วันนี้(29 มี.ค.2564) นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวถึงแนวทางส่งเสริมการวิจัยอุตสาหกรรมยางพาราในประเทศไทยว่า เพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ของยางพาราในรูปแบบอื่น จึงให้ความสำคัญกับงานวิจัยเพื่อพัฒนา และสร้างนวัตกรรมใหม่จากยางพาราในอุตสาหกรรมที่หลากหลายมากขึ้น เช่น อุตสาหกรรมด้านพลังงาน ด้านสุขภาพ หรือ การแพทย์ ทั้งนี้ผลงานวิจัยต้องสามารถนำไปใช้ได้จริง จะได้เกิดอุตสาหกรรมใหม่และเกิดสตาร์ทอัพสร้างธุรกิจให้คนรุ่นใหม่
ผู้ว่าการยางกล่าวต่อว่า ขณะนี้หน่วยวิจัยในด้านต่างๆมีมาก อาจจะต้องมาหารือ เพื่อร่วมกันทำงานวิจัยให้เป็นระบบ เช่น งานวิจัยเกี่ยวกับยางพารา และ แปรรูปยางพารา เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตยางพารา จนมีผลิตภัณฑ์ที่ออกมาในเชิงพาณิชย์ และสามารถนำมาใช้งานในอุตสาหกรรมจำนวนหนึ่ง
เช่น แบริเออร์หุ้มยาง ลดอุบัติเหตุทางจราจร หรือ โครงการวิจัย “หุ่นจำลองยางพาราสำหรับตรวจสอบความถูกต้องปริมาณรังสีจากการรักษาโรคมะเร็งด้วยเทคนิคการรักษาสามมิติ” ของ มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งถ้าเรามาช่วยกันวิจัยน่าจะเกิดผลดีมากขึ้น ล่าสุดได้คุยกับสถาบันวิจัยแห่งชาติ และร่วมกันทำเอ็มโอยู เพื่อกำหนดทิศทางการวิจัย
นายณกรณ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของกยท. ได้ร่วมกับหน่วยงานวิจัยอื่น เพื่อวิจัยผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น สารช่วยให้น้ำยางจับตัว ช่วยลดปัญหาเรื่องกลิ่น การลดปริมาณโปรตีนในถุงมือยาง เพื่อขยายโอกาสเปิดตลาดของอุตสาหกรรมถุงมือยางธรรมชาติของไทย และผลิตภัณฑ์ยางรูปแบบใหม่เพื่อการเรียนรู้
จากปัญหาการระบาดของโควิด 19 ทำให้กระแสเรื่องสุขภาพในปีนี้ยังเหมือนเดิม เพราะโควิด19ยังอยู่ ความต้องการใช้ถุงมือยางและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใชวัตถุดิบยางพารา จึงยังมีความต้องการสูง และอนาคตเราจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เพิ่มมากขึ้น จึงต้องมีสินค้าที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ
ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์จากยางพาราที่มีสินค้าอยู่แล้ว เช่น พื้นยางปูพื้นห้องสำหรับผู้สูงอายุ ส่วนในห้องน้ำก็มีผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากยางพารา เช่น ฝาชักโครก , อ่างล้างหน้า พื้นยางปูกันลื่นในห้องน้ำ เป็นต้น ทำให้ยางพาราเริ่มเข้าไปในอุตสาหกรรมพวกนี้สูงตามลำดับ ดังนั้นงานวิจัยจะเข้าไปเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมเหล่านี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นายณกรณ์ กล่าวว่า จะผลักดันผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยางพาราในด้านพลังงานมากขึ้นด้วย เช่น ฉนวนกันไฟฟ้า ซึ่งปีนี้ กยท. ได้ทำเอ็มโอยูกับการไฟฟ้าในการนำยางพาราไปใช้ และทิศทางของเกษตรกรต้องมีการปรับตัวช่วยเหลือตัวเองในรูปแบบธุรกิจสตาร์ตอัพ โดยจะมีเงินทุนช่วยเหลือเข้าไปช่วยสนับสนุนมากขึ้น และ กยท. ยุคใหม่ต้องเป็นธุรกิจเงินร่วมลงทุนสนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่ และเกิดสตาร์ทอัพ