โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เพราะการฟังเปรียบเสมือนยา ที่ช่วยรักษาชีวิตคนได้ - ห้องแนะแนว

LINE TODAY

เผยแพร่ 05 ก.ย 2562 เวลา 18.00 น. • nawa.

“เสียใจด้วยนะคะพี่ ถ้าชาติหน้ามีจริงขอให้เราเกิดมาเป็นเพื่อนกันอีก ไม่ว่ายังไงก็เคารพการตัดสินใจของพี่ รักเสมอ”

เช้าวันนึงตื่นมาเห็นข้อความเหล่านี้บนเฟซบุ๊กของตัวเองเต็มไปหมด

ก็เข้าใจได้ในทันทีว่าเกิดอะไรขึ้นกับคนคนนั้น

นี่ไม่ใช่ครั้งแรก แต่อยากให้เป็นครั้งสุดท้ายจริง ๆ

ข่าวคราวการเลือกจบชีวิตด้วยตัวเองมีให้เห็นบนสื่อต่าง ๆ แทบทุกวัน และดูเหมือนว่าจะมากขึ้นเรื่อย ๆ จากสถิติการฆ่าตัวตายในประเทศไทยล่าสุดพบว่า ทุก ๆ ชั่วโมงจะมีคนคิดปลิดชีพตนเอง 6 คน ปีนึงประมาณ 53,000 คน และในจำนวนนั้น เป็นผู้ที่สามารถฆ่าตัวตายสำเร็จปีละ 4,000 คน โดยปัญหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ส่วนบุคคล, สุรา, ยาเสพติด, สภาพสังคม และปัญหาเศรษฐกิจ จากตัวเลขนี้จะเห็นช่องว่างของผู้ที่พยายามฆ่าตัวตาย 'แต่ไม่สำเร็จ' มีอีกจำนวนมาก เพราะฉะนั้นคงจะดีหากเราทุกช่วยกันยับยั้งไม่ให้เกิดการฆ่าตัวตายเพิ่มมากไปกว่านี้

3 ส. หรือการปฐมพยาบาลทางจิตใจ เป็นหลักเบื้องต้นที่กรมสุขภาพจิตแนะนำให้คนรอบข้างช่วยกันบรรเทาทุกข์ให้กับผู้ที่กำลังไม่สบายใจ เพื่อป้องกันโอกาสในการฆ่าตัวตายได้ ดังนี้ 

1.สอดส่อง มองหา  

เราทุกคนต้องช่วยกันสังเกตว่ามีความผิดปกติอะไรเกิดขึ้นกับคนใกล้ตัวบ้างหรือไม่ มีใครคิดอยากทำร้ายตัวเองไหม มีใครกำลังส่งสัญญาณบางอย่างว่าอยากคิดจบชีวิตหรือไม่ หากเราหมั่นสอดส่องสภาพอารมณ์ สภาพจิตใจของคนใกล้ชิด และรู้เท่าทันเขา ก็จะสามารถช่วยป้องกันผู้ที่มีแนวโน้มฆ่าตัวตายได้ 

2.ใส่ใจ รับฟัง  

อย่าปล่อยให้คนทุกข์ต้องเก็บความทุกข์ไว้เพียงลำพัง การรับฟัง อยู่เคียงข้าง และปล่อยให้เขาได้ระบายความไม่สบายใจออกมา ชวนพูดคุยในด้านบวก รวมถึงการปลอบประโลมด้วยภาษากาย ไม่ว่าจะเป็นการกอด จับมือ หรือทำให้เขารู้ว่าแม้ในเวลาที่แย่ที่สุด เขายังมีเราอยู่เคียงข้างเสมอ ก็ช่วยเยียวยาจิตใจได้เป็นอย่างดี 

3.ส่งต่อ เชื่อมโยง 

หากพบว่าอาการยังไม่ทุเลาลง จะต้องมองหาตัวช่วยที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยการส่งต่อไปยังผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นการพบจิตแพทย์ นักจิตวิทยา พาไปสถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทรศัพท์ปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง, สมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย โทร 02-7136793 (12.00-22.00 น.), ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันสบายใจ (sabaijai) หรือใช้บริการ Ooca ปรึกษาจิตแพทย์ออนไลน์ เพราะผู้ที่มีความรู้โดยตรงจะช่วยแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดและทันท่วงที

นอกจากนี้ การรับฟัง ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยฟื้นฟูจิตใจของผู้ที่กำลังตกอยู่ในภาวะแย่ได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นวิธีที่ง่าย สามารถทำได้ทุกคน-ทุกที่-ทุกเวลา การเป็นผู้รับฟังที่ดีตามหลักของกรมสุขภาพจิต มี 3 ข้อ ได้แก่

1.ฟังด้วยหู 

การฟังด้วยหูไม่ใช่เพียงแค่ได้ยิน แต่เป็นการรับฟังปัญหาอย่างตั้งใจ ฟังเรื่องราวที่เขาระบายออกมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหา สาเหตุ ความรู้สึก ทุกสิ่งอย่าง เปิดโอกาสให้เข้าได้พูดในสิ่งที่อยากพูด 

2.ฟังด้วยตา 

ใช้ตาช่วยฟัง หมายถึงในขณะที่หูฟัง ตาก็สังเกตท่าทีของผู้พูดไปด้วย ทั้งสีหน้า ท่าทาง โทนเสียง กิริยาต่าง ๆ ที่แสดงออกมา เพราะบางครั้งภาษากายก็สามารถบ่งบอกเรื่องราวที่อยู่ในใจได้มากมายไม่แพ้คำพูดเช่นกัน

3.ฟังด้วยใจ

การฟังแบบสุดท้ายคือเอาใจเป็นที่ตั้งในการฟัง รับรู้ถึงความรู้สึกที่เขาต้องการสื่อ ความต้องการลึก ๆ ในใจของเขา ไม่ด่วนตัดสิน ไม่วิจารณ์การฟังแบบนี้ไม่ต้องใช้ความคิดของเราไปตีกรอบว่าสิ่งที่เขาทำมันถูกหรือผิด ไม่ทำอะไรมากไปกว่าการฟังอย่างเงียบ ๆ อย่างตั้งใจ ALFRED BRENDEL กวีชาวออสเตรียเคยกล่าวไว้ว่า 'คำว่า LISTEN ที่แปลว่า ฟัง กับคำว่า SILENT ที่แปลว่า เงียบ สะกดด้วยตัวอักษรชุดเดียวกันทั้งหมด' นั่นแปลว่าการฟังย่อมต้องมาพร้อมกับความเงียบเสมอ และนอกจากการเงียบเพื่อตั้งใจฟังแล้ว ยังมีคำแนะนำในการฝึกฝนเป็น ‘ผู้ฟังที่ดี’ เพิ่มเติมดังนี้ค่ะ

ฟังอย่างเป็นกลาง และเคารพ

การที่ใครสักคนเล่าเรื่องบางอย่างให้เราฟัง แน่นอนว่าเขาต้องมีความไว้เนื้อเชื่อใจเราระดับหนึ่ง เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว เราต้องตั้งใจรับฟังสิ่งที่เขาพูดอย่างไม่มีอคติ ไม่ตำหนิติเตียน ไม่ทำให้เขารู้สึกว่าสิ่งที่กำลังพูด กำลังคิดเป็นเรื่องที่ผิด ต้องเคารพในสิ่งที่เขาแสดงออก 

เห็นอกเห็นใจ แต่ไม่ตัดสิน 

จำไว้ว่านั่นคือเรื่องของเขา คือสิ่งที่เขาพบเจอมา อย่าเอาตัวเองไปตัดสินแทน เพราะบริบทแวดล้อมชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน การพยายามเอาใจเขามาใส่ใจเราเป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่มีใครเป็นใครได้ 100% จงเคารพความคิด เคารพการตัดสินใจของเขา สิ่งที่ควรทำคือให้คำแนะนำได้ แต่อย่าบังคับให้ใครต้องทำและคิดตามเราเสมอไป

ไม่พูดแต่เรื่องของตัวเอง 

บ่อยครั้งที่เราคิดว่าเราหวังดี ยกตัวอย่างเรื่องที่เคยเจอมา เล่าเรื่องของตัวเองเพื่อหวังให้เขาคิดได้ ทั้ง ๆ ที่ยังฟังไม่จบ รู้หรือไม่ว่านั่นกำลังทำลายการสนทนาให้แย่ลงทีละนิด ทำลายความตั้งใจระบายของเขา ทำลายการเป็นผู้ฟังที่ดีของเราไปในเวลาเดียวกัน การพูดเรื่องตัวเองอาจจะทำให้เขารู้สึกไม่ดีมากไปอีก

การฟังไม่ใช่เรื่องยาก แต่การเป็นผู้ฟังที่ดีก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ต้องใช้เวลาฝึกฝนกันไป แต่เราเชื่อว่าทุกคนสามารถทำได้ และในโอกาสวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก 10 กันยายนของทุกปี คอลัมน์ห้องแนะแนวจึงขอเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่เผยแพร่วิธีการ คำแนะนำ เพื่อช่วยยับยั้ง และลดจำนวนการสูญเสียคนรอบข้างจากการคิดสั้นด้วยการฝึกฟัง เพราะการฟังเป็นมากกว่าความเข้าใจ และยังช่วยรักษาชีวิตบางคนไว้ได้ด้วยเช่นกันค่ะ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0