ผู้สื่อข่าวได้พบเพจเฟซบุ๊ก ToxicAnt - เพราะทุกสิ่งล้วนเป็นพิษ ได้เผยแพร่เกล็ตความรู้จากงานวิจัย เผย ถุงชาที่ใช้จุ่มกับน้ำร้อนที่เราใช้กันเป็นประจำ ปล่อยพลาสติกนับพันล้าน ลงในน้ำชา โดยระบุว่า…
ถุงชา ปล่อยพลาสติกนับพันล้าน ลงในน้ำชา
เพียงแค่นำถุงชาที่ห่อใบชาไว้ภายในไปแกว่งๆ ในน้ำร้อน ก็ได้ชาหอมๆ พร้อมดื่ม
ถุงชานี้ ดูเผินๆ หลายคนอาจจะคิดว่ามันทำมาจากกระดาษ หรือเส้นใยฝ้าย
แต่จริงๆ แล้ว ถุงชาสมัยนี้นิยมผลิตจากเส้นใยพลาสติกโพลีเอธิลีน โพลีโพรพิลีน ไนลอน หรือผสมพลาสติกกับกระดาษกรองเพื่อเพิ่มความแข็งแรง
เนื่องจากมีความเหนียว ไม่ฉีกขาดง่ายในน้ำร้อน และยังสามารถซีลปิดถุงด้วยความร้อนหลังจากบรรจุใบชาลงถุงได้ด้วย ซึ่งผู้ผลิตก็ใช้กันมาอย่างแพร่หลายตั้งนานแล้ว
แต่มายุคนี้เราหันมาสนใจเรื่องไมโครพลาสติกมากขึ้น และพบว่ามันกระจายอยู่แทบทุกอณูรอบตัวเรา
ก็เลยเกิดข้อสงสัยว่า เอ๊ะ แล้วถุงชาที่เราชงดื่มกันเป็นประจำล่ะ? ลืมไปเลยว่ามันทำก็จากพลาสติกนี่นา!
ทีมวิจัยก็เลยเก็บตัวอย่างถุงชา 4 แบรนด์จากห้างสรรพสินค้าชั้นนำ (แคนาดา) มาทดสอบ โดย
ตัดถุง เทใบชาข้างในออกให้หมด แล้วล้างน้ำสะอาด
จากนั้นนำเฉพาะถุงไปต้มในน้ำ 1 แก้ว ด้วยอุณหภูมิและเวลาในช่วงเดียวกับการชงชาทั่วๆ ไป คือ ประมาณ 95 องศาเซลเซียส 5 นาที
เก็บน้ำชงถุงชา ไปส่องด้วยกล้องจุลทรรศอิเล็กตรอน เพื่อขยายดูว่ามีอนุภาคพลาสติกสลายตัวออกมาจากถุงชาที่โดนต้มหรือไม่
ผลคือ
พบอนุภาคพลาสติกจำนวนมากมายมหาศาล ขนาดตั้งแต่ระดับไมโคร ไปจนถึงนาโน รวมๆ กันแล้วเป็นหลัก 'พันล้าน' อนุภาค
นอกจากนี้ก็มีการวิเคราะห์เพื่อระบุว่าคุณสมบัติของอนุภาคไมโครพลาสติกนั้น ตรงกับพลาสติกที่ถุงชาหรือไม่ ซึ่งก็ยืนยันได้ว่าเป็นชนิดเดียวกัน
สรุปคือ ในการชงถุงแบบธรรมดาๆ ทั่วไป ทำให้พลาสติกจากถุงชา กระจายออกมาในน้ำชาได้จำนวนมากมาย และเราๆ ท่านๆ น่าจะเคยดื่มเข้าไปแล้ว
ถึงแม้ว่าไมโครพลาสติกจะไม่ค่อยเป็นพิษโดยตรงต่อร่างกายมากนัก สิ่งที่น่ากังวลคือขยะพลาสติกจากถุงชาซึ่งย่อยสลายยาก การปล่อยไมโครพลาสติกออกสู่สิ่งแวดล้อมมากกว่า
แต่ตอนนี้ก็เริ่มมีการเรียกร้องจากผู้บริโภค เพื่อให้ผลิตถุงชาจากวัสดุธรรมชาติและย่อยสลายได้ และผู้ผลิตชาบางแบรนด์ก็เริ่มเปลี่ยนวัสดุถุงชาแล้ว
https://pubs.acs.org/doi/10.1021/acs.est.9b02540
รูปจาก
https://you.38degrees.org.uk//remove-plastics-from-tea-bag