โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เปิดสูตรเส้นทางสอบเข้า "คณะแพทย์" จากรั้ว กศน.ของ ว่าที่หมออาร์ม

PPTV HD 36

อัพเดต 01 มิ.ย. 2562 เวลา 02.59 น. • เผยแพร่ 01 มิ.ย. 2562 เวลา 00.30 น.
เปิดสูตรเส้นทางสอบเข้า "คณะแพทย์" จากรั้ว กศน.ของ ว่าที่หมออาร์ม
โตขึ้นอยากเป็น "หมอ" คงเป็นคำตอบของเด็กๆ หลายคน แต่ไม่ใช่ทุกคนจะเดินตามฝันได้ บางครั้งฝันนี้อาจเปลี่ยนแปลงระหว่างทางของชีวิตการเรียน แต่ความฝันนี้ที่เกิดขึ้นกับ "วรวิทย์ คงบางปอ" นักศึกษาแพทย์ ปี 6 วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า เกิดขึ้นตอน…"เรียน กศน."

“วรวิทย์ คงบางปอ” นักศึกษาแพทย์ ปี 6 วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า หรือ ว่าที่หมออาร์ม เด็กหนุ่มจาก จ.ระนอง กำลังฝึกงานอยู่ที่โรงพยาบาลพัฒนานิคมในจังหวัดลพบุรี ในระหว่างที่รอพูดคุยกัน เขากำลังตรวจอาการคนไข้ไม่ต่ำกว่า 50 คน ของช่วงเช้าในแผนกผู้ป่วยนอก (OPD) ก่อนที่จะปลีกตัวออกมาคุยกับทีมงานเราได้ก็เกือบเที่ยงซึ่งเป็นเวลาพัก

“วันนี้ตรวจ 40-50 คน ไม่ถือว่าเยอะครับ เพราะถ้าช่วงเทศกาลเป็นร้อย” เขาเล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงร่าเริง ทีมงาน LIFE STORY ไม่รอช้าเพราะอยากให้เขาได้พักทานข้าวเที่ยงเนื่องจากช่วงบ่ายต้องมีตรวจคนไข้ต่ออีกรอบ

วีรกรรมตอนเด็ก เกเร หนีเรียนไปอยู่บ้านเพื่อน…เพราะพ่อบังคับให้ไปเรียนกวดวิชาเตรียมทหาร

“หนีเรียนพิเศษ หนีไปบ้านเพื่อนถึง 3 ทุ่มแล้วก็บอกพ่อว่าผมไปมาแล้ว เป็นเด็กไม่ดีครับสมัยก่อน แล้ว ตอน ม.ต้น ยกเว้นเรื่องยา สารเสพติด เรื่องเรียนผมไม่เอาเลย เรียนก็ไม่เข้าเรียน งานก็มาส่งเอาวันสุดท้าย จะติด ร. ไม่ได้คิดด้วยซ้ำว่าอยากเป็นอะไร”

ถึงอย่างนั้น เขาก็ยังไปสอบเตรียมทหารให้พ่อแต่ “สอบไม่ติด” จึงถูกส่งมาอยู่กับครูที่ จ.นนทบุรี ฮึด! สอบอีกครั้งช่วง ม.4 แต่ก็ “ไม่ติด” จึงตัดสินใจกลับบ้านตั้งใจสอบเข้าเรียน ม.4 ใหม่อีกครั้ง แต่ “อาจารย์ไม่รับและให้ไปเรียน กศน.”

“ตอนนั้นโมโหมาก ก็..เรียน กศน.ก็ได้”  เขาคิด

จึงตัดสินใจสมัคร กศน.โดยที่พ่อแม่ไม่รู้ และถึงแม้ว่าตอนนั้นเขาจะยังไม่อยากเป็นหมอ แต่ก้ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาคิดอยากทำ “เพื่อพ่อแม่”

*“เรียน กศน. ทุกอย่างไม่ทางเลือกแล้ว ต้องเริ่มวางแผนแล้วว่าเราอยากเป็นอะไรจริงๆ เพราะถ้าตอนนั้นคิดว่าเรียนไปก่อน มันไม่มีเป้าหมายครับ มันก็จะสะเปะสะปะ ไปหมด” *

ซึ่งการตัดสินใจเรียน กศน.ครั้งนั้น ทำให้ “พ่อกับแม่ เสียใจหนักมาก”

*“ แม่ก็ร้องไห้ต่อหน้าเลย เพราะว่า แม่ไม่รู้ว่าผมหนีเรียน ไม่ส่งการบ้าน ในสายตาคือ “ลูกเป็นเด็กดีมาตลอด” แต่วันหนึ่งกลายเป็นเด็กไม่มีโรงเรียน ก็เคว้งว่าลูกจะไปอย่างไรต่อ” *

เป็นจุดที่ทำให้อยากทำให้ พ่อแม่ภาคภูมิใจ ก็เลยคิดว่าเป็น “หมอ” แล้วกัน ด้วยการพิสูจน์ตัวเอง เพราะเขายึดหลักว่า ทำอย่างไรให้ พ่อ แม่ มั่นใจว่า เราตั้งใจจะสอบจริงๆ ไม่ได้แค่พูดว่าจะสอบ หมอ เพราะถ้าเราแค่พูดว่าจะสอบหมอ การกระทำเราไม่ได้ เป็นแบบนั้นคนรอบข้างเขาก็ไม่เชื่อเราอยู่ดี

แต่เส้นทางของการสอบ “หมอ” ในรั้ว กศน. ไม่ง่าย เพราะเขาต้องจัดการระบบชีวิตเองทุกอย่าง เนื่องจากไม่มีตารางเรียนเหมือนโรงเรียนปกติทั่วไป โดยยึดหลัก *“ต้องมีวินัยสูง” *

*“ผมเอาเนื้อหาทั้งหมดมากาง แบบหลักสูตรกระทรวงฯ ว่าต้องเรียนอะไรบ้าง ถ้าเด็กในโรงเรียน ตัดเวลาพักเที่ยงออกเขาจะเรียน 8 ชั่วโมงต่อวัน 08.00-12.00 น. / 13.00-16.00 น. ผมก็คิดว่า ถ้าเขาเรียน 8 ชั่วโมงต่อวัน ผมก็ต้องอ่านหนังสือให้ได้ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน เพราะผมไม่ได้เรียน ที่โรงเรียน” *

แต่การเรียน กศน. จะมีข้อดีตรงที่ สามารถเลือกเรียนเฉพาะวิชาที่จำเป็นต้องใช้สอบจริงๆ หากไม่เข้าใจตรงส่วนไหนจะรวบรวมไว้แล้ว ลงสมัครเรียนพิเศษ ซึ่งต้องนั่งรถตู้จาก จ.ระนอง ไป จ.สุราษฎร์ธานี เป็นเวลา 3 ชั่วโมงครึ่ง ทำแบบนี้ทุกวัน โดยมีไม่มี “แผนสอง” ถ้าสอบไม่ติด

“ผมคิดว่า ถ้าผมจะสอบอะไรสักอย่างหนึ่ง เราไม่รู้หรอกว่าได้หรือไม่ แต่ผมคิดว่าได้ไว้ก่อน แต่ถ้ามันไม่ได้จริงๆ เราทำดีที่สุดเราอาจจะไปได้อะไรที่มันข้างเคียง ที่มันไม่ได้แย่กว่ากันเท่าไหร่ ผมก็เลยตั้งเป้าไว้ว่าจะเป็นหมอ ถ้าเราสร้างแผนสองไว้ในใจ มันก็จะมีบางความรู้สึกที่ เกิดขึ้นมาว่าแบบเออ ไม่เป็นไรถ้าไม่ติดหมอไปเรียนอันนี้ก็ได้”

นอกจากต่อสู้กับตัวเองแล้วสิ่งที่ต้องเจอระหว่างทางคือ“คำพูด” จากคนรอบข้าง แต่เขาเลือกที่จะบอกตรงๆ โดยไม่ต้องสนใจว่า เขาจะเชื่อหรือไม่ แต่เรา “ต้องเชื่อมั่นในตัวเอง”

"ผมไม่คิดว่าจะกลัวเวลามีคนถาม ญาติถามว่าชีวิตจะเรียนอะไรต่อ เรียน กศน. ผมไม่เคยกลัวเลยที่จะตอบว่า “ผมจะสอบแพทย์” ผมก็รู้ว่ามันยากที่จะทำให้คนเชื่อเรา ณ วันนั้น แต่ถ้าตัวเราเองยังกลัว ยังไม่กล้าที่จะบอกว่าเราจะทำอะไร หรือฝันว่าเราจะทำอะไร เราจะคาดหวังผลลัพธ์ไม่ได้เลย ไม่ได้เลย ถ้าตัวเองยังไม่กล้า"

จนในที่สุด  “วรวิทย์ คงบางปอ” สอบ ติดคณะแพทย์ศาสตร์ 3 อันดับแรก และ ทันตแพทย์ศาสตร์ อันดับที่ 4  

อันดับ 1 วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า

อันดับ 2 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

อันดับ 3 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

อันดับ 4 คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

และเขาเลือก “อันดับที่ 1” ซึ่งปัจจุบันอยู่ปี 6 แล้ว หลังจากนี้ เขาจะเข้ากระบวนการสอบใบประกอบโรคศิลปะ เป็นแพทย์ใช้ทุน เรียนต่อเฉพาะทางซึ่งเขาสนใจ “สูตินารีเวช” จากนั้นจะกลับ จ.ระนอง เพื่อนำความรู้ความสามารถไปพัฒนาด้านสุขภาพของคนในบ้านเกิดต่อไปเพราะภาพจำของเขาในวัยเด็กคือสิ่งเตือนใจ

“ช่วงที่อยู่กับครูกวดวิชาเคยลงพื้นที่ช่วยเด็กกำพร้า สร้างบ้านให้คนอยากจน สร้างห้องน้ำ ได้เห็นอะไรมากมาย เห็นคนที่ลำบาก ลำบากจนคิดว่าบนโลกนี้มีคนที่ลำบากแบบนี้จริงๆ เหรอ พอเห็นเยอะๆ เลยคิดว่า อยากเรียนอะไรสักอย่างที่ช่วยเหลือเขาได้”

และอีกไม่นานเขาจะกลับไปในฐานะ “หมออาร์ม”

และจากการที่เขาลงพื้นที่ โรงพยาบาลห่างไกลทำให้เห็นว่า ยังมีอีกหลายแห่งที่ขาดแคลนอุปกรณ์การรักษาที่สำคัญ อย่างที่โรงพยาบาลพัฒนานิคมขณะนี้กำลังระดมทุนรับบริจาค "จัดซื้อเครื่องมือแพทย์สำหรับผ่าตัดต้อกระจก" ซึ่งมีผู้ป่วยผู้สูงอายุเป็นจำนวนมาก

ติดตาม LIFE STORY ตอนอื่นๆ ได้ที่

https://www.pptvhd36.com/tags/PPTVLIFESTORY

 

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0