โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เปิดนวัตกรรมทางการแพทย์ "เตียงพลิกตะแคง ป้องกันแผลกดทับ" ฝีมือคนไทย

Thairath - ไทยรัฐออนไลน์

อัพเดต 29 มิ.ย. 2564 เวลา 07.05 น. • เผยแพร่ 29 มิ.ย. 2564 เวลา 07.13 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

อาจารย์วิสัญญี ม.สงขลา จับมือ วิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชร ร่วมวิจัย "เตียงพลิกตะแคง ป้องกันแผลกดทับ" นวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อการดูแลผู้ป่วยอัมพาตจำเป็นต้องพลิกตัวเป็นประจำทุก 1-2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ เพราะตระหนักถึงความทรมานของผู้ป่วยที่เป็นแผลกดทับ และภาระของผู้ดูแลทั้งญาติและพยาบาล

เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.64 ผศ.พญ.นลินี โกวิทวนาวงษ์ แพทย์จากภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เผยถึงแผนการริเริ่มจัดทำโครงการวิจัย "เตียงพลิกตัวและวัสดุรองรับสำหรับผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้" ว่า แม้ปัจจุบันจะมีอุปกรณ์ช่วยในการพยุงตัวผู้ป่วยและลดปัญหาแผลกดทับจำนวนหนึ่ง แต่ยังไม่พบรูปแบบเตียงที่มีประสิทธิภาพ ที่สามารถดูแลผู้ป่วยติดเตียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจากการดมยาสลบเพื่อผ่าตัดให้กับผู้ป่วย พบว่าปัญหาแผลกดทับในห้องผ่าตัดเกิดขึ้นได้ถึง 12% คนไข้มีแผลผ่าตัดแล้วไม่ควรมีแผลที่อื่นอีก จึงพยายามคิดค้นวัสดุที่จะช่วยกระจายแรง ประกอบกับอยู่ในพื้นที่ที่มีการปลูกยางพาราเยอะ จึงลองดูว่าการนำยางพารามาปรับโมเลกุลเพื่อให้มีคุณสมบัติการกระจายแรง เพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับน่าจะทำได้ จึงเกิดเป็น ผลิตภัณฑ์ "Doctor N Medigel" เจลยางพาราเพื่อป้องกันแผลกดทับ และใช้จัดท่าผู้ป่วยในห้องผ่าตัด

แพทย์จากภาควิชาวิสัญญีวิทยา ม.สงขลาฯ กล่าวต่อว่า จากนั้นจึงได้ทำวิจัยต่อเนื่องร่วมกับอาจารย์สมคิด สมนักพงษ์ จากวิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชร ร่วมพัฒนาคิดค้นและออกแบบเตียงสำหรับผู้ป่วยอัมพาตและป้องกันแผลกดทับ หลอมรวมความเป็น dynamic support surface ของเตียงในการพลิกเปลี่ยนจุดกด กับ static support surface ของเบาะเจลยางพารา ทำให้ประสิทธิภาพในการป้องกันแผลกดทับมีสูงขึ้น และที่สำคัญสามารถผ่อนแรงของผู้ดูแลในการยกตัวเพื่อพลิกตะแคง ซึ่งปกติต้องใช้คน 2-3 คน แต่หากใช้เตียงนี้จะใช้คนเพียงคนเดียวสามารถพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยได้อย่างสบาย จากนั้นทางสำนักงานการวิจัยห่งชาติ (วช.) ได้สนับสนุนทุนวิจัยต่อยอดเพื่อติดตั้ง software smart bed ทำให้สามารถตั้งเวลาควบคุมเตียงได้แบบออโตเมติก และยังมีระบบ central control สามารถควบคุมเตียงหลายๆ เตียงผ่านทางหน้าจอเดียว เพื่อลดภาระของพยาบาลที่ต้องดูแลผู้ป่วยหลายเตียงในเวลาเดียวกันในช่วงการระบาดโควิด-19 ในเวลานี้ทางผู้วิจัยคาดว่าเตียงพลิกตะแคงพร้อม software smart bed จะสามารถช่วยพยาบาลในการพลิกคว่ำผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อช่วยหายใจได้ง่ายขึ้น ทำให้สามารถลดจำนวนพยาบาลที่ต้องเสี่ยงเข้าไปดูแลผู้ป่วย

"ทางทีมงานได้พัฒนาคอนโทรลเลอร์และ software เพื่อให้ได้มาตรฐานเครื่องมือแพทย์และ software ทางการแพทย์ในระดับสากล เพื่อให้สามารถใช้ในหอผู้ป่วยวิกฤติ หรือ โรงพยาบาลระดับ จตุตถภูมิ (ระดับ รพ.ศูนย์ หรือ โรงเรียนแพทย์)ได้ และในปลายเดือนกรกฎาคมนี้ เราจะสามารถติดตั้งที่โรงเรียนแพทย์ 2 แห่ง โดยทาง วช.ได้ให้ทุนวิจัยเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับสินค้านำเข้า และในอนาคตจะสามารถขยายตลาดไปยังต่างประเทศได้อีกด้วย โดย พญ.นลินีกล่าวเพิ่มเติมว่า การทำนวัตกรรมต้องไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ต้องมีการพัฒนาอยู่เสมอ การจะฝ่าฟันให้พ้นหุบเหวนวัตกรรม การนำงานวิจัยลงจากหิ้งมาสู่การใช้จริงมิใช่เรื่องง่าย แต่โชคดีที่รัฐบาลมีหน่วยงานอย่าง วช.มาเสริมทำให้นักวิจัยสามารถหลุดพ้นจากหุบเหวนวัตกรรมได้" ผศ.พญ.นลินี กล่าว

ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ผลงานวิจัยนี้ ถือว่าเป็นงานวิจัยประดิษฐ์คิดค้นที่เป็นความร่วมมือระหว่างนักวิจัย ซึ่งเป็นแพทย์กับอาชีวศึกษา ที่ร่วมกันวิจัยพัฒนาสิ่งประดิษฐ์คิดค้นที่จะช่วยดูแลผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งจะอำนวยความสะดวก และช่วยลดภาระของพยาบาลหรือญาติผู้ป่วยทั้งที่โรงพยาบาลและที่บ้าน ซึ่งสอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคตของประเทศไทยที่กำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย และจะมีจำนวนผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น ซึ่งความสำเร็จของผลงานวิจัยนี้ ยังบ่งบอกว่า ความร่วมมือของนักวิจัยไทย สามารถทำให้เกิดนวัตกรรมทางการแพทย์เทียบชั้นเครื่องมือทางการแพทย์ระดับโลกได้.

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น