โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

วช. ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ Quick Wins "เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง" ตามโลกทัน

Thairath - ไทยรัฐออนไลน์

อัพเดต 31 มี.ค. 2564 เวลา 09.41 น. • เผยแพร่ 31 มี.ค. 2564 เวลา 09.42 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

วช.ขับคลื่อนนโยบายแนวทางในการวางยุทธศาสตร์ Quick Wins จับมือ 20 หน่วยงาน "เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง" โดยเปลี่ยนวิธีคิดคนวัยแก่ Yold มาเป็นพลัง ตามโลกทัน

เมื่อวันที่ 31 มี.ค.64 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาฯ(อว.) จัดงานแถลงข่าวนโยบายขับเคลื่อนแนวทางในการวางยุทธศาสตร์ Quick Wins โครงการ "เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง" โดยมี ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อุดมศึกษาฯ เป็นประธานในงาน

โดยกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ได้มอบหมายภารกิจตามนโยบายสำคัญในยุทธศาสตร์ Quick Wins เรื่อง "เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง" ให้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ดำเนินการเพื่อสร้างกลไกการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมสูงอายุของประเทศไทย โดยคนเกษียณหรือผู้สูงอายุควรได้รับโอกาสและสร้างแรงจูงใจในการเข้าสู่สังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นและพัฒนาศักยภาพในการทำงานที่เป็นที่ต้องการของตลาดงานในภาครัฐและภาคเอกชน หรือความต้องการในการทำงานให้ได้มีโอกาสเป็นพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ซึ่ง วช. ได้ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว ในการกำหนดให้มีแผนงานเปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง เพื่อขับเคลื่อนโครงการวิจัยและกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย ให้สามารถเกิดผลผลิต ผลลัพธ์ และผลสัมฤทธิ์ ที่รองรับการได้รับประโยชน์ของผู้สูงอายุของประเทศไทย

โดยกลยุทธ์การขับเคลื่อนโครงการเปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง ในปี 2564 จะมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะ และสร้าง Platform โดยสนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมสนับสนุนการวิจัย สร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อน และแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการ ในปี 2565 มุ่งเน้นการขยายผลให้ครอบคลุม โดยเพิ่มจำนวนผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการ เสริมทีมสร้างโอกาส เพิ่มความยั่งยืน โดยหน่วยงานขับเคลื่อน และติดตามประเมินผลภาพรวม และในปี 2566 เป็นการผลักดันให้เกิดผล โดยการเพิ่มทักษะอื่นๆ ในการพัฒนาให้เกิดศักยภาพ ขับเคลื่อนวิสาหกิจชุมชน สร้างอาชีพใหม่สำหรับผู้สูงอายุ โดยการดำเนินงานมีกลไกขับเคลื่อน โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการ "เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง"

ดร.เอนก กล่าวว่า ช่วงอายุหนึ่งที่สำคัญก็คือผู้เกษียณอายุ 60 ไปจนกระทั่งอายุเท่าไรก็ตามที่ยังมีพลัง จากเดิมที่เรามองผู้เกษียณเป็นผู้ที่เป็นปัญหา เป็นผู้ที่กำลังจะพักผ่อนอยู่เฉยๆ เราจะเปลี่ยนเป็นพลัง คนในวัย Yold (วัยเริ่มแก่) สามารถที่จะมาเป็นพลังได้ในทางสุขภาพ บอกว่าการแก่คือโรคชนิดหนึ่งสามารถแก้ไขได้หมด เขาท้าทายว่าความแก่ไม่ใช่ธรรมชาติ แต่มันเป็นธรรมชาติที่เราสามารถปรับปรุงแก้ไขธรรมชาติ ยืดอายุของคนออกไปได้ และก็ยืดอายุที่มีสุขภาพดีออกไปได้ด้วย

นอกจากนั้น การที่คนเหล่านี้เป็นคนส่วนใหญ่ของประชากร เราคิดนอกกรอบ เราคิดเปลี่ยนเขามาเป็นพลัง ในวันนี้มีคนจาก 20 หน่วยงานจับมือกัน ชี้ให้เห็นว่าการที่จะเปลี่ยนคนเกษียณให้เป็นพลัง มันมีกระบวนการ มีรายละเอียด มีข้อปลีกย่อยเยอะแยะทั้งเรื่องของสุขภาพ ทั้งเรื่องการเรียนรู้ ทั้งเรื่องการเข้ากับคนรุ่นก่อนได้ ถ้าคนในวัย Yold (วัยเริ่มแก่) ไม่สรรหา คิดว่าตัวเองเก่งคิดว่าอยู่มานานก็จะเข้ากับคนอื่นไม่ได้ ต้องมีจิตวิทยาว่าด้วยจะทำยังไงให้คนวัย Yold คิดในเชิงบวก ทำยังไงให้คนวัยอื่นๆเห็นว่าคนในวัย Yold มีประโยชน์ ที่สำคัญสังคมจะต้องฝึกเห็นคนทุกวัยมีความหมายหมด และก็ต้องฝึกให้คนต่างวัยไม่เห็นปรปักษ์เป็นคู่แข่ง เป็นคู่เปรียบเทียบ ประสานคนทุกช่วงวัยได้ด้วยกันหมด ในครอบครัวก็เป็นคนสองรุ่นสามรุ่นสี่รุ่นห้ารุ่นได้ก็ยิ่งดี ในจังหวัดในอำเภอ คนทุกวัยมีความหมายหมด คนหนุ่มคนสาวก็กำลังมีความว่องไว มีความไม่รู้อะไรหลายๆ อย่างที่จะต้องรู้ว่าอะไรจะสำเร็จ

ส่วนผู้สูงวัยก็เต็มไปด้วยปัญญา มีประสบการณ์และบวกกับจิตใจที่ตามโลกทัน ทำให้ Yold มีบทบาท Yold ต้องตามโลกทัน เพราะฉะนั้นท่านทั้งหลายทั้งปวงทำยังไงให้ Yold ตามโลกทัน ผมเห็นโอกาส เห็นอนาคต เห็นความหวังของประเทศ เดิมเรามองว่าคนสูงวัยเป็นปัญหาจะเป็นตุ้มถ่วงสังคม อันนี้เป็นข้อเท็จจริงที่มองด้วยมุมมองแบบนี้ แต่ว่าข้อเท็จจริงแบบเดิมมองด้วยมุมมองบวกกับหลักฐานบวกกับหลักวิชาที่ผมยกตัวอย่าง Yold เป็นพลังเศรษฐกิจ Yold สามารถทำอะไรได้ และ Yold เป็นคนที่นอกจากมีอายุมากแล้วยังเป็นคนที่มีสุขภาพดีด้วย ก็จะเป็นพลังทางเศรษฐกิจ ทางสังคม ของบ้านเมือง

ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน "เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง" ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการขยายผลโครงการ เพื่อให้ผู้สูงอายุเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่สอดคล้องกับยุคดิจิทัลและวิถีชีวิตใหม่ มีทักษะสำหรับสร้างอาชีพและสามารถยกระดับเศรษฐกิจและสังคม โดยการเสริมสร้างและเติมพลังสู่ผู้สูงอายุ ที่ต้องมีการบูรณาการและร่วมมือกันขับเคลื่อนกับทุกภาคส่วน ซึ่งมีการดำเนินงานในลักษณะความร่วมมือระหว่าง วช. และหน่วยงานความร่วมมือ 20 หน่วยงาน.

 

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0