โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เกร็ดประวัติศาสตร์นายกรัฐมนตรีไทย: อดีตที่ซ้ำรอย? - ประจักษ์ ก้องกีรติ

THINK TODAY

เผยแพร่ 04 มิ.ย. 2562 เวลา 05.51 น.

ประเทศไทยของเรากำลังจะมีนายกฯ คนใหม่ ซึ่งบรรดานักสังเกตการณ์และสื่อหลายสำนักคาดเดาว่าอาจจะเป็น “นายกฯ ใหม่ที่เป็นคนเก่า” (?) แต่ไม่ว่าสุดท้ายจะลงเอยอย่างไร เราลองมาย้อนดูเกร็ดประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจบางประการเกี่ยวกับตำแหน่งนายกฯ ของไทยกันดูเสียหน่อย

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 ที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตำแหน่งประมุขฝ่ายบริหารมาแล้วทั้งสิ้น 29 คน ซึ่งหากเฉลี่ยแล้ว เท่ากับว่านายกฯ ประเทศไทยมีอายุการครองอำนาจเฉลี่ยคนละ 3 ปี

อย่างไรก็ดี หากดูเพียงระยะเวลาเฉลี่ย อาจจะทำให้เราเข้าใจไปว่านายกฯ ของไทยอยู่ในอำนาจกันได้เกือบครบวาระ (4 ปี) เสียทุกคน ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ชวนให้ไขว้เขว เพราะตามข้อเท็จจริงแล้ว มีนายกฯเพียงไม่กี่ท่านเท่านั้นที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานเกินกว่าค่าเฉลี่ย

ในจำนวนทั้งหมด มีเพียง 8 คนที่อยู่ได้นานเกินค่าเฉลี่ย ส่วนที่เหลืออยู่ในอำนาจกันเพียงสั้นๆ โดยคนที่อยู่ในอำนาจสั้นที่สุด คือนายทวี บุณยเกตุ อยู่ในตำแหน่งเพียง 17 วัน!

คนที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม หนึ่งในผู้นำคณะราษฎร ซึ่งดำรงตำแหน่งสองช่วงคือ ช่วงสงครามโลกกับช่วงหลังการรัฐประหาร 2490 (นักประวัติศาสตร์เรียกยุคแรกสั้นๆ ว่า “ยุค ป.1” ส่วนยุคที่สองคือ “ยุค ป.2”) รวมแล้วอยู่ในตำแหน่งถึง 15 ปี ส่วนคนที่ครองตำแหน่งรองแชมป์อยู่นานคือ จอมพลถนอม กิตติขจร อยู่ในอำนาจรวมทั้งสิ้น 9 ปีกว่าๆ 

สำหรับคนที่ 3 คือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเป็นนายกฯ ต่อเนื่องกันประมาณ 8 ปีในยุคที่เรียกกันว่าประชาธิปไตยครึ่งใบ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 ซึ่งเปิดช่องให้มีนายกฯ คนนอกและวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งเป็นฐานค้ำจุนอำนาจของนายกฯ คนนอกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

ฉะนั้น เมื่อรวมระยะเวลาการครองอำนาจของนายกฯ เพียง 3 คนซึ่งล้วนมาจากกองทัพ คือ จอมพล ป. จอมพลถนอม และพลเอกเปรม ก็เท่ากับประมาณ 1 ใน 3 ของการเมืองไทยสมัยใหม่เสียแล้ว

มีนายกฯ พลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งที่อยู่ในอำนาจได้ยาวนานสักหน่อยเพียง 2 ท่านเท่านั้น คือ นายชวน หลีกภัย จากพรรคประชาธิปัตย์ และนายทักษิณ ชินวัตร จากพรรคไทยรักไทย ซึ่งอยู่ในตำแหน่ง 6 ปี และ 5 ปีตามลำดับ (ทั้ง 2 คนเป็นนายกฯ คนละ 2 สมัย) ที่น่าสนใจคือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ คนปัจจุบัน ถือว่าติดโผอยู่ในกลุ่มนายกฯ ที่อยู่ในอำนาจนานกว่าค่าเฉลี่ย 

โดยนับจนถึงวันนี้อยู่ในอำนาจมาแล้วเกือบจะครบ 5 ปี ใกล้เคียงกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เจ้าของมาตรา 17 ซึ่งเป็นต้นตำรับของมาตรา 44 ของคสช. ทั้งนี้ หากพลเอกประยุทธ์ ได้รับเลือกกลับมาอีกสมัยและอยู่ได้ครบวาระก็จะแซงหน้าพล.อ.เปรม ขึ้นไปรั้งตำแหน่งที่ 3 ของนายกฯ ที่ครองอำนาจยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย

เมื่อดูจากสถิติจะพบข้อเท็จจริงที่น่าสนใจ 3 ประการคือ

ประการแรก นายกฯ ที่อยู่ในอำนาจนาน ส่วนใหญ่เป็นนายกฯ ที่เป็นผู้นำทหาร ซึ่งในบรรดา 29 นายกฯ ของไทย มีนายกฯ ที่มียศทหารถึงครึ่งหนึ่งคือ 14 คน ครองอำนาจรวมกันประมาณ 54 ปี (มากกว่าครึ่งของ 87 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง) ฉะนั้น จึงมีคำพูดติดตลกกันในสังคมไทยว่า หากใครปรารถนาให้บุตรหลานมีโอกาสเป็นนายกฯ ควรจะส่งเข้าเรียนโรงเรียนนายร้อย มากกว่าสอบเข้าเรียนจุฬาฯ หรือธรรมศาสตร์

ประการที่สอง ไม่จริงเสมอไปที่นายกฯ ที่มาจากการรัฐประหารจะอยู่ในอำนาจได้ยาวนาน ข้อนี้ อาจจะแย้งกับความเข้าใจหรือสามัญสำนึกของคนทั่วไป ทั้งนี้ ในประวัติศาสตร์ของไทย มีนายกฯ ที่มาจากการรัฐประหาร 11 คน หลายคนอยู่ในอำนาจเพียงสั้นๆ ประมาณ 1 ปีเท่านั้น 

เนื่องจากเป็นพลเรือนที่คณะรัฐประหารแต่งตั้งมารับตำแหน่งชั่วคราว เช่น นายควง อภัยวงศ์ (รัฐประหาร 2490) นายพจน์ สารสิน (รัฐประหาร 2500) หรือนายอานันท์ ปันยารชุน (รัฐประหาร 2534) บางคนอยู่สั้นเพราะโดนคณะรัฐประหารปลดเสียเองเพราะบริหารประเทศล้มเหลว เช่น นายธานินทร์ กรัยวิเชียร (เป็นนายกฯ หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ) หรือกรณีพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่รับตำแหน่งหลังการรัฐประหาร 2549 

แต่อยู่ไม่นาน เพราะมีการร่างรัฐธรรมนูญและจัดการเลือกตั้งภายในเวลาอันรวดเร็ว โดยที่พล.อ.สุรยุทธ์ไม่ได้ตั้งพรรคการเมืองของตนเองหรือรับเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคใด รวมทั้งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มิได้เปิดช่องให้มีนายกฯ คนนอก และไม่ได้ให้วุฒิสมาชิกเข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกนายกฯ

ประการสุดท้าย ผู้นำกองทัพมักจะประสบผลสำเร็จและช่ำชองในการขึ้นสู่อำนาจผ่านการรัฐประหาร แต่มักจะล้มเหลวในการครองอำนาจผ่านการเลือกตั้ง มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจ 2 กรณีคือ จอมพลถนอม กิตติขจร กับ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ซึ่งเป็นกรณีของผู้นำคณะรัฐประหารที่เมื่อกุมอำนาจสำเร็จผ่านการรัฐประหารแล้วพยายามครองอำนาจต่อผ่านการเลือกตั้ง แต่กลับล้มเหลวในท้ายที่สุด

กรณีจอมพลถนอมนั้น ขึ้นมาเป็นนายกฯ ในปี 2506 โดยสืบทอดอำนาจต่อจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอมอยู่ในอำนาจในช่วงแรกอย่างราบรื่นถึง 6 ปี โดยไม่มีฝ่ายค้าน ไม่มีการเลือกตั้ง และไม่มีพรรคการเมืองมาคอยคัดง้าง แต่เมื่อจัดการเลือกตั้งในปี 2512 แม้พรรคสหประชาไทของทหารจะชนะมาเป็นอันดับ 1 แต่เสียงไม่พอจัดตั้งรัฐบาล 

ต้องอาศัยเสียงส.ส.พรรคเล็กและ ส.ส.อิสระมาช่วยฟอร์มรัฐบาล บริหารได้ไม่นาน จอมพลถนอมคุมสภาและพรรคร่วมรัฐบาลไม่ได้ เพราะมีการต่อรองตำแหน่ง แย่งชิงเก้าอี้ และมีความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลสูง จอมพลถนอมและกองทัพจึงรัฐประหารตัวเอง ยุบสภา ยุบพรรคการเมืองต่างๆ และยกเลิกรัฐธรรมนูญที่ตนร่างมากับมือ กลับไปปกครองแบบไม่มีฝ่ายค้าน สร้างความไม่พอใจในหมู่ประชาชน จนนำไปสู่การเดินขบวนของนักศึกษาและประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516

กรณีของพล.อ.สุจินดา ซึ่งเป็นผู้นำการรัฐประหารในปี 2534 เมื่อยึดอำนาจสำเร็จ ต่อมาได้สนับสนุนและรวบรวมนักการเมืองชื่อดังมาเข้าสังกัดจัดตั้งพรรคที่ชื่อสามัคคีธรรม เพื่อสนับสนุนให้ผู้นำคณะรัฐประหารได้ครองอำนาจต่อไปผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งปรากฏว่าพรรคสามัคคีธรรมก็ชนะเลือกตั้งมาเป็นที่หนึ่งตามเป้าหมาย 

แต่เมื่อพล.อ.สุจินดา “เสียสัตย์เพื่อชาติ” รับตำแหน่งนายกฯ เสียเอง ทั้งที่เคยลั่นวาจาไว้กับประชาชนว่าจะไม่สืบทอดอำนาจ จึงสร้างความไม่พอใจ และเป็นชนวนนำไปสู่การประท้วงของประชาชนในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ในท้ายที่สุด สร้างสถิติเป็นนายกฯ ที่อยู่ในตำแหน่งเพียง 47 วัน สั้นที่สุดเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์

บทเรียนประการสุดท้ายนี้บอกเราว่า การจัดตั้งรัฐบาลไม่ใช่เรื่องของคณิตศาสตร์แต่เพียงอย่างเดียว เหนืออื่นใด มันเป็นเรื่องของความชอบธรรมในสายตาประชาชน ใครไม่เข้าใจบทเรียนข้อนี้ก็อาจจะเดินซ้ำรอยประวัติศาสตร์

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0