โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ภูมิภาค

เปิดโมเดลธนาคารปูม้าและการฝังไมโครชิพปะการังอ่อน บนเกาะสีชัง ปั้นเศรษฐกิจชุมชน คืนรอยยิ้มท้องทะเลไทย

สยามรัฐ

อัพเดต 22 พ.ค. 2564 เวลา 05.22 น. • เผยแพร่ 22 พ.ค. 2564 เวลา 05.22 น. • สยามรัฐออนไลน์
เปิดโมเดลธนาคารปูม้าและการฝังไมโครชิพปะการังอ่อน บนเกาะสีชัง ปั้นเศรษฐกิจชุมชน คืนรอยยิ้มท้องทะเลไทย

นายธวัชชัย ศรีทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีพร้อมด้วยนางสาวประภัสรา ศรีทอง รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดชลบุรี นางปณิดา พันธุ์โชติ นายอำเภอเกาะสีชัง ลงพื้นที่ เยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ธนาคารปูม้า บนเกาะสีชัง จ.ชลบุรี โดยมี ผศ.ดร.นิลนาจ ชัยธนาวิสุทธิ์ อาจารย์ที่ปรึกษาประจำธนาคารปูม้า ให้การต้อนรับ

นายธวัชชัย เปิดเผยว่า ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารปูม้า บนเกาะสีชัง จ.ชลบุรี แห่งนี้ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการฟื้นฟูทรัพยากรปูม้า ซึ่งจะสามารถพัฒนา อ.เกาะสีชัง ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวิทยาศาสตร์และการศึกษา สอดคล้องต่อแผนพัฒนาการท่องเที่ยวของเกาะสีชัง และการรองรับการขยายตัวของระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของรัฐบาล (EEC) ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตแก่ชาวประมงพื้นบ้าน ร้านอาหารทะเล ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำทะเลของอำเภอเกาะสีชังให้สูงยิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแล้ว ยังสามารถสร้างรายได้ให้กับพี่น้องชาวประมงในเขตจังหวัดชลบุรีและพื้นที่ใกล้เคียงให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เมื่อชาวบ้านอยู่ดีกินดี ปัญหาอื่นๆ ทางสังคมก็จะน้อยลง เมื่อมีอาชีพ หรือมีงานในท้องถิ่น การย้ายถิ่นฐาน การไปหางานทำในเมือง หรือปัญหาครอบครัว และสังคมอื่นๆ ก็จะลดน้อยลงอีกด้วย ซึ่งทางจังหวัดชลบุรีพร้อมจะให้การสนับสนุนชุมชน และสังคม เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติต่อไป

ผศ.ดร.นิลนาจ ชัยธนาวิสุทธิ์ นักวิจัยสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและสัตว์ทะเล อาจารย์ที่ปรึกษาประจำธนาคารปูม้า เปิดเผยว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ ซึ่งมีสถานีวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเลและศูนย์ฝึกนิสิตอยู่ที่เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี ได้กำหนดแนวทางฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่งที่ได้รับผลกระทบจากการทำประมงปูม้า โดยจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าบนบก อำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีการเพาะพันธุ์ปูม้าแบบฟาร์มบนบก ช่วยเพิ่มอัตราการรอดของลูกพันธุ์ปูม้าจากการสลัดไข่ของแม่ปูม้า ซึ่งกลุ่มชาวประมงเรือเล็กหรือชาวประมงพื้นบ้านจะนำแม่ปูม้าที่มีไข่ติดกระดองมาฝากไว้ที่ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าบนบกเพื่อให้ไข่ฟักตัวเป็นลูกปูม้าวัยอ่อนแทนที่จะนำออกขายทันที นอกจากนี้ ยังมุ่งพัฒนาพ่อแม่พันธุ์ปูม้าให้สามารถผลิตตัวอ่อนที่แข็งแรงเหมาะสมต่อการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติช่วยเพิ่มสมดุลให้ประชากรปูม้าในระบบนิเวศได้อีกทางหนึ่ง

มากไปกว่านั้น ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารปูม้าบนบกแห่งนี้ยังทำหน้าที่สำคัญในการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่กลุ่มเป้าหมายหลักระดับชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในอำเภอเกาะสีชัง โดยมีธนาคารปูม้าเกิดขึ้นแล้วจำนวน 22 แห่ง และยังมีธนาคารปูม้าเกิดขึ้นตามมาในพื้นที่อำเภอใกล้เคียงภายในจังหวัดชลบุรีซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายรองอีกจำนวน 3 แห่ง ใช้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้เรื่องประมงปูม้าของผู้ที่สนใจ นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้คนในชุมชนเกาะสีชังเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานของศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าบนบกรวมถึงร่วมกันติดตามสถานการณ์การทำประมงปูม้าในพื้นที่เกาะสีชังอีกด้วย

ผศ.ดร.นิลนาจ กล่าวต่อว่า นอกจากประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการสร้างรายได้ของพี่น้องชาวประมงแล้ว กิจกรรมการขยายผลธนาคารปูม้าสู่ทะเลไทย จะเป็นต้นแบบกลไกการบูรณาการใช้ประโยชน์จากการวิจัยนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศและการบริหารจัดการทรัพยากรของชาติจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง ทั้งนี้ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารปูม้าแห่งนี้ยังมีการ วิจัยพัฒนา ‘เทคโนโลยีการเพาะพันธุ์ ขยายพันธุ์ และเลี้ยงปะการังอ่อน’ เพื่อฟื้นฟูแนวปะการังเสื่อมโทรมในประเทศไทย รวมทั้งมุ่งหวังพัฒนาเป็นสัตว์น้ำทะเลเศรษฐกิจประเภทสวยงามชนิดใหม่สำหรับธุรกิจปลาตู้น้ำเค็มที่ถูกต้องตามกฏหมายทั้งการจำำหน่ายในและต่างประเทศ ปัจจุบันสถานการณ์ของปะการังอ่อนมีความเสี่ยงอย่างมาก หากไม่ทำอะไรเลย แนวโน้มที่ปะการังอ่อนจะสูญพันธุ์ก็ใกล้เข้ามาทุกที สิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือจะป้องกันปะการังอ่อนไม่ให้สูญหายจากโลกใบนี้ไปได้อย่างไร ซึ่งถ้าเพาะขยายพันธุ์ปะการังอ่อนได้ จะช่วยให้มีพันธุ์ปะการังอ่อนและขยายพันธุ์คืนสู่ธรรมชาติได้ ความสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์ปะการังอ่อน นับเป็นทางออกและทางรอดในภาวะวิกฤตปะการังอ่อนใกล้สูญพันธุ์ อีกทั้งยังนำไปใช้พัฒนาฟื้นฟูแนวปะการังที่เสื่อมโทรมอีกด้วย

"นอกจากนี้ เรายังทำเรื่องการฝังไมโครชิพในปะการังอ่อน ที่ทางสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำเพาะขยายพันธุ์ได้เพื่อใช้ในการติดตามตรวจสอบย้อนกลับ ในกรณีที่สามารถจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้ โดยเมื่อทางเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ มาตรวจสอบ สามารถสแกนได้เลยจะมีตัวเลขหรือรหัสที่บอกว่า เป็นปะการังอ่อนที่ผลิตจากสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ วัน เดือน ปี ที่เท่าใด เป็นการทำระบบตรวจสอบรอบรับ เพื่อป้องกันการสวมรอยของปะการังอ่อนที่ลักลอบจับมาจากทะเล ขณะเดียวกันการมีระบบและหลักฐานที่ถูกต้องจะช่วยให้ผู้ซื้อก็มั่นใจว่าเลี้ยงได้อย่างถูกกฎหมาย อย่างไรก็ดีปะการังอ่อนไม่ได้มีประโยชน์เพียงในเรื่องความสวยงาม สร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศใต้ทะเลเท่านั้น แต่ยังมีรายงานการวิจัยพบว่า ปะการังอ่อนมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่นำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ ความก้าวหน้าในการพัฒนาฟาร์มเพาะขยายพันธุ์ปะการังอ่อน จึงไม่ได้มีคุณค่าเพียงการฟื้นฟู และรักษาความหลากหลายทางชีวภาพให้คงอยู่กับโลกใบนี้ไว้ แต่ยังเป็นโอกาสในการสร้างอาชีพ ธุรกิจ รวมถึงการพัฒนายารักษาโรคใหม่ๆ ได้ในอนาคต" ผศ.ดร.นิลนาจ กล่าว

ทั้งนี้ นายธวัชชัย ศรีทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีพร้อมคณะยังร่วมปล่อยลูกพันธ์ปูม้า 2,400,000 ตัวลงทะเลบริเวณเกาะสีชัง ชลบุรี เพื่อส่งเสริมความอุดมสมบูรณ์ทางทะเลต่อไป
++++++++++++++

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0