โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

อารมณ์น้อยใจ? “แคลิฟอร์เนีย” ขอแยกตัวออกจาก “อเมริกา”

PPTV HD 36

อัพเดต 16 พ.ย. 2559 เวลา 08.49 น. • เผยแพร่ 16 พ.ย. 2559 เวลา 07.20 น.
อารมณ์น้อยใจ?  “แคลิฟอร์เนีย” ขอแยกตัวออกจาก “อเมริกา”
จากกระแสข่าวเรื่องแคลิฟอร์เนียขอแยกตัวออกจากสหรัฐอเมริกา หลัง “โดนัลด์ ทรัมป์” ชนะการเลือกตั้งและเป็นว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 45

ทำให้ทั่วโลกจับตามองประเทศมหาอำนาจที่ขึ้นชื่อเรื่องความเป็นประชาธิปไตยแบบตาไม่กระพริบ หลังมีการเคลื่อนไหวเล็กๆ ในอินเทอร์เน็ต ถึงการที่แคลิฟอร์เนียจะขอแยกตัวจากสหรัฐอเมริกา

ย้อนความถึงวันแห่งชัยชนะที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” หักปากกาเซียน ขึ้นเป็นว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาครั้งที่ 45 กันสักหน่อย

 

 

วันที่ 8 พ.ย.59 (ตามเวลาสหรัฐอเมริกา) ซึ่งตรงกับวันที่ 9 พ.ย.59 ตามเวลาประเทศไทย ราวๆ 14.50น. ผลการนับคะแนนอิเล็กทรอรัลโหวต ระบุว่า โดนัลด์ ทรัมป์ได้ 288 ที่นั่ง ส่วนฮิลลารี คลินตันได้เก้าอี้ 215 ที่นั่ง หมายความว่า การเลือกตั้งครั้งนี้รู้ผลและจบลงแล้ว  (อย่างไม่เป็นทางการ) (อ่านข่าวเพิ่ม : เกาะติดการนับคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 45 )

หลังผลการเลือกตั้งปรากฏชัด คำถามมากมายเกิดขึ้นกับผู้ที่สนับสนุน “ฮิลลารี คลินตัน” จนทำให้เกิดการประท้วงจากหลายรัฐนับตั้งแต่วันที่รู้ผลเลือกตั้ง จนวันนี้

มาฟังความคิดเห็นของนักวิชาการกรณีที่แคลิฟอร์เนียขอแยกตัวออกจากอเมริกา กันบ้าง

2 นักวิชาการ ยัน “แคลิฟอร์เนียขอแยกตัวออกจาก อเมริกาเป็นไปได้แต่ไม่ง่าย

ผศ.ธนพันธ์ ไล่ประกอบทรัพย์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ถ้าจะบอกว่าเป็นไปไม่ได้เลยก็คงไม่ใช่เพราะตามรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาเปิดช่องให้สามารถขอแยกตัวได้ แต่ก็ใช่ว่าการขอแยกตัวจะเกิดขึ้นได้ทันทีทันใดหลังคนแคลิฟอร์เนียลงชื่อเพื่อขอทำประชามติ โหวตขอแยกตัว เพราะต้องให้ศาลสูงของรัฐตีความว่าการทำประชามติสามารถทำได้หรือไม่ เนื่องจากคนแคลิฟอร์เนียที่อยู่ติดชายฝั่งส่วนใหญ่เป็นฐานเสียงของเดโมแครตก็จริง แต่คนที่อาศัยอยู่พื้นที่ด้านในก็เป็นฐานเสียงของรีพับลิกัน ดังนั้นถ้ามีคนไปยื่นเรื่องเพื่อขอให้ดำเนินการจัดทำประชามติแยกแคลิฟอร์เนียออกจากอเมริกา ก็อาจมีคนไปยื่นเรื่องค้านเช่นกัน ดังนั้นอาจเกิดความยืดเยื้ออย่างน้อย 6 เดือน-1 ปี

 

“ผมมองว่าเป็นเรื่องไม่ง่ายที่แคลิฟอร์เนียจะขอแยกตัวออกจากอเมริกา ต่อให้มีการลงประชามติเพื่อขอแยกตัวจริง ก็ไม่รู้ว่าความต้องการจริงๆ ของคนส่วนใหญ่เป็นแบบนั้นหรือไม่”

ผศ.ธนพันธ์ กล่าวต่อว่า แม้แคลิฟอร์เนียจะเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ และเป็นประเทศที่มีความร่ำรวย แต่ก็ต้องพึ่งพิงมลรัฐอื่นๆ หากเกิดการแยกตัวออกจากอเมริกาจริงๆ คนแคลิฟอร์เนียก็ต้องคิดว่า ถ้าโดนบอยคอตต์จากมลรัฐอื่นๆ ของอเมริกาและไม่ส่งสินค้า หรือติดต่อด้วย แคลิฟอร์เนียจะยังคงความร่ำรวยอยู่ได้หรือไม่

“ช่วงนี้อาจยังอยู่ในช่วงของอารมณ์ไม่สมหวังกัน ซึ่งการให้เวลาเป็นตัวช่วยให้อารมณ์เย็นลงคงไม่ใช่คำตอบทั้งหมด เหมือนกับเหตุการณ์เมื่อปีค.ศ.2000 ครั้ง จอร์จ ดับเบิลยู บุช ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนที่ 43 ซึ่งมีการประท้วงเช่นกัน แต่ครั้งนี้สิ่งที่ต่าง คือ การที่ ทรัมป์ ต้องทำให้ประชาชนยอมรับในตัวทรัมป์ และคนที่จะเข้ามาทำงานด้วย”

ผศ.ธนพันธ์ ระบุว่า ตอนนี้ยังคงมีความขัดแย้งอยู่ ดังนั้น  “ทรัมป์” ต้องหาคนที่มีภาพลักษณ์ที่ดีและมีความน่าไว้วางใจมาร่วมงาน แต่จากรายชื่อที่ “ทรัมป์” จะดึงเข้ามาร่วมงานด้วยมีทั้งคนที่มีภาพลักษณ์สุดโต่งเป็นพวกขวาจัด รวมทั้งจะนำลูกๆ ของตนเองมาเป็นที่ปรึกษา ทั้งที่ไม่มีความรู้หรือประสบการณ์ทางการเมืองมาก่อน ทำให้อาจถูกมองว่าเอื้อประโยชน์ให้กับครอบครัว แม้กฏหมายของอเมริกาจะไม่ได้ระบุว่าคนที่จะมาทำหน้าที่ทางการเมืองต้องลาออกจากทุกตำแหน่งงาน

“หากทรัมป์ยังไม่สามารถแก้ไขภาพลักษณ์ของตนเอง และบุคคลที่จะดึงมาร่วมงานได้ ความขัดแย้งก็ยังคงอยู่ และอาจทำให้วันที่สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอาจต้องนั่งรถยนต์เข้ารับตำแหน่งและยังคงมีการประท้วงอยู่ต่อเนื่อง”

สอดคล้องกับความเห็นของดร.สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า ที่ระบุว่า รัฐธรรมนูญของอเมริกาเปิดช่องให้แคลิฟอร์เนียสามารถขอแยกตัวออกจากอเมริกาได้ โดยการเข้าชื่อของประชาชนเพื่อเสนอไปที่รัฐแคลิฟอร์เนียเพื่อขอทำประชามติ แต่โอกาสที่จะเกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะถ้ามีการริเริ่มเรื่องที่จะขอแยกตัว รัฐบาลกลางจะเข้ามาต่อรองเพื่อหาทางออกและทำให้ความต้องการที่จะแยกตัวออกหมดไป ท้ายที่สุดแล้วถ้าต่อรองไม่เป็นผลก็ต้องเข้าสู่กระบวนการประชามติและต้องได้เสียง 2 ใน 3 ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก

“มองว่าคนแคลิฟอร์เนียตอนนี้อยู่ในความรู้สึกน้อยใจมากกว่า เพราะการเลือกตั้งค่อนข้างชัดเจนว่ารัฐแคลิฟอร์เนียเลือกคนนี้ แต่ผลการเลือกตั้งรวมออกมาเป็นอีกคน ดังนั้นจึงคิดว่าถ้าได้แยกตัวออกมาก็จะสามารถกำหนดทุกอย่างเองได้ แต่การแยกตัวออกมาจากอเมริกาก็ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุด ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนการแสดงออกเพื่อให้รู้ว่าไม่เห็นด้วย และเหตุผลที่ว่าไม่พอใจผู้นำแล้วขอแยกตัวออกมาก็เป็นเหตุผลที่ไม่เพียงพอ”

ดร.สติธร กล่าวว่า ทางออกของเรื่องนี้มีอยู่ 3 ส่วน คือ 1. ผู้นำทางพรรคเดโมแครต ต้องแสดงออกถึงการยอมรับผลการเลือกตั้งทั้งต่อหน้าและลับหลัง โดยหยุดกระบวนการเคลื่อนไหวของแกนนำที่แพ้การเลือกตั้ง 2.ฝ่ายพรรครีพับลิกันก็ต้องกดดันทรัมป์ไม่ให้เอาแต่คนของตัวเองเข้ามานั่งทำงาน โดยให้แต่งตั้งคนเก่าแก่ของพรรครีพับลิกันเข้ามาทำงานด้วย และ3.ตัวของทรัมป์ต้องขยับเปิดรับนโยบายของรัฐบาลชุดเก่าที่ทำไว้แล้วพร้อมทั้งสานต่อด้วย

“วันที่ 19 ธ.ค.นี้คณะกรรมการอิเล็กโทรัล คอลเลจ ของแต่ละรัฐต้องมาประชุมกัน หากผลการประชุมยืนยันที่จะให้เป็นไปตามผลการเลือกตั้ง ก็จะทำให้การประท้วงเบาลง จากนั้นวันที่ 6 ม.ค.60 คณะกรรมการอิเล็กโทรัล คอลเลจ ทั้งหมดจะมาประชุมร่วมกันอย่างเป็นทางการ หากมีการยืนยันตามผลการเลือกตั้ง ในวันที่ 20 ม.ค.60 ทรัมป์ ก็จะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ”

 

*วิเคราะห์ 5 ข้อ “ทรัมป์” ชนะ “คลินตัน” *

จากการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ว่าทำไม “ทรัมป์” ถึงคว้าชัยในการเลือกตั้งครั้งนี้มาได้แบบพลิกความคาดหมาย สามารถสรุปได้ 5 ข้อ (อ่านเพิ่ม : เหตุผลที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้ง )

1.พลังคนผิวขาวชนชั้นแรงงาน คนกลุ่มนี้เคยเป็นฐานเสียงสำคัญ ที่ทำส่งให้นายบารัก โอบามา ถึงฝั่งฝันมาแล้ว 2 สมัยซ้อน แต่มาคราวนี้ พวกเขาอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง

2.การหาเสียงที่ได้ผล คลินตันถูกมองว่าเป็นพวกหน้าเลือด ไปพูดปาฐกถาที่ไหน ก็เรียกเงินแพงๆ เพื่อเอาเข้ากองทุน

3.ลักษณะนิสัยส่วนตัว ที่ชอบพูดจาโผงผาง ด่าคนไม่เลือกหน้า และแทบไม่เคยยอมขอโทษใคร ซึ่งแทนที่จะทำให้คนเกลียดมากขึ้น กลับกลายเป็นความชอบใจของผู้ฟัง เพราะเป็นคำพูดที่ตรงใจ แต่ไม่เคยมีนักการเมืองคนไหนกล้าพูดมาก่อน

  1. ข่าวการตรวจสอบเรื่องอีเมลล์เจ้าปัญหาของนางคลินตัน ที่มีอย่างถูกที่ถูกเวลา คือไม่ถึง 2 สัปดาห์ ก่อนวันลงคะแนนเลือกตั้ง ฉุดขาคลินตันอย่างได้ผลเกินคาด

5.การวางตัวว่าเป็นผู้สมัครติดดิน เป็นคนของประชาชน ที่ต่อต้านกระแสโลกาภิวัฒน์ โดยประกาศต่อต้านนโยบายการค้าเสรี ไม่ต้อนรับคนเข้าเมืองต่างสีผิว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ตรงใจชาวอเมริกันระดับรากหญ้า ที่เห็นว่า พวกคนนอกเหล่านี้ เข้ามาแย่งอาชีพ ขโมยความเป็นอยู่ที่เคยสุขสบายไปจนหมด ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญ แต่ไม่เคยมีนักการเมืองคนไหนกล้าออกมาพูดเลย

 

 

 RINGO CHIU / AFP

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0