โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ดูดวง

‘บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์’ บนการตีความหลักธรรมที่ผิดเพี้ยน

สยามรัฐ

อัพเดต 25 มี.ค. 2564 เวลา 13.13 น. • เผยแพร่ 25 มี.ค. 2564 เวลา 13.13 น. • สยามรัฐออนไลน์
‘บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์’ บนการตีความหลักธรรมที่ผิดเพี้ยน

พูดคุยกับ ‘นักวิจัยดีเด่น’ ปี 2564 สาขาปรัชญา เงื่อนไข ‘บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์’ บนการตีความหลักธรรมที่ผิดเพี้ยน

ความงมงายที่นำไปสู่ความเดือดร้อนหลายต่อหลายครั้ง ล้วนเกิดขึ้นจากการตีความ “คำสอน-หลักธรรม” ทางพุทธศาสนาอย่างคลาดเคลื่อน

ตัวอย่างเช่นการบูชา “พญานาค” ที่บางครั้งไปไกลเกินขอบเขตแนวปฏิบัติของชาวพุทธ จนตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพที่มุ่งแสวงหาผลประโยชน์จากความเชื่อ หรือในกรณีล่าสุดที่มีผู้อ้างตนเป็น “พระศรีอริยเมตไตรย” โน้มน้าวคนจำนวนหนึ่งให้เกิดศรัทธาแต่สิ่งที่กล่าวอ้างขัดแย้งกับคำสอนทางพุทธศาสนา

เหตุการณ์เหล่านี้มีต้นทางมาจาก “ความไม่รู้” ของชาวพุทธในปัจจุบัน จึงเกิดการตีความคำสอน-หลักธรรม ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง

นี่คือประเด็นที่ ศ.ดร.วัชระ งามจิตรเจริญ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) 1 ใน 7 นักวิชาการที่ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2564 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้ความสนใจ จนเกิดเป็นงานวิจัยระดับชาติมากถึง 9 เล่ม

“ในเรื่องคำสอนหรือหลักธรรมซึ่งเป็นส่วนที่อยู่ในพุทธปรัชญานั้น จะมีปัญหาเรื่องความไม่ชัดเจน การตีความ หรือความเข้าใจที่ต่างกัน เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องมีการศึกษา วิจัย เพื่อแก้ปัญหาความเข้าใจผิดหรือความเข้าใจที่คลุมเครือ” ศ.ดร.วัชระ ระบุ

ศ.ดร.วัชระ ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2564 ในสาขาปรัชญา เนื่องด้วยขอบเขตการศึกษาทั้งหมดเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาและพุทธปรัชญา งานของ ศ.ดร.วัชระ มีความโดดเด่นในแง่ของการเสาะแสวงหาความจริงใน 3 มิติ ได้แก่ 1. คำสอนหรือหลักธรรม 2. การนำหลักธรรมมาประยุกต์ใช้ในสังคมปัจจุบัน 3. การปฏิรูปพัฒนาและแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับคณะสงฆ์

ศ.ดร.วัชระ อธิบายว่า ความเชื่อหรือความศรัทธาเป็นสิ่งที่ไม่สามารถตัดสินถูกผิดได้ เพราะบางคนเชื่อเนื่องจากเคยมีประสบการณ์ส่วนตัว ตรงนี้คนนอกคงจะเข้าไปก้าวก่ายไม่ได้ ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคลของผู้ที่เชื่อ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นอยู่ที่ภายใต้ความเชื่อเหล่านั้น บางอย่างอาจเกิดจากความเข้าใจผิด ซึ่งที่สุดแล้วจะกลายเป็นความงมงาย ที่สร้างผลเสียต่อผู้ที่เชื่อและต่อสังคมรอบข้าง มากไปกว่านั้นคืออาจกลายเป็นเหยื่อของผู้ที่พยายามหาผลประโยชน์จากความเชื่อด้วย

“อย่างความเชื่อเรื่องพญานาค ตามคัมภีร์ทางพุทธศาสนาไม่ได้บอกให้บูชาพญานาค แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพญานาคจะเป็นเหมือนสัตว์เดียรัจฉานอย่างหมา-แมว เพราะพญานาคถือเป็นสัตว์พิเศษ ซึ่งมีหลายประเภท หลายระดับ

“เรื่องพญานาคเป็นส่วนหนึ่งในคำสอนทางพุทธศาสนา แต่ความเชื่อในทุกวันนี้อาจมีความเข้าใจบางส่วนที่ไม่ถูกหลักการอยู่ เช่น หากเราคิดว่าไปบนบานศาลกล่าวพญานาคแล้วท่านจะช่วยเราทันที ตรงนี้ถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะในหลักพุทธศาสนาแล้ว การบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะการบูชาเพื่อเอาไปเป็นที่พึ่งจำเป็นต้องมีหลักการ” ศ.ดร.วัชระ กล่าว

สำหรับหลักการของพุทธศาสนา จะเชื่อเรื่อง “กรรมวาที” และ “วิริยวาที” คือเรื่องของการกระทำและความเพียรที่ต้องทำด้วยตัวเองเป็นลำดับแรก ฉะนั้นหากผู้ที่นับถือพญานาคเป็นชาวพุทธ ก็ต้องเข้าใจด้วยว่าเงื่อนไขในการขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาเป็นที่พึ่งด้วยว่า ทุกอย่างต้องเริ่มต้นจากการที่เราต้องช่วยตัวเองก่อนเป็นหลัก เราต้องทำความดีซึ่งเป็นเรื่องกรรมก่อนเป็นลำดับแรก

“หรืออย่างการบูชานับถือเทพเจ้าต่างๆ หากเข้าใจในหลักพุทธศาสนาก็จะเข้าใจว่า เทพเจ้าคือเทวดา เทวดายังต้องเวียนว่ายตายเกิดเหมือนมนุษย์ และบางครั้งมนุษย์ก็ไปเป็นเทวดาด้วยเช่นกัน ดังนั้นการที่เราไปกราบไหว้ท่าน ขอท่านเป็นที่พึ่ง ก็ย่อมมีเงื่อนไขเช่นเดียวกัน ถ้าเราไม่พึ่งตัวเอง ไม่ปฏิบัติดี สิ่งศักดิ์เหล่านั้นก็ไม่สามารถช่วยอะไรเราได้เลย” ศ.ดร.วัชระ อธิบาย

สิ่งที่ “อาจารย์วัชระ” เน้นย้ำ และพยายามสื่อสารผ่านงานวิจัยจำนวนมากคือ หากชาวพุทธเข้าใจในเรื่องนี้ หากความเชื่ออยู่ในขอบเขตบนฐานความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็จะไม่เกิดความงมงายขึ้น การบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ก็จะไม่มีปัญหาตามมา

“ผมคิดว่าหลักการและความถูกต้องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรเผยแพร่และได้รับคำชี้แนะ เพราะถ้าเรายึดเอาหลักคำสอนและแนวปฏิบัติที่ถูกต้อง ก็จะไม่เกิดเภทภัยทั้งในแง่ศาสนาและสังคม แต่ถ้าเราเข้าใจไม่ถูกก็จะหลงงมงาย เกิดปัญหาทั้งแก่ศาสนา ตัวเอง และสังคม” อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รายนี้ ระบุ

เจ้าของรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2564 บอกอีกว่า โดยสรุปแล้วชาวบ้านจำเป็นต้องได้ข้อมูล ได้รับความรู้ หรือการปลูกฝังที่ถูกต้อง ฉะนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์หนึ่งๆ เกี่ยวกับความเชื่อ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรออกมาชี้แจงว่า เรื่องนี้ที่ถูกต้องเป็นอย่างไร ชาวพุทธควรทำแค่ไหน การที่ชาวพุทธปฏิบัติคลาดเคลื่อนไปจากคำสอนบ้างเป็นสิ่งที่พอรับได้หากยังอยู่ในขอบเขต

“คำถามคืออะไรคือขอบเขต ผมคิดว่าทางศาสนจักร คณะสงฆ์ รวมทั้งองค์กรด้านพุทธศาสนาน่าจะทำงานเชิงรุกให้มากกว่านี้ ช่วยกันตรวจสอบ ช่วยกันแนะนำ ประสานการทำงานร่วมมือกันทั้งรัฐ-วัด-โรงเรียน-ประชาชน เพื่อช่วยกันแก้ความคลาดเคลื่อนและป้องกันความขัดแย้งที่จะเกิดจากความคลาดเคลื่อนเหล่านี้” ศ.ดร.วัชระ ระบุ

สำหรับเหตุผลที่ทำให้ “ศ.ดร.วัชระ” เลือกที่จะทำงานหนักเรื่องพุทธปรัชญาจนได้รับรางวัลอันทรงเกียรติระดับชาติในครั้งนี้ เป็นเพราะมองเห็นว่า นอกจากประเด็นความไม่ชัดเจน-การตีความหรือความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในคำสอนและในคัมภีร์แล้ว ยังพบว่าด้วยคำสอนที่มีมาอย่างยาวนานเกิน 2,500 ปี ทำให้ยุคปัจจุบันไม่เข้าใจว่าจะนำคำสอนมาปรับใช้อย่างไร รวมถึง “คณะสงฆ์” เอง ทุกวันนี้ก็มีปัญหาหลายด้านที่จำเป็นต้องปฏิรูป เช่น สมณศักดิ์ ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำให้เกิดข้อเสียหลายอย่าง

“เป็นหน้าที่ทางวิชาการที่ต้องศึกษาเพื่อให้พบรากที่ชัดเจนของปัญหาและแนวทางการแก้ไข รวมทั้งต้องนำคำสอนเหล่านั้นมาใช้ในยุคปัจจุบันเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมให้ได้ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องในภาพรวมของชาวพุทธ” นักวิชาการรายนี้ ระบุ

ศ.ดร.วัชระ กล่าวทิ้งท้ายว่า องค์ความรู้ในพุทธศาสนาถือเป็นเนื้อหาอย่างหนึ่งทางวิชาการที่ทั่วโลกให้ความสนใจ ถือเป็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งในสังคม ซึ่งโดยหลักการแล้วไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุ นักบวช คฤหัสถ์ หรือชาวบ้านก็สามารถศึกษาได้

“แต่ในอีกมุมหนึ่ง การศึกษาโดยพระภิกษุซึ่งถือว่าเป็นสมาชิกอยู่ในองค์กรสงฆ์ หากท่านศึกษาและวิพากษ์วิจารณ์ด้วยคำพูดที่รุนแรงเกินไป หรือกระทบคณะสงฆ์ ก็อาจได้รับผลกระทบต่อชีวิตความเป็นพระของท่านได้ หรือหากผู้บริหารคณะสงฆ์ไม่เห็นด้วย ก็อาจมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์และการอยู่ร่วมกันในองค์กรสงฆ์ แต่จริงๆ หากเรามองในแง่การพัฒนา เป็นการติเพื่อก่อ โดยหลักการแล้วก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร” นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2564 สาขาปรัชญา แห่งรั้วธรรมศาสตร์ ระบุ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0