โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

วช.ชู “วิจัย” สู้โควิด แก้วิกฤติและฟื้นฟูประเทศ

MATICHON ONLINE

อัพเดต 12 ก.ค. 2564 เวลา 08.34 น. • เผยแพร่ 12 ก.ค. 2564 เวลา 08.34 น.
10af05b0-fa9e-4704-9fbf-fed2a88a6527

วช.ชู “วิจัย” สู้โควิด

แก้วิกฤติและฟื้นฟูประเทศ

งานวิจัย คือ “กุญแจ” สำคัญในการแก้วิกฤติการณ์ทุกชนิด
ทั้งยังเป็น “เครื่องมือ” หรือ “วิธีการที่ดีที่สุด” ในปัจจุบันในการแสวงหาความรู้ของปัญหาต่าง ๆ ที่มนุษย์ไม่รู้และต้องการแสวงหาคำตอบ

วิกฤตการณ์โควิด -19 ที่เกิดขึ้นปัจจุบัน คือ โจทย์ใหญ่ที่ท้าทาย ซึ่งงานวิจัย จะต้องทำหน้าที่คลี่คลายถึงสาเหตุและปัญหาเพื่อแก้ไขปัญหา

“สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ได้ดำเนินการรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มาตั้งแต่เกิดเหตุในปี 2563 ระลอกแรกรวมทั้งร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลในทุกมิติ เช่น ข้อมูลการแพร่ระบาด การคาดการณ์ นำมาเปรียบเทียบ วิเคราะห์ข้อมูล ตามกราฟแสดงข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางการตัดสินใจในการดำเนินงาน ทั้งยังมีบทบาทในการสนับสนุนการวิจัยเร่งด่วนตามความต้องการของประเทศ ตามความต้องการของผู้ใช้งานทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยให้ทุนวิจัยเร่งด่วนเพื่อศึกษาทำความเข้าใจทางด้านพันธุกรรมของเชื้อไวรัส ศึกษาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ โดยใช้ข้อมูล Bigdata เป็นต้น พัฒนาชุดตรวจวินิจฉัย ยารักษาโรค และวัคซีนในการป้องกัน และต่อมาได้เปิดรับข้อเสนอโครงการวิจัยที่จำเป็นเร่งด่วน ที่เกี่ยวกับนวัตกรรมทางการแพทย์ เช่น การพัฒนาและผลิตหน้ากาก N95 ชุดป้องกันเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ เครื่องช่วยหายใจ ห้องตรวจเชื้อความดันลบ ฯลฯ” น.ส.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กล่าว

ขณะที่การสนับสนุนโครงการวิจัยเกี่ยวกับโควิดและวัคซีนของ วช. นั้น วช. ร่วมกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้สนับสนุนการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในระยะแรกไปแล้วหลายแบบ ตัวอย่างเช่น วัคซีน mRNA ซึ่งพัฒนาโดยศูนย์วิจัยวัคซีน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นความร่วมมือระหว่าง 2 มหาวิทยาลัย คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐอเมริกา ได้แก่ University of Pennsylvania จับมือร่วมกับบริษัทเอกชนที่เตรียมรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและเตรียมการผลิต โดย วช. เห็นว่าการสนับสนุการวิจัยวัคซีนโควิด-19 ในประเทศเพื่อสร้างรากฐานและพัฒนาขีดความสามารถด้านการวิจัยวัคซีนของประเทศเพื่อรับมือการระบาด โดยเฉพาะวัคซีน mRNA เป็นรูปแบบที่ได้รับการยอมรับแล้วว่า เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีความรวดเร็ว และสามารถพัฒนาเป็นวัคซีนที่ใช้ในการรับมือโรคติดต่ออุบัติใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามการกลายพันธุ์ของไวรัส ดังนั้นการวิจัยและพัฒนาวัคซีนยังต้องมีการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง โดยวัคซีนเป็นเครื่องมือสำคัญ เป็นนวัตกรรมทางสุขภาพ เป็นยุทธปัจจัยที่มีประสิทธิภาพสูง และเป็นความหวังของทุกประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย การเร่งรัดให้มีวัคซีนใช้ในประเทศจะส่งผลกระทบเชิงบวกกับเศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างมาก สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ

ทั้งหมดจะถูกนำไปขยายผลต่อเพื่อแก้ปัญหาการระบาด

“การสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านวัคซีน วช. ดำเนินการร่วมกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โดยดำเนินการให้การสนับสนุนเพื่อพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ต้นแบบจากนักวิจัยในประเทศไทยตั้งแต่ต้นน้ำจนได้ผลิตภัณฑ์ ดังนั้น การขับเคลื่อนและผลักดันงานวิจัยและพัฒนาวัคซีนโดยสถาบันวัคซีนแห่งชีนแห่งชาติ จึงไม่ใช่เรื่องยากในการขยายผลและใช้งานต่อโดยผลสำเร็จที่เห็นได้ชัดในการขยายผลและใช้ต่อคือ เอ็มอาร์เอ็นเอวัคซีนต้นแบบสำหรับป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนรูปแบบใหม่ที่สามารถผลิตได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งสามารถปรับเปลี่ยนชิ้นส่วนที่นำมาใช้ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ง่าย จึงเป็น เทคโนโลยีที่ตอบรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเชื้อกลายพันธุ์ และรองรับการพัฒนาวัคซีนสำหรับโรคอุบัติใหม่ในอนาคตได้เป็นอย่างดี ซึ่งมีการต่อยอดโดยขณะนี้ได้เริ่มทำการทดสอบวัคซีนที่ผลิตโดยคนไทย “ChulaCov19” ในมนุษย์ระยะที่ 1 โดยทดลองฉีดให้อาสาสมัคร จำนวน 4 ราย เบื้องต้นทั้งหมดไม่พบผลข้างเคียง และการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 “NDV-HXP-S” ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated) โดย NDV-HXP-S เป็นวัคซีนโควิด-19 ตัวแรกของไทยที่ได้รับการอนุมัติจาก อย. ให้เริ่มการทดสอบทางคลินิกในมนุษย์ได้ โดยเริ่มการทดสอบเฟส 1 ในอาสาสมัครรายแรก ซึ่งองค์การเภสัชกรรมเคยใช้เทคโนโลยีนี้ในการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่มาก่อน ซึ่งจะเห็นได้ว่าการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโดยนักวิจัยไทยจะถูกนำไปใช้และขยายผลต่อเพื่อให้ประเทศมีวัคซีนภายในประเทศไม่ต้องพึ่งพาวัคซีนจากต่างประเทศได้ในอนาคต” น.ส.วิภารัตน์ ระบุ

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา วช. มีการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งด้านการแพทย์และสาธารณสุข และการลดผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา โดยตัวอย่างโครงการวิจัยที่ วช. ให้การสนับสนุนและเกิดผลกระทบต่อสังคมเป็นอย่างมาก เช่น โครงการสำรวจการปรับตัวของชุมชนวิถีใหม่ในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 สามารถสื่อประชาสัมพันธ์สุขอนามัยในชุมชนเพื่อการบริหารจัดการควบคุมโรคระบาดในพื้นที่ โดยเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง และเกิดยุวชนคนราชภัฏ จำนวน 2,310 คน ที่สามารถสื่อสารสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ที่เหมาะสมตามบริบทของแต่ละท้องถิ่นซึ่งจะช่วยพัฒนากระบวนการสร้างการเรียนรู้ในการปรับตัวของผู้ประกอบกิจการและประชาชน โดยมีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์โรคโควิด-19 แล้ว จำนวน 8 ชุด ผ่านเว็บไซต์https://register.kpru.ac.th/RajabhatPoll/โดยมีผู้เข้าใช้ข้อมูลมากกว่า 450,000 คน และเกิดความร่วมมือในการวางมาตรการป้องกันร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ

นอกจากนี้เมื่ออุปกรณ์ เครื่องมือทางการแพทย์สำหรับใช้ในการรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 เกิดการขาดแคลน วช. ได้มีการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อต่อยอดผลงานวิจัยที่มีศักยภาพและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง พร้อมทั้งได้ส่งมอบนวัตกรรมดังกล่าวให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก ตัวอย่าง เช่น

– การพัฒนาห้องความดันลบที่สามารถเคลื่อนย้ายได้เพื่อใช้เป็นห้อง ICU ในโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนาม ห้องความดันลบต้นแบบได้รับการออกแบบให้มีสองห้องติดกัน สามารถติดตั้งได้ทั้งในอาคาร และนอกอาคาร ติดตั้งง่าย สะดวกรวดเร็ว ทำให้โรงพยาบาลลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อของผู้ติดเชื้อทางเดินหายใจที่มีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อสู่บุคคลอื่น และสามารถประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจอื่นๆ เช่น วัณโรค ได้ ราคาประมาณ 1,400,000-1,600,000 บาท/ห้อง โดยมีการส่งมอบห้องให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ได้แก่ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

– ชุดหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะพร้อมชุดกรองอากาศประสิทธิภาพสูงสูง ซึ่งเป็นการพัฒนาอุปกรณ์ของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยทัดเทียมกับต่างประเทศ และจากการพัฒนาผลงานทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตอุปกรณ์นี้ได้เอง ลดการนำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาสูงประมาณชุดละกว่า 30,000 บาท ทำให้ช่วยประหยัดงบประมาณการสั่งซื้อได้ ซึ่งผลงานการวิจัยราคาต้นทุนอยู่ที่ชุดละ 9,800 บาท โดยได้มีการส่งมอบนวัตกรรมดังกล่าวให้กับเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) ส่งต่อให้บุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลในโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครจำนวนกว่า 3,500 ชุด

“ในปีงบประมาณ 2565 วช. ได้จัดทำกรอบการวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมสำหรับรองรับการระบาดของโรคโควิด-19และโรคติดต่ออุบัติใหม่อื่นๆ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตพร้อมทั้งฟื้นฟูสังคม และเศรษฐกิจให้กลับมาสู่สภาวะปกติได้ในเวลาอันรวดเร็ว” ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น