โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ตัดริบบิ้น “ภูเก็ต” ก้าวสู่ สมาร์ท ซิตี้ ภายในปี 2563

Manager Online

อัพเดต 09 ก.ย 2559 เวลา 14.45 น. • เผยแพร่ 09 ก.ย 2559 เวลา 07.16 น. • MGR Online
ตัดริบบิ้น “ภูเก็ต” ก้าวสู่ สมาร์ท ซิตี้ ภายในปี 2563
ตัดริบบิ้น “ภูเก็ต” ก้าวสู่ สมาร์ท ซิตี้ ภายในปี 2563
ตัดริบบิ้น “ภูเก็ต” ก้าวสู่ สมาร์ท ซิตี้ ภายในปี 2563
ตัดริบบิ้น “ภูเก็ต” ก้าวสู่ สมาร์ท ซิตี้ ภายในปี 2563

เปิดตัว “ภูเก็ต สมาร์ท ซิตี้” อย่างเป็นทางการชูแนวคิด Phuket Smart City 2020 : Smile Smart and Sustainable Phuket หวังก้าวสู่เมืองสมาร์ทภายในปี 2563 พร้อมเปิดศูนย์ Innovation Park หวังสร้างบรรยากาศดึงนักลงทุนต่างชาติ

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวภายหลังการเข้าร่วมพิธีเปิดตัวโครงการส่งเสริมพื้นที่พิเศษสำหรับเศรษฐกิจดิจิตอล จังหวัดภูเก็ต ภายใต้แนวคิด Phuket Smart City 2020 : Smile Smart and Sustainable Phuket ว่า ภูเก็ตเป็นจังหวัดที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติอยู่แล้ว แต่พอรัฐบาลประกาศนโยบายดังกล่าว ยิ่งทำให้ต่างชาติสนใจมากยิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมา เอกอัคราชทูตประเทศต่างๆ รวมถึงบริษัทเอกชนต่างชาติมาเข้าพบ และสอบถามรายละเอียดกับตนเองจำนวนมาก ซึ่งก็ต้องให้เวลากับทูตประเทศต่างๆ ในการนำข้อมูลไปสื่อสารกับนักลงทุนของประเทศตนเอง ซึ่งการสร้างภูเก็ตให้เป็นเมืองสมาร์ทนั้น เชื่อว่าจะสามารถเพิ่มเม็ดเงินให้กับจังหวัด และประเทศได้ ส่วนจะเท่าไหร่นั้น ต้องรอประเมินอีกทีหนึ่งก่อน

*** เปิด Innovation Park สร้างบรรยากาศนักลงทุน

นอกจากนี้ ยังร่วมเปิดศูนย์ Phuket Smart City Innovation Park โครงการภายใต้ Phuket Smart City ซึ่งศูนย์นี้มีสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า เป็นหน่วยงานหลักที่ให้การสนับสนุนตั้งแต่การจัดตั้งศูนย์เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาการเรียนรู้นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครงการ Phuket Smart City ทั้งการสนับสนุนการลงทุนด้านดิจิตอล ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ตลอดจนให้คำปรึกษาด้านธุรกิจแก่ Tech Startup และการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง อาทิ ASEAN Tourism Software Excellence Center, IoT Smart City Lab, BIM Innovation Center เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดธุรกิจแนวสร้างสรรค์ หรือ Creative Entrepreneurs ผ่าน Creative Entrepreneurship Academy เป็นต้น

นายอุตตม กล่าวว่า โครงการ Phuket Smart City จังหวัดภูเก็ต และการจัดตั้งศูนย์ Phuket Smart City Innovation Park นับว่าเป็นโครงการที่สามารถขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมการพัฒนา ได้แก่ 1.โครงการ Certified Digital Workers/investors เพื่อการรับรอง และให้สิทธิประโยชน์ Digital Workers และ Digital Investors 2.โครงการจัดตั้ง Phuket Smart City Innovation Park เพื่อสนับสนุน Super Cluster Digital 3.โครงการศึกษาและพัฒนา Ecosystem and Incentive Study and Roadshow เพื่อรวบรวมมาตรการส่งเสริมการพัฒนา 4.โครงการพัฒนาระบบ Smart WiFi โดยกิจกรรมทั้งหมดมีส่วนช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้เกิดขึ้นได้ทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และทำให้เกิดการรวมกันของกลุ่มของนักลงทุน

***พันธกิจ 7 ด้าน เสร็จภายในปี 2563

ด้าน นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ประธานกรรมการบริหาร ซิป้า กล่าวว่า ภูเก็ตได้แบ่งการดำเนินการเรื่อง Phuket Smart City ออกเป็น 7 ส่วน คือ 1.Smart Economy ทำให้เป็นเมืองที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ 2.Smart Tourism การนำเทคโนโลยีดิจิตอลเพื่อเพิ่มความสะดวกให้นักท่องเที่ยว 3.Smart Safety ใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างความปลอดภัย 4.Smart Environment ใช้เทคโนโลยีสร้างให้เป็นเมืองประหยัดพลังงาน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม 5.Smart Healthcare ใช้เทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ 6.Smart Education ใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา และ 7.Smart Governance บริหารจัดการบ้านเมืองให้โปร่งใส มีการทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยในปีแรก ภูเก็ตมุ่งเน้นในเรื่อง Smart Economy, Smart Tourism, Smart Safety และ Smart Environment มุ่งเน้นเรื่องการเติบโตอย่างยั่งยืน และประชาชนมีความสุข โดยตั้งเป้าหมายให้ภูเก็ตเป็น Smart City ในปี 2563 ในภาพ Smile Smart and Sustainable Phuket โดยรัฐบาลเป็นคนให้งบประมาณแก่จังหวัดภูเก็ต จำนวน 400 กว่าล้านบาท ในการสร้างเมืองดังกล่าว ช่วงแรก คือ ปี 2559-2560 ก่อน แบ่งเป็น บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ใช้งบประมาณ 240 ล้านบาท ในการวางโครงสร้างบรอดแบนด์ความเร็วสูง และไวไฟ, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการรวมระบบกล้องวงจรปิด ประมาณ 70 ล้านบาท ขณะที่ซิป้า ใช้งบประมาณ 80 ล้านบาท ในการช่วยส่งเสริม และเชื่อมโยงผู้ประกอบการกับหน่วยงานภาครัฐ

สำหรับพันธมิตรที่ร่วมจัดตั้ง และพัฒนา Phuket Smart City Innovation Park มีหลายหน่วยงานที่เข้ามาร่วมกัน อาทิ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้การสนับสนุนพื้นที่สำหรับการแสดงเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครงการ Phuket Smart City และสนับสนุนพื้นที่สำหรับเป็นศูนย์นวัตกรรมย่อยด้านต่างๆ และพื้นที่สำหรับผู้ประกอบการทางด้านดิจิตอลรุ่นใหม่ และผู้ที่สนใจมาลงทุนในจังหวัดภูเก็ตทางด้านดิจิตอลในราคาประหยัด รวมทั้ง กสท โทรคมนาคม ให้การสนับสนุนอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงภายในศูนย์ Phuket Smart City Innovation Park สนับสนุนการปรับปรุงพื้นที่สำหรับ Tech Startup แบบ Co-Working Space และศูนย์แสดงนวัตกรรม และเทคโนโลยีของ กสท โทรคมนาคม สนับสนุนการพัฒนาหลักสูตร และอบรมผู้ประกอบการ SMEs ให้เป็นผู้ประกอบการเชิงสร้างสรรค์ (Creative Entrepreneur) และเข้าถึงระบบเศรษฐกิจดิจิตอล ขณะที่ภาคเอกชนอื่นๆ ร่วมขับเคลื่อนผลักดันให้เกิด Creative Entrepreneurship Academy ภายใต้ศูนย์ Innovation Park ร่วมกับซิป้า และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

“ศูนย์นี้จะช่วยสร้างบรรยากาศให้กับนักพัฒนาทั้งคนไทย และต่างชาติ โดยเฉพาะต่างชาติมักนิยมเลือกภูเก็ต และเชียงใหม่ ในการเข้ามาทำงาน เพราะมีบรรยากาศน่าท่องเที่ยว และทำงาน แต่ที่ผ่านมา เขามักทำงานตามร้านกาแฟ หรือรวมตัวกันอยู่ที่อื่น ซึ่งเราต้องหาวิธีดึงดูดเขาให้มานั่งทำงานที่ศูนย์นี้ โดยจะร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในการโปรโมตให้นักท่องเที่ยวทราบข้อมูลของศูนย์นี้ด้วย”

***ทุ่ม 4 พันล้านสร้าง ภูเก็ต สมาร์ท ซิตี้

ขณะที่ นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบประมาณกว่า 4,100 ล้านบาท ในการสร้างสมาร์ท ซิตี้ ให้เป็นไปตามเป้าหมายโดยสิ่งที่จังหวัดภูเก็ต เริ่มทำแล้ว คือ การรวมข้อมูลของกล้องวงจรปิดทั้งจังหวัดกว่า 1,500 ตัวไว้ด้วยกัน ซึ่งอนาคตจะจัดตั้งศูนย์ปฎิบัติการเพื่อดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังสามารถรู้ตำแหน่งเรือยอร์ชแบบเรียลไทม์ โดยกำลังจะต่อยอดเพื่อให้ทราบจำนวนผู้โดยสารในเรือแบบเรียลไทม์ด้วย นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาระบบตรวจวัดสภาพอากาศ สามารถวัดความชื้นของอากาศ กลิ่น ควัน เพื่อคาดเดาสภาพสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งต่อไปจะพัฒนาให้วัดค่าทางน้ำด้วย

นอกจากนี้ ยังมีแผนจะเพิ่มจุดไวไฟ ฮอตสปอต อีก 1,000 จุด ภายในปีหน้า จากเดิมที่มีอยู่แล้วประมาณ 1,700 จุด เพื่อให้บริการไวไฟฟรี ทั่วทั้งจังหวัด ซึ่งปัจจุบัน จุดให้บริการตามเส้นทางหลักครอบคลุมหมดแล้ว แต่จะเป็นการเพิ่มจุดบริเวณชายหาดให้ครอบคลุมมากขึ้น

“ภูเก็ตสามารถสร้างเม็ดเงินได้ปีละ 4 แสนล้านบาท มีนักท่องเที่ยวปีละ 13 ล้านคน มีอัตราการเติบโตปีละ 17% มีนักท่องเที่ยวที่อยู่ประจำไม่ต่ำกว่าล้านคน แม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่รู้ว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวเท่าไหร่ที่เป็นนักพัฒนาที่เข้ามาทำงานในไทย แต่เมื่อมีโครงการนี้ขึ้น ก็จะทำให้รู้จำนวนของนักลงทุน นักพัฒนาต่างชาติได้”

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของการสร้างเมืองเป็น สมาร์ท ซิตี้นั้น คือ รูปแบบการบริหารจัดการเมือง ซึ่งจะทำอย่างไรให้สอดคล้องกับนโยบายสมาร์ท ซิตี้ และต้องให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนจากรุ่นสู่รุ่นให้ได้

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0