โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

วช. เสริมนักวิจัยจุฬาฯ คว้ารางวัลจากจีน พัฒนาสมุนไพรนาโนสูตรเย็นบรรเทาอาการปวดเมื่อย

Manager Online

เผยแพร่ 28 พ.ค. 2564 เวลา 07.12 น. • MGR Online

จากปัญหาการนั่งทำงาน หรือการใช้คอมพิวเตอร์รวมถึงโทรศัพท์มือถือ เป็นระยะเวลานานมักจะทำให้เกิดภาวะปวดเมื่อยหรือภาวะตึงของกล้ามเนื้อตามมา ทีมนักวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้คิดค้นนวัตกรรมสเปรย์ที่มีส่วนผสมของสมุนไพรไทย ในรูปแบบสเปรย์นาโนสูตรเย็น เพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อย คลายความเครียด และความกังวลจากอาการปวดเมื่อยที่เกิดจากการทำงาน และจากภาวะออฟฟิศซินโดรม

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำนักวิจัย และนักประดิษฐ์ จากหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมการประกวดนวัตกรรม “The 5th China (Shanghai) International Invention & Innovation Expo” ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ในรูปแบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 15 - 17 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งนวัตกรรม “สเปรย์สมุนไพรนาโนสูตรเย็นบรรเทาอาการปวดเมื่อย” ของนางสาววราภรณ์ โชติสวัสดิ์, และคณะ แห่งหน่วยชีวเคมี ภาควิชาสรีรวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เข้าร่วมประกวดจนสามารถคว้ารางวัลเหรียญทองแดง มาครอง

นางสาววราภรณ์ โชติสวัสดิ์ หัวหน้าทีมนักวิจัย เปิดเผยว่า กระบวนการวิจัยเริ่มจากการนำผักคราดหัวแหวน และน้ำมันหอมระเหยระกำมาทำเพราะเป็นพืชสมุนไพรที่หาได้ง่ายบวกกับมีสรรพคุณลดการปวดตึง หรืออักเสบของกล้ามเนื้อ ส่วนน้ำมันหอมระเหยระกำมีสรรพคุณช่วยระงับอาการปวดชนิดใช้เฉพาะที่สำหรับบรรเทาอาการปวดที่ไม่รุนแรง เช่น ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อจากภาวะตึง ซึ่งจะทำให้รู้สึกเย็นเมื่อสัมผัสถูกผิวหนังในระยะแรก จากนั้นจะค่อย ๆ อุ่นขึ้น ช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยได้ สมุนไพรอีกชนิดหนึ่งคือ ผักคราดหัวแหวนมีสารสกัดที่สำคัญ คือ สารสปิแลนทอล มีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ และยังมีฤทธิ์โดดเด่นที่ช่วยลดการอักเสบและลดการปวดกล้ามเนื้อได้ดี ทีมนักวิจัยได้นำสมุนไพรทั้งสองมาต่อยอดเป็นภูมิปัญญาไทย โดยนำสมุนไพรไทยทั้งสองชนิดนี้มาเป็นส่วนผสมและเตรียมในรูปแบบสเปรย์นาโนสูตรเย็น

นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีนี้ช่วยออกฤทธิ์ได้ยาวนานขึ้น บรรเทาภาวะปวดเมื่อยหรือตึงของกล้ามเนื้อได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สำหรับนวัตกรรมระบบนําส่งด้วยนาโนเทคโนโลยี หรือ ตัวพาอนุภาคนาโน เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย ว่าเป็นกุญแจสําคัญของการเพิ่มประสิทธิภาพของสารออกฤทธิ์สําคัญต่าง ๆ การนำส่งสารสำคัญผ่านทางผิวหนัง อนุภาคนาโนไขมัน มีข้อดีในการนำส่งตัวยาหรือสารสำคัญได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงกว่าระบบอื่น ๆ ช่วยเพิ่มการแทรกผ่านผิวหนัง ทำให้การซึมผ่านของตัวยาหรือสารสำคัญที่ปล่อยออกจากอนุภาคเพิ่มสูงขึ้น และจากสรรพคุณในการบรรเทาอาการปวดและการอักเสบของน้ำมันหอมระเหยระกำ และสารสปิแลนทอลจากผักคราดหัวแหวน การใช้สารสำคัญทั้งสองชนิดร่วมกันย่อมส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการรักษาหรือบรรเทาอาการปวดและการอักเสบได้ดี จึงได้ประดิษฐ์อนุภาคนาโนอินทรีย์กักเก็บน้ำมันหอมระเหยระกำ และสารสปิแลนทอลจากผักคราดหัวแหวน ด้วยเทคโนโลยีการกักเก็บระดับนาโน ไม่ทำให้เกิดการระคายเคือง เพิ่มประสิทธิภาพการซึมผ่านผิวหนัง โดยไม่ทิ้งคราบมันบนผิว และไม่เหนียวเหนอะหนะ รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมการใช้สมุนไพรไทย ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่หาได้ง่ายในประเทศ

การพัฒนาต่อยอด ขณะนี้ผลิตภัณฑ์ได้อยู่ในขั้นตอนการยื่นขอเลข อย. เพื่อให้สามารถเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้จริงตามกฎหมายอาหารและยาของประเทศไทย และในอนาคตทางทีมนักวิจัยหวังว่านวัตกรรมจะช่วยเพิ่มขีดจำกัดในการพัฒนาประเทศ รวมถึงส่งเสริมการใช้สมุนไพรไทยที่หาได้ง่ายในประเทศเพื่อให้เกษตรกรได้มีรายได้จากการปลูกพืชสมุนไพร อีกด้วย

ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัย กล่าวว่า วช. ได้ส่งเสริมและสนับสนุนนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยในการนำผลงานที่มีคุณภาพและมีศักยภาพด้านการวิจัยและด้านการประดิษฐ์คิดค้น เข้าร่วมการประกวดผลงานในเวทีระดับนานาชาติเสมอมา ทำให้ผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมของคนไทยที่ไปเผยแพร่ เป็นที่รู้จักสามารถนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดผลงาน และเปิดโอกาสให้มีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นช่องทางให้นักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ อันจะนำไปสู่ผลงานที่ได้มาตรฐานเกิดการยอมรับจากผู้ใช้งาน และเป็นที่ต้องการทางการตลาดและก้าวสู่เชิงพาณิชย์ต่อไป

website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0