โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

คุยครั้งแรก โทนี่ รากแก่น รับบท ไซม่อน ใน SOS โปรสเก็ตบอร์ดที่เข้าช่วยคนเป็นโรคซึมเศร้า

Praew.com

อัพเดต 10 ก.ย 2560 เวลา 03.45 น. • เผยแพร่ 10 ก.ย 2560 เวลา 01.00 น. • Praew

หนึ่งในโปรเจ็กต์ เอส เดอะซีรีส์ (Project S The Series) ซีรีส์ชุดแนวกีฬาผลิตโดย GDH559 ได้เดินทางมาถึงครึ่งทางแล้ว หลังจากตอนที่ 1 Spike (วอลเล่ย์บอล) และตอนที่ 2 Side by Side พี่น้องลูกขนไก่ (แบดมินตัน) ได้จบลงไป ซึ่งตอนที่ 3 ก็ถึงคิวของ SOS Skate ซึม ซ่าส์ (สเก็ตบอร์ด) ได้ออนแอร์ต่อแล้ว

ปล่อยตัวอย่างออกมาให้ได้ชมกันแล้ว เชื่อว่าหลายคนคงได้ดูกันบ้างแล้ว โดยเนื้อหาในตอนที่ 3 “SOS Skate ซึม ซ่าส์” เป็นเรื่องราวที่ได้นำกีฬาสเก็ตบอร์ดมาเป็นตัวชูโรง ซึ่งจะถ่ายทอดเรื่องราวของเด็กเนิร์ดผู้ชายชื่อ บู แสดงโดย เจมส์-ธีรดนย์ ศุภพันธ์ภิญโญ ที่ต้องสู้กับโรคซึมเศร้าที่ตัวเองเป็นมาหลายปี โดยถึงจุดหนึ่งก็ได้มาพบกับการเล่นสเก็ตบอร์ด ที่มีโปรสเก็ตบอร์ดชื่อ ไซม่อน แสดงโดย โทนี่ รากแก่น, ใบเฟิร์น แสดงโดย นฤภรกมล ฉายแสง และหมอเบลล์ แสดงโดย ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช มานำทีมพากันช่วยเหลือบูให้หายจากโรคซึมเศร้า ซึ่งเรื่องราวจะเข้มข้น ถ่ายทอดออกมาในทิศทางไหน คงต้องปล่อยหน้าที่ให้เป็นของคนดูตัดสินใจกันแล้ว

ล่าสุด แพรวดอทคอม ได้เจอหนุ่ม โทนี่ รากแก่น ในงานเปิดตัวร้าน “NYX Professional Makeup 1st Flagship Store in Asia at Siam Square One” พอดี เลยได้คว้าตัวโทนี่มาอัพเดทพูดถึงเรื่องนี้กันเสียหน่อย

พูดถึงเรื่องบทและเนื้อเรื่อง SOS Skate ซึม ซ่าส์ เป็นอย่างไรบ้าง

โทนี่: ตอน Side by Side เพิ่งจบไป อันนี้ก็จะเป็นตอน SOS Skate ซึม ซ่าส์ นะครับ ในเรื่องรับบทเป็น ไซม่อน ก็คือเป็นโปรสเก็ตฯ คนหนึ่งที่ค่อนข้างมีชีวิตนอกกรอบ มีชีวิตที่ไม่มีกรอบไม่ว่าจะเป็นศีลธรรมหรืออะไรก็ตามแต่ คนมันๆ คนหนึ่งอะเอาง่ายๆ แล้วก็ชอบใช้ชีวิตอิสระประมาณหนึ่ง เรื่องจะดำเนินด้วย “บู” ก็คือเล่นโดย เจมส์-ธีรดนย์ เด็กที่เป็นโรคซึมเศร้านะครับ เขาก็พยายามต่อสู้กับตัวเองตลอดเวลา จนวันหนึ่งเขามาเจอกับโลกของสเก็ตฯ ก็มีเราเนี่ยแหละคอยนำทาง ซึ่งเรื่องนี้ก็จะเล่าว่าสเก็ตบอร์ดช่วยให้เขาหายจากโรคซึมเศร้าได้หรือเปล่า อันนี้คือแกนเรื่องหลักๆ นะครับ

ที่ผ่านมาเรื่องโรคซึมเศร้าได้รับการพูดถึงค่อนข้างมาก ตรงนี้เรียกว่าเป็นการหยิบเอากระแสมาเล่นเลยหรือเปล่า

โทนี่: มันเป็นเรื่องบังเอิญมากกว่า เพราะว่าเรื่องนี้ถูกพัฒนาบทมาได้รวมๆ ประมาณปีครึ่งได้แล้ว ก่อนที่เรื่องราวเกี่ยวกับใครเป็นโรคซึมเศร้าอะไรจะเกิดขึ้น เรียกว่าจังหวะมันพอดีกันพอดี ซึ่งถ้าเกิดเราเพิ่งเอากระแสตรงนั้นมาทำเนี่ย บทมันจะไม่มีความลึกซึ้งเลยนึกออกมะ ความเข้าใจมันจะน้อยมาก แต่นี่เขาพัฒนาบทกันมา ไปเรียนรู้ว่าคนเป็นโรคซึมเศร้าจริงๆ เกิดจากอะไร มีวิธีการรักษาอะไรได้บ้าง เรื่องนี้จะเล่าเรื่องพวกนี้ค่อนข้างละเอียดมาก

เตรียมตัวกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

โทนี่: ในส่วนของผมจะเป็นเรื่องของการเตรียมโปรสเก็ตมากกว่า ที่เราจะต้องเตรียมตัวเองเพื่อให้เป็นสิ่งนั้นให้ได้ เช่น การไปเล่นสเก็ต ฝึกซ้อมสเก็ตให้ท่าเรามันใช่ แล้วจังหวะที่เราฝึกซ้อมสเก็ต เราจะได้เรียนรู้ทัศนคติของเด็กสเก็ตตรงที่ว่า ช่วงแรกๆ เราก็ท้อไง เพราะสเก็ตเล่นยังไงก็ล้ม ล้มแล้วก็เจ็บ แต่พอเราลุกขึ้นมาแล้วทำอยู่เรื่อยๆ เนี่ย เราถึงเข้าใจว่า อ๋อ เด็กสเก็ตเนี่ย มันไม่ได้ต่อสู้กับใครเลยนอกจากตัวเองจริงๆ ต่อสู้กับความเจ็บปวดที่เราจะต้องเจอ ต่อสู้กับความขี้เกียจ ความเบื่อหน่ายที่เราจะต้องทำซ้ำๆ แต่ถ้าเกิดเราข้ามมันไปได้ เราก็จะทำมันสำเร็จ แค่ออลลี่ (Ollie) ขึ้น เราก็โอ้ว shit!

ก่อนหน้านี้เคยเล่นสเก็ตบอร์ดมาก่อนหรือเปล่า

โทนี่: เราเคยเล่นตอนเด็กๆ แล้วก็เลิกไป เพราะว่าออลลี่ไม่ขึ้น แต่เรื่องนี้เราต้องออลลี่โดดลงตึกนู่นนี่นั่นเลยอะ มันค่อนข้างพีคอยู่ แล้วก็เรื่องของสภาวะความคิด สภาวะจิตใจของตัว “ไซม่อน” ด้วย ผู้กำกับ (พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์) เคยเดินมาบอกเราว่า “พี่ ผมอยากเห็นพี่เล่นแบบที่ไม่เหมือนเดิม” ก็คือเป็นคนที่ Extrovert อะ มันจะมี 2 อย่างคือ ‘Introvert’ กับ ‘Extrovert’ Introvert ก็เหมือนกับคนที่ค่อนข้างมีโลกส่วนตัวเหมือนที่เราเป็นอยู่แล้ว เราจะไม่ค่อยชอบยุ่งกับใคร ไม่คุยกับใคร แต่อยู่ๆ เขาจับเราไปเล่น Extrovert เราก็แบบหูย จะทำได้เปล่าวะอะไรอย่างนี้ พอถึงวันถ่ายจริงเราทำไม่ได้ เราทำไม่ได้เพราะเราไม่มีพลังงานเพียงพอที่จะเอ็นเตอร์เทนคน ดึงดูดคน ที่จะทำให้คนสนุกอย่างนี้ เราก็เลยกลับมาแก้ไขที่ไลฟ์สไตล์ของเรา เราก็เลยหาจุดว่าจะทำยังไง ก็เลยไปเจออย่างนึง

อันดับแรกเราจะต้องไม่ปฏิเสธการเชิญชวนจากใครเลย ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ก็คือกลายเป็น Yes Man ปกติเพื่อนชอบชวนเราไปเที่ยว ชวนเราไปนู่นนั่น เราจะปฏิเสธตลอด เราติดบ้าน ขี้เกียจออก ถ้าใครอยากเจอก็มาที่บ้านละกัน แต่วันนั้นเราตัดสินใจเลย ถ้าเราจะเป็นไซม่อน เราต้องเป็น Yes Man คือออกไปใช้ชีวิต เราก็ออกไปแล้วปฏิญาณกับตัวเองว่า ออกไปแล้วก็ต้องออกให้สุด ไม่ใช่ว่าร้องไห้อยากกลับบ้านอะไรอย่างนี้เหมือนที่เราเคยเป็น ก็ไปสุดทาง ใครลากไปไหนก็ไปหมด ถึงจุดหนึ่งชีวิตก็ค่อนข้างพังเหมือนกันนะ แต่ไอ้ความพังนั้นทำให้เราเข้าใจทัศนคติของไซม่อน แล้วเราก็มาเล่นในฉากที่ต้องใช้พลังเยอะๆ เราก็สนุก กลายเป็นเรื่องราวสนุกแล้วก็เรารู้สึกทำมันออกมาได้ และประทับใจในสิ่งที่ตัวเองทำ

ที่เด่นในเรื่องที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ ทรงผมสีเขียว ลงทุนย้อมจริงเลยไหม

โทนี่: ย้อมจริงๆ ก็ในช่วงระหว่างที่พัฒนาบทกันไป ผู้กำกับเขาจะให้เราได้ใส่ความคิดเข้าไปในเรื่องว่า เฮ้ยพี่ พี่อยากจะให้ตัวละครในเรื่องแต่งตัวแบบไหน อะไร ยังไง เราก็มองว่าถ้าเกิดให้เราเลือกเนี่ย อันดับแรกเราเป็นคนชอบสีเขียว ถ้าจะทำสีผมเนี่ย เรารู้สึกว่าสีออกพวกเฉดโทนร้อน แดง ส้ม เหลืองอะไรพวกนี้มันเพลย์เซฟไปหน่อย ถ้าเกิดไปแนวพวกสีฟ้า สีม่วง สีอะไรพวกนี้มันก็ยังดูซอฟต์ไปหน่อยสำหรับตัวไซม่อน แต่ถ้าสีเขียวเนี่ย มันมีความเน่าอยู่ ถ้ายิ่งเขียวสะท้อนแสงเนี่ย เราว่ามันจะยิ่งเพี้ยนอะ มันจะเป็นคนเพี้ยนๆ คนหนึ่ง แล้วเราก็มองว่าไซม่อนเนี่ยไม่ต้องแต่งตัวเป็นเด็กสเก็ตบอร์ดเลย ด้วยระบบความคิดที่มันค่อนข้างพั้งค์ประมาณหนึ่ง คือเด็กพั้งค์นึกออกไหมครับ มันจะมีความคิดนอกกรอบ ต่อต้านกฎระเบียบอะไรบางอย่าง ซึ่งเรารู้สึกว่าไซม่อนเป็นคนอย่างนั้น เพราะฉะนั้นการแต่งตัวมันไม่จำเป็นต้องเป็นเด็กสเก็ตบอร์ด มันก็แต่งตัวเป็นพั้งค์ไปเลยอะไรอย่างนี้ครับ

ตอนนี้ถ่ายทำเสร็จเรียบร้อยแล้วใช่ไหม

โทนี่: ใช่ๆ

หลังแสดงจบ คิดถึงการเล่นสเก็ตบอร์ดไหม หรือแม้แต่ตัวไซม่อนเอง

โทนี่: เราก็เปลี่ยนไปเป็นอีกคนเลย คือไม่ใช่ว่าเราถอดไซม่อนไม่ออก แต่เราแค่เจออะไรบางอย่างในตัวเราที่เรารู้สึกว่ามันไปเชื่อมกับไซม่อน เรารู้สึกว่ามันเหมาะกับอาชีพของเรา ด้วยพลังงานที่มีเยอะขึ้น เมื่อก่อนเราจะเป็นคนขี้เกียจ นู่นนี่นั่น เราได้พลังงานของไซม่อนมา เรารู้สึกว่าเราไม่จำเป็นที่ต้องทิ้งมัน สิ่งที่เราควรทิ้งในตัวไซม่อนแทบไม่มีอะไรเลย แค่ต้องมีสติและสัมปชัญญะ เพราะว่าพลังงานนี้สามารถนำทางให้เราไปทำสิ่งที่ไม่ดีได้ง่ายๆ เลย เหมือนโจ๊กเกอร์ เหมือนอะไรพวกนี้ แต่ถ้าเกิดเรามีสติสัมปชัญญะ รับรู้ว่าสิ่งที่เรากำลังจะทำสร้างผลเสียให้กับตัวเราเองหรือเปล่า กับคนอื่นหรือเปล่า เราก็ไม่ทำ แต่เอาพลังงานนี้ไปใช้กับเรื่องต่อไป เรารู้สึกว่านอกจากเราไม่ทิ้งตัวไซม่อน เราไม่ทิ้งสเก็ตบอร์ดด้วย สเก็ตบอร์ดอาจจะไม่ถึงขั้นต้องฮาร์ดคอร์ทำได้ทุกท่า แต่แค่ไถไปเซเว่น ไปอะไรพวกนี้ เรามีความสุข

ฝากถึงคนที่ใกล้จะได้ดู หรือกำลังลังเลว่าจะดูดีไหมหน่อยว่าพวกเขาจะได้รับอะไรดีๆ จากเรื่อง SOS Skate ซึม ซ่าส์ นี้

โทนี่: เรื่องนี้น่าจะเป็นนวัตกรรมใหม่ของวงการซีรี่ส์เมืองไทยเลยก็ว่าได้นะครับ เราเองที่แบบทำงานกับมันมา อยู่กับมันมาแทบเป็นปี ภาพในหัวเราที่คิดว่าถ้ามันตัดออกมาเป็นเรื่องราว มันน่าจะเป็นแบบนี้ แต่ในวันที่เราได้ดู Trailer ได้ดูตัวอย่างนิดนึง เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราคิด มันผิดหมดเลย ผู้กำกับคือล้ำมาก ผู้กำกับที่ได้มาทำโปรเจ็กต์นี้ เขาค่อนข้างมีวิสัยทัศน์อะไรบางอย่างที่สำหรับตัวเราเองนะ เราเป็นคนที่ค่อนข้างชอบเสพอะไรใหม่ๆ ใช่มะ แล้วเราได้สิ่งนั้นจากเขา แม้กระทั่งในระหว่างการทำงานเนี่ย เราก็ได้ความรู้จากเขาเยอะมาก แล้วพอมาในวันที่เขาตัดออกมาเป็นเรื่องราวเนี่ย เรายิ่งเซอร์ไพร้สมากว่า เห้ย จริงๆ เมืองไทยเราทำถึงเว้ย แค่คนที่เขาเข้าใจสิ่งนี้ยังไม่ได้รับโอกาส แต่วันนี้เขาได้รับโอกาสแล้ว ก็ทำมันออกมาได้ เพราะฉะนั้นมาตรฐานการทำหนัง ทำอะไรของบ้านเราเนี่ยจริงๆ มันไปถึงได้ เพียงแค่ถ้าทุกคนร่วมมือกันอย่างเรื่อง SOS ได้ทำไว้อย่างนี้ ทุกฝ่ายจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นนักแสดง ทีมงาน ทุกคนตั้งใจมาก มันก็เกิดขึ้นได้จริงๆ เพราะฉะนั้นความตั้งใจนี้ ผมไม่อยากให้มันเสียเปล่า ผมรับประกันว่าความตั้งใจนี้มันแมส เข้าถึงทุกคนแน่นอน มันไม่ใช่อินดี้ มันไม่ใช่อะไรเลย แต่ว่ามันจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราได้เสพคุ้มค่าอะ เราดูแล้วมันทุกรสชาติ คุ้มค่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครอบครัว เรื่องเฟรนด์ชิพ เรื่องความรัก เรื่องอะไรทุกอย่างที่หนังเรื่องหนึ่งควรจะมี ก็มีหมดเลย แล้วก็ทำได้ถึงทุกจุดด้วย  

เรื่อง: Gingyawee_แพรวดอทคอม
ภาพ: PPchocopie_แพรวดอทคอม, IG @tonirakkaen

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0