โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

มึนชื่อสถานีรถไฟฟ้า! คมนาคมวางเกณฑ์ใหม่ ต้องสอดคล้องเข้าใจง่าย เน้นตั้งตามย่าน

Manager Online

อัพเดต 13 ม.ค. 2560 เวลา 18.03 น. • เผยแพร่ 13 ม.ค. 2560 เวลา 10.53 น. • MGR Online
มึนชื่อสถานีรถไฟฟ้า! คมนาคมวางเกณฑ์ใหม่ ต้องสอดคล้องเข้าใจง่าย เน้นตั้งตามย่าน

“คมนาคม” วางเกณฑ์ตั้งชื่อสถานีรถไฟฟ้าใหม่ หลังบางแห่งทั้งที่สถานีติดกัน แต่เป็นรถไฟฟ้าคนละสาย ตั้งชื่อไม่เหมือนกันทำให้ประชาชนสับสน สั่งทุกหน่วยต้องบูรณาการร่วม เน้นชื่อต้องสอดคล้องกันเป็นมาตรฐาน ไม่ให้ใช้ชื่อถนน ให้ใช้ย่าน ตั้งชื่อสถานีเพราะมีความชัดเจนเข้าใจมากกว่า กางแผนแม่บท สีส้ม, สีแดง, สีเหลือง, ต้องแก้ชื่อใหม่หลายสถานี

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบูรณาการทางราง ที่มีนายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง) เป็นประธานว่า ตามที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบราง ของกระทรวงคมนาคมบูรณาการในการตั้งชื่อสถานีรถไฟฟ้าให้มีความสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากในอนาคตจะมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าอีกหลายสาย และชื่อสถานีรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการอยู่แล้วในปัจจุบันมีหลายสถานีที่อยู่ในบริเวณเดียวกันหรือใกล้เคียงแต่มีชื่อที่แตกต่างกัน

โดยในการประชุมครั้งนี้มีผู้แทนจากกระทรวงคมนาคม สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด (ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์) ได้เห็นชอบร่วมกันในเกณฑ์การตั้งชื่อสถานีรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างออกแบบและอยู่ในแผนงานในอนาคต ลำดับแรกให้ใช้ชื่อย่านเป็นหลัก ต่อมาให้ใช้ชื่อสถานีจากจุดตัด และใช้ชื่อสถานีจากแลนด์มาร์กสำคัญของพื้นที่นั้นๆ และงดใช้ชื่อถนน เพราะถนนมีความยาวกินพื้นที่กว้าง ให้ใช้ชื่อย่านแทน เพราะมีความชัดเจนมากกว่า และหากกรณีสถานีอยู่ในอาคารเดียวจะต้องใช้ชื่อเดียวกัน และกรณีไม่ได้อยู่ในอาคารเดียวกัน แต่อยู่ในพื้นที่ใกล้กัน ระยะไม่เกิน 50 เมตร ให้ชื่อเดียวกันหรือสอดคล้องกัน โดยกรณีที่ใช้ชื่อเดียวกัน ให้ใช้สีของรถไฟฟ้าเป็นตัวกำกับเพื่อแยกให้เกิดความชัดเจน เข้าใจ และจดจำง่าย

ทั้งนี้ ปัญหาของรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการแล้ว และมีสถานีอยู่จุดเดียวกัน แต่ใช้ชื่อไม่เหมือนกันนั้น ควรจะมีการปรับชื่อใหม่ให้เหมือนกันหรือไม่นั้น ที่ประชุมได้มอบให้ทาง สนข.ไปทำประชาพิจารณ์หรือสำรวจความคิดเห็นประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาประเมินอีกครั้ง เนื่องจากยังมีความเห็นว่าชื่อสถานีรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการแล้ว ประชาชนคุ้นเคยแล้ว หากมีการปรับชื่อใหม่อาจจะเกิดความสับสนหรือไม่

ทั้งนี้ มี 4 จุดได้แก่ สถานีหมอชิต (รถไฟฟ้า BTS) กับ สถานีจตุจักร (รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล หรือ MRT), สถานีอโศก (รถไฟฟ้า BTS) กับ สถานีสุขุมวิท (รถไฟฟ้า MRT), สถานีศาลาแดง (รถไฟฟ้า BTS) กับสถานีสีลม (รถไฟฟ้า MRT) และสถานีเพชรบุรี (รถไฟฟ้า MRT) กับสถานีมักกะสัน (รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์) ซึ่งการเปลี่ยนชื่อจะต้องหารือกับทาง BTS ด้วย ทั้งนี้จะต้องหาข้อสรุปให้ได้ว่าควรเปลี่ยนชื่อหรือไม่ หากควรเปลี่ยนจะใช้ชื่ออะไร และเปลี่ยนเมื่อใด เนื่องจากอาจจะกระทบต่อการให้บริการได้ที่สำคัญ

สำหรับชื่อสถานีรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้างหรืออยู่ระหว่างประมูล และต้องปรับเปลี่ยนให้ชื่อสอดคล้องกันนั้น ที่ประชุมได้หารือและได้ข้อสรุปแล้ว ในส่วนของสถานที่อยู่ใกล้กัน ได้แก่ สถานีพัฒนาการ (รถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง) กับสถานีหัวหมาก (รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์) อยู่ในบริเวณเดียวกัน โดย รฟม.จะปรับชื่อสถานีพัฒนาการของสายสีเหลืองเป็นสถานีหัวหมาก

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-ตลิ่งชัน และสายสีแดงอ่อนส่วนต่อขยายช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และตลิ่งชัน-ศาลายา ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มี 2 จุด คือ ที่สถานีศิริราช โดยสายสีแดงจะปรับจากชื่อสถานีธนบุรี-ศิริราช เป็นสถานี ศิริราช เหมือนสายสีส้ม และอีกจุด คือ สถานีบางขุนนนท์ ซึ่งสายสีแดง เดิมใช้ชื่อสถานีจรัญสนิทวงศ์ จะปรับเป็นสถานีบางขุนนท์ เหมือนกับสายสีส้ม

นอกจากนี้ยังมีกรณีสถานีอยู่ห่างกันคนละจุด แต่ใช้ชื่อเหมือนกัน สถานีหัวหมากของรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ซึ่งตั้งอยู่ย่านโรงพยาบาลรามคำแหง ใช้ชื่อเหมือนกับสถานีหัวหมากของแอร์พอร์ตลิงก์ ซึ่งทาง รฟม.ได้รับไปพิจารณาปรับปรุงแล้ว รวมถึงสถานีตากสินของรถไฟฟ้าสายแดงเข้ม ซึ่งยังอยู่ในแผนงาน สถานีตั้งอยู่ใกล้กับสถานีวุฒากาศ ของ BTS สายสีเขียว ดังนั้นควรปรับให้สอดคล้องกันต่อไป

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0