วช. หนุนงานวิจัย "การบริหารจัดการคุณภาพน้ำดื่ม" วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ม.เกษตรศาสตร์ เพื่อให้มีบริการน้ำสะอาดในพื้นที่เขตเมืองและเขต พร้อมส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการน้ำแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำสะอาด จากการปนเปื้อน
เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.64 ผศ. ดร.สุชาติ เหลืองประเสริฐ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าโครงการวิจัย "การบริหารจัดการคุณภาพน้ำดื่ม" เปิดเผยว่า ในขั้นต้น โครงการฯ ได้เข้าไปเก็บตัวอย่างน้ำจากตู้บริการน้ำดื่ม และตู้บริการน้ำดื่มแบบหยอดเหรียญ ที่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำไปติดตั้งเพื่อให้บริการประชาชนในพื้นที่ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ตามที่มาของแหล่งน้ำที่ใช้ทำน้ำดื่ม คือ ในพื้นที่ปกติ เป็นตู้น้ำดื่มที่ใช้น้ำจากการประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค สำหรับในพื้นที่พิเศษ ตู้กดน้ำจะใช้น้ำจากบ่อบาดาลทั้งของราชการ เอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการกันเองในรูปแบบของประปาหมู่บ้าน การเก็บข้อมูลทดลองดำเนินการในพื้นที่นำร่อง 2 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ และนครราชสีมา โดยเก็บตัวอย่างน้ำจากตู้บริการน้ำดื่มประมาณ 300-500 จุด จากการวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำในขั้นต้นพบว่าคุณภาพน้ำไม่ค่อยดี มีการปนเปื้อนของสารอินทรีย์ เช่น เกลือค่อนข้างสูง โดยเฉพาะตู้กดน้ำดื่มจากพื้นที่พิเศษจะพบการปนเปื้อนสูงกว่าตู้กดน้ำในพื้นที่ปกติ คือมีความเสี่ยงในเรื่องคุณภาพ แต่ยังสามารถบริโภคได้ เพราะยังไม่เกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด
"สาเหตุของการปนเปื้อนก็อาจจะเป็นไปได้หลายทาง เช่น คุณภาพของแหล่งน้ำ ขาดการดูแล ขาดการบำรุง รักษาอุปกรณ์ตามระยะเวลา อุปกรณ์ชำรุด เกิดปัญหาในระบบท่อ หรืออาจเกิดจากปัจจัยอื่นๆ การดำเนินงานในขั้นตอนถัดไปคือ โครงการฯ กำลังออกแบบตัวเซนเซอร์ตรวจวัดคุณภาพน้ำเพื่อนำไปติดตั้งที่ตู้กดน้ำดื่ม เพื่อตรวจวัดในเบื้องต้นว่าน้ำดื่มจากตู้นั้นมีการปนเปื้อนของสารอินทรีย์ สารเคมี หรือเชื้อโรคเกินค่ากลางที่เซนเซอร์กำหนดไว้หรือไม่ หากเซนเซอร์ตรวจจับได้ว่าน้ำดื่มจากตู้กดมีค่าเกินกว่าที่กำหนด ก็จะหยุดการทำงานของตู้บริการน้ำดื่มโดยอัตโนมัติ แต่ค่าดังกล่าวยังต่ำกว่ามาตรฐานความปลอดภัยของน้ำดื่มที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งเป็นการเตือนในขั้นต้นให้แก่ผู้ดูแลระบบลงไปตรวจสอบและไล่ย้อนระบบว่าปัญหาเกิดขึ้น ณ จุดใด ด้วยระบบนี้จะช่วยให้การวิเคราะห์คุณภาพน้ำดื่มได้รวดเร็วขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาเก็บตัวอย่างน้ำเพื่อนำกลับไปวิเคราะห์ ขณะนี้อยู่ระหว่างทดสอบการทำงานของเซนเซอร์ หลังจากนั้นก็จะผลิตต้นแบบนำไปติดตั้งที่ตู้กดน้ำประมาณ 10 ชุด เพื่อทดสอบและปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพต่อไป" ผศ. ดร.สุชาติ กล่าว
หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวด้วยว่า สำหรับข้อเสนอแนะในเชิงนโยบาย ในส่วนของการควบคุมมาตรฐานน้ำดื่มจากตู้กดด้วยระบบเซนเซอร์อัตโนมัติจะขยายผลการดำเนินงานออกไปทั่วประเทศ โดยเสนอให้มีการออกกฎหมายกำหนดให้ตู้กดน้ำดื่มติดตั้งระบบเซนเซอร์ตรวจวัดคุณภาพน้ำ และกำหนดให้ผู้ที่ให้บริการตู้น้ำดื่ม หรือผู้ติดตั้งระบบ ลงไปตรวจสอบ แก้ไขในกรณีที่น้ำดื่มเกิดมีปัญหา หรือเกิดความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบต่อผู้บริโภค สำหรับการมีส่วนร่วมของชุมชน แม้ที่ผ่านมาจะมีการโอนถ่ายภารกิจเกี่ยวกับการจัดการน้ำบางส่วนไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแล แต่ในทางกฎหมายกลับไม่มีบทบัญญัติว่าท้องถิ่นจะต้องดำเนินการอะไรบ้าง จึงเกิดเป็นช่องว่าง ดังนั้น ควรจะกำหนดในกฎหมาย หรือเทศบัญญัติให้ชัดเจนว่าท้องถิ่นจะต้องดูแล รับผิดชอบในเรื่องใด รวมถึงการสนับสนุนให้ความรู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อท้องถิ่นจะสามารถดำเนินการเองได้ในอนาคต
ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า การบริหารจัดการน้ำเป็นปัญหาเร่งด่วนและเป็นประเด็นที่ วช.ให้ความสำคัญและสนับสนุนทุนการวิจัย เพื่อพัฒนาและสนับสนุนให้เกิดระบบติดตาม ประเมินสถานการณ์คุณภาพน้ำบริโภคในประเทศไทย เพื่อเฝ้าระวังคุณภาพน้ำบริโภคให้สะอาดปลอดภัยจากการปนเปื้อนของแบคทีเรีย สารเคมีและโลหะหนัก จากแหล่งน้ำบริโภคทุกประเภท ร่วมกับการพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่เกี่ยวข้องในระดับการผลิต การควบคุมคุณภาพและผู้บริโภค เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการน้ำสะอาดทั้งในระดับครัวเรือนและชุมชน.
ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง
- วช. หนุน "มหิดล" พัฒนาระบบโซ่ความเย็นของวัคซีนโควิด ให้คงคุณภาพดี
- “เอนก” ลุ้นรัฐอนุมัติจ้างงาน U2T ต่อปีหน้า ลั่นถ้าไม่ได้มหาวิทยาลัยพร้อมทำเอง
- กสส. ยก 7 มิ.ย.วันสถาปนา "สหกรณ์นักเรียน" จากพระราชดำริ สู่เยาวชน
ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath
ความเห็น 0