรมทางการเงินอีกต่อไป ในเมื่อมีอะไรที่ง่าย และสะดวกกว่านั้นเพียงแค่มีสมาร์ทโฟนเครื่องเดียว!!

อย่างไรก็ตาม แม้เมืองไทยจะขึ้นชื่อว่ามีจำนวนผู้ใช้"อินเทอร์เน็ต"หรือ"โซเชียลมีเดีย"ติดอันดับโลก ทว่ายังมีประชากรจำนวนไม่น้อย จากจำนวนประชากรไทยกว่า 70 กว่าล้านคน ยังไม่เข้าไม่ถึงการใช้งานบนอินเตอร์เน็ต ส่วนหนึ่งเป็นเหตุผลทางเศรษฐกิจ แต่อีกเหตุผลสำคัญคือความกลัว ไม่เข้าใจเทคโนโลยี ทำให้ไม่กล้าใช้งาน รวมไปถึงคนบางส่วนยังมองไม่เห็นถึงประโยชน์ ไม่ยอมเปิดใจเรียนรู้การใช้งานบนดิจิทัลโซลูชั่นต่างๆ ที่อยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์

โดยเฉพาะ"กลุ่มสูงวัย"ที่มีอายุตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งถือเป็นฐานลูกค้ากลุ่มใหญ่ของแบงก์เมืองไทย ปัจจุบันยังคงใช้งานแบงก์บนมือถือ หรือ Mobile Banking ในสัดส่วนน้อย ขณะที่เมืองไทยกำลังก้าวสู่"สังคมผู้สูงอายุ" (Aging society)เต็มตัวในปี 2568

แน่นอนแบงก์ไทย รวมถึงอีกหลายธุรกิจ ไม่อาจปล่อยให้ตลาดผู้สูงวัยหลุดลอย จำเป็นต้องเร่ง"ปรับกลยุทธ์"รับกับโอกาสที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน !

โดยเฉพาะ 2 แบงก์ที่มีฐานลูกค้าใช้บริการบน"Digital Banking"ผ่านแอพพลิเคชั่น"Mobile Banking"มากเป็นอันดับต้นๆอย่างธนาคารกสิกรไทย หรือKBANKปัจจุบันมีจำนวนฐานลูกค้าราว14 ล้านรายโดยมีลูกค้าที่ใช้บริการผ่าน Mobile Banking (K PLUS) จำนวน 8 ล้านราย ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือSCB มีจำนวนฐานลูกค้าราว14ล้านรายคิดเป็นลูกค้าใช้บริการผ่าน Mobile Banking (SCB Easy) จำนวน 6 ล้านราย

ลองคำนวณเป็นมูลค่าตลาด Mobile Banking ของสองแบงก์ด้วยตัวเลขฐานลูกค้าดังกล่าวเทียบกับมูลค่าตลาดดิจิทัลของไทยถือว่าน้อยนิด สะท้อนเห็นจากจำนวนผู้ใช้บริการผ่านLINEที่มีมากถึง 36 ล้านราย ,joox10 ล้านราย ,Facebook40 ล้านราย เป็นต้นซึ่งอนาคตจำนวนผู้ใช้เหล่านี้อาจจะใช้ช่องทางการชำระเงินผ่านแบงก์เมื่อไหร่ก็ได้…!

ฉะนั้น หน้าที่ของแบงก์จึงต้องเร่งเพิ่มฐานลูกค้าให้มากขึ้น ด้วยการสร้างฐานลูกค้าใหม่และลูกค้าเก่าผ่านการใช้งานบนแอพพลิเคชั่นต่างๆบนโลกดิจิทัลต้องคุยกันว่าใครมีฐานลูกค้าต้องใหญ่กว่ากัน ไม่ใช่คุยกันเรื่องผลประกอบการ แม้จะมีกำไรระดับ"หมื่นล้านบาท"แต่มีฐานลูกค้าแค่ 10 ล้านราย ก็ถือว่าเล็ก…!"ธนา เธียรอัจฉริยะ"รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Marketing Officer ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) บอกเช่นนั้น…!!

พร้อมกับระบุเป้าหมายชัดที่จะขึ้นผู้นำในกลุ่มDigital Bankingซึ่งปัจจุบันเป็น"เบอร์ 2"โดยธนา ระบุว่าที่ผ่านมาจะเห็นความพยายามในการกระตุ้นให้มีจำนวนผู้ใช้งานแอพพลิเคชั่น SCB Easy App เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเบื้องต้น8 ล้านบัญชีจาก 6 ล้านบัญชี โดยจะนำกลยุทธ์"การตลาดออนไลน์"ผ่านโครงการ"SCB Easy Buddy"เพื่อให้ความรู้และแนะนำการใช้งานแก่ลูกค้าธนาคารอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้งานที่ยังไม่คุ้นเคยกับการใช้งานของ Mobile Banking รวมทั้งกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป ที่พบว่าปัญหาส่วนใหญ่กลัวหรือไม่กล้าใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพราะหากเข้าถึงคนกลุ่มนี้ได้มากขึ้น โอกาสที่จะได้ Users (ผู้ใช้) เพิ่มก็จะมีมากขึ้นอีก"มหาศาล"

ปัจจุบันมีฐานลูกค้า 14 ล้านราย ในจำนวนนี้เป็นสัดส่วนลูกค้าสูงวัยที่ใช้บริการ Digital Banking ผ่าน SCB Easy คิดเป็น"ราว10%"

ปัจจุบันพบว่า กลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 80% ต้องการใช้ Mobile Bankingแต่ความไม่เข้าใจและความกลัวเป็น"อุปสรรค"(Barrier)สำคัญที่ทำให้ไม่ยอมใช้งานการมีผู้ไปให้ความรู้และแนะนำวิธีการใช้งานฟีเจอร์ต่างๆ ภายในแอพพลิเคชั่น จะทำให้ผู้บริโภคมั่นใจและกล้าที่จะลองใช้งานได้มากขึ้น

"ปัญหาที่พบมากกับกลุ่มลูกค้าที่ค่อนข้างมีอายุยังไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจาก กลุ่ม SCB Easy Buddy ที่แบงก์คัดเลือกมาเพื่อให้ความรู้และแนะนำการใช้งานส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเด็กๆ จบใหม่ที่อายุ 20 ปีต้นๆ จึงยังมี Generation Gap (ช่องว่างระหว่างวัย) ด้วยสไตล์แบบคิดเร็ว ทำเร็ว ของเด็กรุ่นใหม่ การใช้ศัพท์เทคนิคที่บางครั้งยากต่อการทำความเข้าใจของลูกค้าสูงวัย ทำให้ประสิทธิภาพในการเพิ่มฐานลูกค้าในกลุ่มนี้ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก"

"ธนา"เล่าต่อว่า โมเดลรูปแบบใหม่จึงเกิดขึ้นภายใต้โปรเจค"SCB Easy Senior Buddy"ด้วยการนำกลุ่มผู้ที่อายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป รวมทั้งกลุ่มที่เกษียณอายุ มาร่วมเป็นกองกำลังในการช่วยสร้างการเรียนรู้ การใช้งานแอพดังกล่าวให้กับกลุ่มผู้สูงอายุด้วยกัน รวมไปถึงผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับการใช้งาน Mobile Banking มาก่อน ซึ่งผลตอบรับกลับเป็นที่น่าพอใจ โดยเฉพาะการประสบความสำเร็จในการเชิญชวนกลุ่มผู้ใช้งานสูงวัยมีประสิทธิภาพมากขึ้นถึง 100%

ปัจจุบันมีSenior Buddyจำนวน 50 คนตั้งเป้าว่าจะเพิ่มเป็น 100 คน ภายในไตรมาส 1 ปี 2561

"Senior Buddy 1 คน สามารถชักชวนลูกค้ามาใช้บริการผ่าน Mobile Banking ได้ราว 20 คน"

โครงการ SCB Easy Senior Buddy หากมองในแง่ของการทำธุรกิจแบงก์ จะมียอดลูกค้าเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากเปิดบัญชีใหม่ และบัญชีที่ไม่มีความเคลื่อนไหว แต่อีกหนึ่งที่ได้รับคือในแง่ของ"จิตใจ"ที่ได้เติมพลังให้กับผู้สูงวัยให้รู้สึกตัวเองมีคุณค่าไม่อยู่แบบไร้ประโยชน์ เพราะบางคนอายุ 50 ปี แต่ตนเองรู้สึกว่ายังไม่พร้อมจะเกษียณตัวเอง แต่คนอายุขนาดนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ในการหางานทำ ฉะนั้นถือเป็นการทำธุรกิจ"win win"นั่นคือ"ได้ฐานลูกค้าเพิ่ม ผู้สูงวัยได้คุณค่าทางจิตใจ"

สำหรับความสำเร็จและการต่อยอดจากโครงการดังกล่าว นั่นคือ

1.ได้ฐานลูกค้าสูงวัยใน Digital Banking ผ่านแอพมากขึ้น โดยปัจจุบันมีสัดส่วนฐานลูกค้ากลุ่มนี้เพิ่มขึ้นมาถึง 10% และจากศักยภาพของกลุ่มซีเนียร์บัดดี้ เชื่อว่าจะได้ฐานลูกค้าเพิ่มมากขึ้น

2.ฐานลูกค้ารวมและการใช้งานที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันอยู่ที่ 6 ล้านบัญชี มีอัตราแอฟทีฟ 60-65% เนื่องจากมีการสอนการใช้งานอย่างใกล้ชิด รวมไปถึงการแนะนำฟีเจอร์ต่างๆ ที่มีอยู่ในแอพ ซึ่งลูกค้าบางคนอาจยังไม่ทราบหรือไม่เคยใช้มาก่อน ทำให้มีการใช้งานที่หลากหลายและใช้งานได้บ่อยครั้งขึ้น รวมทั้งฐานผู้ใช้โดยรวมก็จะเติบโตเพิ่มขึ้นเช่นกัน

3.เกิดการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนระหว่างกันในทีม เนื่องจาก ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีวินัย และมีความรับผิดชอบ ตรงต่อเวลา รวมทั้งมีประสบการณ์ในการทำงานที่มากกว่า รวมทั้งความใจเย็นเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งจะเป็นต้นแบบให้กับกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่อยู่ในทีม ขณะที่เด็กๆ ที่อาจจะมีความเชี่ยวชาญในเรื่องเทคโนโลยีก็สามารถแนะนำให้ผู้ใหญ่ได้เช่นกัน

4.เป็นโมเดลในการรองรับระบนิเวศใหม่ ( New Ecosystem) ในแวดวงแบงก์กิ้ง โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารปิดสาขา ทำให้พนักงานบางส่วนว่างงาน ก็สามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในโครงการนี้ได้เช่นกัน รวมไปถึงกลุ่มพนักงานที่ต้องการลาออกโดยสมัครใจ (Early Retire) ก็สามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในโครงการได้เช่นกัน

5.เป็นโมเดลใหม่ในการหาพนักงานใหม่ในแต่ละสาขา เนื่องจาก กลุ่มผู้สูงอายุที่ร่วมโครงการ จะเป็นสัญญาจ้าง ซึ่งทางธนาคารจะมองเห็นศักยภาพในการทำงานของพนักงานแต่ละคน และคนที่ทำงานดีก็มีโอกาสได้ขยับมาเป็นพนักงานประจำได้ในอนาคต โดยที่ธนาคารเองก็จะได้พนักงานที่มีทักษะในการทำงานดีอยู่แล้วเข้ามาร่วมงาน

6.เป็นโครงการที่ช่วยให้คุณภาพชีวิตของประชากรไทยดีขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่เกษียณหรือว่างงานมีโอกาสได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทำให้มีความสดชื่น แข็งแรง รวมทั้งยังสามารถหารายได้ด้วยตัวเอง ทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่ามากขึ้น ส่งผลดีต่อทั้งสุขภาพกายและใจของผู้สูงอายุ

"ธนา" ยังระบุว่า ปัจจุบันจำนวนผู้ใช้งานใหม่ของ SCB Easy เพิ่มขึ้นวันละกว่า 1 หมื่นราย ถือว่าเพิ่มขึ้นมากกว่าจากช่วงก่อนหน้าที่จะทำการปรับปรุงแอพเป็นเวอร์ชั่นใหม่ ซึ่งจะมีผู้ใช้งานใหม่ราว 3,000-4,000 รายเท่านั้น โดยจำนวนผู้ใช้ใหมี (New User) ที่เข้ามาจะมาจาก 3 ช่องทางหลัก คือ จากเครือข่ายสาขาของธนาคาร จากโซเชียลมีเดีย และจากกลุ่ม SCB Easy Buddy ในสัดส่วนที่เท่ากันประมาณ 30%

รวมทั้งมีแผนขยายพื้นที่จาก กทม. ไปยังจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจาก ความเป็นเมืองของผู้เกษียณอายุ (Retire City) ทำให้มีกลุ่มสูงวัยในพื้นที่ค่อนข้างมาก รวมทั้งการมีฐานผู้ใช้มือถือที่มากพอสำหรับการเป็นพื้นที่เป้าหมายในการขยายต่อไป

"อนิสา ชูจันทร์"ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Customer Experience และ"ลินดา หวังวานิช"Customer Activation Manager / Customer Experience Division ธนาคารไทยพาณิชย์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โปรเจคดังกล่าวเริ่มขึ้นในเดือนก.ย.2560 จนถึงปัจจุบันมีจำนวนรวม 20 คน โดยภายในไตรมาส1 ปี 2561 ตั้งเป้าจะเพิ่มให้ได้ถึง 50 คนรวมทั้งมีแผนขยายพื้นที่จาก กทม. ไปยังจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจาก ความเป็นเมืองผู้เกษียณ ทำให้มีกลุ่มสูงวัยในพื้นที่ค่อนข้างมาก รวมทั้งการมีฐาน Mobile User ที่มากพอสำหรับการเป็นพื้นที่เป้าหมายในการขยายต่อไป

ดังนั้น จากเป้าหมายสำคัญในการสื่อสารกับกลุ่มผู้สูงอายุ ทำให้พี่ๆSenior Buddyจะไปประจำอยู่ในสาขาที่มีลูกค้ากลุ่มนี้มาก เช่น รพ.ศิริราช , รพ.รามา , รพ.ราชวิถี , ปากเกร็ด เป็นต้น

โดยแต่ละท่านจะสลับไปตามสาขาต่างๆ ที่อยู่ใกล้บ้าน เพื่อความสะดวกในการเดินทาง โดยทำงานสัปดาห์ละ 3 วัน และได้ค่าตอบแทนในอัตราที่เท่ากันวันละ 800 บาท โดยทางธนาคารจะอบรมพร้อมทดลองการใช้โปรแกรมเป็นเวลา 1 วัน ก่อนจะลงพื้นที่ทำงานจริง

ทั้งนี้ จากความสำเร็จในโครงการนี้ แบงก์ต้องการรับผู้สูงวัยที่สามารถใช้งานสมาร์ทโฟนเบื้องต้นได้ เช่น ใช้เฟสบุ๊ค ใช้ไลน์ได้ เพื่อเข้ามาร่วมเป็นหนึ่งในทีมผ่านโครงการ"สูงวัยหัวใจดิจิทัล"

มาในฟากธนาคารกสิกรไทย"พัชร สมะลาภา"รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสบอกว่าสำหรับภาพรวมของแอพ K PLUS คาดว่าปี 2560 จะมีจำนวนผู้ใช้"ราว8ล้านราย"และมีจำนวนการทำธุรกรรมทั้งรายการทางการเงิน (Financial) และไม่ใช่การเงิน (Non-Financial) อยู่ที่ 3,300 ล้านรายการ จากตัวเลขเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ใช้จำนวน 7.1ล้านราย เป็นอัตราการเติบโตของฐานลูกค้า60% เมื่อเทียบกับปีก่อนขณะที่จำนวนการทำธุรกรรมรวมช่วง ม.ค.-พ.ย. รวมทั้งรายการ Financial และ Non-Financial อยู่ที่ราว2,700 ล้านรายการ

โดยปี 2561 มีเป้าหมายจำนวนผู้ใช้ K PLUS จำนวน"ราว11 ล้านราย"เติบโต 44% เทียบกับปีก่อน สะท้อนผ่านการเติบโตของมากกว่า"เท่าตัว"ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จากจำนวนผู้ใช้ 2.6 ล้านรายในปี 2558 มาเป็น 4.6 ล้านราย ในปี 2559

สำหรับแผนงานและเป้าหมายของการพัฒนาแอพ รวมทั้งการทำการตลาดออนไลน์ต่างๆ เพื่อครองความเป็น"เบอร์ 1"ในปี 2561 อย่างต่อเนื่อง ด้วย"กลยุทธ์ QR Payment"ของธนาคารกสิกรไทย ซึ่งกระจายความครอบคลุมของร้านค้ารายย่อยที่เพื่อให้บริการ QR Code รวมถึงมอบสิทธิประโยชน์ที่กลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการ K PLUS กับ K PLUS SHOP

ตลอดจนการนำข้อมูลจาก Big Data เหล่านี้ที่ได้ผ่านการใช้จ่ายด้วย QR Code มาเป็นประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์เพื่อใช้วิเคราะห์ว่าพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของกลุ่มลูกค้า และนำมาใช้พัฒนาบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอสินค้าและบริการ ตลอดจนส่งข้อมูลข่าวสารต่างๆ ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกค้าแต่ละราย

นอกจากนี้ ขยายเครือข่ายพันธมิตรที่เป็นกลุ่มองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ เพื่อทำให้จุดให้บริการรับชำระเงินด้วย QR Code ครอบคลุม อาทิ ร่วมมือกับบมจ.ปตท. หรือ PTT ในโครงการ QR Code Paymentโดยธนาคารจะเริ่มนำร่องด้วยระบบรับชำระเงินที่พัฒนาเทคโนโลยี Dynamic QR Code ให้เชื่อมต่อกับเครื่อง EDC ที่เชื่อมโยงระบบการขาย (Point of Sales: POS) ทำให้ลูกค้าที่มาใช้บริการในร้านค้าปลีกที่อยู่ภายใต้เครือ ปตท. สามารถชำระเงินค่าสินค้าหรือบริการผ่านโมบายแบงกิ้งได้ทุกธนาคาร

โดยร้านค้าปลีกที่สามารถให้บริการคิวอาร์โค้ด ได้แก่ ร้านคาเฟ่อเมซอน เท็กซัส ชิคเก้นแด๊ดดี้โด ฮั่วเซ่งฮงติ่มซำ ศูนย์บริการยานยนต์ฟิตออโต้ และร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่ ที่มีสาขาทั่วประเทศรวมกว่า 2,200 สาขา

"เราเชื่อมั่นว่าด้วยศักยภาพเครือข่ายที่แข็งแกร่งของ ปตท. ที่มีอยู่ทั่วประเทศ จะทำให้การให้บริการใช้จ่ายด้วย QR Code ผ่านโมบาย แบงกิ้ง ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น นำไปสู่การทดลองใช้ให้เกิดความคุ้นเคย และแปรเปลี่ยนเป็นพฤติกรรมการใช้จ่ายด้วย QR Code ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น ค่าเครื่องดื่ม ค่าอาหาร เป็นต้น และผลักดันประเทศเข้าสู่สังคมไร้เงินสดเหมือนหลายประเทศชั้นนำทั่วโลก"

-------------------------

"สะดวก-รวดเร็ว"

หัวใจ"โมบายล์ แบงกกิ้ง"

"แป๋ว-อารีรัตน์ บุญวิลัย"แม่บ้านเบเกอร์รี่ อายุ 52 ปี บอกว่า รู้จักโครงการSCB Easy Senior Buddyของ SCB ผ่านทางช่องทาง LINE ก่อนจะสนใจและเดินเข้ามาสมัครเป็นซีเนียร์บัดดี้ เธอ เล่าว่า ทางธนาคารมีการอบรมพร้อมทดลองการใช้แอพเป็นเวลา 1 วัน ก่อนจะลงพื้นที่ทำงานจริงในความรู้สึกส่วนตัวจากคนที่ไม่เคยใช้แอพมาก่อน และการเข้ามาเรียนรู้การใช้โปรแกรมทำให้เกิดความมั่นใจในเรื่องของระบบความปลอดภัย กล้าใช้ธุรกรรมผ่านช่องทางดังกล่าว และจากโอกาสในการแนะนำลูกค้าของ SCB ให้แอพพลิเคชั่น กระแสตอบรับลูกค้าส่วนใหญ่จะบอกว่าเป็นแอพที่ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อนซึ่งหากแอพซับซ้อนคงต้องใช้เวลามากกว่านี้

ยกตัวอย่าง ลูกค้าบางรายมาแบงก์แค่จ่ายบิลค่าบัตรเครดิต หรือ อัพบุ๊คแบงก์ แต่ต้องใช้เวลารอคิวนานไม่ต่ำกว่า 15-30 นาที (ในช่วงลูกค้ามากๆ) แต่พอเราเข้าไปแนะนำสอนการชำระค่าบริการต่างๆ ผ่านทาง Mobile Banking พบว่าลูกค้าส่วนใหญ่สนใจอยากที่จะเรียนรู้ แต่ที่ผ่านมาไม่มีคนมาคอยแนะนำการใช้

"อ้อย-ผกาวรรณ อ่อนเจริญ"อดีตเลขาฯ ผู้บริหาร "อายุ 58 ปี" บอกว่า เมื่อมีโอกาสใช้แอพ Mobile Banking รู้สึกว่า สะดวกมากขึ้น ไม่ต้องรอนาน และเมื่อได้มาเป็นซีเนียร์บัดดี้ ก็พบว่าลูกค้าแฮปปี้กับการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดังกล่าว สะท้อนผ่านลูกค้ากลับมาใหม่ด้วยการชักชวนเพื่อนๆ วัยเดียวกันมาด้วย

สำหรับโครงการนี้เปรียบเหมือนด่านแรกในการให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่มาใช้บริการแต่ละสาขา ในการแก้ปัญหาเบื้องต้น แต่หากปัญหาซับซ้อนมากขึ้นซีเนียร์บัดดี้จะส่งต่อปัญหาดังกล่าวไปให้พนักงานช่วย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0