โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธรรมะ

ธรรมะสวัสดี: ไม่มีศาสนาก็ไม่บาป ไม่ต้องรับผลกรรมจริงไหม

LINE TODAY

เผยแพร่ 20 ก.ย 2561 เวลา 06.12 น.

ถาม: คนเราเดี๋ยวนี้ไม่นับถือศาสนา ถึงขั้นคิดว่าไม่มีศาสนาก็ไม่มีกรรม ไม่มีบาป ไม่ต้องรับผลกรรม อันนี้เป็นเรื่องจริงหรือไม่?

ตอบ: พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่อยู่บนหลักการแห่งเหตุผล คำถามเรื่องกรรมกับตัวบุคคล จึงต้องรู้ว่า "กรรม" ที่พูดกันอยู่นั้น ความจริงกรรมคืออะไร?  

คำว่า "กรรม" ไม่ได้มีความหมายอื่นใดเลยนอกเหนือจาก "การกระทำ" การที่พูดว่าคนนั้นมีกรรม คนนี้มีกรรมเป็นเรื่องสามัญอย่างที่สุด เพราะแปลได้เพียงว่าผู้นั้นได้กระทำ หรือมีการกระทำอะไรอยู่เท่านั้น กรรมเป็นเพียงคำกลาง ๆ ตราบเมื่อเพิ่มคำว่า "ดี" หรือ "ชั่ว" ต่อท้าย ความหมายจึงชัดเจนว่า ผู้นั้นได้กระทำเรื่องดีหรือเรื่องไม่ดีลงไป

พุทธศาสนาสอนว่า ทุกอย่างเป็นไปตามกรรม การที่คนหรือสัตว์เป็นเช่นไรในเวลานี้หรือเวลาไหน ก็เป็นผลที่มาจากเหตุก่อนหน้าทั้งสิ้น บาลีเรียกว่า "ปฏิจจสมุปบาท" ซึ่งเป็นหลักที่แสดงในรูปของกฎธรรมชาติ กล่าวคือ "เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี, สิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด, สิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี, สิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ" หมายถึงภาวะที่มีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย (อิทัปปัจจยตา) ซึ่งสิ่งทั้งหลายนั้น ไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้นได้ด้วยตัวของมันเอง ทุกชีวิต ทุกปรากฏการณ์ ล้วนมีเหตุและสิ่งที่เป็นไปตามเหตุนั้นเสมอ ไม่มีอะไรเกิดขึ้นได้เองโดด ๆ การเกิดขึ้นมาและความเป็นไปเช่นนั้น มาจากเหตุปัจจัยก่อนหน้าทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้นคำถามที่ว่าไม่มีศาสนาก็ไม่บาป ไม่ต้องรับผลกรรมจริงไหม คำตอบคือไม่จริง เพราะการที่บุคคลจะมีศาสนาหรือไม่มีศาสนาก็ตาม กฏของธรรมชาติก็เป็นอยู่อย่างนั้น หนึ่งบวกหนึ่งได้ผลลัพธ์เป็นสองเสมอ การกระทำใด ๆ ย่อมมีผลเกิดขึ้นวันยังค่ำ และผลที่ว่านี้ก็จะเป็นผลที่ "สมเหตุ" หมายถึงผลลัพธ์จะเชื่อมโยงกับสาเหตุนั้น ๆ ได้อย่างตรงไปตรงมา เช่น เมื่อเราทุบโต๊ะ ผลลัพธ์ก็คือเสียงทุบ คือการเจ็บมือ หรือจะอะไรก็ตามที่มีเหตุมาจากการทุบโต๊ะ ความหมายของกรรมทางพุทธศาสนาเป็นอย่างนี้ 

ส่วนการจะนับถือศาสนาหรือไม่นั้น อาตมาเห็นว่า ศาสนาจะมีผลต่อการดำเนินชีวิตของใครก็ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล ผู้ที่ได้ชื่อว่านับถือศาสนา ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าเขาจะเป็นคนดี ส่วนคนที่ไม่มีศาสนา ก็ใช่ว่าเขาจะเป็นคนดีไม่ได้ 

ต้องเข้าใจก่อนว่า การไม่มีศาสนากับการไม่มีศีลธรรม มันคนละเรื่องกัน ศีลธรรมเป็นความปกติ เป็นเรื่องสากล เป็นสามัญสำนึกที่พึงมี (จากการสั่งสอน หรือรู้ด้วยตัวเอง) หากสามัญสำนึกนี้มิได้เกิดกับบุคคลใด ต่อให้เป็นผู้ที่นับถือศาสนาก็ไม่ได้ชื่อว่าเป็นคนดี ในทางกลับกันคนที่ไม่มีศาสนา แต่เป็นผู้มีความเมตตากรุณา เห็นอกเห็นใจผู้อื่น แม้เขาจะรู้หรือไม่รู้ตัวก็ตาม เขาก็ได้ชื่อว่าเป็นคนดี มีศีลธรรม

ศาสนา หมายถึง คำสอน และการปฏิบัติตามคำสอนสำหรับผู้ที่นับถือศาสนานั้น ๆ แม้ปัจจุบันผู้ไม่มีศาสนาหรือผู้ที่เลิกนับถือศาสนาจะมีมากขึ้น ซึ่งน่าจะเกิดจากโลกยุคปัจจุบันเป็นโลกของวัตถุและบริโภคนิยม ทำให้การดิ้นรนแสวงหาปัจจัยตอบสนองความต้องการวัตถุนิยมเหล่านั้นเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อชีวิตมากกว่า เมื่อเขามองเห็นว่าศาสนาไม่ได้ช่วยอะไร ทุกอย่างเกิดจากตัวของเขาเอง ด้วยมันสมองและสองมือ จึงทำให้เขาหันมานับถือความสามารถของตัวเอง และกำหนดแนวทางชีวิตเอง 

ส่วนคนที่ได้ชื่อเป็นผู้นับถือศาสนา แต่ไม่เคยใส่ใจในหลักธรรมคำสอนทางศาสนา มัวแต่ไปยึดติดกับพิธีกรรมอันเป็นเรื่องนอกรีตนอกรอย นับถือศาสนากันแต่เพียงในนาม ก็เปรียบกันไม่ได้กับคนที่ไม่มีศาสนาแต่นับถือตัวเอง นับถือความถูกต้อง เสียด้วยซ้ำ

ดังนั้นสาระสำคัญในเรื่องศาสนาจึงมิได้ขึ้นอยู่ที่เขาจะนับถือหรือไม่นับถือศาสนา อาตมากำลังสื่อว่าศาสนาเป็นเพียงเครื่องมือที่นำมาใช้ในการดำเนินชีวิตไปในทิศทางที่ดีที่ถูกต้อง ทั้งนี้จึงขึ้นอยู่กับตัวบุคคล 

เจริญพร

พระมหาทรงศักดิ์ จิรสุโภ

วัดปากน้ำ นนทบุรี

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0