โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

รู้จักพลาสติก 7 ชนิดที่ไทยกำลังจะแบน ส่องโมเดลจัดการขยะ 20 ปี ช่วยลดขยะได้แค่ไหน

THE STANDARD

อัพเดต 24 ม.ค. 2562 เวลา 16.43 น. • เผยแพร่ 24 ม.ค. 2562 เวลา 12.43 น. • thestandard.co
รู้จักพลาสติก 7 ชนิดที่ไทยกำลังจะแบน ส่องโมเดลจัดการขยะ 20 ปี ช่วยลดขยะได้แค่ไหน
รู้จักพลาสติก 7 ชนิดที่ไทยกำลังจะแบน ส่องโมเดลจัดการขยะ 20 ปี ช่วยลดขยะได้แค่ไหน

ปัญหาขยะพลาสติก ณ ช่วงเวลานี้เป็นหนึ่งในปัญหาที่ผู้คนทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ เนื่องจากสภาพพื้นที่สังคมในหลายๆ ประเทศกำลังถูกยึดครองด้วยกองขยะที่ไร้หนทางแก้ไขจนก่อให้เกิดมลพิษจากขยะพลาสติกในหลายด้าน อันเป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ต่อสิ่งแวดล้อมบนโลกใบนี้

 

แนวโน้มการเกิดขยะพลาสติกนั้นมีมากขึ้นทุกๆ ปี มีงานวิจัยที่เผยว่าช่วงเวลาที่ผ่านมามีปริมาณขยะพลาสติกรั่วไหลสู่ท้องทะเลเป็นจำนวนกว่า 13 ล้านตันต่อปี และขยะเหล่านี้เองที่เป็นต้นตอสำคัญทำให้มหาสมุทรแปซิฟิกกลายเป็นแพขยะขนาดใหญ่ หรือที่เรียกในระดับสากลว่า Great Pacific Garbage Patch ซึ่งปัจจุบันมีขนาดใหญ่ถึง 1.6 ล้านตารางกิโลเมตร หรือใหญ่กว่าประเทศฝรั่งเศส เยอรมนี และสเปนมัดรวมกันเสียอีก

 

ในขณะที่ประเทศไทยเองก็ประสบปัญหาดังกล่าวไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าประเทศใดในโลก เพราะเมื่อปีที่ผ่านมาพบว่าประเทศไทยสร้างปริมาณขยะทางทะเลและขยะมูลฝอย 27.4 ล้านตัน ส่งผลให้ติดอันดับ 6 ของประเทศที่มีปริมาณขยะเยอะที่สุดในโลก

 

นั่นจึงทำให้การประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติก ครั้งที่ 3/2561 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคมที่ผ่านมา ได้ประชุมพิจารณา (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) รวมถึงกำหนดการลดและเลิกใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use Plastic) ที่พบมากในขยะทะเลของประเทศไทยเป็นจำนวน 7 ประเภท

 

 

พลาสติกทั้ง 7 ชนิดนี้มีอะไรบ้าง เหตุใดจึงต้องแบน แล้วสุดท้ายเราจะมีมาตรการในการลดการใช้พลาสติกที่ยั่งยืนอย่างไร

 

THE STANDARD มีโอกาสพูดคุยกับ อัญชลี พิพัฒพัฒนากุล หัวหน้าโครงการลดพลาสติกของกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อไขข้อสงสัยถึงประเด็นดังกล่าว

 

รู้จักกับพลาสติกทั้ง 7 ประเภทที่จะถูกแบนภายในปี 2568

เมื่อดูจากแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก 20 ปี จะเห็นว่าพลาสติกทั้ง 7 ประเภทมีระยะเวลาในการควบคุมที่ต่างกันออกไป แต่ทั้งหมดจะอยู่ในแผนที่จะต้องเลิกใช้ภายในเวลา 6 ปี (ภายในปี 2568)

 

มาดูกันว่าพลาสติกแต่ละประเภทมีปริมาณการใช้มากแค่ไหน และคนไทยต้องเตรียมตัวอย่างไรก่อนจะเลิกใช้พลาสติกเหล่านี้

 

 

*แคปซีล *

จากข้อมูลปี 2560 พบว่าแคปซีลหรือพลาสติกหุ้มฝาขวดถูกพบเป็นขยะประมาณ 2,600 ล้านชิ้นต่อปี หรือคิดเป็นน้ำหนักกว่า 620 ตันต่อปี เดิมทีมีนโยบายในการเลิกใช้มาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว โดยกรมควบคุมมลพิษระบุกับกรีนพีซว่าสาเหตุที่ต้องแบนแคปซีลเพราะเป็นพลาสติกที่ใช้เพียงเพื่อหุ้มฝาขวดเท่านั้น ซึ่งหากมองในมุมธุรกิจแล้วจะสามารถลดต้นทุนได้หากยกเลิกการใช้ และไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ซึ่งนับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ง่ายและสามารถทำได้ทันที

 

 

อ๊อกโซ

คือถุงพลาสติกหูหิ้วชนิดบางที่ผ่านการเติมสารอ๊อกโซลงไปเพื่อเร่งปฏิกิริยาเพียงเล็กน้อย ทำให้ตัวพลาสติกย่อยสลายเร็วขึ้น เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีออกซิเจนและแสงแดดจัดๆ ก็จะแตกสลายกลายเป็นผุยผง ถูกใช้มากในร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป

 

จากคุณสมบัติของมันอาจฟังดูดี แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่มีรายงานว่าพลาสติกประเภทนี้จะสามารถย่อยสลายได้อย่าง 100% นั่นหมายความว่าเมื่อมันกลายเป็นผุยผง พลาสติกประเภทนี้จะกลายร่างเป็นหนึ่งในมลพิษทางน้ำหรือทางอากาศก็ได้ นี่จึงเป็นสาเหตุที่ควรควบคุมตั้งแต่การผลิต ไม่เช่นนั้นอุปสรรคที่ต้องเผชิญในลำดับต่อมาคือการจัดการกับพลาสติกประเภทนี้ที่เป็นเรื่องยากมากๆ ในภาพรวมพบว่าประเทศไทยใช้ถุงหูหิ้วประมาณ 1.168 ล้านตันต่อปี

 

 

ไมโครบีดส์

ในประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่ามีการใช้ไมโครบีดส์ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากน้อยแค่ไหน แต่ผลการสำรวจหาค่าไมโครบีดส์ตามตะกอนดินบริเวณแม่น้ำเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ในปี 2015 พบว่ามีไมโครบีดส์กระจายตัว 5 แสนชิ้นต่อตารางเมตร ซึ่งพลาสติกชนิดนี้มีขนาดเล็กมากๆ คนทั่วไปรู้จักกันดีในชื่อของ ‘เม็ดบีดส์’ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ ของพลาสติกที่ถูกผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ยาสีฟัน น้ำยาทำความสะอาด และอื่นๆ

 

ความร้ายกาจของไมโครบีดส์จะแสดงผลต่อเมื่ออยู่ในแหล่งน้ำ เช่น ทะเล เพราะการที่ถูกสร้างมาจากพลาสติกจึงไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ซึ่งตัวเม็ดบีดส์จะดูดซึมสารเคมีเป็นพิษต่างๆ ในน้ำและปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำ โดยสารเหล่านี้มักจะตกค้างในสัตว์ทะเล และถ้าหากอยู่ในร่างกายของมนุษย์ในปริมาณมาก ไมโครพลาสติกพวกนี้จะเข้าไปขัดขวางการทำงานของต่อมไร้ท่อ และกลายเป็นสารก่อมะเร็งในร่างกายได้

 

 

ถุงหูหิ้วขนาดหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน

จากผลสำรวจอาจไม่มีตัวเลขสถิติออกมาอย่างเฉพาะเจาะจง แต่หากนับแค่ในเขตกรุงเทพฯ จะพบว่าใน 1 ปีคนกรุงเทพฯ มีการใช้ถุงพลาสติกประมาณ 26,000 ล้านใบ เท่ากับว่าภาพรวมของถุงพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งมีปริมาณค่อนข้างมหาศาลต่อปีหากรวมทั่วทั้งประเทศ ถ้าสามารถลดได้จะทำให้ภาพรวมตัวเลขปริมาณขยะพลาสติกในประเทศลดลง และบรรเทาการเกิดขยะตามแหล่งน้ำที่เป็นตัวการทำลายระบบนิเวศลงได้

 

 

กล่องโฟม แก้วพลาสติก และหลอด

ในแต่ละปีมีกล่องโฟมถูกพบเป็นขยะในประเทศไทยประมาณ 7 แสนตันต่อปี ส่วนแก้วพลาสติกและหลอดมีประมาณ 1.72 แสนตัน จากการเปิดเผยข้อมูลคร่าวๆ โดยกรีนพีซ จากการแยกขยะที่เก็บขึ้นมาจากทะเลทำให้ทราบว่าหลอดพลาสติกมีสัดส่วน 10% จากขยะที่เก็บได้ทั้งหมด ในขณะที่คนไทยเป็นผู้ผลิตขยะโดยที่ไม่รู้ตัวประมาณ 1.13 กิโลกรัมต่อวัน และถ้ารวมขยะเหล่านั้นจากทั้งประเทศจะทำให้ประเทศไทยมีขยะรวมทุกชนิดประมาณ 27 ล้านตันต่อปี โดยมีพลาสติกจำพวกกล่องโฟม แก้วพลาสติก และหลอดเป็นสัดส่วนที่มากที่สุด

 

“ถ้าเราสามารถหยุดการเกิดขึ้นของอ๊อกโซและพลาสติกประเภทอื่นๆ ที่พูดถึงไปจะช่วยให้ปลายทางการควบคุมไม่ซับซ้อน ตอนนี้ต้องยอมรับว่าพลาสติกทั้ง 7 ตัวที่พูดถึง เรายังไม่มีวิธีการจัดการแบบเป็นรูปธรรมได้เลย ซึ่งต่อให้ดูดน้ำจากทะเลจำนวนมหาศาลขึ้นมาเพื่อกรองขยะก็ยังนับว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก

 

“แต่อีกมุมหนึ่ง หากมองแค่พลาสติก 3 ประเภท (แคปซีล อ๊อกโซ และไมโครบีดส์) ที่มีเป้าหมายการแบนในปี 2562 หรือปีนี้ ถ้าภาครัฐสามารถแบนพลาสติก 3 ชนิดนี้ภายในเวลา 1 ปีได้ถือว่าเก่งและเป็นก้าวสำคัญที่ประสบความสำเร็จมาก”

 

 

*มุมมองของกรีนพีซต่อแผนจัดการขยะพลาสติก 20 ปี *

“ก่อนอื่นต้องขอชื่นชมที่ภาครัฐออกมาประกาศจุดยืน สร้างกรอบแนวทางรณรงค์ และเห็นถึงความสำคัญของปัญหาเหล่านี้” อัญชลีกล่าว

 

“ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นองค์กรจากภาคเอกชนแสดงความกระตือรือร้นที่จะเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับทางภาคผู้ผลิตก็เริ่มมีกระแสที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงบรรจุภัณฑ์ให้เป็นวัสดุรีไซเคิล 100% และล่าสุดทางหน่วยงานภาครัฐก็เริ่มให้ความสำคัญกับขยะพลาสติกอีกครั้งจนนำไปสู่แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก 20 ปี และกำหนดการลดและเลิกใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกอีก 7 ประเภท ซึ่งเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาพลาสติกที่น่าชื่นชม”

 

แม้จะเป็นมาตรการที่ดี แต่ในมุมมองของกรีนพีซกลับมองว่าจะดีกว่าหากใช้ควบคู่กับมาตรการอื่นๆ

 

“การประกาศเลิกใช้พลาสติกทั้ง 7 ชนิดนี้ถือว่าเป็นเรื่องดีกับทางภาครัฐ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงมีลู่ทางอื่นๆ ที่ภาครัฐยังสามารถทำได้อีก อย่างหลายประเทศในทวีปยุโรปที่สร้างแรงจูงใจให้กับผู้ผลิต เช่น การลดหย่อนภาษีให้กับผู้ผลิตที่มีนโยบายลดการใช้พลาสติกในการดำเนินธุรกิจ หรือการจัดเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ต้องการรับถุงพลาสติกตามห้างสรรพสินค้า เป็นต้น”

 

 

*ปรับที่ผู้บริโภค – เปลี่ยนผู้ผลิต ข้อแนะนำปัญหาการลดพลาสติก *

การแบนพลาสติกทั้ง 7 ชนิดในกรอบเวลาที่รัฐวางไว้ล้วนแต่เป็นพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีถ้าจะเริ่มเปลี่ยน แต่สิ่งที่กรีนพีซอยากแนะนำคือส่วนของภาคประชาชนที่ควรเปลี่ยนพฤติกรรมหรือมายด์เซตให้ยอมสะดวกน้อยลง แต่ลดการใช้พลาสติกให้มากขึ้น และอีกส่วนที่สำคัญมากคือภาคของผู้ผลิตสินค้าหรือเจ้าของบรรจุภัณฑ์ที่ใช้พลาสติกเป็นส่วนหนึ่งของสินค้า แม้ว่าหลายแบรนด์จะพยายามใช้พลาสติกที่รีไซเคิลได้ 100% แต่พอมาอยู่ในกระบวนการจัดการขยะกลับสามารถรีไซเคิลได้เพียง 9% ของพลาสติกทั้งหมด และทำให้ส่วนที่เหลือกลายเป็นขยะไม่ต่างจากพลาสติกอื่นๆ

 

“ในมุมมองส่วนตัวคิดว่าเส้นทางอีกอย่างที่ลดได้คือการผลิตพลาสติกจากต้นทางโดยผู้ประกอบการหลายองค์กร เพราะทุกวันนี้ในถุงผ้าเรายังพบพลาสติกอยู่เลย ดังนั้นผู้ผลิตต้องมีนโยบายที่จะเปลี่ยนแพ็กเกจให้ย่อยสลายได้จริงๆ เพราะการรีไซเคิลมันไม่ใช่ทางออก แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในข้อเสนอแนะที่เราคอยผลักดันมาตลอด”

 

 

ประเทศไทยอยู่จุดไหนในความพยายามลดขยะเมื่อเทียบกับทั่วโลก

การประกาศเลิกใช้พลาสติกทั้ง 7 ประเภทตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2561 นับว่าเป็นการยกระดับการจัดการปัญหาขยะ ซึ่งหากมีการจัดอันดับประเทศที่มีการลดใช้พลาสติก ประเทศไทยอาจอยู่ในอันดับที่ดีขึ้น แต่ข้อท้าทายของเรื่องนี้คือแนวคิดนี้ยังคงเป็นเพียงแค่ร่างแผนปฏิบัติที่เราอาจต้องลงลึกไปดูว่าแผนตามกรอบเวลานี้จะนำไปสู่การแบนพลาสติกในแบบที่หน่วยงานจากรัฐต้องการให้เป็นได้หรือไม่ ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องคิดว่าภายในปี 2562-2568 จะหยุดการมีอยู่ของพลาสติกพวกนี้อย่างไร

 

อย่างไรก็ตาม หัวหน้าโครงการลดพลาสติกของกรีนพีซย้ำเสมอว่าการกำหนดนโยบายลดปัญหาขยะจากพลาสติกเป็นสิ่งที่ดี และเป็นจุดยืนที่ทำให้ประเทศไทยมีแนวทางแก้ปัญหาเป็นของตนเองไม่ต่างจากประเทศอื่น แต่สิ่งเหล่านั้นจะกลายเป็นเรื่องไร้ค่าทันทีหากไม่ได้การสนับสนุนจากประชาชนผู้ใช้พลาสติกและองค์กรเอกชนในฐานะผู้ผลิต

 

ดังนั้นทุกคนจึงต้องตื่นตัวและเป็นหนึ่งในกลไกการแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยเริ่มง่ายๆ จากการลดการใช้พลาสติกในชีวิตประจำวัน เรียนรู้วิธีจัดการขยะอย่างเป็นระบบ แม้ท้ายที่สุดการแก้ปัญหาพลาสติกด้วยวิธีนี้อาจจะไม่ช่วยให้พลาสติกหมดไปโดยสิ้นเชิง แต่อย่างน้อยก็ดีกว่าที่จะปล่อยให้ปัญหาขยะล้นเมืองโดยไม่ลดลงเลย

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0