โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เตือนผู้ปกครอง “ระวังเด็กจมน้ำ” สถิติปิดเทอมเดือนแรก เสียชีวิตแล้ว 31 ราย

PPTV HD 36

อัพเดต 30 มี.ค. 2560 เวลา 09.41 น. • เผยแพร่ 30 มี.ค. 2560 เวลา 09.35 น.
เตือนผู้ปกครอง “ระวังเด็กจมน้ำ” สถิติปิดเทอมเดือนแรก เสียชีวิตแล้ว 31 ราย
กรมควบคุมโรค เตือนผู้ปกครองระวังบุตรหลานช่วงปิดเทอม พบปัญหาเด็กจมน้ำช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน โดยเฉพาะการชวนไปเล่นน้ำกันเอง โดยไม่มีผู้ใหญ่ดูแล จากข้อมูลการเฝ้าระวังในช่วงปิดเทอมนี้ เดือน มี.ค. เดือนเดียวมีเด็กเสียชีวิตแล้ว 31 ราย เกือบทั้งหมดเป็นกลุ่มเด็กอายุ 5-14 ปี 

วันนี้ (30 มี.ค. 60) นพ.เจษฎา  โชคดำรงสุข  อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ในช่วงนี้เป็นช่วงปิดเทอมของโรงเรียนต่างๆ เด็กจะอยู่บ้านและรวมกลุ่มกับเพื่อนๆไปเล่นตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งผู้ปกครองต้องคอยสังเกตและดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการลงเล่นน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจเกิดเหตุเด็กจมน้ำเสียชีวิตได้ และช่วงนี้ยังมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้ลำคลอง สระน้ำ มีปริมาณน้ำมากกว่าปกติ ไหลเชี่ยวแรงและมีระดับความลึกมาก ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการจมน้ำมากขึ้น

          

สำหรับ การจมน้ำเสียชีวิตของเด็กไทย (อายุต่ำกว่า 15 ปี) ช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน (มีนาคม-พฤษภาคม) เป็นช่วงที่มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตสูงสุด โดยในปี 2559 เสียชีวิต 197 คน (ค่าเฉลี่ย 10 ปี : ปี 2550-2559 คือ 348 คน บางปีมีจำนวนสูงเกือบ 450 คน)  ข้อมูลการเฝ้าระวังจากสื่อของสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค เบื้องต้นพบว่าช่วงปิดเทอมเพียง 28 วัน (1-28 มีนาคม 2560) พบว่า มีเหตุการณ์เด็ก ตกน้ำ จมน้ำ 26 เหตุการณ์ ในจำนวนนี้มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตถึง 31 คน โดยเป็นกลุ่มเด็กอายุ 5-14 ปีมากที่สุด(27 คน) รองลงมาคือเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี(4 คน) เพศชายจมน้ำสูงกว่าเพศหญิง 2 เท่าตัว นอกจากนี้  ยังพบว่ามากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 58) พบว่าขณะจมน้ำเด็กอยู่กับเพื่อนหรือพี่/น้อง  เนื่องจากเด็กมักจะชวนกันไปเล่นน้ำด้วยกันมากกว่าไปกับผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่  ซึ่งส่วนใหญ่จะเสียชีวิต ณ ที่เกิดเหตุ (ร้อยละ 77.4)

        

ส่วนแหล่งน้ำที่เกิดเหตุมากสุด คือแหล่งน้ำการเกษตร คลอง หนองน้ำ บ่อน้ำ/สระน้ำ (ร้อยละ 41.9) รองลงมาคือ คลองชลประทาน/อ่างเก็บน้ำ (ร้อยละ 32.3) และที่น่าสนใจคือมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสวนน้ำที่เปิดให้บริการและมีเด็กจมน้ำเสียชีวิต ซึ่งสถานที่ดังกล่าวไม่ควรมีเด็กจมน้ำเสียชีวิต และจากการเฝ้าระวังข่าวในช่วงปิดเทอมทุกเหตุการณ์ไม่พบว่ามีการช่วยผิดวิธีโดยการอุ้มพาดบ่า

 นพ.เจษฎา กล่าวต่อไปว่า คำแนะนำเพื่อความปลอดภัยจากการจมน้ำในปิดเทอม โดยขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ดังนี้ 1.ชุมชนต้องช่วยกันเฝ้าระวังและตักเตือนเมื่อเห็นเด็กเล่นน้ำกันเองตามลำพัง  2.ชุมชนจัดให้มีป้ายเตือนและอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำไว้บริเวณแหล่งน้ำ  3.สอนเด็กให้รู้จักการใช้อุปกรณ์ลอยน้ำได้อย่างง่าย  4.ผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็กอย่าปล่อยเด็กเล่นน้ำตามลำพัง แม้ว่าจะเป็นแหล่งน้ำใกล้บ้านหรือแหล่งน้ำที่คุ้นเคยก็ตาม  5.ไม่ยืนใกล้ขอบบ่อ เพราะช่วงหน้าฝนพื้นบริเวณขอบบ่อนิ่มและมีหญ้าปกคลุม อาจเกิดการลื่นไถลลงไปในน้ำ  6.ใช้เสื้อชูชีพ เสื้อพยุงตัว หรืออุปกรณ์ลอยน้ำได้อย่างง่าย เช่น แกลลอนพลาสติกคล้องเชือกให้เด็กติดตัวไว้

สำหรับสระว่ายน้ำและสวนน้ำที่เปิดให้บริการ ควรมีเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างน้อย 1 คนต่อผู้ใช้บริการ 50 คน ควรให้ผู้รับบริการสวมเสื้อชูชีพหรือเสื้อพยุงตัวทุกครั้งเมื่อเล่นน้ำหรือทำกิจกรรมทางน้ำและมีอุปกรณ์อย่างเพียงพอ ผู้ปกครองที่พาเด็กไปเที่ยวต้องดูเด็กให้อยู่ในสายตาตลอดเวลา เด็กเล็กที่ว่ายน้ำไม่เป็นไม่ควรอนุญาตให้ไปเล่นในบริเวณน้ำลึกแม้จะสวมอุปกรณ์ชูชีพอยู่ ที่สำคัญควรจัดให้มีชุดปฐมพยาบาลที่เหมาะสมและสามารถใช้งานได้

ขณะเดียวกรมควบคุมโรค ได้แนะนำว่า เมื่อเจอเหตุฉุกเฉิน ให้ ตะโกนเรียกให้ผู้ใหญ่มาช่วยและโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669  จากนั้นโยนอุปกรณ์ใกล้ตัวเพื่อช่วยคนตกน้ำ เช่น เชือก ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้โดยโยนครั้งละหลายๆ ชิ้น และยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ เสื้อ ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0