โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

วช.หนุนวิจัยอาหาร "ผู้ป่วยเบาหวาน" ตำรับท้องถิ่นสุรินทร์

Thai PBS

อัพเดต 21 ม.ค. 2564 เวลา 06.09 น. • เผยแพร่ 21 ม.ค. 2564 เวลา 06.09 น. • Thai PBS
วช.หนุนวิจัยอาหาร

วันนี้ (21 ม.ค.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสุธีรา อินทเจริญศานต์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการส่งเสริมสุขภาพเด็กและผู้สูงอายุ ภาควิชาเกษตรและสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ พัฒนาตำรับอาหารท้องถิ่นสุรินทร์เป็นอาหารพิเศษสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน โดยได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ผ่านการบริหารจัดการทุนวิจัย โดยสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) ภายใต้แผนงานงบประมาณมุ่งเป้าตอบสนองความต้องการของประเทศโดยเร่งด่วน ปีงบประมาณ 2561 กลุ่มเรื่องอาหารเพื่อเพิ่มมูลค่าและความปลอดภัยผู้บริโภค

 

นางสุธีรา อินทเจริญศานต์ หัวหน้าโครงการวิจัย
นางสุธีรา อินทเจริญศานต์ หัวหน้าโครงการวิจัย

นางสุธีรา อินทเจริญศานต์ หัวหน้าโครงการวิจัย

40 ตำรับอาหารพิเศษ "คาว - หวาน"

สำหรับแรงบันดาลใจที่ผลักดันในการพัฒนาตำรับอาหารท้องถิ่นสำหรับผู้ป่วยเบาหวานนั้น เนื่องจาก นางสุธีรา อาศัยอยู่ในพื้นที่ จ.สุรินทร์ ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ได้แก่ ไทยเขมร ไทยกูย และไทยลาว จึงได้พบความหลากหลายของตำรับอาหารถิ่นที่แฝงด้วยภูมิปัญญาในการปรุงที่เป็นเอกลักษณ์ และหลายตำรับมีองค์ประกอบเป็นผักและสมุนไพรพื้นบ้านที่มีคุณสมบัติในการช่วยชะลอและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด อีกทั้งได้พบเห็นผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องทนรับประทานอาหารที่จืดชืด จึงเกิดความคิดในการพัฒนาตำรับอาหารที่เป็นทางเลือกให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้อย่างมีความสุข

 

แกงสายบัวปลาทู
แกงสายบัวปลาทู

แกงสายบัวปลาทู

ผลจากการพัฒนาตำรับอาหารถิ่นเป็นอาหารพิเศษเพื่อผู้ป่วยเบาหวาน นางสุธีรา พัฒนาตำรับอาหารพิเศษได้ 40 ตำรับ ซึ่งแบ่งเป็นตำรับอาหารคาว 21 ตำรับ เช่น แกงสายบัวปลาทู แกงหัวปลีใส่ไก่ แกงเผือกปลาย่าง ต้มปลาช่อนผักแขยง ตำมะเขือพวงใบมะขาม และตำรับอาหารหวาน 19 ตำรับ เช่น ขนมสายบัว ขนมเทียนแก้ว ขนมผักปลัง วุ้นกระเจี๊ยบเขียว ข้าวต้มใบมะพร้าวสูตรผสมบุกและผักปลัง โดยเกณฑ์ในการคัดเลือกอาหารท้องถิ่นมาพัฒนาเป็นอาหารพิเศษนี้ คัดเลือกจากตำรับอาหารท้องถิ่นที่ประชาชนยังคงนิยมบริโภค และเป็นตำรับอาหารที่ใช้วัตถุดิบพืชผักพื้นบ้าน หาง่ายในท้องถิ่น และมีสรรพคุณช่วยชะลอและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด อีกทั้งยังมีวิธีปรุงประกอบไม่ซับซ้อนเพื่อให้ผู้ป่วยปรุงอาหารเองที่บ้านได้

พบอุปสรรควิจัย "วัตถุดิบ" ไม่เพียงพอ

การพัฒนาตำรับอาหารท้องถิ่นเพื่อผู้ป่วยเบาหวานนี้ นักวิจัยพบอุปสรรคเรื่องวัตถุดิบไม่เพียงพอ เนื่องจากผักพื้นบ้านบางชนิดขึ้นอยู่กับฤดูกาล รวมถึงการคงคุณค่าทางโภชนาการและการยืดอายุการเก็บรักษาอาหารที่อยู่ในรูปการปรุงสุกพร้อมรับประทาน ทั้งนี้ ทีมวิจัยมีแนวทางในการต่อยอดผลงานต่อไป คือ การทดสอบประสิทธิภาพในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานทางคลีนิก การวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการและพฤกษเคมีจากห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันผลการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด จากนั้นยังมีแนวทางเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับตำรับอาหารพิเศษสำหรับผู้ป่วยเบาหวานแก่สาธารณะ และต่อยอดเทคโนโลยีผลิตอาหารพิเศษในรูปแบบอาหารพร้อมรับประทานสำหรับเชิงพาณิชย์ต่อไป

 

ขนมสายบัว
ขนมสายบัว

ขนมสายบัว

ในการวิจัยตำรับอาหารพิเศษนี้ นางสุธีรา ยังมีผู้ร่วมวิจัย ประกอบด้วยอาจารย์จากภาควิชาเกษตรและสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ได้แก่ นายจีระเดช อินทเจริญศานต์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการส่งเสริมสุขภาพเด็กและผู้สูงอายุ น.ส.ดาวินี ชิณวงศ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการแพทย์แผนไทย และน.ส.กัญญา กิ่งจันทร์ อาจารย์ประจำสาขาวิชา สาธารณสุขศาสตร์ พร้อมด้วย นางสมนึก โตมะสูงเนิน นักโภชนาการชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานโภชนศาสตร์ โรงพยาบาลสุรินทร์

 

ขนมเทียนแก้ว
ขนมเทียนแก้ว

ขนมเทียนแก้ว

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น