เตือนภัย ‘ไข้เลือดออก’ ระบาด! กรุงเทพตายแล้ว 5 ราย
เมื่อวันที่ 17 ก.ย. ที่อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกทม.2 ดินแดง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า ในปัจจุบันพื้นที่กรุงเทพมีการแพร่ระบาดของโรค ไข้เลือดออก เกิดผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง กทม.จึงประสานความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ และประชาชนในพื้นที่ ร่วมดำเนินการควบคุมโรคไข้เลือดออก จึงได้สั่งการให้สำนักอนามัย และสำนักงานเขตพื้นที่ทั้ง 50 เขต วางมาตรการควบคุมโรค ในเบื้องต้น จะลงพื้นที่ฉีดพ้นสารเคมีกำจัดยุงลายในจุดต่างๆ ซึ่งประชาชนสามารถแจ้งข้อมูลการแพร่ระบาดของยุงในพื้นที่ ให้กทม.เข้าดำเนินการกำจัดและป้องกันโรคได้
ด้านนายเมธิพจน์ ชาตะเมธีกุล ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กทม. เปิดเผยว่า โรคไข้เลือดออก เกิดจากยุงลายเป็นพาหะ ซึ่งในฤดูฝนจะเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคมากที่สุดเนื่องจากมีฝนตกน้ำขังเป็นแหล่งเพาะพันธ์ของโรค โดยสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในพื้นที่กรุงเทพปี 2561 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสม จำนวน 5,899 ราย โดยมีผู้เสียชีวิตจำนวน 5 ราย ซึ่งเป็นผู้เสียชีวิตในพื้นที่เขตหนองจอก 1 ราย ดินแดง 2 ราย ปทุมวัน 1 ราย และเขตบางกะปิ 1 ราย และเป็นผู้เสียชีวิตในกลุ่มคนวัยทำงานทั้งสิ้น ส่วนในปี 2560 มีจำนวนผู้ป่วยตลอดทั้งปีรวม 9,368 ราย มีผู้เสียชีวิตรวม 6 ราย ซึ่งแนวโน้มผู้ป่วยในปี 2561 มีการคาดการณ์จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น สำหรับพื้นที่เขตหนองจอก เป็นพื้นที่ในระยะ 1 เดือนที่ผ่านมา มีผู้ป่วยมากที่สุด ซึ่งพื้นที่เขตหนองจอกจากการสอบสวนโรคพบเป็นพื้นที่กว้าง และมีแหล่งพื้นที่ริมทาง จุดน้ำขังหลายบริเวณ อีกทั้งในชุมชนบางพื้นที่ มีการทิ้งขยะหมักหมมในบริเวณบ้านซึ่งเมื่อฝนตกเกิดน้ำท่วมขัง จึงเป็นแหล่งเพาะพันธ์ของยุงลายได้จำนวนมาก
นายเมธิพจน์กล่าวต่อว่า เมื่อพบผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก กทม.มีมาตรการเฝ้าระวังควบคุมโรคโดยใช้ทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว ลงดำเนินการสอบสวนการระบาด ทำลายแหล่งเพาะพันธ์ยุงลายทั้งในบ้านและบริเวณรอบบ้าน พ่นสารเคมีกำจัดยุงตัวเต็มวัยในรัศมี 100 เมตรรอบบ้านผู้ป่วย ภายใน 24 ชั่วโมง และจะลงพื้นที่เฝ้าระวังต่อเนื่องไปอีก 5ครั้ง เพื่อให้ควบคุมโรคเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และนอกเหนือจากที่พักอาศัย จะมีการตรวจสอบโรคจากสถานที่ทำงาน หรือโรงเรียนของผู้ป่วย ซึ่งอาจเป็นแหล่งก่อโรคได้เช่นกัน ซึ่งในพื้นที่เขตที่พบผู้เสียชีวิตจะเฝ้าติดตามต่อเนื่องอย่างเข้มข้นอย่างน้อย 1-2เดือน เพื่อไม่ให้เกิดผู้ป่วยซ้ำ อีกทั้งยังประสานจังหวัดปริมณฑลเพื่อควบคุมดูแลโรคตามพื้นที่แนวต่ออีกด้วย ทั้งนี้ข้อมูลจากผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก จะเป็นกลุ่มที่พักอาศัยรูปแบบบ้านเช่า บ้านเดี่ยว และกลุ่มคนงานก่อสร้าง ซึ่งในพื้นที่นั้นๆ อาจมีจุดอับ หรือจุดที่เป็นแหล่งเพาะพันธ์ยุงลายได้ ดังนั้น กทม.จะมีการสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในพื้นที่เสี่ยงทุกสัปดาห์ ได้แก่ ชุมชน โรงเรียน ศาสนสถาน สถานพยาบาล สวนสาธารณะ เป็นต้น ซึ่งต้องขอความร่วมมือจากภาคประชาชน ในการร่วมดูแลบ้านเรือนของตนเองให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งหลบซ่อนของยุง เก็บขยะ เพื่อกำจัดภาชนะต่างๆ ที่อาจมีน้ำขังได้ และหากพบอาการป่วย มีไข้ต่อเนื่อง 3 วัน ต้องรีบไปพบแพทย์ในทันที
ความเห็น 13
Goong Kui
พยายามอย่าให้ยุงกัดบ่อย ตอนเปนไข้เลือดออก อาการทรมานสุดๆ
17 ก.ย 2561 เวลา 11.02 น.
yui
ต้องรอให้มีคนป่วยคนตายก่อนจ้ะ ฉันถึงจะลงไปพ่นยากำจัดยุง
17 ก.ย 2561 เวลา 15.46 น.
sorasich
นี่แหละหน่วยงานรัฐไม่มีตายเยอะไม่กระดิก
17 ก.ย 2561 เวลา 09.32 น.
ตัวเลขวิ่งเข้าหลักหมื่น กทม เงียบ ไม่รู้เรื่องตามเคย เหมือนสวนลุมพินี ที่ว่าไม่มีถุงยางเกลื่อนตามพุ่มไม้ กร๊วก ไปเมาไวน์อยู่ที่ไหน
17 ก.ย 2561 เวลา 16.30 น.
Jurii🩷
ใช่ค่ะ วัวหายค่อยล้อมคอก หมดคำจะพูด
17 ก.ย 2561 เวลา 10.26 น.
ดูทั้งหมด