โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ฮือฮา พวงหรีดจักยาน ชี้ ดอกไม้สดถูกทิ้งสร้าง "มีเทน" ทำอุณหภูมิโลกสูงกว่า "คาร์บอนไดออกไซด์" 23 เท่า

MATICHON ONLINE

เผยแพร่ 14 ก.ค. 2560 เวลา 15.00 น.
1

วันที่ 14 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ที่บริเวณ ศาลา 1 วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร ซึ่งตั้งอยู่ ริมถนนและคลองผดุงกรุงเกษม กรุงเทพมหานคร มีการตั้งศพบำเพ็ญกุศลของ นางอุดมศรี สินธุนาวา มารดาของ ผศ.จิรพล สินธุนาวา นายกสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยขณะนี้ศาลาที่ตั้งสวดศพดังกล่าว ได้รับความสนใจจากประชาชนที่เดินทางไปยังวัดจำนวนมาก เพราะปกติแล้วบริเวณศาลาสวดศพทั่วไปจะมีพวงหรีดดอกไม้ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่สำหรับงานสวดศพของนางอุดมศรีนั้น เจ้าภาพได้ประกาศของดพวงหรีดดอกไม้ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่ขอให้ใช้เป็นรถจักรยานแทน ทำให้บริเวณรอบๆศาลา เต็มไปด้วยรถจักรยานยี่ห้อ และรุ่นต่างๆ ทั้งแขวน และจอดอยู่จำนวนมาก โดยจักรยานทุกคัน จะติดชื่อเจ้าของ ที่ทำมาเพื่อแสดงมุทิตาจิต และไว้อาลัยต่อการจากไปของนางอุดมศรี โดยล่าสุดนั้น มีจักรยานอยู่ในศาลาทั้งสิ้น 60 คันด้วยกัน

 

ผศ.จิรพล สินธุนาวา

 

 

 

ผศ.จิรพล ให้สัมภาษณ์ มติชนว่า ก่อนหน้านี้ที่บิดา ของตนได้เสียชีวิตลง ได้มีการพูดคุยกันกับมารดา และพี่น้องว่า งานศพของบิดานั้น ไม่ควรจะสร้างปัญหาให้วัดโดยการสร้างขยะ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากดอกไม้ และโฟม ปรากฏว่า เพื่อนฝูง ญาติพี่น้องต่างให้ความร่วมมือ นำจักรยานมาร่วมแสดงมุทิตาจิตจำนวนมาก เมื่อเสร็จจากงานศพก็ได้นำจักรยานไปให้โรงเรียนที่อยู่ห่างไกลใน จ.ลพบุรี

“ต่อมา คุณแม่ของผมเสียชีวิตลงเมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ด้วยวัย 91 ปี ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาผมและคุณแม่ได้คุยกันมาตลอดเรื่องของปัญหาสิ่งแวดล้อม เรื่องสถานการณ์โลกร้อน จึงเห็นว่า เราจะต้องสานต่อเรื่องนี้ จึงบอกกับเพื่อนฝูง ญาติๆว่า หากจะเดินทางมาร่วมงานศพ ขอเปลี่ยนจากพวงหรีด หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นรถจักรยาน เพื่อว่าเมื่อเสร็จจากงานแล้ว ก็จะนำไปให้นักเรียนโรงเรียนห่างไกลยืมใช้ หากท่านใดไม่สะดวกที่จะหารถจักรยานทางเจ้าภาพก็จะจัดหามาให้ โดยพวงหรีดทั่วไปราคาอยู่ที่ 1,000-2,000 บาท แต่จักรยานราคาคันละ 1,500 บาท เป็นจักยานล้ออลูมิเนียม ไม่เป็นสนิม ตั้งใจว่าจะนำไปมอบให้นักเรียนโรงเรียนใน จ.ลพบุรี เพราะก่อนหน้านี้ไปทำงานในจังหวัดดังกล่าว พบว่า หลายๆโรงเรียน นักเรียนต้องเดินทางเท้าเปล่าจากบ้านมาเรียนไกลมาก เวลานี้ ได้รับพวงหรีดจักรยานมาแล้วกว่า 60 คันด้วยกัน”รศ.จิรพล กล่าว

รศ.จิรพล กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้ไปพิมพ์หนังสืออนุสรณ์งานศพ ที่วัดชลประทานรังสฤษฎ์ ได้เล่าเจตนาดังกล่าวนี้ให้พระอาจารย์ที่วัดชลประทานรังสฤษฎ์ ฟัง พระอาจารย์เห็นด้วย และสนับสนุน พร้อมกับบอกว่า ที่วัดชลประทานรังสฤษฎ์ นั้นก็พยายามที่จะช่วยลดปริมาณขยะที่เกิดจากพวงหรีดทั้งดอกไม้แห้งและดอกไม้สดเช่นกัน โดยทางวัดฯบอกกับญาตโยมทุกคนว่า หากงานศพใดไม่มีพวงหรีดดอกไม้ หรือโฟม วัดจะให้ใช้ศาลาฟรี โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น
“เรื่องนี้ผมเองในฐานะผู้ที่พยายามบอกกับสังคม รวมไปถึงการปฏิบัติตัวมาตลอดเรื่องการลดปริมาณขยะเพื่อช่วยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ตัวอินทรีย์สาร ซึ่งเป็นพวก ดอกไม้สด เศษอาหาร ที่อยู่ภายใต้การกดทับ ซึ่งก็คือ ดอกไม้ที่แห้งเหี่ยวแล้ว หรือเศษอาหารที่ถูกทิ้งอยู่ในถุงดำนั้นเป็นบ่อกำเนิดของก๊าซมีเทน เป็นส่วนหนึ่งของก๊าซเรือนกระจก ซึ่งก๊าซมีเทนจากขยะอินทรีย์นั้นมีความรุนแรงที่ทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้น มากกว่าปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 23 เท่า ด้วยกัน”ผศ.จิรพล กล่าว

เมื่อถามว่า ทำไม ถึงไม่รับพวงหรีดที่เป็นต้นไม้ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า ผศ.จิรพล กล่าวว่า ต้นไม้นั้นดีมากหากมีการปลูกกันเยอะๆจะเป็นตัวช่วยซับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดี แต่จากการที่เคยเห็นมานั้นพบว่า ต้นไม้ที่อยู่ตามงานศพต่างๆส่วนมาก เมื่องานเสร็จไป ก็จะถูกวางกองเอาไว้มุมใด มุมหนึ่งของวัด ไม่ได้มีการเอาลงดิน ซึ่งหากมีการละเลยปล่อยให้เหี่ยวเฉา ไม่รดน้ำ ต้นไม้เหล่านี้ก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการก่อเกิดก๊าซมีเทนอีกเช่นกัน ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นก็อาจจะมีประโยชน์สำหรับคนที่ยังไม่มีของสิ่งนั้น แต่พวงหรีดเครื่องใช้ไฟฟ้านั้น ส่วนใหญ่จะเป็นพัดลม ซึ่งหลายๆบ้านน่าจะมีใช้อยู่แล้ว เห็นว่าจักรยานเหมาะสมที่สุด

“ที่ผมทำเช่นนี้ เพื่อต้องการให้สังคมเห็นว่า การลดปริมาณขยะแบบนี้ เราทำได้จริงๆไม่ใช่สักแต่พูดลอยๆ อยากให้หน่วยงานราชการลองเอาแนวคิดแบบนี้ไปใช้ว่า ไปร่วมงานที่ไหน แทนที่จะเอาดอกไม้สดไปแสดงความยินดี หรือแสดงมุทิตาจิตใดๆก็น่าจะเปลี่ยนเป็นรถจักรยาน เพราะเวลานี้ยังมีเด็กๆในชนบทที่เดินทางจากบ้านเพื่อมาเรียนหนังสือ โดยการเดินเท้าไกลๆนั้นมีจำนวนมาก ได้ประโยชน์ ได้ช่วยดูแลเด็กๆในชนบท และได้เป็นส่วนหนึ่งวของการลดปัญหาโลกร้อนด้วย”รศ.จิรพล กล่าว

ผศ.จิรพล กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงในฐานะตัวแทนของรัฐบาลไทยต่อที่ประชุม รัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 (COP-21) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ว่า ไทยประกาศลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20-25 ภายในปี 2030 หรือ พ.ศ.2573 ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนในประเทศจะต้องช่วยกัน ซึ่งการที่แต่ละคนช่วยกันลดปริมาณขยะ โดยเฉพาะขยะอินทรีย์นั้นเป็นส่วนสำคัญมาก

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0